Test Drive: ทดลองขับ Mitsubishi Xpander ใหญ่ นั่งสบาย ไปได้ทุกทาง
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 25 ก.ค. 61 00:00
- 21,946 อ่าน
ช่วงหลังมานี้ ค่ายรถยนต์ตราเพชร Mitsubishi ห่างหายไปจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ไปนานพอตัวทีเดียว แต่ด้วยช่วงหลังมีข่าวมาถึงการออกรุ่นใหม่ที่อินโดนีเซียอย่าง Mitsubishi Xpander รถยนต์สไตล์ Compact Crossover ที่ยอมรับเลยว่ามีการดีไซน์ที่สะดุดตาเป็นอย่างมาก เวลาเราลงข่าวทีไร ยอดคนอ่านก็ถล่มทลายทุกที
ต่อจากนั้น เมื่อมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วที่อินโดนีเซีย พร้อมยอดสั่งจองแบบถล่มทลาย ก็เริ่มมีกระแสข่าวมาชัดเจนขึ้นว่า ทางมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย น่าจะมีการนำเข้ารถยนต์รุ่นนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย ทำให้การรอคอยของรถสไตล์ Crossover แบบล้ำๆก็สูงมากขึ้น และแล้วข่าวลือนั้นก็เป็นจริง รถยนต์ Mitsubishi Xpander ได้มาประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว
ทางผมเองในฐานะทีมงาน AUTODEFT ได้รับเทียบเชิญมาจากทาง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เพื่อไปร่วมทดสอบ All New Xpander ด้วยเช่นกัน (ขอบคุณคร้าบบบบ) โดยเป็นเส้นทางตั้งแต่ จ. บุรีรัมย์ จนถึง กทม. รวมแล้วประมาณ 400 กว่ากิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับมาสำหรับการทดสอบนี้คือ จะมีรถยนต์ให้ทดสอบทั้งหมด 6 คัน โดยเป็น 6 คันแรกที่มีอยู่ในประเทศไทย ณ เวลานี้
เริ่มต้นการเดินทางไปทดสอบครั้งนี้ ผมมีนัดกันที่สนามบินดอนเมืองเวลาตี 4 ครึ่ง เพื่อต้องบินในเวลา 6 โมงกว่าๆ ไปสู่สนามบินจังหวัดบุรีรัมย์ (โคตรเช้าเลย ทุบทุกสถิติการทดสอบรถยนต์) หลังจากเดินทางถึงสนามบินแล้ว ก็เดินทางต่อด้วยรถตู้สู่ตัวเมือง (ขออภัย ตรงไหนก็ไม่รู้) เพื่อทำการรับบรีฟก่อนเริ่มทำการทดสอบ
หลังจากการรับบรีฟแล้ว ทำให้มีข้อมูลเบื้องต้นว่า Mitsubishi All New Xpander (เขาอยากให้เรียกแบบนี้) ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร DOHC MIVEC 16 วาล์ว 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที ที่ทางมิตซูบิชิเลือกใช้อลูมินัมอัลลอยเป็นวัสดุในการผลิต ซึ่งนอกจากจะทำให้น้ำหนักเบาแล้ว การระบายความร้อนก็ดีกว่า เครื่องยนต์มีความเงียบกว่าแบบที่ใช้เหล็กในการผลิต ใช้สายไทม์มิ่งแบบโซ่ ที่ไม่ต้องเปลี่ยนทุกแสนกิโลเมตร อ่างน้ำมันเครื่องก็เป็นอลูมินัมอัลลอยเช่นกัน และน้ำมันที่ใช้ รองรับได้ถึง E20 ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด มีอัตราการทดเกียร์ดังนี้ครับ
เกียร์ 1 : 2.875
เกียร์ 2 : 1.568
เกียร์ 3 : 1.000
เกียร์ 4 : 0.697
เกียร์ถอยหลัง : 2.300
อัตราทดเฟืองท้าย : 4.375
ส่วนระบบระบบความปลอดภัยก็มีมากมาย ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ASC-Active Stability Control) ระบบป้องกันการลื่นไถล (TCL-Traction Control System) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA-Hill Start Assist System) ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก (ABS-Anti Lock Braking System) และระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EBD-Electronic Brake Force Distribution) พร้อมระบบเสริมแรงเบรก (BA-Brake Assist) ระบบไฟกะพริบฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS-Emergency Stop Signal System) ถุงลมนิรภัยด้านคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับและระบบผ่อนแรงอัตโนมัติ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง และเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด 5 ตำแหน่งสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง รุ่นสูงสุดยังมาพร้อมกับกล้องมองภาพด้านหลัง
มาว่ากันถึงเรื่องของมิติกันหน่อย เพราะสัมผัสจากสายตาตอนแรกแล้ว รู้สึกถึงความอลังการของสัดส่วนเกินกว่าคู่แข่งพอสมควร ด้วยขนาด กว้างxยาวxสูง คือ 1,750x4,475x1,700 มม. และฐานล้อกว้าง 2,775 มม.ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Mitsubishi Pajero Sport รถขนาด PPV ที่ 1,815x4,785x1,805 มม. แล้ว มันก็ไม่ได้เล็กกว่าอะไรมากมาย (ส่วนกับค่ายอื่น เดี๋ยวจัดให้อีกรอบ)
รถยนต์ Mitsubishi All New Xpander รุ่นที่เราทดสอบวันนี้ จะเป็นตัวท็อป GT แต่รอบนี้จะมีการจำหน่ายอยู่ 2 รุ่น คือจะมีอีก 1 รุ่นคือ GLS-LTD ซึ่งเป็นตัวเริ่มต้น มีจุดแตกต่างกันหลายอย่าง ตามนี้
ล้อ : GT = 16 นิ้ว 205/55 R16 , GLS-LTD = 15 นิ้ว 185/65 R15
คิ้วขอบกระจกประตู : GT = โครเมี่ยม , GLS-LTD = สีดำ
มือเปิดประตู : GT = โครเมี่ยม , GLS-LTD = สีเดียวกับตัวรถ
แผงกันกระแทกด้านหน้าและหลัง : GT = สีเงิน , GLS-LTD = สีดำ
คิ้วด้านข้าง : GT = สีเงิน , GLS-LTD = สีดำ
เบาะนั่ง : GT = หนังสีดำ , GLS-LTD = ผ้า
พวงมาลัย : GT = หุ้มหนังพร้อมปุ่ม Multi-Function , GLS-LTD = หุ้มยูริเทน
หน้าจอ : GT = 6.2 นิ้ว DVD, Bluetooth, Remote, 6 ลำโพง , GLS-LTD = CD, USB, AUX 4 ลำโพง
มาตรวัด : GT = High Contrast 4.2 นิ้ว, LCD, 3D Animation , GLS-LTD = Mono Tone, Eco Indicator
กุญแจ : GT = กุญแจอัจฉริยะ KOS พร้อมปุ่ม Push Start , GLS-LTD = กุญแจรีโมท
กล้องมองหลัง : GT = มี , GLS-LTD = ไม่มี
6 คันแรกที่พวกเราได้รับการทดสอบครั้งนี้ จะมีเฉพาะรุ่น GT หรือตัวท็อปเท่านั้นครับ อย่าถามว่าคุ้มมั้ยที่จะเล่นตัวท็อป อันนี้ยังตอบไม่ได้เลย เพราะต้องดูราคาจำหน่ายจริงก่อนครับ
เอาล่ะ หลังจากได้รับข้อมูลเบื้องต้นของรถ Mitsubishi Xpander เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มไปที่ตัวรถกันดีกว่า เริ่มจากดีไซน์ก่อน ภาพรวมทั้งหมด ส่วนตัวผมชอบมากเลยนะ มันดูเป็นรถที่ล้ำสมัย มีเหลี่ยมมุมที่ออกแบบได้ดูลงตัวดี (อันนี้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนครับ) กระจังหน้านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับลมได้มากซักเท่าไหร่ เป็นแผงตี 3 เส้นวางเป็นแผ่น เหลือช่องระหว่างแผ่นอยู่นิดเดียว แต่จะเปิดช่องด้านล่างให้รับลมแทน ส่วนไฟหน้านั้นอาจจะดูแปลกๆหน่อย เพราะวางเอาไฟหรี่ (ย้ำ ไฟหรี่) ไปวางไว้บนสุด ซึ่งเราคิดเอาเองตอนแรกว่ามันเป็นไฟ Daytime Running Light แต่ไม่ใช่ ต้องเปิดไปหรี่ถึงจะติด ไฟชุดนี้เป็นแบบ LED ครับ เรียงตัวตัดขอบกับฝากระโปรง ส่วนตัวโคมไฟใหญ่ เป็นแบบ Multi-Reflector ดันเอาไปวางอยู่ด้านล่างแถวกันชนหน้า ติดกับไฟเลี้ยวที่วางไว้ข้างใต้ไฟหน้า และวางไฟตัดหมอกแบบหลอดฮาโลเจนเช่นกันไว้ด้านล่างในจุดที่เป็นชายกันชน จากการทดสอบแล้ว…. ไม่รู้เลยครับว่ามันให้ทัศนวิสัยดีเหมือนปกติหรือเปล่า เพราะไม่ได้ทดสอบช่วงกลางคืนเลย แต่ก็คิดว่าใช้งานได้ปกติแหล่ะ ส่วนไฟท้ายเป็นทรง L Shape ไฟแบบ LED พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ที่สปอยเลอร์บนฝาประตูหลังแบบ LED เช่นกัน
สำหรับภายในนั้น Mitsubishi Xpander ที่ทดสอบนั้น เป็นเบาะหนัง 3 แถว 7 ที่นั่งแบบ 2:3:2 เบาะแถว 2 พับได้แบบ 60:40 และตรงกลางสามารถพับลงมาให้กลายเป็นที่ท้าวแขนได้ ส่วนแถวที่ 3 นั้นพับได้แบบ 50:50 ผมได้ลองนั่งหมดทุกตำแหน่งแล้ว สำหรับ 2 แถว แรกถือว่านั่งสบาย ที่นั่งคนขับก็นั่งสบาย ตัวเบาะนั้น สำหรับผมนั่งได้ดี ขับนานๆก็ไม่ได้เพิ่มความเมื่อยจากตัวเบาะแต่อย่างใด โดยเฉพาะแถวที่ 2 ที่สามรถถเอนได้มากพอตัว นั่งโคตรสบาย พื้นที่ Leg Room ยังเหลือเพียบ นั่งสบายแบบที่ผมหลับสนิท (กรนบ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง เพราะอดนอนมาด้วย ฮ่า) แต่สำหรับแถวสุดท้ายนั้น นั่งได้ครับ แต่ก็พอจะอึดอัดหน่อย อาจจะด้วยผมเป็นคนตัวใหญ่ สูง 172 ซม. แต่บานออกข้างเยอะหน่อย ทำให้การนั่งนานๆน่าจะเมื่อยล้าได้พอสมควร แต่ถ้าคนตัวเล็กหรือสาวๆตัวน้อย ก็น่าจะนั่งได้สบายอยู่ครับ การพับเบาะนั้น สามารถพับให้เรียบได้ แต่มันไม่ราบแบบขนานกับพื้น มันก็ออกจะเอียงๆพอสมควร วางของก็พอจะไหลได้อยู่ แต่พื้นที่ในการวางสัมภาระนั้นกว้างขวาง ขนของได้เพียบอย่างแน่นอน
การย่างก้าวเข้าไปสู่ตัวรถ ผมว่ามันพอดีสำหรับผมมากๆ ไม่ต้องใช้ความพยายามในการเข้า-ออกรถเลย ความสูงมันรู้สึกว่าพอดีกับขนาดตัวของผมอย่างพอดิบพอดี ลองถามคนที่อยู่ในทริปด้วยกันก็ได้รับความเห็นที่ใกล้เคียงกันกับผมเลยครับ ภายในของ Mitsubishi Xpander การออกแบบสำหรับผมก็คือ ไม่ได้ดี ไม่ได้แย่อะไร อยู่ในระดับกลางๆ แอร์ยังคงเป็นแบบ Manual ไม่ได้ใส่ในส่วนของแอร์อัตโนมัติเข้ามา พวงมาลัยยกแบบเดียวกับของ Mirage มาเลย ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ตัวมาตรวัดก็เห็นชัดเจนดี มีระบบบอกข้อมูลตามมาตรฐานพอสมควร ตัวปุ่ม Push Start อยู่บนแผงข้างพวงมาลัย วางคู่กับปุ่มปรับกระจกข้าง วัสดุที่ใช้ทำแผงคอนโซลด้านหน้า เป็นพลาสติกลายหนัง แทรกด้วยลายเคฟล่าเล็กน้อยที่ฝั่งผู้โดยสาร ตัดขอบช่องแอร์ด้วยกรอบสีเงิน ช่องตรงกลางมีบานเลื่อนเพื่อเปิดใส่สิ่งของกระจุ๊กกระจิ๊กได้ มีช่องเสียบไฟ 12V แต่ไม่มีช่องเสียบ USB เพราะทั้งคันมีอยู่จุดเดียวที่หน้าจอ ซึ่งจุดนี้นี่เองที่อาจจะขัดใจผมเล็กน้อย เพราะไม่ชอบที่จะเอาไปเสียบตรงจุดนี้ มันเกะกะเวลาใช้งาน ถ้าเพิ่มมาให้อีกจุดตรงข้างช่อง 12V ก็คงจะดีไม่ใช่น้อย
ที่พวงมาลัย ก็มีปุ่ม Multi-Function ที่ใช้ควบคุมเครื่องเสียง, โทรศัพท์ที่เชื่อมต่อ รวมทั้งมีปุ่มใช้งาน Cruise Control ด้วย และอีกอย่างที่ถูกใจผมพอสมควร ก็คือมันมีจุดที่ให้ใส่, วางสัมภาระเยอะแยะไปหมด ที่วางแก้วก็เพียบ หันไปตรงไหนก็มีที่วางของเต็มไปหมด และจุดเด่นอีกอย่างที่ชอบคือ ที่หลังเบาะผู้โดยสาร จะมีซองใส่ของทั้งหมด 3 ช่อง คือช่องด้านล่างขนาดใหญ่ตามมาตรฐานทั่วไป แต่มีเพิ่มด้านบนขั้นมาอีก 2 ช่อง พอดีที่จะใส่ Tablet 1 เครื่อง และช่องพอใส่โทรศัพท์อีก 1 เครื่อง ลองใช้แล้วฟินมาก เสียดายที่มีมาให้ฝั่งเดียว ฝั่งเบาะคนขับนั้นไม่มีนะจ๊ะ
สำหรับแอร์ด้านหลังนั้น ใช้ระบบการดูดแอร์จากด้านหน้า มาพ่นใส่คนด้านหลังด้วย Blower อีกชุดที่ติดตั้งโดยเฉพาะ สามารถให้ความเย็นได้ถึงแถวที่ 3 สบาย แต่วันที่ทำการทดสอบนั้น ฝนตกอยู่ตลอดเส้นทาง อากาศก็ไม่ได้ร้อนมาก เลยไม่รู้จริงๆว่า ถ้าอากาศร้อนมากๆ จะสามารถทำให้แถวที่ 3 รับแอร์ได้เย็นตามปกติหรือเปล่า แต่ถ้าเคยลองจากรุ่นอื่นที่ใช้ระบบนี้เหมือนกัน ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้เลยนะ
ข้อมูลของสายตาที่สำคัญก็อธิบายไปเยอะแล้ว มาเริ่มลองทดสอบการใช้งานจริงกันบ้างดีกว่า เส้นทางวันนี้จะเริ่มต้นจากตัวเมืองบุรีรัมย์ มุ่งหน้าไปสู่ อ.กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี ผมรับหน้าที่กะแรกในการทดสอบ มีผู้โดยสารอีก 3 คน พร้อมสัมภาระอีกประมาณหนึ่ง ระยะทางที่รับผิดชอบคือประมาณ 185 กิโลเมตร โดยจะมีการแวะที่ศูนย์บริการ มิตซู แสนรุ่งเรือง บุรีรัมย์ก่อน เพื่อแวะให้ลูกค้าของศูนย์บริการนี้ได้ยลโฉมตัวจริงของ Mitsubishi Xpander สักหน่อย เสียดายที่ฝนช่องนี้ตกค่อนข้างหนัก เลยมีลูกค้ามาแวะชมจำนวนไม่มากเท่าไหร่ แต่ชาวคณะสื่อมวลชนก็ได้การตอบรับกันอย่างดี
จากนั้นก็ออกเดินทางต่อ เบื้องต้นต้องบอกก่อนว่า ตัวรถนั้นหนักราวๆ 1.7 ตัน (รวมของเหลวแล้ว) บวกกับผู้โดยสารและสัมภาระก็ประมาณ 2 ตันนิดๆ เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร DOHC MIVEC 16 วาล์ว 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที ถือว่าแบกน้ำหนักพอสมควร ไม่สามารถดึงรถให้มีอาการ “พุ่ง” ได้ ถึงแม้จะกดคันเร่งเต็มก็ตาม แต่มันไหลไปได้ไม่อืดอาดยืดยาดแต่อย่างใด ถึงแม้ตัวรถจะใช้รอบสูงพอสมควรก็ตาม โดยคร่าวๆคือ ที่ความเร็วระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะใช้รอบประมาณ 3,000 รอบเลย และเมื่อกดเพื่อให้รถพุ่งไป รถจะใช้รอบเครื่องเกิน 5 พันรอบ ตามเอกลักษณ์ของรถเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด การทำงานของเกียร์นั้น ไม่มีเกียร์ Sport ให้ใช้งาน เป็นเกียร์แบบดั้งเดิมที่มีเกียร์ P,R,N,D,2 และ L ตามปกติ พร้อมปุ่ม Overdrive ที่เอาจริงก็ไม่ได้ใช้งานบ่อยเท่าไหร่ กดคันเร่งเพื่อให้เกียร์คลิกดาวน์จะสะดวกกว่า (สำหรับผมนะ) รอยต่อเกียร์ถือว่าทำงานได้ดีพอตัว ไม่ได้มีอาการสะดุดให้เห็นเท่าไหร่ ถามว่า Top Speed ของคันนี้นั้น สามารถทำได้เท่าไหร่ ถ้าตามสเปคก็ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่จากที่ลองในบางช่วงที่รถโล่งๆ ถนนเรียบๆ ต้องบอกว่าเกินครับ แต่อาจจะใช้เวลาในการลากพอสมควรเลย
ทัศนวิสัยในการขับขี่นั้น ถือว่าทำได้ดีครับ ตัวกระจกบานหน้าก็กว้าง ตัวเสาเอก็วางในตำแหน่งที่ไม่ได้บังจุดสำคัญสักเท่าไหร่ ส่วนกระจกมองข้างนั้น โอ้โห บานใหญ่ทีเดียว มองทัศนะวิสัยด้านหลังได้ดี ส่วนกระจกมองหลังนั้นก็ตามมาตรฐานทั่วไป ถ้าใครจะซื้อมาใช้ ก็อยากแนะนำให้ซื้ออันที่ใหญ่กว่านี้มาติดเพื่อเพิ่มความกว้างในการมองดีกว่า
การควบคุมของพวงมาลัยนั้น เอาจริงก็ไม่ได้อุ้ยอ้าย บังคับยากเลย ถึงมันจะไม่ได้อยู่ในระดับคล่องตัว แต่มันก็ใช้พาไปในช่องต่างๆได้ไม่ลำบากอะไร พวงมาลัยไฟฟ้า ทำให้พวงมาลัยหมุนได้สบาย ถึงแม้อยู่ในช่วงความเร็วสูง ก็ไม่ได้มีอาการหน้าไวเลย ช่วงล่าง Mitsubishi Xpander ใช้ด้านหน้าแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงและเหล็กค้ำหัวโช๊ค วาล์วช่วงล่างใช้ชุดเดียวกับที่ติดตั้งอยู่บน EVO X ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีม เสริมด้วย Cross Member ช่วยลดอาการบิดตัวของตัวถังขณะเข้าโค้ง ให้ความรู้สึกที่นุ่มสบายในการขับขี่ ส่วนด้านหลังอาจจะมีอาการรู้สึกได้ถึงความกระด้างเล็กน้อย แต่แลกมาด้วยการเข้าโค้งที่เกาะถนน อาการย้วยท้ายตามสไตล์ของรถประเภท SUV Crossover นั้นมีน้อยมาก มั่นใจมากจริงๆในการเข้าโค้ง เบรกหน้าเป็นแบบดิสก์เบรกพร้อมช่องระบายความร้อน เบรกหลังเป็นดรัมเบรก ส่วนฟีลลิ่งในการเบรกนั้นออกไปทางนุ่มนวลครับ ไม่มีการกดแล้วตัวรถลดความเร็วมากเกินไป ค่อยๆแตะเพื่อลดความเร็วลงมาได้อย่างนุ่นนวล ส่วนการเก็บเสียงนั้น ที่ฝั่งคนขับนั้น มีเสียงเริ่มเข้าที่ช่วงความเร็วตั้งแต่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นต้นไป โดยผมจะได้ยินแถวๆกระจกมองข้าง ซึ่งตรงนั้นจะมีชุดกระจกบานเล็กๆติดอยู่ ไม่แน่ใจว่ามันมาจากจุดนั้นหรือเปล่า แต่เสียงที่เข้าไม่ได้สร้างความน่ารำคาญมากซักเท่าไหร่ ส่วนเบาะนั่งข้างหลังนั้น เงียบมาก ไม่มีเสียงรบกวนจนน่ารำคาญเลย (ช่วงที่เป็นผู้โดยสาร ทำเอาหลับสบายแบบรู้ตัวก็ถึงที่หมายแล้ว)
วันที่ 2 ของการเดินทาง ก็เป็นเส้นทางมาจากที่พัก มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร โดยวันนี้จะมีคิวแวะที่ มิตซูไทยธาดา (ฉะเชิงเทรา) ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกค้าได้มายลโฉมตัวจริงกันอีกรอบ พอไปถึงเท่านั้นแหล่ะครับ ตกใจมาก เพราะคนที่รอจะดูนั้นมากันเต็มศูนย์บริการเลย จากการสอบถามนั้น ทำให้รู้ได้ว่า ตอนนี้ทางตัวแทนจำหน่ายต่างๆ ได้เริ่มเปิดให้จองเพื่อซื้อ Mitsubishi Xpander แล้ว ถึงแม้จะยังไม่เปิดเผยราคาก็ตาม ลองดูความนิยมได้ตามรูปเอาเองเลยครับ
หลังจากนั้นก็เดินทางต่อมาที่กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดตรงโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ก่อนจะปิดทริปด้วย Q&A กับทางมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีคำถามหลากหลายที่พอจะสรุปได้ว่า สำหรับยอดขาย Mitsubishi Xpander ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นฐานการผลิตนั้น ขายไปได้แล้วกว่า 50,000 คัน และโรงงานที่ผลิต สร้างมาใหม่เพื่อผลิตรุ่นนี้โดยเฉพาะ ผมเลยสอบถามไปเพิ่มเติมว่า แล้วเป็นไปได้มั้ยที่เราจะยกมาผลิตในประเทศไทยได้บ้าง เพราะเราจะได้กำหนดสเปคเองได้ ทางผู้บริหารก็บอกว่า ไม่มีทางเลย เพราะมีการแบ่งการผลิตไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเหตุผลนี้เองจึงทำให้เราไม่สามารถกำหนดสเปคหลายๆอย่างเองได้ อย่างเช่นตัวเกียร์ ที่เลือกมาเป็นแบบอัตโนมัติ 4 สปีด ไม่ได้เป็น CVT ก็มีสาเหตุมาจากตลาดในอินโดนีเซียนิยมใช้แบบนี้มากกว่า ด้วยราคาที่ต่ำและการบำรุงรักษาก็ง่ายกว่า แต่ทาง MMTh ก็ยังพอจะเปลี่ยนสเปคบางอย่างได้ เช่น ปกติแล้วสเปคในอินโดนีเซียจะมีแต่เบาะผ้า แต่บ้านเรามีในส่วนของเบาะหนังเพิ่มขึ้นมาด้วย เป็นต้น ส่วนราคานั้น จะเปิดราคาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคมที่งาน Big Motor Sale แต่ตอนนี้เริ่มให้จองได้ก่อนแล้ว และมีจำนวนยอดจองเข้ามามากพอสมควรแล้วเช่นกัน ซึ่งเราก็ถามกันต่อว่า อ้าว แล้วยังไม่เปิดราคาแบบนี้ บอกลูกค้ายังไง ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ได้บอกช่วงของราคาไป โดยน่าจะอยู่ในช่วง 7 แสนต้นๆ จนถึงราว 8 แสนกลาง ซึ่งเป็นช่วงราคาที่ไม่ห่างจากคู่แข่งในขนาดเดียวกันมากนัก และถ้าลูกค้าทราบราคาแล้วไม่พอใจ ก็จะคืนส่วนของเงินจองให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ถือว่าวิน-วินกันไป
สรุปการใช้งานมา 2 วัน ต้องบอกว่า Mitsubishi Xpander เหมาะที่สุดสำหรับคนที่ไม่เร่งรีบ มีครอบครัวหรือชอบความโอ่โถงสบายในราคาที่อยู่ในระดับกลางๆ เหมาะที่สุดคือการใช้ในเมือง แต่ก็สามารถออกต่างจังหวัดได้, ลุยได้ในระดับหนึ่ง ลุยน้ำได้ เพราะตัวรถก็สูงกว่ารถเก๋งทั่วไป และสูงกว่าคู่แข่งในตลาด อัตราประหยัดก็อยู่กลางๆ จากหน้าจอที่วัดมาได้ในทางต่างจังหวัด อยู่ประมาณ 12.8 กิโลเมตร/ลิตร ไม่มากไม่น้อย นั่งสบาย, ขนของได้เยอะ มีให้เลือก 4 สีคือ Black Mica, Titanium Gray, Sterling Silver และ Quartz White Pearl ส่วนราคา ก็รอลุ้นกันอีกทีช่วงเดือนหน้าครับ แต่ถ้าดูจากราคาคร่าวๆแล้ว ผมว่าใครที่ต้องการรถแนวครอบครัว ที่ไปไหนมาไหนได้แบบสบาย พอจะไปลุยได้ทุกพื้นที่แบบไม่เร่งรีบ ก็ถือเป็นอีกรุ่นที่น่าสนใจจริงๆครับ
ทดสอบและเรียบเรียงโดย Earthpark02
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com