Hands On : Mazda 3 2017 .....เปลี่ยนให้เชื่อง เพิ่มเติมความปลอดภัย
- โดย : Autodeft
- 1 ก.พ. 60 00:00
- 34,861 อ่าน
การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในโลกใบนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ นั่นทำให้บริษัทรถยนต์หลายรายเริ่มวางแผนเดินการตลาดด้วยการทำรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น สนองความต้องการการใช้งานให้ลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ไม่บ่อยนักที่ผมอยากจะไปขับรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์ เพราะ โดยมาก มันเป็นเพียงการแต่หน้าทาปาก เหมือนสาวคนเดิม ก้าวเข้าบ้านแล้วกลับออกมาด้วยลุคใหม่ คุณก็ยังควงสาวคนเดิม นิสัยคนเดิม เพิ่มเติมคือ อาจจะจ๊ะจ๋าพี่ขาเก่งขึ้น แต่ถ้าสาวเจ้าอีกคนกลับเข้าบ้านแล้วนั่งสมาธิคิดได้ว่า ชั้นจะต้องทำให้พี่เขาชอบชั้นให้ได้ แล้วกลับมาพร้อมความมั่นใจ มุกใหม่ๆมนต์ร้อยเสน่ห์เต็มเหยียด เอาใจเก่ง พร้อมรับมือกับความเป็นคุณ เราก็คงจะตกหลุมรักเธอบ้าง ... จริงไหม
ตั้งแต่เปิดตัวมา 3 ปี ที่แล้ว Mazda 3 ใหม่ เป็นรถยนต์ที่ก่อเกิดการพลิกกระแสการตลาดให้กับค่ายรถยนต์มาสด้า ด้วยการออกแบบที่จัดเต็มมาตั้งแต่แรกเริ่มไม่เม้มเก็บไว้ พร้อมอัดแน่นเทคโนโลยีใหม่มาครบสูตร ตั้งแต่น๊อตยันเครื่องยนต์ จนในวลานั้น ผมเองยังตั้งคำถามว่า แล้ว มาสด้าจะเอาอะไรไมเนอร์เชนจ์
หลายปีผ่านมาไม่น่าเชื่อหลับตาแวบเดียวอีกทีก็ขายมา 3 ปีแล้ว Mazda สะกิดให้ผมมาลองขับเจ้ามาสด้าเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ที่เพิ่งเปลี่ยนไปหมาดๆ แต่ในขณะที่หลายคนอาจจะมองว่าภายนอกมันไม่ต่างมากมายอะไร หากภายในเรือนร่างที่ดูคล้ายคลึงรุ่นเดิมที่วางขายมาก่อนหน้า กลับให้ความแตกต่างอย่างชัดเจนกว่าที่คิด
ตั้งแต่ที่ผมเห็น Mazda 3 ใหม่ ในงานเปิดตัว ก็ยอมรับว่าความคิดของเราส่วนใหญ่มักจะตัดสินจากอะไรภายนอก เจ้ามาสด้า 3 ใหม่ กลับทำให้รู้สึกว่าไม่แตกต่างอาจจะด้วยการพยายามคงเอกลักษณ์ที่ดีของเส้นสาย KODO Design เอาไว้ ตั้งแต่หัวจรดท้าย จนกระทั่งมาถึงตรงนี้ที่ได้มาลองขับ ก็ยอมรับว่ายังมีในมุมมองความรู้สึกอย่างนั้นอยู่บ้าง
อาจจะด้วยเราเห็นการไมเนอร์เชนจ์หลายรุ่นที่เปลี่ยนตัวรถให้ดูแตกต่าง ฉีกขาดทิ้งคราบเดิมไปเลยจนลูกค้าเห็นสามารถแยกแยะได้ทันทีเลยว่า นี่รุ่นเดิม นั่นรุ่นใหม่ ... แต่สำหรับมาสด้า พวกเขาไม่ทำแบบนั้น
เรือนร่างที่เห็นในภาพนี้คือรถยนต์ Mazda 3 Sedan 2.0 SP รุ่นปรับปรุงโฉมแล้ว..
หลายคนอาจจะถามผมกลับว่า นี่มันเปลี่ยนตรงไหน แต่หลังจากเจอเทศนาในวันเปิดตัวจากทีมนักออกแบบที่ใช้เวลาร่วมครึ่งชั่วโมงในการอธิบายว่า พวกเขาเปลี่ยนเส้นสายการออกแบบอะไรบ้างที่จะดูเป็นจุดสังเกต
ผมสรุปใจความสำคัญได้ทันทีว่า การออกแบบในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ของ Mazda 3 2017 จบวิชาด้วยการทำให้รถดูปราดเปรียวมากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะการออกแบบทางด้านที่บางอาจจะบอก “ไม่เห็นมันเปลี่ยนเลย” แต่เอาเข้าจริง ยืนดูดีๆ จะรู้สึกได้ว่า รถดูดุขึ้น จากการใส่ไฟหน้าสไตล์ใหม่ที่ดูโฉบเฉี่ยวกว่าเดิมเข้ามา ในรุ่น SP ยังได้โคมโปรเจคเตอร์ พร้อมไฟหน้า LED มีระบบ Adaptive LED Headlamp ใส่ติดตัวมาด้วยครบครัน ช่วยในการส่องสว่างในยามค่ำคืน มันสามารถปรับไฟสูงต่ำได้อัตโนมัติ โดยใช้การตรวจจับจากกล้องที่ติดอยู่หลังกระจกบังลมหน้า
ตลอดจนจนในโคมได้ไฟ Day Time Running Light ใหม่ ดีไซน์โฉบเฉี่ยวมากยิ่งขึ้น รวมกันชนหน้าใหม่ ด้านหลังในรุ่นซีดานไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็จริง แต่เมื่อมองรวมควบกับล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ขนาด 18 นิ้ว สีเทาเข้มกว่าเดิม พร้อมยางขนาด 215/45/R18 ลายคล้ายเจ้าสปอร์ตโรดสเตอร์มาสด้า MX5 ยอมรับว่า สวยเฉียบกว่าเดิม (ส่วนในรุ่น 5 ประตู ปรับช่วงชายกันชนท้ายใหม่ ให้ลงตัวมากขึ้น)
ในห้องโดยสาร Mazda 3 ใหม่ เข้มข้นมากขึ้นในความสปอร์ต ด้วยการออกแบบที่ถอดดีเอ็นเอความสปอร์ตมากขึ้น มันชัดว่านี่คือ “สปอร์ตคอมแพ็คคาร์” ที่หลายคนจับต้องได้มากขึ้น
รายละเอียดต่างในห้องโดยสารถูกเปลี่ยนใหม่หลายรายการ เริ่มทักทาย ทันทีตั้งแต่พวงมาลัยใหม่ การออกแบบช่วงคอนโซล เก็บรายละเอียดให้มีความลงตัวมากขึ้นด้วยวัสดุคุณภาพสูงมากขึ้น คอนโซลหน้า หันมาใช้วัสดุเนื้อนิ่ม เพิ่มคุณค่าการออกแบบ ดูเหมือนรถราคาแพงจากยุโรปมากขึ้น
น่าเสียดาย เปลี่ยนการออกแบบทั้งที ทาง Mazda กลับยังไม่ให้เบาะนั่งปรับไฟฟ้า แม้กระทั่งในรุ่นท๊อป ... เข้าใจว่า คงอยากให้รถดูมีความสปอร์ต แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งที่มีมาให้ ก็คงต้องเล่นเกมวัดใจกับลูกค้า ว่าจะซื้อหรือไม่ก็ซาโยนาระ
นอกจากนี้ยังมีการอัพเดทระบบ Mazda MZD Connect แต่ยังไม่มีโอกาสเล่นอย่างจริงจัง หน้าปัดเรือนไมล์เปลี่ยนใหม่ รวมถึง Head Up Display ดูน่าใช้มากขึ้น ด้วยจอสีบอกรายละเอียดมากขึ้น ที่ลืมจะบอกไม่ได้รุ่นใหม่ Mazda ให้ ระบบควบคุมความเร็วอัจฉริยะมาให้เสร็จสรรพตามเสียงเรียกร้องจากลูกค้า ตั้งแต่รุ่นกลางขึ้นมา แต่ในตัวทอป Mazda Radar Cruise Control
ตลอดจนตรงกลางให้ระบบเบรกมือไฟฟ้ามาแล้วในรุ่นท๊อป และมีโหมดการขับขี่ให้เลือกประหยัดหรือจะเน้นความเร้าใจ ได้หมดถ้าสดชื่นในรถยนต์มาสด้า 3 ใหม่
ด้านการโดยสารตอนหลังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แคบอย่างไรก็อย่างงั้น คุณภาพการโดยสารถือว่าอยู่นระดับกลางๆ เพราะพื้นที่โดยสารให้มาพอดีเป๊ะ คนตัวใหญ่อย่างผมนั่งได้นะ แต่ยังไม่สามารถใช้คำว่า “นั่งได้อย่างสบาย” ก็เท่านั้นเอง
ใต้เรือนร่างสปอร์ตหรูดูพรีเมี่ยมมากยิ่งขึ้น .. Mazda 3 ใหม่ ยังมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง ขนาด 2.0 ลิตร Mazda Sky Activ G เหมือนที่ผ่านมา รายละเอียดทางเทคนิคต่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากรุ่นเดิมที่เคยวางจำนห่ายมาก่อนนี้เลยแม้แต่น้อย
หากแต่ในครั้งนี้ Mazda ก็เล็งเห็นว่า สมรรถนะในการขับขี่มีความสำคัญอย่างยิ่งมากขึ้น การทำให้คนเป็นหนึ่งเดียวกับรถ ตามปรัชญา “จินบะ อิทไต” ต้องการอะไรที่มากกว่าแค่สิ่งที่ Mazda Sky active ทำอยู่แล้วในปัจจุบัน พวกเขาจึงคิดว่า การควบรวมสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างครบครัน ให้สามารถสนองตอบในการขับขี่มากขึ้น
นั่นเองจึงเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ลำดับที่ 5 ของ Mazda ตามติดต่อเนื่อง ในเครือญาติ Mazda Sky Activ Technology
เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนี้ ถูกเรียกว่า “Sky Activ Vehicle Dynamic” ระบบที่เข้ามาช่วยควบคุมให้รถสามารถสอดผสานการทำงาน ระหว่างทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง และโครงสร้างตัวถัง ให้สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงในการขับขี่ออกมาได้มากกว่ารุ่นเดิม
ระบบที่แนะนำเข้ามาภายใต้เทคโนโลยีนี้ คือ ระบบ G Vectoring Control มันเปลี่ยนแปลงการขับขี่จริงจัง แม้ว่าจะฟังดู... ก็คงคิดว่า มันจะสักเท่าไร แต่ยอมรับครับว่า เมื่อได้ขับแล้ว จะรู้ว่าต่างๆ จริง
ทีมงาน วิศวกร Mazda อธิบายว่า ระบบ G-Vectoring Control หรือ GVC เป็นระบบที่จะสามารถช่วยในการขับขี่ได้ 3 เรื่องสำคัญ คือ
1.ให้การทรงตัวที่ดีขึ้น เพิ่มความมั่นใจในการขับขี่
2. ความสะดวกสบายในการโดยสาร ลดการเมื่อยล้าจากการเข้าโค้ง (ผู้โดยสาร)
3.ลดการเมื่อยล้า (ผู้ขับขี่) พวงมาลัยคุมง่ายขึ้น และลดการปรับแก้พวงมาลัย
ระบบนี้ทำงานอย่างไร
ทีมวิศวกร อธิบายว่า ระบบจะทำการตรวจสอบการใช้พวงมาลัยของผู้ขับขี่ จาก Yaw Sensor ,ตรวจสอบความเร็วรถที่ใช้ในปัจจุบัน และการคุมคันเร่งของผู้ขับขี่ในเวลานั้น โดยระบบจะทำการตรวจสอบกว่า 200 ครั้งใน 1 นาทีเพื่อคำนวนการตอบสนองของระบบ และระบบจะใช้เวลาสั่งการเพียง 0.05 มิลลิวินาที เร็วกว่าการตอบสนองของมนุษย์ ในการการลดกำลังแรงบิดจากเครื่องยนต์เพื่อให้เข้าโค้งได้ง่ายขึ้น
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วมันทำให้รถเข้าง่ายขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อระบบทำหน้าที่แค่ลดกำลังแรงบิดของเครื่องยนต์ลงเท่านั้น คำตอบนี้อยู่ที่การถ่ายน้ำหนักรถ ซึ่งคนที่ขับรถแข่งในสนามแข่งส่วนใหญ่จะรู้จักกระบวนการถ่ายน้ำหนักในขณะเข้าโค้ง โดยในรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนล้อหน้า จะต้องถ่ายน้ำหนักมาทางด้านหน้าให้มากที่สุด เพื่อให้ยางรถยนต์สัมผัสถนนมากที่สุด ทำให้เข้าโค้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งช่วยในการสนองตอบของพวงมาลัย ตลอดจนการทำงานของระบบกันสะเทือนของรถ
โดยเมื่อลดแรงบิดจากเครื่องยนต์ ตามวิธีการทำงานของระบบ GVC น้ำหนักรถจะถูกถ่ายไปล้อหน้ามากขึ้น โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกด้วยซ้ำไป แต่รถจะเรียนรู้จากการหักพวงมาลัยของผู้ขับขี่ ความเร็วและการเดินคันเร่ง หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย คือ คุณไม่จำเป็นต้องแตะเบรกในการเข้าโค้ง แต่ระบบจะตรวจสอบการหักพวงมาลัยว่า ถ้ามีการหักองศาพวงมาลัยเพื่อบังคับทิศทาง รถจะควบคุมแรงบิดให้เหมาะสมต่อการเข้าโค้ง คุณอาจจะไม่เห็นได้ด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ จากแรงเหวี่ยงของตัวรถ
โดยเฉพาะการเข้าโค้งได้แม่นยำขึ้น เนื่องจากยางถูกถ่ายน้ำหนักให้มีประสิทธิภาพในการขับขี่มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดแรงเหวี่ยงในการเข้าโค้งลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การโคลงตัวของโครงสรางตัวถังน้อยลงอย่างชัดเจน และนั่นทำให้ทุกคนรู้สึกสนุกกับเส้นทางอันแสนคดเคี้ยวได้ โดยไม่รู้สึกว่า มันเป็นเวลาสนุกของผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว
ผมเองมีโชคดีที่มาจับ Mazda 3 ในช่วงขึ้นเขาใหญ่ จากทางฝั่ด่านเนินหอมจังหวัด ปราจีนบุรี ข้ามายังฝั่งอำเภอปากช่อง
การขับขี่บนเขาใหญ่ไม่บอกก็คงทราบกันดีถึงความคดเคี้ยวของถนนที่ค่อนข้างแสนสาหัสพอสมควร แต่เมื่อขึ้นมาจับขับรถมาสด้าสามใหม่ ต้องยอมรับว่าเจ้ารถยนต์คอมแพ็คคาร์คันนี้ กลับทำให้ทึ่งในเรื่องการตอบสนองของมัในการควบคุม รถรู้สึกควบคุมง่ายเราดูเป็นหนึ่งเดียวกับรถมากขึ้น เมื่อบังคับพวงมาลัยเข้าโค้ง ระบบ GVC ทำให้รถตอบสนองได้ดีขึ้น
คุณไม่จำเป็นต้องเร่งๆ เบรก แล้วหักพวงมาลัยเหมือนก่อน เพียงแค่เดินคันเร่งหักพวงมาลัยไปมาตามเส้นาง รถจะจัดการให้เอง คุณจะยิ่งรู้กับการขับขี่สุนทรีย์ในยามเจอทางโค้งมากขึ้น ระบบ G – Vectoring Control สร้างความแตกต่างมันมีเอกลักษณ์ชัดเจน มันไม่ใช่อีกระบบที่เข้ามาควบคุมการขับขี่ของคุณ แต่เหมือนเป็นระบบที่ช่วยให้คุณเข้าโค้งได้แบบมือโปรนักขับชั้นนำมากขึ้น จากการอาศัยการควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์เพื่อถ่ายน้ำหนักในระหว่างการขับขี่ให้เป็นไปตามใจคิดอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
Mazda 3 2017 เปลี่ยนไม่นิด ถ้าคิดให้ดี
ผมยังขับ Mazda 3 ต่อเนื่องลงจากเขาใหญ่จนลงมาสู่ถนนมิตรภาพ และต่อเนื่องมายังปลายทาง ระบบ GVC ดูเหมือนจะไม่ได้มีดีเพียงในการเข้าโค้งเท่านั้นแต่มันยังลดการปรับองศาพวงมาลัยไปมา ระหว่างวิ่งทางตรงด้วย ทำให้ คุณไม่ต้องเล่นชักกะเย่อกับรถว่าใครจะคุมใครกันแน่
ในภาพรวม Mazda 3 แม้ว่าไม่ได้ปรับอะไรเลยในแง่สมรรถนะการัขี่จากเทคโนโลยี Mazda Sky Activ ดั้งเดิมที่ให้มาก่อนหน้านี้ แต่มันเหมือนการที่คุณมีหัวกะทิ 4 คน แต่ต่างคนต่างเก่งในงานของตัวเอง ทว่าเทคโนโลยี Mazda Sky active Vehicle Dynamic เป็นระบบที่ทำหน้าที่เหมือนผู้ประสานงาน ให้เปรียบผมว่าเหมือนไวทยากร ที่ทำให้รถทั้งคันสามารถออกท่วงทำนองการขับขี่ได้ราบลื่นตลอดการเดินทาง
เนื้อหาระบบอาจจะหมายถึงการเข้าโค้งเป็นสำคัญก็จริง แต่ระบบ GVC ทำหนาที่มากกว่านั้น คุณ ได้สุเกะ อูเมทซึ จากฝ่ายพัฒนารถยนต์ Mazda เปิดเผยว่า ระบบนี้คือการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามารวมกัน เพื่อที่จะทำให้รถมีประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม
ถ้าผมจะบอกว่า Mazda ทำเสร็จ อาจจะฟังดูเยินยอไป แต่นั่นคือความจริงที่ผมกล้าจะพูดว่า Mazda 3 ใหม่ ทำให้รถขับสนุกมากขึ้นอย่างที่มันสมควรจะเป็นจริงๆ พวกเขาเข้าใกล้การทำให้คนเป็นหนึ่งเดียวกับรถจริงๆ จนกล้าพูดว่าคุณไม่ต้องมีทักษะการขับขี่เรียกจากโรงเรียนรถซิ่งมากมาย ก็สามารถซิ่งมาสด้า 3 บนทางเขาคดเคี้ยวได้อย่างสบายใจไม่กลัวเกรง หรือทำให้คนข้างตวาดกร่นด่าว่าขับรถอะไรของเธอ
ผมเอง อาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับระบบ G Vectoring Control ค่อนข้างมาก มันเป็นอะไรที่ว้าว จนแม้แต่นักขับมากประสบการณ์อย่างผมต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีตัวนี้สนองการขับขี่ได้ดีจนขับได้ไม่แพ้โปรทั้งหลาย และที่สำคัญมีในรถยนต์ Mazda 3 ใหม่ทุกรุ่นย่อย ตั้งแต่รุ่นล่างสุดจนรุ่นท๊อปสุด
หากนอกเหนือจากความอัศจรรย์ของระบบ G Vectoring Control แล้วมาตรการความปลอดภัยชั้นนำ ภายใต้แพ็คเกจ i-Active Sense ก็น่าสนใจไม่ว่าจะ Mazda Radar Cruise Control , Adaptive Led Headlamp ,Lane Departure Warning System ,Lane Keeping Assist System และอื่นอีกมากทีคุณสามารถตามอ่านในแคตาล็อกได้ เป็นระบบที่มีในรถยนต์ซีดานกลาง แต่วันนี้ถูกยัดมาอยู่ใน Mazda 3 คอมแพ็คคาร์คันนี้ที่มาเซทแนวทางใหม่ให้กับตลาดว่ารถที่ดีขับสนุกควรต้องปลอดภัยด้วย
หลายคนอาจจะยังตะขิดตะขวงใจเรื่องการออกแบบตัวรถอยู่บ้าง ทว่าสิ่งที่ดีกว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้โชว์ให้เห็นภายนอกก็ได้ หากมันอยู่ภายในถ้าคิดให้ดี การยัดระบบ G Vectoring Control, ชุดแพ็คเกจ I Active Sense และ การออกแบบภายในดูพรีเมี่ยม มันก็เปลี่ยนแปลงเยอะอยู่นะ เพียงแต่ไม่สามารถตัดสินได้จากทีแรกที่พบกันก็เท่านั้นเอง
อย่างที่ผมเคยพูดกับทุกคน เวลาทดสอบรถว่า การทดสอบรถสักรุ่นสำหรับผม เหมือนกันไปพบกับหญิงสาว แต่ละคนมีบุคลิกต่างกันไป เหมือนรถแต่ละคันที่ดีเสียแตกต่างกัน
มาสด้า 3 วันนี้ คือ ผู้หญิงเปรี้ยวซ่าคนเดิม ที่เธออาจจะไม่เคยเอาใจใส่ชายใด แต่ถ้าผู้หญิงคนเดียวกันคิดได้ว่า วันนี้เจ้าหล่อนต้องตามใจคุณให้มากขึ้น พร้อมรับความเป็นตัวตนของคุณในแบบที่คุณเป็น (ไม่ใช่สวยเริ่ดเชิดใส่เธอต้องเข้าใจฉันอย่างเดียว ยุคนี้ไม่ตายหาใหม่ได้) แบบนี้ผมเชื่อว่า คุณคงจะรักเธอจนโงหัวไม่ขึ้น ... จริงไหม
Mazda 3 ก็เหมือนกับที่ผมเล่านั่นแหละครับ เธอคือหญิงสาวสวยเซ็กซี่คนเดิม พร้อมเอาใจคุณรับได้ทุกลีลาการขับขี่ .... ตามความต้องการ และถ้าถามผม นั่นก็เพียงพอที่จะบอกว่า ไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ของมาสด้ามีอะไรมากกว่าที่คิด ไม่ใช่เหลาเยแบบที่หลายคนรู้สึกกันจากภาพภายนอกเท่านั้น
รถยนต์ Mazda 3 ใหม่ อาจจะดูไม่แตกต่างภายนอก หากของดีทั้งหลายกับอยู่ที่ภายใน ใต้เรือนร่างของมันมีบางอย่างเปลี่ยนไป และแม้จะดูน้อยนิด แต่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็นำมาสู่ความแตกต่างอย่างยิ่งยวดได้....ทว่าสำหรับมาสด้า 3 คุณจะต้องสัมผัสความแตกต่างด้วยตัวเอง ...
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง Content Specialist - นักขับทดสอบรถยนต์ Autodeft.com ติดตามได้ที่
ติดตามเรื่องราว ข่าวสาร และความรู้ รถยนต์ได้กับพวกเรา ได้ที่ www.Autodeft.com
หรือผ่านทาง Fanpage Facebook กดไลค์และ Follow ได้ที่ www.facebook.com/autodeft
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com