Test Drive: ทดสอบรถยนต์ Ford Ranger Raptor นิยามได้อย่างเดียวว่า “ของจริง”
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 3 ก.ย. 61 00:00
- 40,454 อ่าน
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีรถกระบะคันไหนที่มีกระแสแรงไปกว่า รถกระบะจากค่ายรถแรง Ford Performance อย่าง Ford Ranger Raptor อีกแล้ว เพราะตั้งแต่มีข่าวออกมาว่า กำลังจะมีรถกระบะแต่งตัวแรงเกิน 200 แรงม้าออกมา พอลงข่าวทีไร คนอ่านติดตามอย่างกระจุยกระจายทุกที
จนมาถึงช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฟอร์ด ประเทศไทย ก็ได้ทำการเปิดตัว Ford Ranger Raptor อย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศราคาออกมาว่า มีค่าตัวที่ 1.699 ล้านบาท ทำเอาคนที่รอราคาอยู่ร้องอู้หูกันไปตามๆกัน พร้อมบอกกันว่า “ราคาขนาดนี้ ใครจะซื้อ” แถมไล่หลังไม่นาน ทางฟอร์ดเองได้ทำการเปิดตัวรถกระบะ Ranger ใหม่ ที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกันกับตัว Ranger Raptor แล้ว ยิ่งเอาบรรดาคนขี้เม้าท์พูดสนั่นกันอีกรอบว่า “”ออกมาฆ่า Raptor แท้ๆ”
ผมเองเอาจริงๆก็มีความสงสัยอยู่เหมือนกัน ว่าเอาเข้าจริงแล้ว Ford Ranger Raptor รถยนต์ใหม่ 2018 มันมีความดีงามขนาดไหน ราคามันถึงได้กระโดไปขนาดนั้น แต่พอได้มาดูการขับขี่ในโหมด Baja ตามคลิปที่ถูกปล่อยออกมาก่อนการส่งมอบจริง ก็เริ่มคลายข้อสงสัยไปได้เล็กน้อย แต่ก็ยังติดใจอยุ่นิดหน่อยว่า ที่เราเห็นมันเป็นการถ่ายทำ ไอ้ที่เราเห็นกระโดดแบบโหดๆตามท้องทุ่งทะเลทราย มันใช้รถไปกี่คันหว่า ดังนั้นหลังจากมีจดหมายเชิญเข้าร่วมทดสอบ Ford Ranger Raptor จาก ฟอร์ด ประเทศไทย ผมจึงรีบตอบตกลง เพื่อคลายความสงสัยเหล่านี้ด้วยตัวเองจะดีกว่า
ก่อนหน้านี้ Ford Performance ซึ่งเป็นสำนักรถซิ่งของค่ายนี้ ผู้ที่เป็นคนออกแบบรถยนต์สไตล์ซิ่ง อย่างพวก Ford Focus ST, Ford GT, Ford Shelby GT350 รวมทั้งรถกระบะ Full Size ตัวซิ่ง Ford F-150 Raptor ที่สายกระบะขาซิ่งเห็นแล้อวต้องเป็นร้องซี๊ด เพราะนอกจากความดุดัน บึกบึนแล้ว เครื่องยนต์ และช่วงล่างก็จัดมาเต็ม เพื่อให้ขาลุยได้ซิ่งในพื้นผิวถนนแบบ Off-Road ในความเร็วสูงได้อย่างเต็มที่ เราเองในฐานะนักข่าวที่ทำข่าวนี้ทีไร ก็น้ำลายไหลอยากลองขับทุกรอบไป Ford น่าจะรับรู้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เลยตัดสินใจเพิ่มตัว Performance เพื่อเอาใจลูกค้าฝั่งเอเชียโดยเฉพาะ ด้วยการจัดเอาชุดแต่ง Raptor มาลงใน Ford Ranger ซะเลย และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาของการรอคอยก็มาถึง เมื่อได้คิวเพื่อทำการทดสอบตัวจริงสักที โดยเส้นทางการเดินทางนั้น คือ กรุงเทพ-เขาใหญ่ แต่ไฮไลท์จริงๆไม่ใช่เส้นทางการเดินทาง แต่มันคือสนามทดสอบที่จัดทำมาพิเศษสำหรับ Ford Ranger Raptor ต่างหาก
ก่อนเดินทาง เรามาดูกันก่อนว่า เจ้าขาโหดคันนี้มีภาพลักษณ์อย่างไรบ้าง ตัวรถนั้น ตอนนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นรถกระบะที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแล้วในบรรดากระบะสไตล์ passenger Pickup ด้วยกัน (ปกติ Ford Ranger ก็มีด้านกว้างใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว) โดยตัวรถมีขนาด กว้างxยาวxสูง = 2,180x5,398x1,873 ใต้ท้องรถสูง 283 มม. ส่วน Wheelbase นั้นเท่ากันกับ Ranger คือ 3,220 มม. ด้วยใต้ท้องรถที่สูงมากขนาดนี้ รวมทั้งการออกแบบในส่วนของกันชนหน้าและหลังที่ต่างจากของรุ่นปกติ ทำให้มุมเข้าและมุมจากของตัวรถสามารถทำได้มากกว่ารุ่นอื่นๆ หมายถึงมันสามารถขับลุยในพื้นที่ ที่โหดกว่านั่นเอง ตัวล้อใช้เป็นขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางแบบ All Terrain เพื่อเอาไว้ใช้งานแบบลุยได้ประมาณหนึ่ง ตัวขนาดของยางคือ 285/70 R17 ของ BF Goodrich ก็ถือว่ากว้างและหนาพอตัว และที่เจ๋งอีกอย่างคือ ยางอะไหล่ก็ให้แบบเดียวกันนี่แหล่ะ ดังนั้นใครซื้อไปก็ล๊อคดีๆละกัน
เครื่องยนต์ที่ใส่มา ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.0 ลิตร 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว เทอร์โบคู่อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลัง 213 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตรที่ 1,750 - 2,000 รอบ แรงบิดสูงขนาดนี้ที่รอบไม่สูงมาก ต้องของคุณการทำงานของเทอร์โบคู่ ที่แบ่งการทำงานอย่างดี เทอร์โบ 1 ลูกจะเป็นแบบ High Pressure ทำงานที่รอบต่ำ อีกลูกเป็น Low Pressure จะทำงานที่รอบสูง โดยเมื่อเครื่องยนต์อยู่ในรอบต่ำ ทั้ง 2 ลูกจะเริ่มทำงานพร้อมๆกัน โดยที่ตัวเล็กจะหมุนเยอะหน่อย แต่เมื่อถึงรอบสูง ตัวเล็กจะถูก Bypass ออกให้หยุดทำงาน แล้วใช้แรงอัดอากาศจากลูกใหญ่เข้าไปที่เครื่องยนต์เท่านั้น จึงทำให้อัตราเร่งนั้น สามารถตอบสนองได้ตั้งแต่เกียร์แรกยันเกียร์สุดท้ายเลย ส่วนเกียร์นั้น ใช้เป็นเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด เข้าใจว่าน่าจะเป็นบลูกเดียวกับที่ใช้บน Ford Mustang สามารถเลือกเป็นโหมด Manual ให้เราควบคุมได้อย่างเต็มที่ โดยที่ตัวเกียร์จะไม่เปลี่ยนให้ถ้าเราไม่สั่ง หรือจะใช้โหมดอัตโนมัติตามปกติ แล้วเล่นเปลี่ยนเกียร์ด้วย Paddle Shift ที่พวงมาลัยก็ได้ สามารถเล่รนได้ตั้งแต่โหมด D ปกติเลย โดยก้านของ Paddle Shift เป็นวัสดุจากแมกนีเซียม อัลลอย ให้ความดุดัน มีสัมผัสที่แตกต่างกับแบบพลาสติกในรุ่นส่วนใหญ่ที่ใช้งานกันอย่างมากมาย พวงมาลัยควบคุมด้วยไฟฟ้า สามารถปรับระดับความรู้สึกในการหมุนได้ตามโหมดที่เราเลือกใช้งาน ล้อเป็นดิสก์เบรกทั้งหมด 4 ล้อ ขนาดใหญ่พิเศษ พร้อมครีบระบายความร้อน เฟืองท้ายแบบ แบบ Locking Rear Differential (Locking Rear Differential)
สิ่งที่เป็นไฮไล์ชูโรงของ Ford Ranger Raptor คันนี้ ก็คือชุดขช่วงล่างจาก Fox นั่นเอง โดยด้านหน้าจะเป็นแบบ อิสระปีกนกอลูมิเนียม 2 ชั้นพร้อมโช๊ค Fox Racing Shox แบบมีระบบบายพาสภายใน พร้อมด้วยเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ คอยล์โอเวอร์ช็อคพร้อมโช๊ค Fox Racing Shox แบบมีซับแท๊งค์และระบบบายพาสภายในพร้อมด้วยวัตต์ลิงค์ เป็นช่วงล่างที่ถอด DNA มาจากช่วงล่างที่ใช้ในรถแข่ง ที่ลงทำการแข่งขันทาง Off-Raod สุดโหดอย่าง Baja 1000 มาทั้งชุดเลย จึงมั่นใจได้ว่า รถคันนี้จะพาเราไปลุยกันแบบเต็มที่ได้แน่นอน ก่อนออกเดินทางก็ได้พูดคุยกับเพื่อนสื่อมวลชนว่าทริปวันนี้จะเป็นอย่างไร ก็ได้ความเห็นประมาณว่า ก็คงเหมือนทั่วๆไป คือพาไปขับเส้นทาง Off-Road ปกติ, ไต่เขา, ลงโคลน วิ่งบนหลุมอะไรประเภทนี้ ไอ้ที่เราได้เห็นในโฆษณาที่มีจั๊มป์จนรถลอย ไม่มีใครเขาเอารถใหม่มาให้เราเหินเล่นกันแบบนี้หรอก
เริ่มต้นการเดินทางด้วยการเป็นพลขับก่อน ปรับเบาะที่นั่งด้วยระบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง ตัวเบาะโคตรดี เป็นแบบโอบตัวสไตล์ Bucket Seat พอดีกับตัวผมอย่างมาก ตัวพวงมาลัยแบบ Multi-Function ที่ควบคุมได้สารพัด รวมทั้งโหมดการขับขี่ด้วย พวงมาลัยเสียดายที่ปรับได้แค่ขึ้น-ลงเท่านั้น ปรับใกล้-ไกลไม่ได้ ปรับที่นั่งเสร็จแล้วก็ใส่เกียร์เดินหน้าได้เลย ออกตัวด้วยโหมด Sport ที่เครื่องยนต์จะตอบสนองได้ดีกว่าโหมดปกติ แต่พวงมาลัยจะมีความหนืดมากกว่าเดิม เพื่อให้หน้ารถไม่ไวมากเกินไป
ขอแวะกลับมาที่โหมดการขับขี่เล็กน้อย Ford Ranger Raptor มีระบบการขับขี่ให้เลือกทั้งหมด 6 แบบ เริ่มจาก
Normal หรือโหมดปกติ สำหรับใช้งานทั่วไป
Sport เหมาะสำหรับต้องการใช้งานในความเร็วสูง
Rock เหมาะกับการลุยในสภาพเส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ หรือก้อนหินเยอะๆ จะใช้ได้กับการขับเคลื่อน 4L เท่านั้น
Sand/Mud เหมาะกับพื้นผิวที่เป็นทรายหรือโคลน
Grass/Gravel/Snow เหมาะสำหรับพื้นผิวที่ลื่น ตัวรถจะออกที่เกียร์ 2 ป้องกันการไถล
และโหมดสุดท้ายคือ Baja ที่หลายคนอยากรู้ว่า โหมดนี้มันทำงานอย่างไร เบื้องต้นต้องบอกก่อนว่า คำว่า Baja เป็นภาษาสเปน แปลว่าหล่น แต่มีคนเอามาตั้งเป็นการแข่งขันรถทางไกลที่โหดมากเป็นอันดับต้นๆของโลก Baja1000 กติกาง่ายๆคือ ใครสามารถขับรถฝ่าทะเลทราย เส้นทางจาก Tijuana ไปจนถึง La Paz ระยะทางรวม 1,000 ไมล์ (1,600 กิโลเมตร) โดยใช้เวลาน้อยที่สุด เป็นผู้ชนะ แต่ก็มีการแข่งขันแบบ Loop ก็คือเริ่มต้นและจบลงที่เมือง Ensenada ระยะทางจะสั้นกว่าคือรวม 830 ไมล์ (1,340 กิโลเมตร) โดยการแข่งนั้น เป็นการแข่งแบบรวดเดียวจบ ซึ่งถือว่าโหดพอตัว ส่วนการขับขี่จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวเรามาว่ากันอีกที
การเดินทางช่วงแรก เป็นเส้นทางที่มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่น แต่บางช่วงก็สามารถทำความเร็วได้บ้าง สัมผัสแรกที่จับได้เลยก็คือ ตัวช่วงล่างที่ “โคตรรรรดี” นุ่มสบาย แม้กระทั่งด้านหลังก็ตาม แต่มีความแน่นปึ๊กเมื่อยามเข้าโค้ง ทั้งความเร็วต่ำและสูง แน่นอนว่าตัวรถใหญ่ขนาดนี้ ความคล่องตัวมันอาจจะไม่เท่ารถเก๋งทั่วไป แต่เมื่อเราเปลี่ยนเลน ไม่ว่าจะสไตล์ค่อยไหล หรือเปลี่ยนเลนเพื่อมุดช่วงความเร็วสูง รถไม่มีอาการท้ายออก, ตัวโยน อะไรทั้งนั้น ถึงแม้ตัวรถจะสูงมากก็ตาม อันนี้น่าจะมาจากการถ่างความห่างระหว่างล้อให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,710 มม. ทำให้การทรงตัวดีมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนเครื่องยนต์นั้นก็หายห่วง กดเป็นมา แต่จะมาแบบสุภาพ คือไม่กระชากจนหลังติดเบาะ แต่จะพาไหลไปเรื่อยๆแบบเร็วๆได้เหมือนกัน (ไม่รู้จะอธิบายยังไง) เวลาจะมุด จึงไม่เป็นอุปสรรคเลย ส่วนแรงบิดที่มีกำลังมหาศาลถึง 500 นิวตันเมตร เห็นได้ชัดเลยว่ามีประโยชน์ช่วงขึ้นเนินหรือสะพาน เพราะสามารถไต่ไปได้สบายโดยที่ไม่ทำให้เครื่องร้องลั่นขึ้นมากกว่าเดิมแต่อย่างใด ส่วนระบบอำนวยความสะดวกอย่าง Cruise Control ก็มีมาให้ แต่ไม่สามารถปรับความเร็วอัตโนมัติได้อย่าง Ford Ranger Wildtrak
ระบบความปลอดภัยนั้น ไม่ได้เป็นจุดขายของ Ford Ranger Raptor เลย แต่ก็ใส่มาเท่าที่จำเป็น ได้แก่
- ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ (Roll Mitigation Function)
- ระบบลดอาการส่ายขณะลากจูง (Trailer Sway Control)
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (Hill Descent Control) และระบบควบคุมการบรรทุก (Load Adaptive Control)
- ระบบป้องกันล้อล็อคและระบบกระจายแรงเบรก (ABS & EBD)
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Electronic Stability Program) และระบบช่วยการออกตัวขณะจอดรถบนทางลาดชัน (Hill Launch Assist)
- ถุงลมนิรภัย 6 ลูก บริเวณด้านหน้า ด้านข้าง และด้านข้างกระจก
- กล้องมองหลัง
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control)
ถามว่าพอมั้ย มันก็พอแหล่ะครับ แต่ถ้าได้เหมือนกับตัว Wildtrak อาทิ ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB), ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System), ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) ช่วยให้การจอดรถง่ายขึ้น เป็นต้น ก็จะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากเลย
ผ่านเส้นทางช่วงแรกไปแล้ว ระยะทางราว 83 กิโลเมตรด้วยความประทับใจ ตำแหน่งต่อมาก็คือตำแหน่งที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า ตัวเบาะมันนั่งกระชับสบายเหมือนกับเบาะคนขับแหละครับ เพียงแต่มันเป็นระบบ Manual เท่านั้นเอง ปรับได้ 6 ทิศทาง สารภาพว่าหลับตลอด 90 กว่ากิโลเมตรเลย ก็มันนุ่มมาก, นั่งสบายมาก แอร์ก็เย็น นอนก็น้อยเพราะออกแต่เช้า สรุปว่าช่วงนี้ไม่มีอะไรจะบอก บอกได้แค่ว่า มันสบายมาก ขนาดขึ้นเขาใหญ่ฝั่งปราจีนบุรี ที่มีทั้งโค้งอะไรตลอดทาง ยังไม่สามารถทำให้ผมลืมตาได้เลย
หลังจากแวะพักรับประทานอาหารกลางวันกันแล้ว เราก็ได้เดินทางมาถึงสนามทดสอบรถยนต์ในวันแรก ที่สนาม 8 Speed เขาใหญ่ โดยมีการบรีฟกันก่อนขับจริงในวันนี้ โดยช่วงแรกจะเป็นการขับขี่สไตล์ Off-Road ทั่วไป ทั้งขึ้นเขา, ลงเขา, ไต่ทางขรุขระอะไรเทือกนี้ ฟังตอนแรกก็ ครับๆ แล้วก็นึกในใจว่า “ว่าแล้ว เจอแบบนี้เช่นเคย” แต่พอมาถึงช่วงหลัง ทางผู้ดูแลก็ได้บรีฟบอกว่า “ส่วนช่วงนี้ที่เป็นสนามหญ้า เราอยากให้ลองใช้โหมดหิมะกันดูครับ กดให้เต็มที่เลยแต่อย่าให้เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะได้รู้ครับว่ารถในโหมดนี้ทำงานป้องกันไม่ให้เราลื่นไถลด้อย่างไร เมื่อพ้นสถานีนี้ ก็เข้าสถานีสุดท้าย เราอยากให้ลองโหมด Baja กดให้เต็มที่ แล้วขึ้นเนินกระโดดด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง นะครับ ก่อนที่จะหักรถกลับ แล้วกระโดดอีกครั้งด้วยความเร็วเดิม เป็นอันจบรอบครับ” เฮ้ย เอาจริงเหรอครับ คราวนี้ตื่นตาโตเลย และหลังจากเดินไปดูสนามคร่าวๆแล้ว ตัวเนินทำมาเพื่อจั๊มป์โดยเฉพาะ เพราะหน้าตั้งสูง ด้วยความเร็วขนาดนี้ ลอยแน่นอนครับ เอาเป็นว่า รับการบรีฟเรียบร้อยแล้วก็ลุยได้เลยครับ
ผมเองได้คิวในการทดสอบเป็นคนรองสุดท้าย (ผู้สื่อข่าว 30 คน) ช่วงนั้นฝนยังไม่ตก แต่พอเริ่มเข้าคนที่ 20 ฝนก็เทกระหน่ำขึ้นมา ผมนี่เฮเลยครับ เพราะอยากรู้จริงๆว่าถ้าเราขับขี่รถสมรรถนะสูงอย่าง Ford Ranger Raptor แล้วจะทำได้ดีขนาดใหน และเมื่อถึงคิวผมลงสนามทดสอบรถยนต์ ฝนก็หยุดตกแล้ว แต่มันก็แฉะไปอย่างถ้วนทั่วเพราะตกหนักมาก ช่วงแรกก็ทั่วๆไปครับ ขับไปตามเส้นทางแบบ Off-Road แบบที่เคยทดสอบทั่วๆไป ใช้ทั้ง 4H และ 4L ทดสอบระบบ Hill Descent Control อะไรพวกนี้ เอาเป็นว่ามันก็ผ่านมาได้ตามปกติ ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น ข้ามมาที่ตรงลานสนามหญ้าเลยละกัน โดยก่อนทีร่จะขับเข้าทุ่งหญ้า ทาง Instructor ได้ให้เปลี่ยนโหมดขับขี่มาใช้โหมด Grass/Gravel/Snow โดยรถจะทำการออกตัวให่้ที่เกียร์ 2 เพราะถ้าปล่อยให้ออกตัวเกียร์ 1 ที่มีแรงบิดมาก ตัวรถอาจจะไถลไปตามสภาพถนนที่ลื่นๆได้ (นึกถึงสเก็ตน้ำแข็ง) เมื่อพร้อมแล้วก็กดเลยครับ ใช่เลย มันรู้สึกได้ว่าตัวรถมันไม่ได้พุ่งอออกไปเหมือนเดิม แต่จะหมุนออกไปช้าๆ และเมื่อตั้งหลักได้ความเร็วก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนความเร็วถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เริ่มแต่เบรกแล้วหมุนพวงมาลัย อุ๊ย รถท้ายเริ่มไถลเลยครับ ยิ่งพื้นที่เป็นหญ้าเปียกฝนมาใหม่ๆ ยิ่งลื่นกันไปใหญ่ แต่สิ่งที่รู้ได้ก็คือ เครื่องจะตัดกำลังทันที และมีเสียงที่ล้อบางล้อ เพราะตัวรถทำการล็อกล้อที่หมุนฟรีนั่นเอง คนขับทำหน้าที่เพียงแก้พวงมาลัยให้หันกลับมาอยู่ในมทิศทางที่ควรจะเป็น เท่านี้ตัวรถก็หยุดไถล แล้วกลับมาอยู่ในทิศทางปกติได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลยครับ
และในที่สุดก็มาถึงด่านที่เรารอคอย นั่นคือขึ้นเนินกระโดดด้วยโหมด Baja นั่นเอง Instructor บอกให้เปลี่ยนโหมดแล้วกดให้เต็มทีี โดยการทำระบบนี้ จะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงาน เพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ระบบเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด โดยระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้นและเปลี่ยนเกียร์ลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม เพื่อให้รถสามารถทำความเร็วได้มากที่สุดอย่างรวดเร็ว เมื่อพร้อมแล้วก็กดเลยครับ ช่วงเนินแรกสั้นนิดนึงครับ และล้อก็ลื่น เลยทำให้ช่วงกระโดดเนินแรกทำความเร็วได้เพียง 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่มันก็รู้สึกได้ว่าลอยครับ ช่วงลอยน่ะไม่เท่าไหร่ แต่ช่วงที่ล้อหน้ากำลังจะแตะพื้น ผมนี่เกร็งข้อมือรอรับแรกสะบัดเลย เพราะเคยเหินเนินคอสะพานแบบนี้เหมือนกัน มันสะบัดแล้วต้องคอยแก้อาการ แต่ผิดคาดเลยครับ ช่วงสัมผัสพื้นทั้งล้อหน้าและล้อหลัง มันไม่มีอาการอะไรเลย ไม่ต้องประคองอะไรด้วย การกระแทกก็แทบไม่เห็นอาการ เอาใหม่ สงสัยมันจะช้าไป พอหมุนรถเข้าโค้งได้แบบท้ายไถล (ระบบควบคุมการทรงตัวถูกตัดไไปแล้ว) ก็กดคันเร่งเต็มที่อีกรอบ รถก็พุ่งไปถึงความเร็วที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนขึ้นเนินจนได้ โอ๊ย เนินนี้มันรู้สึกได้เลยครับว่ามันลอยทั้ง 4 ล้อ ช่วงลงพื้นก็อาการเดิมกับตอนแรกคือแ ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่มีแรงกระแทกบิดกลับมาที่พวงมาลัย ไม่มีอาการส่ายไปมาแบบที่เราเคยหล่นคอสะพานเลย แสดงว่าช่วงล่างของ Fox ที่ติดตั้งใน Ford Ranger Raptor ของเขานั้นดีจริงๆ
จบคอร์สวันแรกไปอย่างประทับใจทุกคนไปแล้ว ข้ามมาสู่วันที่ 2 ของการทดสอบ ที่เป็นอีกไฮไลท์ที่ทุกคนรอคอย นั่นคือการขับรถในเส้นทางกรวด สลับบ่อน้ำและหลุมเป็นระยะ ภายใต้การขับขี่เร็วสูงในโหมด Baja โดยผมนั้นรับหน้าที่ในการเป็นผู้โดยสารด้านหลังบ้าง สถานที่ทดสอบคือทุ่งกังหันลมห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา เส้นทางจะยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ขับไปกลับรวม 14 กิโลเมตร ซึ่งช่วงแรกที่เริ่มเข้าไปนั้น ทางทีมงานก็ให้ลองทดสอบการขับขี่ในโหมด Baja เป็นการเรียกน้ำย่อยเล็กน้อย ผมนี่นั่งข้างหลัง รออาการจุกก่อนเลย เพราะถนนถึงแม้จะเป็นทางกรวด แต่ก็มีหลุมบ่อเล็กใหญ่มาให้ย่ำตลอดเส้นทาง แต่ ตลอดระยะทางที่ใช้ความเร็วระดับ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมงบนเส้นทางนี้ กลับไม่ได้ทำให้ผมจุกได้เลย มันนุ่ม นั่งสบาย คือมันไม่ใช่แบบไม่มีแรกกระแทกกระโดดเลย แต่มันไม่สามารถทำให้เราจุกได้เลยครับ (อธิบายยังไงดี)
จนไปถึงจุดปล่อยตัว รอบนี้ ผมได้ขึ้นในรอบแรกเลย (สลับกันจากเมื่อวาน) หลังจากเปลี่ยนโหมดเรียบร้อยแล้ว ผมก็เริ่มกดเลยครับ เส้นทางอย่างที่บอก เป็นทางกรวดลูกรังที่มีความลื่นในตัวมันเองอยู่แล้ว แถมมีบ่อโคลนจากการที่ฝนตกมาเมื่อคืนขวางทางให้เราย่ำอยู่อีกเป็นระยะ, หลุมลึกอีกหลายจุด แต่ด้วยความเจ๋งของช่วงล่างที่นุ่มนวล และเครื่องยนต์ที่แสนจะทรงพลัง ทำให้เผลอกดคันเร่งไปจนถึงระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว ถอนคันเร่งแทบไม่ทัน และเมื่อถึงทางโค้งแบบตัว L แคบๆ ก็ลดความเร็วไปถึงระดับ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอหมุนพวงมาลัยเข้าในโค้งปั๊บ อาการลื่นมาเลยครับที่ด้านท้าย Instructor ก็ส่งเสียงมาเลยว่า กดต่อเลยครับ แก้พวงมาลัยเอา ผมก็ทำการกดคันเร่งเข้าไปเพิ่ม แล้วหมุนพวงมาลัยกลับให้รถหันหน้าไปตามเส้นทาง รถก็พุ่งออกไปต่อได้อย่างสุดมัน แล้วทะยานไปต่อตามเส้นทางได้อย่างไม่ยากเย็นเลย มีบางจังหวะทีลงไปย่ำโคลน รถมีอาการหน้าไถลเล็กน้อย แต่ก็สามารถกลับมาอยู่ในเส้นทางได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน ต้องบอกว่าโหมด Baja เนี่ย ทำมาเพื่อความสนุกในการขับขี่เส้นทางแบบนี้โดยเฉพาะเลยครับ ไม่มีระบบความปลอดภัยมาตัดกำลังเครื่อง ล็อกล้อให้วุ่นวาย เพียงใช้ทักษะในการควบคุมของผู้ขับขี่ซักหน่อย รถก็ยังคงพาเราไปตามเส้นทางได้อย่างปลอดภัย ผมว่าตัวรถเองก็ถูกเซ็ตมาให้มีความนิ่ง เฟิร์มในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะจากที่รถเสียหลัก ก็ใช้วิธีการแก้ที่ไม่ได้ยากเย็นอะไร รถก็ยังวิ่งในเส้นทางด้อย่างปลอดภัย
จบทริป 2 วันไปอย่างสวยงาม ได้ทดสอบในเส้นทางทุกรูปแบบ โดยเฉพาะโหมดการขับขี่แบบ Baja ทั้งกระโดดและบนเส้นทางขรุขระแต่ใช้ความเร็วสูง ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์อย่างมากที่ทาง ฟอร์ด ประเทศไทย กล้าให้พวกเราทดสอบรถได้มากขนาดนี้ ลองคิดดูนะครับว่ามีสื่อมวลชนรวม 30 คน ใช้รถลงทดสอบรวม 6 คัน (จอดโชว์ 4) เฉลี่ย 1 คันมีคนขับ 5 คน, 1 คนกระโดด 2 รอบ แสดงว่ารถ 1 คัน ต้องกระโดดในวันเดียวกันรวม 10 ครั้ง แถมยังเอามา Baja ต่อในวันรุ่งขึ้นอีกรอบละ 14 กิโลเมตร รวม 5 รอบ อันนี้ไม่นับรวมทริปที่ 2 ที่มีจำนวนผู้สื่อข่าวอีกเท่าๆกัน รถจะถูกใช้งานหนักขนาดไหน แต่ทาง ฟอร์ด ประเทศไทย ก็กล้าให้เราทดสอบอย่างเต็มที่ (อย่าลืมนะครับว่าถ้ามันเกิดอาการในมือของผู้สื่อข่าวเมื่อไหร่ เรื่องนี้จะถูกขยายไปอีกเท่าไหร่ไม่รู้) อันนี้ขอปรบมือดังๆให้กับทางค่ายจริงๆครับ (ปรบมือ…..)
ถึงแม้ว่า Ford Ranger Raptor จะมีราคาค่าตัวที่ 1,699,000 บาท แต่ถ้าผมมีเงินมากพอที่จะซื้อรถคันนี้ได้ ผมคงต้องใจอ่อนซื้อมันมาครอบครองแน่นอนครับ เพราะรถอะไร นั่งก็สบายระดับรถหรู, ลุยก็ได้เหนือรถ Off-Road ทั่วไป อยากสนุกก็จัดโหมด Baja ซักหน่อย อยากจะขนของก็ขนได้ เพราะกระบะก็กว้างเหลือเกิน ใครที่บอกว่า “รถกระบะราคาขนาดนี้ ใครจะซื้อวะ” หรือ “ใครที่ซื้อไม่ได้มีตังอย่างเดียว ต้อง...ด้วย” บอกเลยครับว่า ถ้าได้ลองด้วยตัวเองแล้ว ความคิดเหล่านี้จะเปลี่ยนไป แล้วไปหาใบจองมาแทน (ข้อมูลล่าสุดคือ ยอดสั่งจองตอนนี้ ส่งมอบไม่ทันแล้วจ้า)
ทอสอบและเรียบเรียงโดย Earthpark02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com