Test Drive: ทดลองขับ Toyota Camry 2.5 HV Premium และ 2.5G นิ่งและประหยัดกว่าเดิม
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 20 พ.ย. 61 00:00
- 45,701 อ่าน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2536 โตโยต้า คัมรี่ ได้ถือกำเนิดเข้ามาในตลาดรถยนต์ที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก แต่มันไม่ใช่รุ่นแรกของโลก เพราะ Toyota Camry ได้มีการเริ่มผลิตรุ่นแรกภายใต้รหัสตัวถัง V10 มาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้นำมาจำหน่ายในประเทศไทยนั่นเอง
โดยโฉมแรกของ Toyota Camry ทีมาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น เป็นรหัส ACV10 เป็นรุ่นที่นำเข้ามาจากออสเตรเลีย ในตลาดรถเรียกกันว่า โฉมแรกประกอบนอก ก่อนที่ 2 ปีต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนไฟท้ายออกมาใหม่ จึงมีการเรียกต่อมาว่า โฉมท้ายหงส์ ซึ่งต้องยอมรับว่า ความนิยมยังไม่มีมากนักสำหรับโฉมนี้ รวมทั้งโฉมไฟท้ายไม้บรรทัด และ โฉมท้ายย้อย ด้วยเช่นกัน แต่มันเริ่มความนิยมมากขึ้นตั้งแต่รหัส ACV30 เป็นต้นมา ทีได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยตัวรถขนาดใหญ่ และความหรูหราที่มีให้มาในตัวรถอย่างเต็มที่ ทำให้ช่วงนั้นเกิดยอดจองกันอย่างถล่มทลาย บางคนที่จองกว่าจะได้รถก็ร่วมครึ่งปีเลยทีเดียว
โตโยต้า คัมรี่ ถือเป็นรถยนต์ขนาดกลางที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากตัวแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อใจ และตัวรถก็มีความหรูหรา นั่งสบายสำหรับคนไทย เป็นรถญี่ปุ่นตัวท็อปเลยก็ว่าได้ในราคาที่เอื้อมถึง และเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ในที่สุด Toyota Camry ก็ได้ทำการปรับเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ ถือเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 8 ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่โตโยต้าภูมิใจ นั่นคือ TNGA หรือ Toyota New Global Architecture นั่นเอง
Toyota Camry เปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเราเมื่อ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ถ้าเป็นตลาดโลก อย่างญี่ปุ่นและอเมริกา มีการเปิดตัวมาแล้วตั้งแต่ปี 2017 แล้ว และในที่สุด ทาง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนอย่างพวกเราได้ทดสอบกันสักที และแน่นอนว่า ทีงาน AUTODEFT ก็ได้รับเชิญเข้าทดสอบด้วยเช่นกัน โดยการทดสอบ All-New Toyota Camry ครั้งนี้ เราจะต้องเดินทางกันไปที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ. บุรีรัมย์
เริ่มนัดหมายกันตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ที่สนามบินดอนเมือง (โคตรเช้าเลย) จับเครื่องบินเที่ยวแรกมุ่งสู่สนามในช่วง 6 โมงกว่า และไปถึงตัวสนามราว 8 โมงเช้า (ยังแทบไม่ตื่นกันเลย) แน่นอนว่า ก่อนเริ่มการทดสอบที่จะมีขึ้นราว 10 โมงเช้า ก็ต้องมีการเข้าห้องเรียนกันเสียก่อน เริ่มต้นกันตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลของรถยนต์ใหม่ 2019 คันนี้ว่ามีดีอะไรบ้าง รวมทั้งเส้นทางของการทดสอบในวันนี้
มาเริ่มทำความรู้จักรายละเอียดของ All-New Toyota Camry กันก่อนดีกว่าครับ โดยอย่างแรกที่ต้องพูดถึงก็คือ โครงสร้างใหม่ของคันนี้ เปลี่ยนไปใช้เป็น Toyota New Global Architecture หรือ TNGA ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ที่ใช้ต่อจาก Toyota C-HR แต่ทางโตโยต้าบอกว่า โตโนต้า คัมรี่ ใหม่ จะเป็นรุ่นแรกที่ใช้โครงสร้างนี้อย่างเต็มระบบ ทั้งโครงสร้างการออกแบบ, เครื่องยนต์, เกียร์ และอื่น ๆ ส่วน C-HR นั้น จะเอามาใช้แต่ตัวโครงการออกแบบเท่านั้น จึงนับเริ่มต้น TNGA แบบสมบูรณ์ที่รุ่นนี้นั่นเอง ข้อดีของโครงสร้าง TNGA นั้น มีทั้ง
- Body rigidity - เพิ่มความมั่นคงของรถจากโครงสร้างเหล็กที่แข็งแกร่ง พร้อมเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมตัวถัง (Spot welding) ช่วยรองรับแรงบิดที่มีต่อตัวถัง เพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัวและเกาะถนนมากยิ่งขึ้น
- Low center of gravity – จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ลดการโคลงตัวของรถ ช่วยเรื่องการทรงตัวและการเข้าโค้งดีขึ้น
- Double Wishbone Suspension ช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระปีกนกคู่ เพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการเกาะถนนที่ดีเยี่ยม
- Good Handling พวงมาลัยมีการปรับอัตราทดและ ECU ใหม่ ทำให้การตอบสนอง แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้การควบคุมรถง่ายเป็นไปอย่างมั่นใจ
- STABILITY – จากโครงสร้างตัวถังที่มีความแข็งแรง ทำให้การควบคุมจากพวงมาลัยมีความแม่นยำ เกาะถนนได้ดีเยี่ยม เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ด้วยช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone ยังช่วยเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่
- AGILITY – ความคล่องตัวในทุกจังหวะการขับขี่ และการควบคุมได้ดั่งใจ เกิดจากการที่ตัวรถถูกออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ส่งผลให้การขับขี่ ที่สนุกมากขึ้น และสามารถขับลัดเลาะไปตามซอกซอยได้อย่างคล่องตัว
- VISIBILITY – จากการออกแบบให้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางของรถ พร้อมเพิ่มทัศนวิสัย และการลดจุดอับสายตาภายในห้องโดยสาร ด้วยการปรับกระจกด้านหน้าคนขับให้กว้างขึ้น และลดขนาดเสา เอ (A Pillar) ทั้ง 2 ด้านให้แคบลง ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถมองวัตถุในมุมอับได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- COMFORT – โครงสร้างรูปแบบใหม่ และช่วงล่างที่อิสระ สามารถลดแรงกระแทกจากพื้นถนนสู่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความความนุ่มนวลทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่เมื่อยล้าในการขับขี่ เพลิดเพลินในทุกการเดินทาง
ส่วนเครื่องยนต์ใน All-New Toyota Camry นั้น มีทั้ง 2.5 Hybrid, 2.5 และ 2.0 แต่เครื่องยนต์ใหม่ที่เป็นแบบ Dynamic Force นั้น จะมีเฉพาะ 2.5 Hybrid, 2.5 ส่วน 2.0 นั้น เป็นเครื่องตัวเก่าที่ยกมาจากโฉมที่แล้ว และวันนี้เราก็จะได้ทดสอบเครื่องยนต์ 2.5 Hybrid ในรุ่น 2.5 HV Premium และเครื่องยนต์ 2.5 ในรุ่น 2.5G เท่านั้น งั้นเรามาทำความรู้จักตัวเครื่องยนต์กันให้มากขึ้นดีกว่า โดยเครื่องยนต์ในตัว Toyota Camry 2.5 HV Premium นั้นเป็นเครื่องยนต์รหัส A25A-FXS แบบเครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว D-4S VVT-iE ขนาด 2.5 ลิตร ให้กำลังที่ 178 แรงม้าที่ 5,700 รอบ แรงบิด 221 นิวตันเมตร ที่ 3,600-5,200 รอบ ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าชนิด มอเตอร์ซิงโครนัสแม่เหล็กถาวร ให้กำลังที่ 88 กิโลวัตต์ หรือเทียบเป็นแรงม้าได้เป็น 119 แรงม้า แรงบิด 202 นิวตันเมตร ที่หมุนได้ด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ชนิด นิกเกิลเมตัลไฮดราย 6.5 แอมแปร์-ชั่วโมง และเมื่อทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า จะสามารถผลิตกำลังได้สูงสุด 211 แรงม้าเลยทีเดียว ซึ่งระบบ Hybrid ที่ติดตั้งนั้น เป็นเจนที่ 4 ของทางโตโยต้าแล้ว ขับเคลื่อนด้วย E-CVT (Electronically-controlled Continuously Variable Transmission)
ส่วนใน Toyota Camry 2.5G นั้น ใช้เครื่องยนต์รหัส A25A-FKB แบบเครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว D-4S VVT-iE ขนาด 2.5 ลิตรเช่นกัน แต่ตัวเครื่องยนต์ถูกปรับจูนให้มีกำลังขนาด 209 แรงม้าที่ 6,600 รอบ แรงบิด 250 นิวตันเมตรที่ 5,000 รอบ ส่วนเกียร์นั้น จะใช้เป็นแบบ Torque Converter 8 สปีด Direct Shift ที่จะช่วยให้การตอบสนองของช่วงเกียร์ต้นนั้น ทำได้ดีมากกว่าเดิม
เครื่องยนต์แบบใหม่ของทางโตโยต้า ที่เรียกกันว่า Dynamic Force ทางวิศวกรได้บอกรายละเอียดว่า จะเป็นเครื่องยนต์ที่สามารถทำงานได้ดีมากขึ้น กำลังแรงขึ้น ภายใต้การใช้งานเชื้อเพลิงที่น้อยลง ด้วยการเพิ่มความหนาแน่นของมวลอากาศที่อัดเข้าไปในกระบอกสูบ, ปรับองศาตรงกลางของวาล์วไอดีใหม่เพื่อให้อากาศไหลเข้าได้ดีขึ้น, ปรับพื้นผิวของท่อไอดีให้เงามันมากขึ้น ส่งผลให้การจุดระเบิดในแต่ละครั้ง สามารถสร้างพลังงานได้ดีกว่าเครื่องยนต์ระบบเดิม เครื่องยนต์มีการใช้ระบบไฟฟ้าไปหมุนเพลาลูกเบี้ยวแทนที่การใช้ระบบไฮโดรลิค ทำให้สามารถควบคุมการทำงานได้เร็วและถูกต้องมากกว่าเดิม เพิ่มหัวฉีดแบบ Direct เข้าไปอีก 4 หัว ทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมเป็นระบบใหม่ว่า Dynamic Force ที่ทางโตโยต้ามั่นใจว่า จะเพิ่มได้ทั้งพละกำลัง และช่วยลดการใช้งานเชื้อเพลิงได้มากกว่าเดิมด้วยครับ
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสำคัญที่ทางคนเลือกซื้อมักจะเป็นกังวลก็คือ เรื่องของแบตเตอรี่นั่นเอง เพราะที่ผ่านมาหลายคนมักจะกลัวเรื่องราคาแบตเตอรี่ ที่เมื่อเปลี่ยนทีนั้นต้องใช้ตังเป็นหลักแสน แต่ทางโตโยต้าบอกว่า แบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่ใน All-New Toyota Camry นั้น จะมีรับประกันการเปลี่ยนลูกใหม่ให้ทันทีในระยะรับประกัน 10 ปี ถ้าหากแบตเตอรี่เกิดอาการเสียตามเลื่อนไขขึ้นมา ซึ่งราคาแบตเตอรี่ในปัจจุบันนั้น ราคาเบิกศูนย์จะอยู่ที่ 67,000 บาทเท่านั้น ถูกลงกว่าเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง ลองคิดดูว่าหลังจากรถหมดระยะรับประกัน 10 ปีแล้ว ตัวราคาแบตเตอรี่จะถูกลงอีกขนาดไหน ดังนั้นลูกค้าที่ซื้อก็ไม่น่าจะต้องกังวลใจว่าใช้งานแล้วมันจะคุ้มค่าหรือไม่ถ้าแบตเกิดเสียขึ้นมา
แน่นอนว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างแล้ว มิติของตัวรถก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ถ้าเอามิติของตัวเดิม นั่นคือรหัส XV50 มากางดู ตัวรถจะมีขนาด กว้าง x ยาว x สูง x ฐานล้อ อยู่ที่ 1,820 x 4,850 x 1,470 x 2,775 มม. แต่สำหรับ All-New Toyota Camry นั้น จะอยู่ที่ 1,840 x 4,885 x 1,445 x 2,825 มม. เห็นได้ชัดว่า ตัวรถนั้นใหญ่ขึ้นทุกมิติ ยกเว้นความสูงที่ลดลง นั่นหมายถึงภายในตัวรถมีพื้นที่โดยสารมากขึ้น แต่รถเตี้ยลงเพื่อให้การทรงตัวนั้นดีขึ้น รวมทั้งการจัดวางของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ของในรุ่น Hybrid ที่ถูกย้ายเอามาวางไว้ที่ใต้เบาะนั่งด้านหลังแทนที่จะเป็นตัวท้ายรถ หรือเกียร์ Hybrid ที่จัดวางใหม่ให้ขยับเข้ามาอยู่ตรงกลางของห้องเครื่องได้มากขึ้น เป็นต้น ด้วยเหตุผลพวกนี้แหล่ะ ที่ทางโตโยต้ามั่นใจมากว่า รถจะสามารถทรงตัวได้ดีมากกว่าตัวเดิมทั้งยามขับปกติหรือการเข้าโค้ง
สำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยนั้น โตโยต้าใด้ใส่ระบบความปลอดภัยที่เรียกว่า Toyota Safety Sense ลงมาด้วย ประกอบไปด้วย ระบบความปลอดภัยก่อนการชน Pre-Collision System, ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมพวงมาลัยหน่วงอัตโนมัติ Lane Departure Alert, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Dynamic Radar Cruise Control และระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Automatic High Beams นอกจากนี้ก็ยังมีอุปกรณ์ความปลอดภัย Active Safety อีกหลายอย่าง ทั้ง กล้องมองภาพขณะถอยหลัง พร้อมแนะนำเส้นทางการถอย, ระบบช่วยเตือนขณะถอยรถ RCTA, ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง BSM, สัญญาณไฟกระพริบเมื่อเบรกกะทันหัน ESS รวมทั้งยังติดตั้งถุงลมนิรภัยมาทั้งหมด 9 จุดอีกด้วย แต่แน่นอนว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะมีครบทุกอย่างเฉพาะในรุ่น 2.5 HV Premium เท่านั้นนะจ๊ะ (อยากรู้ว่ารุ่นไหนมีอะไรบ้าง ลองไปเช็คดูอย่างเป็นทางการที่หน้าเว็บของโตโยต้าได้เลย)
ภายในนั้น มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งบางอย่างไปจากตัวเดิมบ้าง อย่างเช่นจุดที่เป็นแทนชาร์จไร้สายสำหรับสมาร์ทโฟน ก็ถูกย้ายจากแถวข้างหลังคันเกียร์ ให้มาอยู่ใต้คอนโซลตรงกลางแทน, เบรกมือถูกเปลี่ยนให้เป็นแบบไฟฟ้า พร้อมปุ่ม Hold เพื่อให้เบรกให้อัตโนมัติเมื่อรถจอดสนิท ทั้ง 2 ปุ่มถูกจัดวางเอาไว้ตรงกลางข้างคันเกียร์ แม้กระทั่งปุ่มเปิดพัดลมเป่าเบาะ ก็ถูกย้ายเอามาไว้อยู่ด้านข้างแทนเช่นกัน ส่วนอื่น ๆ นั้นก็ยังคล้ายของเดิม โดยที่ผมชอบมากมาตั้งแต่โฉมที่แล้ว นั่นคือเบาะแถวหลัง (ในรุ่นท็อป) สามารถเอนได้ด้วยระบบปุ่มไฟฟ้า และคนนั่งหลังสามารถควบคุมอุณหภูมิและเครื่องเสียงได้ด้วย เหมาะสำหรับทำเป็นรถผู้บริหารจริง ๆ
สิ่งที่เปลี่ยนไปอีกอย่างสำหรับตัว Hybrid ก็คือ เมื่อโฉมก่อนนั้น เกียร์จะไม่มีการสับแบบสปอร์ตได้ มีเฉพาะเกียร์เดินหน้าและเกียร์ B เอาไว้หน่วงความเร็วยามลงเขาเท่านั้น แต่ใน All-New Toyota Camry มาด้วยมาดใหม่ มีเกียร์สปอร์ต +,- มาให้ด้วย พร้อม Paddle Shift เพื่อเอาไว้เปลี่ยนเกียร์แบบทันใจได้อีกด้วย สารภาพตามตรงว่า ยังไม่ได้ลองใช้งานเลย ไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนได้สนุกมากกว่าเดิมขนาดไหน
อ่ะ ข้อมูลรถเบื้องต้นก็น่าจะพอสมควรแล้ว เรามาเข้าสู่การทดลองขับกันเลยดีกว่า วันนี้ผู้สื่อข่าวจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มครับ โดยกลุ่มหนึ่งก็จะอยู่ที่ราว 30 คนได้ โดยกลุ่มแรก จะเริ่มด้วยการขับกันแบบออกรสชาติในสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ส่วนกลุ่ม 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมอยู่ จะไปขับรถชิว ๆ แบบ ECO Run กันก่อน โดยเส้นทางนั้นจะเริ่มจากสนาม มุ่งหน้าไปสู่ตั้งถาวรฟาร์ม เมล่อน จ. สุรินทร์ ระยะทางอยู่ที่ประมาณ 54 กิโลเมตร ถูกแบบออกเป็น 2 รุ่นอย่างที่บอกไว้ตอนแรกคือ All-New Toyota Camry 2.5 HV Premium ที่เป็นเครื่องยนต์ระบบ Hybrid และ 2.5G ที่เป็นเครื่องยนต์เบนซินปกติ โดยมีความท้าทายเล็กน้อยว่า ใครสามารถขับได้ประหยัดที่สุด รับรางวัลไป ยึดเอาอัตราที่หน้าจอเป็นสำคัญ และต้องถึงจุดหมายปลายทางในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยขาไปผมและทีม (รวม 3 คนในรถ) เริ่มกันที่รุ่น 2.5G ก่อน การเดินทางก็เป็นเส้นทางการจราจรปกติ มีติดไฟแดงบ้าง ช้าเพราะรถบรรทุกบ้างตามปกติ ไม่ได้มีการปิดถนนเพื่อการเดินทางแต่อย่างใด ขาไปผมเป็นผู้โดยสารด้านหน้าครับ เอาจริงการขับ ECO Run แบบนี้ มันแทบจะจับความรู้สึกในการนั่งไม่ออกอยู่แล้ว เพราะคนขับก็ต้องเดินคันเร่งแบบโคตรนุ่มนวล เปลี่ยนเลนช้า ๆ ขับไปช้า ๆ ดังนั้น การรีวิวสำหรับการโดยสารก็คงไม่ได้อะไรเท่าไหร่ สำหรับอัตราการประหยัดน้ำมันที่เราทำได้กันช่วงนี้ ก็คือ 18.1 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่าได้ตัวเลขที่ดีมากเลย เมื่อเป็นเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตร
หลังจากพักรับประทานเมล่อนอร่อย ๆ กันจนอิ่มหนำแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางกลับแล้ว โดยขากลับ ผมได้ทำหน้าที่เป็นพลขับเอง ขับเป็นรุ่น 2.5 HV Premium ใช้เส้นทางเดิม, ระยะทางเท่าเดิม รวมทั้งเวลาก็กำหนด 1 ชั่วโมงเช่นเดิม แต่ขากลับนี่ซวยหน่อยครับ ไปเจอติดไฟแดงเกือบทุกแยกเลย ทำให้อัตราการประหยัดที่ได้มารอบขากลับก็คือ 25.4 กิโลเมตร/ลิตร ว้าวเลยครับ เพราะในโฉมที่แล้วนั้น ผมเองเคยลองทดสอบกันอยู่ ยังได้ไม่เคยถึง 20 กิโลเมตร/ลิตรเลย สิ่งที่สังเกตุได้ช่วงการขับแบบ ECO Run นั่นคือ ระบบจะปรับไปใช้แบตเตอรี่ได้บ่อยมากกว่าเดิม และสามารถวิ่งในโหมด EV ได้นานกว่าเดิม น่าจะมาจากระบบ Hybrid Gen 4 ของทางโตโยต้า ที่สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าได้ดีมากกว่าเดิม รวมทั้งเครื่องยนต์แบบ Dynamic Force ที่ช่วยให้การจุดระเบิดสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าเดิม และอีกสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ ก็คือเรื่องของความสูงตัวรถที่ลดลง ก็เป็นอีกอย่างที่ช่วยให้การปะทะกับอากาศภายนอก ก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน
จบภาคเช้าไปเรียบร้อยแล้ว กลับเข้ามาสู่ภาคบ่ายกันบ้าง โดยรอบนี้จะเป็นการซัดรอบสนามช้าง โดยระหว่างเส้นทางที่วิ่งไป ก็จะมีสถานีต่าง ๆ ดักหน้าไว้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น Slalom, Lane Change รวมทั้งโค้งต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานของสนามอยู่แล้ว โดยจะมี Instructor นั่งควบคุมความเร็ว พร้อมบอกเส้นทางให้กับเราไปด้วย ทดสอบทั้ง 2 รุ่น รุ่นละ 2 รอบ เบ็ดเสร็จรวยมทั้งสิ้น 4 รอบ เริ่มต้นด้วยการลุย 2.5 HV Premium กันซะก่อน รอบแรกนั้น ทาง Instructor จะให้เราลองในโหมด Normal กันเสียก่อน ฐานแรกที่เจอก็คือ Slalom ที่ค่อนข้างแคบหน่อย ตรงนี้ให้วิ่งเข้าไปประมาณ 50 พอ ต่อด้วยโค้งตัว U ของสนาม ซึ่งคือโค้งที่ Jorge Lorenzo เทมาแล้วในการแข่งรอบคัดเลือก MotoGP ที่ผ่านมาในประเทศไทย ก่อนที่จะมาเจอกับสถานี Lane Change ที่ต้องหักซ้ายที แล้วก็ขวาที ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อพ้นฐานนี้ก็กดเต็มที่ ก่อนที่จะเข้าโค้งใหญ่ที่หน้า Stand ที่สามารถเข้าได้ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ แล้วก็ค่อยหมุนไปตามโค้งของสนาม จนถึงก่อนโค้งสุดท้ายก่อนเข้า Stand ก็เจอกับ Lane Change แบบทางออกแคบ ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีกรอบ และเมื่อถึงทางตรงหน้า Stand ก็จะมี Slalom ให้เข้าด้วยความเร็ว 80 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงอีกที ก่อนที่จะวนกลับไปเหมือนเดิมอีก 1 รอบ แล้ววกเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนรถกันไป
จากการทดสอบในรุ่น All-New Toyota Camry 2.5 HV Premium สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับโฉมเก่าก็คือ การทรงตัวที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก สามารถเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงโค้งใหญ่ รอบที่ 2 ผมลองกดเข้าไปที่ 120 ผลคือสามารถเข้าได้ โดยมีอาการท้ายไหลน้อยมาก ไม่ต้องใช้ฝีมือในการควบคุมมากเท่าไหร่ เอาจริง ๆ ที่โค้งนี้ ผมก็เคยลองเอา Toyota C-HR เข้ามาแล้วเหมือนกัน แต่คุมยากกว่าหน่อย น่าจะมาจากความสูงและกว้างยาวของตัวรถที่ไม่เท่ากัน ก็เลยทำให้อาการมันมีอยู่เมื่อเข้าเร็วมาก แต่เชื่อว่าถ้าผมกด Camry ให้เร็วกว่านี้ ก็น่าจะเข้าได้อย่างไม่ยากเท่าไหร่ แต่ในเมื่อมีคนควบคุมเราอยู่ข้าง ๆ ก็เอาเป็นว่า เชื่อฟังเขาหน่อยก็แล้วกัน ดังนั้นโครงสร้างใหม่ TNGA ของโตโยต้า ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกภาพลักษณ์ของ Toyota รุ่นใหม่ได้พอตัวเลย
ต่อมากับในตัว All-New Toyota Camry 2.5G โดยรุ่นนี้เราอาจจะสัมผัสได้ถึงความนุ่มนวลที่ลดลงไปหน่อย แต่ช่วงเข้าโค้งกับเฟิร์มมากกว่าตัว Hybrid อันนี้เนื่องมาจากตัวยางของรุ่นนี้ ใส่มาเป็นขนาด 235/45 R18 ส่วนในตัว Hybrid มาเป็น 215/55 R17 ซึ่งถ้าดูแล้ว ตัวยางของ 2.5G จะมีความกว้างกว่าแต่บางกว่า การสัมผัสของหน้ายางเลยมีมาก และแรงบิดของยางช่วงเข้าโค้งก็เกิดขึ้นน้อยกว่า ทำให้มันสามารถเข้าโค้งแล้วรู้สึกได้ว่าเฟิร์มกว่า แต่มันแลกมากับความนุ่มนวลที่หายไปเล็กน้อย แต่มันก็ไม่ได้หายไปแบบนั่งแล้วรู้สึกเวียนหัวแต่อย่างใด
ส่วนการควบคุมรถนั้น พวงมาลัยเป็นการใช้ไฟฟ้าควบคุม ทำให้มีความแม่นยำมากกว่าแบบไฮโดรลิคอยู่แล้ว แต่ด้วยเอกลักษณ์ของโตโยต้า ที่มักจะตั้งค่าให้ตัวพวงมาลัยหนืดมือกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว มันเลยทำให้เราขับแบบสปอร์ตได้สนุกแม้จะอยู่ในโหมด Normal ก็ตาม แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นโหมดสปอร์ต พวงมาลัยจะตึงมือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ลดความหน้าไวในช่วงความเร็วสูงได้ ดังนั้นถึงรถจะดูภูมฐานขนาดไหน มันก็สามารถซิ่งได้เหมือนกัน
การตอบสนองของเครื่องยนต์นั้น ผมเองยังไม่รู้สึกถึงความต่างจากรุ่นเดิมมากสักเท่าไหร่ โดยในตัวที่เป็น Hybrid สามารถเร่งช่วงต้นได้ดีมากกว่าตัวที่เป็นเบนซินธรรมดาอยู่เล็กน้อย มาจากที่มอเตอร์จะช่วยขับพลังในช่วงต้นได้ ทำให้รถสามารถพุ่งออกไปได้ดี ส่วนในตัว 2.5G นั้นอาจจะมีช่วงต้นที่ต้องรอรอบเล็กน้อย ถึงจะเริ่มออกตัวไปได้ตามที่เราต้องการ แต่ถามว่ากำลังเครื่องเพียงพอกับการขับขี่ในเมือง รวมทั้งต่างจังหวัดแบบไม่อายใครได้ไหม บอกเลยว่าเหลือเฟือครับ มันอาจจะไม่ได้พุ่งปรู๊ดปร๊าดทันใจวัยสะรุ่นนัก แต่ถ้าวัดกันไกล ๆ มีสนุกแน่นอน
ราคาของ All-New Toyota Camry 2.5 HV Premium อยู่ที่ 1,799,000 บาท ซึ่งถูกลงกว่ารุ่นก่อนเยอะพอตัว ทั้งนี้เนื่องมาจากอัตราภาษีที่จัดเก็บเรื่องแบตเตอรี่ลดลงนั่นเอง ส่วน All-New Toyota Camry 2.5G อยู่ที่ 1,589,000 บาท ทีนี้ถ้าถามว่า ควรเลือกเป็นรุ่นไหนดี จะเอารุ่นเครื่องยนต์ปกติ หรือเป็นเครื่องยนต์ Hybrid ถ้าความเห็นส่วนตัวผม การซื้อรถคลาสนี้หมายถึงผมต้องการความสะดวกสบายอยู่แล้ว ก็เลยอยากจะเชียร์ให้อัพราคาขึ้นไปซื้อรุ่นท็อปเลย เพราะมันครบเครื่องเรื่องการใช้งานจริง ๆ อย่ามาเถียงเลยครับว่าค่าแบตเตอรี่มันแพง เอาจริง ๆ จะไปกลัวทำไม ในเมื่อเขารับประกันให้ตั้ง 10 ปี แถมกว่าจะถึงวันนี้ ราคาค่าแบตคงจะร่วงลงไปอีกมากโข ดังนั้นเรื่องนี้อย่าเอามาเป็นเหตุผลในการไม่เลือกใช้เลยครับ แต่ถ้าบอกว่า อยากได้เพื่อเอามาแต่งเพิ่ม อันนี้เชียร์ไปเครื่องเบนซินปกติเลยครับ เพราะมันสามารถอัพนู่นนี่นั่นได้อีกมากพอตัว และการเอาเครื่องระบบ Hybrid ไปโมเพื่ออัพแรงใหม่ ผมว่ามันจะได้ไม่คุ้มเสียเอาเน้อ
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com