เปิดตำนาน!! รถดังยุค 90 เก๋งตัวเด่น..บุกแดนสยาม ภาค 2
- โดย : Autodeft
- 20 ต.ค. 60 00:00
- 67,285 อ่าน
หลังจากได้นำเสนอ รถดังในยุค 90 ซึ่งถือเป็นยุคที่วงการรถยนต์เมืองไทยเฟื่องฟูมาก เพราะได้อ้าแขนรับเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆเข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการเปิดตัวรถรุ่นแปลกๆที่ไม่คุ้นสายตาชาวไทยกับรถยอดนิยมรุ่นท็อปๆเพื่อสร้างสีสัน สร้างยอดขายให้มากขึ้น
ทำให้ Autodeft เปิดตำนาน รถยนต์ รุ่นดังที่ขายในยุค 90 อีกครั้งทั้งรถยนต์ยอดนิยมและรถยนต์รุ่นแปลกๆจากค่ายชั้นนำ โซนญี่ปุ่น และยุโรป ที่อยู่ในความทรงจำ กลับมาให้หวนระลึกถึงกัน เริ่มจาก
Toyota Corolla AE101 (โฉมสามห่วง)
หลังจบยุค โดเรม่อน ทำให้ Toyota ตัดสินใจเปิดตัว Toyota Corolla เจนใหม่อย่างรวดเร็วห่างจากญี่ปุ่นไม่ถึง 10 เดือนและเหตุที่เรียกว่าโฉมสามห่วงเพราะเป็นรุ่นแรกของค่ายที่ใช้โลโก้ 3 ห่วงซ้อนกัน และกลายเป็นรุ่นประวัติศาสตร์ของค่าย โตโยต้า ผลิตจนส่งมอบแทบไม่ทัน จึงต้องมีรุ่นนำเข้าจากญี่ปุ่น (LX Limited) ออกจำหน่าย ขุมพลังยังเป็นเครื่องตระกูล 4A จากรุ่นโดเรม่อน แต่ปรับบุคลิกใหม่ลดความดิบโหดลงจากรุ่น 4A-GE เป็น 4A-FE 1.6 ลิตร ให้กำลังสูงถึง 116 แรงม้า ด้านเครื่อง 1.3 ลิตร เป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้เครื่องคาร์บูเรเตอร์ 12 วาล์ว รุ่น 2E โดยเปลี่ยนมาเป็น หัวฉีด EFI ในรหัสใหม่ 4E-FE
ออพชั่นยุคนั้น ให้ครบครันทั้ง พวงมาลัยพาวเวอร์หรือพวงมาลัยธรรมดา กระจกไฟฟ้าจนถึงกระจกมือหมุน เครื่องเล่นวิทยุ-เทป เข็มขัดนิรภัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ และกระจกมองข้างปรับ-พับด้วยไฟฟ้า จนทำให้ Toyota Corolla AE101 เด่นด้วยความทนทาน อะไหล่หาง่ายที่สุด จนกลายเป็นรถยนต์ยอดนิยมของไทยไปโดยปริยาย
Mitsubishi Lancer E-Car
อีกหนึ่งคู่รักคู่แค้นของ Toyota Corolla AE101 ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็น Mitsubishi Lancer E-Car โดยทาง MMC สิทธิผลในยุคนั้น นำเข้าและผลิตออกขายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 โดยยอดขายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะกับ Corolla แรกๆทางเลือกมีหลากหลายตั้งแต่เครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร 80 แรงม้า 1.5 ลิตร 88 แรงม้า แบบคารบูเรเตอร์ ประกอบในเมืองไทย พร้อมเครื่องยนต์หัวฉีดทั้ง 1.6 ลิตร 113 แรงม้า กับ 1.8 ลิตร 140 แรงม้า นำเข้าจากญี่ปุ่น 1 ปี ถัดไป ยกเลิกรุ่น 1.3 กับ 1.8 ลิตร เปลี่ยนเครื่อง 1.5 ลิตร เป็นแบบหัวฉีด และนำรุ่นเครื่อง 1.6 ลิตรมาประกอบในไทย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1995 ปรับโฉมอีกครั้งในสไตล์ บิ๊กบัมเบอร์หรือกันชนหน้า-หลัง ขนาดใหญ่ และนำรุ่น 1.3 ลิตร กลับมาอีกครั้ง (เพื่อมาแทน Mitsubishi Champ ที่ยุติไปก่อนหน้านี้)
ออพชั่นอำนวยความสะดวกพอฟัดพอเหวี่ยงกับ Corolla ทั้ง พวงมาลัยพาวเวอร์ กระจกไฟฟ้า เครื่องเล่นวิทยุ-เทป เข็มขัดนิรภัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ และกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า นับว่าเป็นรถยนต์ขวัญใจมหาชนอีกรุ่นที่ดังไม่แพ้กัน จนมียอดขายมากในค่าย Mitsubishi
Honda Civic EG 3&4 Door
อีกหนึ่งรุ่นที่เปิดตัวไล่เลี่ยกับ Corolla และ Lancer นั่นคือ Honda Civic เจนที่ 5 โดยเปิดตัวในปีค.ศ. 1992 แต่น่าเสียดายว่าตอนเริ่มจำหน่ายใหม่ๆใช้เครื่องยนต์เบนซิน คาร์บูเรเตอร์ 1.5 ลิตร 91 แรงม้า กับออพชั่นที่ด้อยกว่า เช่นกระจกมือหมุนและเบาะนั่งไวนิล ทั้งๆที่เขามีทั้งกระจกไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อค ทำให้เสียรังวัดไปโดยปริยาย จนปี ค.ศ. 1993 ต้องเพิ่มรุ่น 1.6 ลิตร แบบหัวฉีด PGM-FI 120 แรงม้า ออกขายพร้อมเพิ่มออพชั่นความสะดวกสบายมากขึ้น
ในปีเดียวกันมีการเพิ่มรุ่น 3 ประตู เครื่อง 1.5 ลิตร ออกมา ในราคาเริ่มต้น 361,000 บาท สามารถกู้หน้า Honda ไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิด้วยตัวเลข 9,000 คันในช่วง 3 วัน และยังเพิ่มรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร VTEC 130 แรงม้า ลงในรุ่น 4 ประตู แต่ช่วงแรกจะเป็นรถนำเข้าจากญี่ปุ่น (สังเกตุดีถ้ามีซันรูฟนั่นคือรุ่น VTEC) แต่หลังๆมาประกอบในไทยในชื่อรุ่นย่อย VTI-L และ VTI-E จนยอดขายสู้ได้ ในเวลาต่อมา
Honda Accord CB ตาเพชร
ซีดานรุ่นพี่จาก Honda ที่เปิดตัวไล่เลี่ยกับ Mitsubishi Galant และ Nissan Cefiro แถมเป็นค่ายแรกที่ใช้ไฟหน้าตาเพชรนั่นเองจนสาวกจำจนขึ้นใจ โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ทีเลือกได้ทั้งแบบคาร์บูเรเตอร์ 112 แรงม้า กับ หัวฉีด PGM-Fi 135 แรงม้า พร้อมเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ ให้เลือก ถึงตัวรถกับออพชั่นอาจไม่โดดเด่นเหมือน Galant, Corona หน้ายิ้ม และ Cefiro แต่ทว่าช่วงล่างกลับให้ความโดดเด่นกว่าคนอื่นตรงที่ใช้ช่วงล่างหน้า-หลังแบบอิสระดับเบิ้ลวิชโบน ผนวกกับชื่อ ฮอนด้า กลายเป็นรุ่นที่สร้างยอดขายเด่นไม่แพ้ใครๆ ในยุคนั้นเลยทีเดียวนั่นคือ Honda Accord
Peugeot 405
ยุคที่ยนตรกิจ เฟื่องฟู นอกจากจะขายทั้ง BMW, Citroen และ Peugeot แต่มีหนึ่งรุ่นตัวรถดีมีสมรรถนะบวกกับราคาที่คุ้มค่าสร้างยอดขายถล่มทลายไม่แพ้รถญี่ปุ่น นั่นคือ Peugeot 405 ซีดาน ออกแบบโดย Pininfarina จากอิตาลี รังสรรค์ออกมาจนถูกอกถุกใจสาวกสิงห์ยกขา โดยช่วงแรกจำหน่ายในรุ่น GR เครื่องยนต์เบนซินคาร์บูเรเตอร์ 1.9 ลิตร 110 แรงม้า กับรุ่นแรง Mi16 1.9 ลิตร 160 แรงม้า เลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ จนโดงด่งพอมาในปี ค.ศ. 1993 ยุบ 2 รุ่นนั้นทิ้ง เปลี่ยนรุ่นใหม่เป็น SRI โดยใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร แบบหัวฉีด 123แรงม้า ออกจำหน่าย และเพิ่มรุ่น GRI หัวฉีด 1.6 ลิตร ออกจำหน่ายด้วย จนยุติไปในปี ค.ศ. 1997 โดยรุ่นที่มาแทนนั่นคือ Peugeot 406
BMW 3 Series E36
นอกจาก Peugeot 405 ที่ขายดี ในช่วงปี ค.ศ. 1992 ยนจรกิจในยุคนั้นจึงเปิดตัว BMW 3 Series E36 ต่อจาก E30 แต่คนไทยกลับเรียกมันว่า นกแก้ว เพราะมันมี 2 ที่มาคือ กระจังหน้าที่มีความโค้งมนคล้ายกับปากนกแก้ว หรือรุ่นนี้มีสีเขียวที่สดใสคล้ายกับสีขนของนกแก้ว อันนี้ก็ไม่ฟันธงเช่นกันครับว่าอันไหนกันแน่ที่ถูกต้อง แต่ฉายานี้เรียกจนติดปากเป็นที่เรียบร้อย โดยมาทั้งเครื่องยนต์หัวฉีดทั้ง 3 ขนาด ตั้งแต่เครื่องเล็ก 1.8 ลิตร 113 แรงม้าในรุ่น 318 I กับ 2.0 ลิตร 150 แรงม้าในรุ่น 320 I กับ เครื่อง 2.5 ลิตร 193 แรงม้า ในรุ่น 325I ก่อนที่จะถูกปรับมาเครื่อง 2.4 ลิตร 188 แรงม้าในภายหลังเนื่องจากรัฐปรับโครงสร้างภาษี ให้รถที่มีขนาดความจุ 2.4 ลิตรขึ้นไป คิดภาษีสูงขึ้น
โดยได้รับความนิยมมากมาย เพราะมีขนาดเล็ก หรูหรา ทั้งเบาะหนังแท้ เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ กุญแจรีโมทระบบเบรก ABS และถุงลมนิรภัย SRS จนมีช่วงหนึ่งที่เหล่านักเลงรถจับรุ่นนี้มาตกแต่ง ถึงขั้นยกเครื่องไปหาเครื่องญี่ปุ่นแทนและรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่อยู่ในยุคปลายๆของยนตรกิจ ก่อนที่บริษัทแม่จากเยอรมันมาทำตลาดเอง
เรื่องและเรียบเรียงโดย นายเต้ย
ที่มา oknation.nationtv.tv , Facebook สมาคมคนรักโบรชัวร์รถแห่งประเทศไทย, Headlightmag 1,thaicarbrochurecollection
ชมเปิดตำนาน!!รถดังยุค 90 บุกแดนสยาม ภาคแรกได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com