มาทำความรู้จักประกันภัยรถยนต์แต่ละประเภทกัน

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 21 มิ.ย. 60 00:00
  • 17,392 อ่าน

รถยนต์ทุกคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ถูกกฎหมายบังคับไว้ว่า จะต้องมีประกันภัยติดรถยนต์ไว้ทุกคัน ซึ่งเรามักจะเรียกกันติดปากว่า พรบ. แต่ก็ยังมีประกันภัยภาครถยนต์แบบสมัครใจอีกหลายประเภท ที่ให้ผู้เป็นเจ้าของรถสามารถเลือกซื้อเพื่อคุ้มครองรถได้แบบหลากหลาย ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ว่าประกันภัยนั้นมีกี่ประเภทกันแน่ วันนี้ทีมงาน Autodeft ก็เลยนำมาให้ดูกันเลยครับ

Insurance

ต้องขอแยกก่อนว่า ประกันภัยรถยนต์นั้นมีแบ่งหลักใหญ่ๆเป็น 2 ประเภทคือ

ประกันภัยภาคบังคับ
ประกันภัยภาคบังคับนี้ เรียกกันง่ายๆแบบติดปากว่า พรบ. ซึ่งที่เรียกกันแบบนี้เพราะการบังคับใช้นี้ถูกประกาศผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก็เลยเรียกแบบนี้กันติดปาก โดยสรุปใจความสำคัญว่า รถยนต์ทุกประเภทที่วิ่งบนถนน ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น จะต้องจัดทำประกันภัยตาม พรบ. ทุกคัน (มียกเว้นบางประเภท) เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือคู่กรณี มีความคุ้มครองเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิดตาม พ.ร.บ. ดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีประสบเหตุจนพิการ จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีบาดเจ็บจะได้รับการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตาม ข้อ 1. และต่อมาทุพพลภาพตาม ข้อ 2. รวมกันแล้วจะไม่เกิน 65,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีเสียชีวิต จ่ายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาลที่จ่ายจริงตามข้อ 1 รวมกันไม่เกิน 65,000 บาท ต่อหนึ่งคน
และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้นเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้กระทำความผิด ดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีประสบเหตุจนพิการ จ่ายค่าเสียหาย จำนวน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีเสียชีวิต จ่ายจำนวน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
- กรณีนอนรักษาพยาบาลในฐานะคนไข้ใน ชดเชยวันละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 20 วัน
อัตราเบี้ยประกันรายปีก็ถูระบุไว้ทุกประเภทแล้ว ให้บริษัทประกันภัยที่ได้รับอนุญาตเก็บค่าเบี้ยประกันได้ตามที่ระบุไว้เท่านั้น และถ้ารถยนต์คันไหนถูกนำมาวิ่งบนถนนสาธารณะโดยไม่มีประกันภัยภาคบังคับนี้ จะมีระวางโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่าตามที่ พรบ. กำหนด แต่ผู้ที่ประสบเหตุจากรถยนต์ที่ไม่มีประกันภัยภาคบังคับนี้ ก็สามารถขอรับเงินชดเชยเบื้องต้นได้ก่อนจากทางกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยครับ

Insurance

ประกันภัยภาคสมัครใจ
ประกันภัย รถยนต์สมัครใจนี้ จะเป็นการซื้อเพื่อคุ้มครองเพิ่มเติมจากประกันภัยภาคบังคับ แต่ไม่สามารถใช้เป็นการทดแทนประกันภัยภาคบังคับได้ หมายความว่าถึงจะมีการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ก็ต้องมีประกันภัยภาคบังคับ ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน โดยจะมีแบ่งเป็น 3 เกรดใหญ่ๆดังนี้
ประกันภัยชั้น 1
ประกันภัยชั้น 1 จะคุ้มครองความเสียหายแทบจะทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวรถไม่ว่าจะเป็น
- คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินและตัวบุคคลทั้งรถผู้ทำประกันและคู่กรณีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- ชดเชยความเสียหายกรณีไฟไหม้
- ชดเชยความเสียหายกรณีสูญหาย
ปัจจุบันในบางกรมธรรม์ มีการระบุคุ้มครองไปถึงความเสียหายจากอุทกภัยและการจลาจลด้วย ซึ่งแน่นอนว่าค่าเบี้ยประกันก็ต้องมากขึ้นไปด้วย ส่วนอัตราค่าชดเชย ก็แล้วแต่การตกลงระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ซื้อ ถ้าอยากให้คุ้มครองมาก ก็ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประกันภัยชั้น 2
ประกันภัยชั้น 2 นี้ จะคุ้มครองเหมือนกับประกันภัยชั้น 1 ทุกประการ แต่จะไม่คุ้มครองรถยนต์ของผู้ทำประกันภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา หมายถึงถ้าชน ประกันจะซ่อมให้เฉพาะรถยนต์คู่กรณี ส่วนรถยนต์ของผู้ทำประกันจะต้องรับผิดชอบซ่อมเอง

ประกันภัยชั้น 3
ประกันภัยชั้น 3 จะคุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุเหมือนประกันภัยชั้น 2 แต่จะไม่คุ้มครองกรณีไฟไหม้และสูญหาย

แต่ในปัจจุบัน ได้มีการออกแบบประกันใหม่ในเกือบทุกแห่ง เพื่อมาอุดช่องว่างระหว่างประเภท เพื่อทำการคุ้มครองเพิ่มเติมอีก 2 ประเภทคือ

ประกันภัยชั้น 2+
ประกันภัยชั้น 2+ นี้ จะคุ้มครองเหมือนกับประกันภัยชั้น 2 ทุกประการ โดยเพิ่มความคุ้มครองรถยนต์ของผู้ทำประกันภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุ เพียงแต่มีข้อแม้ว่า การเกิดอุบัติเหตุต้องมีคู่กรณีเป็นยานพาหนะทางบก (ชนเรือไม่คุ้มครอง) และถ้าเป็นฝ่ายผิด ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกด้วย 2,000 บาท (ถ้าเสียหายไม่เกิน 2,000 บาทก็ซ่อมเองได้)

ประกันภัยชั้น 3+
ประกันภัยชั้น 3+ จะคุ้มครองเหมือนประกันภัยชั้น 3 และมีส่วนคุ้มครองเพิ่มเติมและข้อแม้เหมือนกับประกันภัยชั้น 2+

Insurance

ประกันภัยภาคสมัครใจนี้ ไม่ได้มีราคาค่าเบี้ยประกันภัยกำหนดไว้ตายตัว อยู่ที่การออกแบบคุ้มครองของบริษัทประกันภัยเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับว่ากรมธรรม์ฉบับนั้น มียอดคุ้มครองค่าเสียหายจำนวนเท่าไหร่ ถ้ายอดคุ้มครองสูง ค่าเบี้ยประกันภัยก็ย่อมสูงตามไปด้วย ดังนั้นเวลาที่เราจะเลือกซื้อประกันภัยภาคสมัครใจ ก็ต้องดูที่ยอดคุ้มครองด้วย อย่าดูแค่เพียงเงินที่เราต้องจ่ายไป และที่สำคัญก่อนจะเซ็นสัญญา ควรต้องอ่านกรมธรรม์ให้ละเอียด ว่าการคุ้มครองนั้นครอบคลุมตามที่เราต้องการหรือเปล่าครับ

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

5 เรื่องน่าสนใจ