นวัตกรรมดีๆที่หายไปเพราะไม่สะดวกหรือไม่ได้รับความนิยม
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 16 มี.ค. 60 00:00
- 10,314 อ่าน
ทุกวันนี้ค่ายรถยนต์ต่างๆก็ระดมทั้งทุนและสมองอย่างมากมายในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆในรถยนต์ เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ขับขี่ให้มากที่สุด บ้างก็เปรี้ยง บ้างก็แป๊ก วันนี้เราลองมาดูบางนวัตกรรมที่ทำมาแล้วดูมีประโยชน์ แต่ใช้ได้ไม่นานก็หายไปจากตลาดเนื่องจากไม่ได้สะดวกในการใช้งานหรือไม่ได้รับความนิยม
Night vision
เทคโนโลยีที่ช่วยให้เรามองเห็นถนนและคนในยามค่ำคืนได้ชัดเจนขึ้นอย่าง Night vision เคยเป็นที่ฮือฮามาก่อนซักเกือบ 20 ปีมาแล้ว โดยคันแรกที่ติดตั้งระบบนี้ขึ้นมาคือ Cadillac Deville ในปี 2000 แต่ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2004 ทาง Honda, Mercedes-Benz, BMW, Toyota และ Audi ก็มีแตะๆมาใช้เทคโนโลยีนี้บ้าง แต่สุดท้ายก็หายไปเช่นกัน เพราะทุกค่ายมองว่าไม่อยากให้ผู้ขับขี่ละสายตาออกจากถนนด้านหน้า ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดอันตรายจากการขับขี่ได้มากกว่า แต่ทาง Lexus ก็พยายามเอามาใส่อีกผ่านหน้าจอขนาดเล็กด้านบนของกระจกหน้าฝั่งคนขับ แต่ก็ไม่สะดวกในการใช้งานเพราะมันมีขนาดเล็กเกินไปกว่าที่จะมองเห็นได้ชัดเจน
เข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติ
ปกติแล้วเวลาเราคาดเข็มขัดนิรภัยบนรถยนต์ ก็จะต้องเอื้อมมือไปดึงมาคาดทุกครั้ง แต่ด้วยความอยากเพิ่มความสะดวก (หรือขี้เกียจ) ของชาวอเมริกัน จึงได้มีการคิดทำระบบ เข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติ ที่เราแค่นั่งลงบนเบาะแล้วปิดประตู เข็มขัดก็จะคาดให้เราอัตโนมัติทันที ประเด็นที่ทำให้นวัตกรรมนี้ไม่ได้ไปต่อ อยู่ที่ตอนขึ้นรถ คนขับต้องสไสด์ตัวนิดหน่อยเพื่อนั่งลงบนเบาะ กลายเป็นว่าน่าจะลำบากกว่าเอื้อมมือไปดึงเข็มขัดซะอีก สุดท้ายมันก็หายไปจากตลาดอย่างรวดเร็ว
รถยนต์พูดได้
รถยนต์ในปัจจุบัน หลายคันก็สามารถสื่อสารกับเราเป็นเสียงได้เช่นระบบนำทางที่คอยบอกทางเรา หรือคำพูดที่คอยรับคำสั่งเสียงของเรา เป็นต้น จริงๆระบบรถยนต์สื่อสารหรือพูดได้เคยมีมาก่อนหน้านี้นานแล้วอย่างเช่น Nissan 810 Maxima ปี 1981 (สมัยยังเป็น Datsun) ที่จะคอยเตือนเราให้ปิดไฟ, เปลี่ยนเกียร์ และอื่นๆเท่าที่จะเตือนเราได้ หลายคนที่ใช้ก็เริ่มรำคาญเสียงพูดเตือนนี้ จึงไม่อยากได้มันอีกแล้ว ถึงแม้ในรุ่นหลังๆจะมีปุ่มที่ปิดการทำงานได้ คนซื้อก็ไม่สนใจ จนสุดท้ายระบบนี้ก็ต้องยกเลิกไปในที่สุด
Solar panel sunroof
ในเมื่อหลังคายังว่างอยู่ ทำไมไม่เพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยการเพิ่มแผง Solar Cell ซะเลยล่ะ โดยเคยมีการติดตั้งลงบน Toyota Prius, Renault Zoe EV, Mazda, Audi และ Volkswagen เป็นการทดลองใช้งานแล้วทั้งสิ้น แต่ประเด็นหลักที่ยังไม่สามารถทำให้การติดตั้งนี้เป็นที่นิยมได้ เพราะแผง Solar Cell ที่ติดนั้น ติดอยู่บนพื้นที่บนหลังคา Sunroof เท่านั้นเอง ขนาดมันเล็กจนผลิตไฟได้แค่พัดลมหมุนได้ แต่ไม่สามารถผลิตแรงเพื่อทำงานเครื่องปรับอากาศได้ เทคโนโลยีนี้เลยคงต้องรอไปก่อน
แผงป้องกันคนเดินถนน
อาจจะฟังแล้วดูตลกกับอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันคนเดินถนนในยุคปัจจุบัน แต่กับเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ช่วงปี 1896 สมัยที่รถยังคงวิ่งได้เร็วเพียง 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง สาวชื่อ Bridget Driscoll ชาวไอร์แลนด์เดินบนถนนแล้วถูกรถ Benz ของ Arthur James Edsall ชนเสียชีวิต กลายเป็นคนเดินถนนคนแรกที่ถูกรถยนต์ชนเสียชีวิตในอังกฤษ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนมีคนออกแบบตะแกรงติดด้านหน้าของรถเพื่อลดการบาดเจ็บจากการถูกรถยนต์ชนได้ (ย้ำอีกครั้งว่าตอนนั้นรถวิ่งเร็วได้เพียง 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ถูกดัดแปลงมาจากแผงจับวัวที่ติดตั้งอยู่ที่หน้ารถจักรไอน้ำ แต่ภายหลังเมื่อรถวิ่งได้เร็วขึ้น อุปกรณ์ตัวนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ จึงถูกถอดออกไปตามเวลาของมัน
ข้อมูลจาก Stuff
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com