Ford Ranger Wildtrak 3.2 หล่อ ครบ ตั้งแต่เกิด
- โดย : รัฐศิลป์ รัตนกู้เกียรติ
- 11 พ.ย. 57 00:00
- 31,125 อ่าน
บททดสอบ Ford Ranger Wildtrak 3.2 ที่เด่นด้วยดีไซน์รูปลักษณ์ และสมรรถนะที่เหนือกว่า รถอีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาย
ถ้าให้นึกถึงรถกระบะสักคันที่เพื่อนๆ อยากได้ เชื่อว่าหนึ่งในตัวเลือกต้องมี Ford Ranger กันอยู่อย่างแน่นอนใช่ไหมครับ ด้วยรูปลักษณ์ดีไซน์ และขนาดของตัวรถที่ใหญ่โตบึกบึนเด่นสะดุดตา ชวนให้มองทุกครั้งเมื่อเห็น เป็นรถอีกหนึ่งรุ่นที่ได้ยินเสียงจากคนรอบข้างเสมอว่าอยากได้มาครอบครอง
บางท่านอาจจะคิดว่าคงจะมีแต่คุณผู้ชายเท่านั้นที่จะอยากได้รถกระบะรูปลักษณ์ดุดันแบบนี้ แต่ไม่ใช่เลย คนรอบๆ ข้างผมที่เป็นคุณผู้หญิงทั้งหลายกลับบอกว่าอยากได้เจ้ายักษ์นี้มาก ได้ยินแรกๆ ก็แอบแปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าคุณผู้หญิงไม่น่าจะชอบรถใหญ่ๆ ที่ดูแล้วท่าทางจะขับยาก หาที่จอดยาก ถอยหลังยิ่งยากเข้าไปใหญ่ น่าจะชอบรถเล็กๆ รถเก๋งที่ขับง่ายๆ คล่องตัว แต่ที่สังเกตได้ก็คือคุณผู้หญิงที่อยากได้รถประเภทนี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นคุณผู้หญิงที่มีครอบครัว มีลูกแล้ว คงจะด้วยความอเนกประสงค์ของรถประเภทนี้ที่ตอบโจทย์การใช้งานไม่ว่าจะโดยสาร หรือบรรทุกสัมภาระก็สามารถทำได้อย่างสบายๆ เหมาะสำหรับครอบครัว
เมื่อพูดถึง Ford Ranger โฉมปัจจุบันที่ใช้รหัส T6 ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2012 ในช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นที่ฮือฮา และได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้คน ด้วยรูปลักษณ์หน้าตา ขนาดของตัวรถที่เทียบกับเพื่อนๆ แล้วใหญ่โตกว่ากันมาก เทคโนโลยีที่ถูกใส่เข้ามา เครื่องยนต์ใหม่ และถือได้ว่าเป็นกระบะรุ่นแรกที่มีค่าตัวในรุ่นท็อปทะลุ 1 ล้านบาท ทำให้ในช่วงเวลานั้นกระแสของ Ford ในบ้านเรากลับมาบูมกันอีกครั้ง ใครๆ ต่างก็พูดถึงรถกระบะราคาทะลุล้านคันนี้ ว่ามันมีดีอย่างไร มีออฟชั่นอะไรที่ถูกใส่เข้ามาบ้าง สมรรถนะดีเยี่ยมขนาดไหนถึงกล้าเปิดราคามาระดับนี้
ผมยังจำได้ว่าช่วงนั้นสำหรับคนที่สนใจและจับจอง Ford Ranger จะต้องรอคอยกันถึงครึ่งปีกันเลยทีเดียว (อะไรจะขายดิบขายดีขนาดนั้น) ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์อันดี ที่สื่อถึงความสำเร็จในก้าวแรกของการนำ Ranger เข้าสู่ตลาด และผู้บริโภคต่างให้ความสนใจกันมากมาย ซึ่งวันนี้ผมได้มีโอกาสทดลองขับ Ford Ranger Wildtrak 3.2 รุ่นท็อป กระบะทะลุล้าน!!!
รอบๆ ตัวรถ Ranger Wildtrak 3.2 คันนี้ ถูกตกแต่งพิเศษเสริมหล่อมาจากโรงงาน เรียกได้ว่าออกมาจากโชว์รูมก็หล่อเลยไม่ต้องตกแต่งอะไรเพิ่ม เริ่มด้วยกระจังหน้าขนาดใหญ่ที่ปกติแล้วจะเป็นโครเมี่ยม ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำให้ดูเข้ม พร้อมด้วยโลโก้และชื่อรุ่นที่เห็นได้อย่างชัดเจนให้ความรู้สึกดุดัน ตัดกับสีบรอนซ์ที่ชายด้านล่าง และครอบไฟตัดหมอกช่วยเพิ่มมิติให้กับด้านหน้า พร้อมไฟหน้าขนาดใหญ่รับกับความบึกบึนของตัวรถ เน้นใช้สีดำตัดกับสีของตัวรถในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรอบหน้าต่าง กระจกมองข้าง มือจับประตู หรือแม้กระทั่งสปอร์ตบาร์ที่ท้ายกระบะ ช่วยให้รถดูสปอร์ตมากยิ่งขึ้น
เส้นสายตลอดตัวรถถูกเน้นที่โป่งล้อทั้ง 4 ทำให้รถดูบึกบึนแข็งแรงยิ่งขึ้น คู่กับล้ออัลลอยขนาดใหญ่ 18″ จากโรงงาน พร้อมบันไดข้างที่ดีไซน์มาให้ไม่ใหญ่เกะกะแต่สามารถใช้งานได้จริง และอีกหนึ่งออฟชั่นพิเศษก็คือไฟส่องสว่างข้างตัวรถถูกซ่อนอยู่ใต้กระจกมองข้างช่วยส่องสว่างยามค่ำคืน ออฟชั่นพิเศษนี้จะเห็นกันได้ในรถเก๋งระดับกลางขึ้นไป ซึ่ง Ford ก็ได้ใส่เข้ามาใน Ford Ranger Wildtrak รุ่นนี้ ดูดีหรูหราไฮโซกันทีเดียว
ด้านท้ายรถมีโลโก้ Ford และสัญลักษณ์ RANGER ขนาดใหญ่ชัดเจน เรียกได้ว่ารถคันหลังตามมาให้รู้กันเลยไปว่ากำลังขับตามรถอะไร สำหรับรุ่นพิเศษ Wildtrak นี้ ที่เปิดกระบะท้าย และกันชนหลังจะถูกเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากรุ่นปกติที่จะเป็นโครเมี่ยม
ที่ใต้โลโก้ Ford นั้นยังมีกล้องมองหลังติดตั้งอยู่ พร้อมกับเซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง 4 จุด ที่บริเวณกันชนท้าย ซึ่งจะทำงานพร้อมกับกล้องมองหลังช่วยในการถอยจอด และกะระยะได้อย่างดี ไฟท้ายขนาดใหญ่ ดีไซน์เรียบง่ายเป็น 3 ช่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ก็ออกแบบมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถูกใจขาลุยกันแน่นอน
ภายในเรียกได้ว่าจัดเต็มออฟชั่นอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายมาเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสั่งงานด้วยเสียง ระบบบลูทูธ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ช่องต่อ AUX/USB สวิตซ์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย แอร์อัตโนมัติแยกซ้าย-ขวา โดยการใช้งานในช่วงแรกในส่วนของปุ่มควบคุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียง แอร์ หรือหน้าจอ MID ที่แสดงผลต่างๆ ต้องอาศัยความคุ้นเคยและศึกษากันก่อนอยู่พอสมควร เพราะหากไม่คุ้นชินและไม่ได้ใช้งานกันบ่อยๆ แล้วละก็ ต้องมีการละสายตามามองปุ่มเพื่อควบคุมกันเลย
บรรยากาศภายในห้องโดยสารเน้นการตกแต่งด้วยโทนสีดำเกือบทั้งหมด จะมีตัดกับสีเงินเมทาลิคให้เห็นอยู่บ้างในส่วนของคอนโซลกลางตรงปุ่มควบคุมซ้าย-ขวา บน-ล่าง ขอบกรอบหน้าปัด ครอบเกียร์ และมือจับประตู ตัดกับสีดำให้ลุคแบบรถสปอร์ตทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ภายในห้องโดยสารไม่ดูเรียบจนเกินไป
ในส่วนของไฟต่างๆ หน้าปัด เครื่องเสียง ระบบแอร์ จอ MID ถูกใช้เป็นสีฟ้าทั้งหมด ซึ่งตรงนี้โดยความเห็นส่วนตัวมีความรู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนเป็นสีส้มแล้วละก็จะให้ความรู้สึกที่สปอร์ตมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า และยังเข้ากับเบาะที่มีการตัดลาย และเดินด้ายตะเข็บด้วยสีส้มอีกด้วย ทำให้บรรยากาศยามค่ำคืนให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในรถสปอร์ตกันเลย
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ชอบมากก็คือ ตัวเบาะดำด้ายส้มสลับตาข่ายเล็กน้อย พร้อมปักชื่อรุ่น Wildtrak เป็นอะไรที่ดูดีมากๆ ออกแบบมาได้อย่างลงตัวเข้ากับตัวรถ ถือเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของรุ่น Wildtrak และเมื่อพูดถึงในแง่ของการใช้งานตัวเบาะด้านหน้ามีขนาดใหญ่ สำหรับใครที่ตัวใหญ่แล้วกลัวนั่งไม่สบายหรืออึดอัดบอกได้เลยว่าหมดห่วงได้เลย สำหรับคนตัวเล็กช่วงปีกเบาะด้านข้างอาจจะรู้สึกไม่ค่อยโอบตัวสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะจากการที่ได้ลองขับจากระยะทางไกลยาวๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีอาการให้รู้สึกเมื่อยใดๆ แต่กลับรู้สึกนั่งสบายไม่อึดอัดอีกซะด้วยซ้ำ
เบาะนั่งด้านหลังต้องขอบอกว่าสำหรับผมที่สูง 178 ซม. เบาะนั่งด้านหลังค่อนข้างกว้าง พื้นที่โดยสารด้านหลังนั่งแล้วขาไม่ติด เวลานั่งพิงเบาะก้นชิดด้านในเบาะแล้ว พื้นที่เหนือศีรษะก็ยังเหลือเฟือ ทำให้การโดยสารเดินทางไกลไม่รู้สึกอึดอัด อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนกังวลในส่วนของเบาะหลังสำหรับรถกระบะ 4 ประตูก็คือ ความชันของเบาะหลัง หลังจากที่ได้ลองนั่งระยะทางนึงบอกได้เลยว่านั่งสบายดีทีเดียวเมื่อเทียบกับเบาะหลังของรถกระบะ 4 ประตูหลายๆ รุ่น ตัวเบาะนุ่มให้ความรู้สึกสบายทั้งเบาะหน้าและหลัง ใครที่ตัวใหญ่แล้วกลัวอึดอัดไปลองแล้วรับรองได้ว่าถูกใจกันแน่นอน
Ford Ranger Wildtrak 3.2 รุ่นนี้ถูกติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล TDCi 3.2L VG Turbo พร้อม Inter – Cooler กำลัง 200 แรงม้า / แรงบิด 470 นิวตันเมตรที่ 1,750- 2,500 รอบต่อนาที จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะพร้อมโหมดสปอร์ต Ds ที่สามารถให้เลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง เครื่องยนต์ให้พละกำลังที่เหลือเฟือต่อการใช้งานทั่วไป หรือแม้กระทั่งเมื่อต้องการบรรทุกก็สามารถทำได้สบายๆ ด้วยพละกำลังที่มีอยู่ สัมผัสคันเร่งการตอบสนองทำได้ดี แต่ก็จะมีอาการหน่วงอยู่บ้างเล็กน้อยพอให้ได้รู้สึกก่อนที่ตัวรถจะตอบสนอง การใช้ความเร็วขณะเดินทาง 110-130 กม./ชม. ทำได้สบายๆ หายห่วง เมื่อต้องการจะเร่งแซงก็เพียงคิ๊กดาวน์หรือแม้บางจังหวะอาจจะเพียงแค่เหยียบคันเร่งเพิ่มจากเดิมเล็กน้อยก็สามารถที่จะแซงได้อย่างสบายๆ
แต่ในบางจังหวะการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ อาจทำงานไม่ได้ดั่งใจ อย่างเช่นเมื่อเราใช้ความเร็วอยู่ที่ประมาณ 120 กม./ชม. และต้องการจะเร่งแซง เมื่อทำการคิ๊กดาวน์กลับพบว่าเกียร์ไม่เปลี่ยนลงมาให้ แต่กลับใช้เกียร์เดิมและความเร็วก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปอย่างช้าๆ ทำให้การแซงในลักษณะของถนนเลนสวนทางมีให้ลุ้นอยู่หลายจังหวะ แต่ในบางจังหวะเกียร์ก็เปลี่ยนลงมาให้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการเซ็ตโปรแกรมควบคุมระบบเกียร์ ที่ทางวิศวกรอาจต้องการให้ผู้ขับขี่ใช้แรงบิดได้เต็มประสิทธิภาพ สร้างความประหยัด อาจไม่ถูกต้อง
ในแง่หนึ่งการเซ็ตโปรแกรมเกียร์ในลักษณะนี้อาจทำให้ผู้ขับขี่หลายท่านไม่เข้าใจว่าทำไมรถเร่งแล้วไม่พุ่งไปอย่างรวดเร็ว และลองคิดดูว่าในขณะที่เราอยู่บนถนนสองเลนสวน ในจังหวะที่คับขัน หรือต้องการเร่งแซงอย่างรวดเร็ว หากชุดเกียร์ไม่ตอบสนอง บางทีเราอาจตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากก็ได้
ด้านสมรรถนะการขับขี่เราได้ลองวัดอัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. พร้อมด้วยผู้โดยสารรวมผู้ขับขี่ 4 คนบวกด้วยสัมภาระ น้ำหนักรวมประมาณ 300 กก. โดยการจับอัตราเร่งความเร็วในครั้งนี้อยู่ในโหมดการขับขี่แบบปกติ (D) เหยียบคันเร่งสุดจากจุดหยุดนิ่งถึงความเร็วที่ 100 กม./ชม. ทำได้ดังนี้
ครั้งที่ 1 วินาที >>> 12.57 วินาที
ครั้งที่ 2 วินาที >>> 12.59 วินาที
ครั้งที่ 3 วินาที >>> 12.31 วินาที
เฉลี่ยอัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. อยู่ที่ 12.49 วินาที
จากการที่เราสังเกตในจังหวะแรกช่วงออกตัวมีอาการหน่วงอยู่เล็กน้อยประมาณ 1-1.5 วินาที ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่าเป็นช่วงที่เทอร์โบกำลังจะตอบสนอง แต่เมื่อถึงช่วงเทอร์โบเริ่มทำงานรถจะกระโจนออกไป และค่อยๆ ไต่ระดับความเร็วขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
น้ำหนักพวงมาลัยถูกเซ็ตมาค่อนข้างหนืดอยู่นิดๆ สำหรับใครที่เคยขับรถเก๋งที่พวงมาลัยเบาๆ อาจจะรู้สึกหนักอยู่บ้าง เมื่อต้องวิ่งออกต่างจังหวัดทางยาวๆ พวงมาลัยที่ถูกเซ็ตน้ำหนักมาแบบนี้ทำให้การขับขี่ต่างจังหวัดช่วยลดอาการเหนื่อยล้าจากการต้องประคองพวงมาลัยลงได้อย่างมาก พวงมาลัยที่มีความหนืดสามารถควบคุมรถได้มั่นใจ จากการที่ได้ทดลองขับระยะทางกว่า 900 กิโลเมตร ไปกลับ กทม.-บุรีรัมย์ ทั้งทริปการทดสอบนี้ก็ไม่มีอาการรู้สึกเมื่อยล้า หรืออาการปวดเมื่อยแต่อย่างใด จึงต้องขอชื่นชมกับทั้งน้ำหนักของพวงมาลัย เบาะ ช่วงล่าง และสมรรถนะของตัวรถที่ถูกเซ็ตมาให้สามารถขับขี่เดินทางไกลได้สบาย
ช่วงล่างของ Ford Ranger Wildtrak 3.2 ถูกเซ็ตมาแบบนุ่มนวลแต่ไม่ได้ถึงกับยวบยาบ ยังคงมีความแน่นหนึบในสไตล์ของฟอร์ด จะมีอาการเด้งๆ อยู่บ้างในแบบช่วงล่างของรถกระบะที่ถูกเซ็ตมาเผื่อการบรรทุก เมื่อต้องขับผ่านถนนที่ไม่เรียบเท่าไหร่นัก สังเกตได้จากคนนั่งเบาะหลังจะกระโดดๆ ตลอดเส้นทาง แต่เมื่อได้ลองนั่งที่เบาะหลังดูแล้ว อาการเด้งนั้นเกิดขึ้นจริงแต่กลับไม่รู้สึกตึงตังทีหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้รู้สึกปวดเมื่อยได้ ช่วงล่างมีการซับแรงกระแทกไว้ได้อย่างดี ถือได้ว่าน่าประทับใจอย่างยิ่งสำหรับรถกระบะในระดับด้วยกัน อาจจะไม่ได้นิ่มหนึบเท่ากับรถเก๋ง แต่ดีกว่ารถเก๋งอยู่หลายคันเลยทีเดียว
อัตราการสิ้นเปลืองเมื่อใช้ความเร็วขณะเดินทาง 120 กม./ชม. มีเร่งบ้างและในบางจังหวะทำความเร็วกันไปถึง 160 กม./ชม. อัตราการบริโภคน้ำมันได้อยู่ที่ประมาณ 10 กม./ลิตร เป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ด้วยเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ น้ำหนักของรถ และผู้โดยสารบวกสัมภาระถือได้ว่าอัตราบริโภคน้ำมันนี้โอเคเลยทีเดียว ถึงจะไม่ได้ประหยัดมากมาย แต่ก็เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเกลียดเมื่อมองกลับไปในเรื่องของสมรรถนะที่ได้กลับมา
สุดท้ายนี้ใครที่กำลังมองหารถกระบะ 4 ประตูอเนกประสงค์หล่อๆ เท่ๆ สักคัน ที่มีอุปกรณ์ครบครันจัดเต็มมาให้ตั้งแต่โรงงาน Ford Ranger Wildtrak 3.2 ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่เราอยากจะแนะนำ แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวของคุณเองจะเป็นคนตัดสินว่ารถคันไหนที่จะสามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับตัวคุณเองได้ดีที่สุด ลองขับแล้วตัวคุณเองจะรู้ว่า Ford Ranger Wildtrak 3.2 ใช่หรือไม่ใช่สำหรับคุณ
เรื่องและขับทดสอบ โดย @toptaro
ขอขอบคุณ ฟอร์ด ประเทศไทยที่เอื้อเฟื้อ รถทดสอบ Ford Ranger Wildtrak 3.2
[GALLERY872]
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com