Deft Drive: ทดสอบรถยนต์ BYD E6 รถยนต์ไฟฟ้าเพื่ออนาคตไทย

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 26 ก.พ. 61 00:00
  • 57,607 อ่าน

ความต้องการใช้รถยนต์ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งประเทศจีนแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า ส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน มีการชดเชยคืนค่าภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่งประเทศไทยเองอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อไหร่และอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถฝืนกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่

BYD E6

ถ้าจะให้เอ่ยถึงยี่ห้อรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ก็จะน่านึกถึงแบรนด์ที่เปิดตลาดนี้ได้อย่างตื่นตาตื่นใจที่สุด นั่นคือ Tesla นั่นเอง แต่ถ้าให้เรามองลึกลงไปจริงๆ ยี่ห้อที่มียอดจำหน่ายได้ดี จะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ที่อันดับ 1 สามารถทำยอดขายในปี 2017 ที่ประเทศจีนได้ไปกว่า 6 หมื่นคัน และถ้ารวมเอา 5 อันดับแรกรวมกัน จะมีมากถึงประมาณ 177,000 คัน เปรียบเทียบกับยอดขายรถยนต์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วคือ ประมาณ 870,000 คัน ถือว่าเป็นยอดขายจำนวนมากเลยทีเดียว ดังนั้นเราจะไม่สามารถประมาทแบรนด์จากประเทศจีนได้เลย

BYD E6

สำหรับประเทศไทยนั้น การจำหน่ายรถยนต์ฟฟ้าประเภท EV ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการขายอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ ปัจจุบันจึงยังมีแต่รถยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid หรือ Plug-in Hybrid ที่ขายอย่างเป็นทางการเท่านั้น มีบ้างที่ยกเข้ามาทั้งคันอย่างเช่น Tesla ที่ยกมาจากฮ่องกงโดยฝีมือของค่ายเกรย์บางแห่ง อาจจะด้วยเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีไม่มาก, ภาษีที่สูง, ราคารถสูง, การส่งเสริมจาทางภาครัฐน้อย หรือความสนใจเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมของคนไทยยังไม่มีมากพอก็เป็นได้ แต่ก็เริ่มมีบางตัวแทนจำหน่ายเริ่มขยับตัวเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ากันบ้างแล้ว อย่างเช่น บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด ที่เป็นการร่วมลงทุนกันระหว่าง บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทตัวแทนจำหน่ายจักรยานยนต์แบรนด์ดัง Ducati และ Royal Enfield บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลติตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความบันเทิง AJ นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังแห่งหนึ่งของประเทศจีน BYD เข้ามาเพื่อจำหน่ายกึ่งเป็นทางการในประเทศไทยแล้ว ทำไมผมยังเรียกว่ากึ่งเป็นทางการอยู่ เพราะจากการสอบถามล่าสุด ทางค่ายยังไม่เปิดจำหน่ายเป็นการทั่วไป ยังจำหน่ายเป็นรถ Fleet แบบ B to B อยู่ (แต่ถ้าใครอยากซื้อก็สามารถติดต่อขอซื้อได้เช่นกัน)

BYD E6

แน่นอนว่า Autodeft เองก็ติดตามเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างใกล้ชิด จึงพลาดไม่ได้ที่จะติดต่อเพื่อของลองทดสอบดูบ้าง ทาง ไรเซน เอนเนอร์จี เองก็ใจดี อนุญาตให้ยืมรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์ MPV อย่าง BYD E6 มาให้ยืมทดสอบเป็นระยะเวลารวม 3 วัน ซึ่งมันอาจจะดูเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่เหตุผลที่ได้เพียงเท่านี้ก็คือเรื่องการชาร์จไฟเป็นสำคัญ เพราะรถทดสอบในครั้งนี้จะไม่มีสายชาร์จไฟมาให้ จะเติมไฟได้ต้องเอามาจอดชาร์จที่ศูนย์วิภาวดีเท่านั้น แต่ตัวไฟฟ้าเองก็น่าจะพอเพียงที่จะใช้ได้ 3 วัน ดังนั้นจึงตัดสินใจร่วมกันว่าขอยืมแค่ 3 วันก็น่าจะพอ

BYD E6

BYD E6

BYD E6 เป็นรถยนต์แบบ MPV 5 ที่นั่ง มิติขนาด 4,560 x 1,822 x 1,645 มม. (ยาว x กว้าง x สูง) ฐานล้อกว้าง 2,830 มม. ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ MPV รุ่นอื่นในตลาดอย่าง Toyota Innova Crysta ที่มีขนาด 4,735 x 1,830 x 1,795 มม. ฐานล้อกว้าง 2,750 มม.  ก็เล็กกว่าไม่มากเลย แถมยังได้เปรียบในเรื่องฐานล้อที่กว้างกว่าด้วยซ้ำ ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุดที่ 121 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 140 กม./ชม.  ตัวแบตเตอรี่เป็นแบบ Iron-Phosphate หรือ Fe Battery ที่สามารถเก็บไฟได้ 80 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ BYD E6 สามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดประมาณ 300 กิโลเมตร/การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ใช้ระยะเวลาในการชาร์จแบบ VTOG 40kW ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง และแบบปกติที่ประมาณ 8-9 ชั่วโมง ช่วงล่างใช้แบบปีกนกคู่อิสระทั้งหน้าและหลัง ดิสก์เบรกทั้งหน้าและหลังเช่นกัน

BYD E6

BYD E6

การออกแบบภายนอกนั้น เอากันตามจริงก็ไม่ได้เร้าใจผมซักเท่าไหร่ มันอาจจะถูกออกแบบมาเน้นการใช้งานมากกว่า กระจังหน้าเป็นแบบทึบมากกว่าช่องตะแกรงลม มาจากที่ตัวขับเคลื่อนไม่ได้ต้องการระบบระบายความร้อนมากนัก ก็เลยไม่จำเป็นต้องรับลมมาก ไฟหน้า Projector พร้อม Daytime running light แบบ LED ล้อแม็กซ์อัลลอย 5 ก้าน 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/65 R17 มีไฟเลี้ยวเสริมที่กระจกมองข้างเพิ่มความเท่ห์ ระบบความปลอดภัยนั้น ก็มีระบบพื้นฐานที่ควรมีครบ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยที่ให้มารวม 6 ลูก ระบบ ABS, EBD, ESP ก็มีมาให้ ก็ถือว่าเพียงพอที่จะรักษาความปลอดภัยให้กับเราได้ระดับหนึ่งแล้ว เซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุรอบคัน ภายในแบ่งเป็น 2 แถว เบาะหุ้มด้วยหนัง เบาะหลังพับได้แบบ 100% เน้นใช้สีดำตลอดทั้งคัน โดยมีขลิบด้วยสีเงินบางจุด คอนโซลมีแผงหน้าปัด LCD วางอยู่ตรงกลาง มีหน้าจอวิทยุแบบกดปุ่ม รองรับการใช้งาน CD, AUX, วิทยุ แต่ไม่รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เบรกมือไฟฟ้า กุญแจรถเป็นแบบ Smart Key พร้อมปุ่ม Push Start ที่เรากดแล้วไม่มีเสียง จะมีบอกที่หน้าจอว่า Ready ซึ่งหมายถึงรอให้เราเหยียบคันเร่งเพื่อออกเดินทางได้เลย

BYD E6

เมื่อรับรู้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ก็เริ่มออกเดินทางทดสอบกันได้เลย เบื้องต้นเราอาจจะต้องทำความเข้าใจกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า BYD E6 คันนี้เล็กน้อย ตัวเกียร์นั้นเป็นระบบไฟฟ้า มีเฉพาะเกียร์ว่าง, เดินหน้า และถอยหลังเท่านั้น เปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยการดึงเข้าหาตัวแล้วดันขึ้นเพื่อถอยหลัง หรือดันลงเพื่อเดินหน้าเท่านั้น ถ้าจะปลดเกียร์ว่างก็ดึงเข้าหาตัวเฉยๆ แล้วดึงปุ่ม P ที่อยู่ข้างเบาะ เพื่อเข้าเบรกมือได้เลย  ที่หน้าจอก็จะมีสเกลที่แสดงไฟฟ้าคงเหลือเอาไว้เป็นทั้งแบบขีดเหมือนน้ำมัน และตัวเลขเปอร์เซ็นต์กำกับไว้เหมือนโทรศัพท์มือถือ มีมาตรวัดความเร็วตามปกติ แต่มีเพิ่มเติมของสเกลการใช้ไฟฟ้าที่ระบุเป็นจำนวนกิโลวัตต์ ที่ขึ้นลวงตามเท้าของเราที่เหยียบคันเร่งลงไป และสิ่งสำคัญคือ มีระยะทางคงเหลือที่เราสามารถใช้ได้ด้วย โดยเมื่อชาร์จไฟเต็ม ระบบจะแจ้งว่าสามารถวิ่งได้ 400 กิโลเมตร แต่กาารใช้งานจริงนั้นจะไม่ถึงครับ

BYD E6

BYD E6

ตัวรถนั้น เราสามารถใช้โหมดในการขับเคลื่อนได้ 2 แบบ นั่นคือแบบ Eco และ Sport ให้ฟีลลิ่งการขับขี่ที่ต่างกันพอสมควรเมื่อเริ่มออกเดินทาง สิ่งที่ทำให้แปลกใจได้เล็กน้อยก็คือ  ช่วงล่างที่นุ่มนวล เกินกว่าที่ผมคาดไว้จริงๆ เพราะในสมองชอบคิดเอาเองว่า ช่วงล่างของรถจากจีนน่าจะกระเด้งกระดอน แต่สำหรับคันนี้มันไม่ใช่เลย มันนุ่มนวล แต่แน่น ไม่ย้วยท้ายเลย ถึงแม้จะเข้าโค้งแคบก็ตาม  การขับเคลื่อนช่วงแรกนั้น ใช้โหมด Eco วิ่งดูก่อน แต่ถึงจะเป็นโหมดประหยัด การออกตัวไม่ต้องรอรอบ มอเตอร์พาตัวรถออกไปได้อย่างทันใจราวกับมีเครื่องยนต์เบนซิน 2,500 อยู่ในรถ แต่ช่วงกลางอาจจะขึ้นไปเรื่อยๆ สามารถไต่ไปจนถึงย่านความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างไม่ยากเย็น การควบคุมผ่านพวงมาลัยนั้นก็แม่นยำพอตัว ไม่ได้อืดอาดตามไซส์ของตัวรถเลย

BYD E6

BYD E6

จากนั้นก็ลองเปลี่ยนมาเป็นโหมด Sport ดูบ้าง สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคืออัตราเร่ง ที่มาเร็วและแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ถึงขนาดกระชากหลังติดเบาะ แต่ก็เร่งติดตามเท้าเราได้แบบสบาย แต่สิ่งที่แลกมาก็คือเรื่องของไฟฟ้าที่ระยะคงเหลือจะเริ่มลดลงเร็วอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นคงจะทดสอบแบบนี้ได้ไม่ได้นานมากนัก เพราะมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ไฟให้พอในระยะเวลา 3 วันนั่นเอง ความเร็วสูงสุดที่ผมลองแล้วไปถึงคือ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถามว่าไปอีกได้ไหม มันก็น่าจะไปได้ครับ เพียงแต่สภาพการจราจรไม่อำนวยเท่านั้นเอง สรุปการใช้งานจนถึงเหลือแบต 50% ผมใช้รถไปด้ระยะทาง 158.3 กิโลเมตร ดังนั้นถ้าคำนวนคร่าวๆ เมื่อแบตวิ่งจนหมด ผมจะวิ่งระยะทางได้ประมาณ 316.6 กิโลเมตรครับ

BYD E6

ระบบอำนวยความสะดวกภายในตัวรถมันอาจจะไม่มีมาก เพราะตัววิทยุก็ยังคงเป็นของยุคเก่า ที่ใช้เล่น CD ฟังวิทยุได้เท่านั้นเอง ไม่มีระบบการเชื่อมต่อพวก USB หรือต่อกับสมาร์ทโฟนได้เลย คาดว่าเป็นเรื่องของการจำกัดงบเพื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เอาเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องใช้งานจริงก็พอ แต่ดันมีระบบ Cruise Control เข้ามาด้วย จากนั้นก็มาคลายข้อสงสัยส่วนตัวว่า ใต้ฝากระโปรงหน้าของรถยนต์ไฟฟ้ามันจะมีอะไรอยู่ได้บ้าง ถ้ามันไม่มีเครื่องยนต์ สรุปคือ มันก็แน่นเหมือนแบบมีเครื่องยนต์เช่นกัน เพียงแต่ผมดูไม่รู้ว่า แต่ละตัวมันทำหน้าที่อะไรเหมือนกับเครื่องยนต์ปกติ เท่าที่รู้ก็คือกล่องใหญ่ๆ ที่อยู่ตรงกลางห้องเครื่อง มันก็คือตัวแปลงไฟที่รับจากแบตเตอรี่แล้วส่งต่อไปที่มอเตอร์เท่านั้นเอง

BYD E6

การขับขี่โดยรวมถือว่าทำได้ดีมากครับ ตัวรถเงียบตามสไตล์รถไฟฟ้า การเดินทางจะได้ยินแต่เสียงวื๊ดๆของมอเตอร์ กับเสียงยางบดถนนเท่านั้นเอง เสียงลมก็ถือว่าเก็บได้ดี อัตราเร่งก็มาได้ทันใจ ยิ่งเปิดโหมด Sport ยิ่งขับสนุก อุปกรณ์ความสะดวกมีมาให้ตามที่จำเป็น ตัวรถนั่งนุ่มสบาย เข้าโค้งได้ดี ไม่มีโยนตัวยามเข้าโค้ง ถ้าใช้ในเมืองก็สามารถชาร์จวันเว้นวันได้ เพราะใช้งานได้ราว 300 กิโลเมตร (รวมใช้ในสภาพจราจรรถติดแล้ว)

BYD E6

BYD E6

สำหรับราคานั้น ถ้าขายปลีกสำหรับลูกค้าทั่วไป จะอยู่ที่ 1.89 ล้านบาท โดยจะรับประกันมอเตอร์และเกียร์ให้ 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร ส่วนแบตเตอรี่รับประกัน 5 ปี หรือ 500,000 กิโลเมตร ถามว่าถ้ามองสมรรถนะกับออพชั่นแล้วแพงไหม ก็ต้องบอกว่าเอาเรื่องอยู่ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าต้นทุนที่หนักที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่แบตเตอรี่ รวมทั้งค่าภาษีนำเข้าที่ถือว่ายังโหดอยู่ แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว ค่าไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จ วิ่งเฉลี่ยต่อกิโลเมตรแล้วอยู่ที่ประมาณ 1 บาท หรือต่ำกว่านี้ ส่วนค่าบำรุงรักษาอื่นๆ นอกจากยางรถยนต์แล้วก็แทบไม่มีอะไรเลย ในขณะที่รถยนต์ขนาด MPV พวกนี้ เครื่องยนต์เบนซินก็ตกกิโลเมตรละ 2-3 บาทได้ แถมยังมีค่าบำรุงรักษาอื่นๆ เช่น น้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์ เป็นต้น บวกลบคูณหารแล้ว การลงทุนครั้งแรกทีเดียว ก็อาจคุ้มค่าได้อยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามองให้ลึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามันหมายถึงไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาเลย ซึ่งอากาศก็ไม่ต้องรับมลพิษเพิ่มจากรถแบบนี้ ขนาดรถ Eco Car ที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้ ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากิโลเมตรละเกือบ 100 กรัมเลย ถ้า 3 ปีวิ่งไปแสนกิโลเมตร นั่นหมายถึงคุณปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่อากาศร่วม 10,000,000 กรัม หรือราว 10 ตันเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ดูดซับ คาร์บอนไดออกไซด์ได้ 11 กิโลกรัมต่อวัน แต่เมื่อเจอปริมาณรถยนต์ทุกวันนี้เข้าไปในเมืองใหญ่ ต้องปลูกเท่าไหร่ถึงจะพอ ดังนั้นค่าอากาศบริสุทธิ์มันก็อาจจะเปรียบเทียบเป็นราคาไม่ได้เลยครับ

BYD E6

BYD E6

สิ่งที่อาจจะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราโตได้ไม่เท่าชาวบ้านเขา ก็มาจากการส่งเสริมของภาครัฐนี่แหล่ะที่เป็นตัวแปรสำคัญครับ ลำพังค่าภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ก็เล่นเอาหูตูบแล้ว  จริงอยู่ว่าทางกระทรวงการคลังประกาศจัดเก็บค่าสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเหลือเพียง 2% แต่ว่าต้องมีเงื่อนไขว่า รถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ที่ผลิตทุกคัน ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิต หรือ ประกอบจากผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประเภท ลิเธียมไอออน (Li-ion) หรือ นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ (NiMH)หรือ แบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจำเพาะโดยน้ำหนัก (Wh/kg) ที่สูงกว่าประเภท Li-ion / NiMH ซึ่งในปัจจุบัน ยังหาผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เลย ทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเรายังคงสูงอยู่ รวมทั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ก็มีไม่ทั่วถึง บางที่ก็มีไว้โชว์ให้รู้ว่า ฉันส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้านะ แต่พอเอาเข้าจริงเราจะเข้าไปใช้บ้าง ก็ดันห้ามใช้ซะอีก อ้างว่าสำหรับรถของผู้ใหญ่เท่านั้นนะ (ต้องแก่ขนาดไหนถึงจะใช้ได้?) ดังนั้นตอนนี้ถ้าภาคเอกชนอยากจะนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่าย ก็จ่ายภาษีไปตามอัตราปกติ และก็จัดหาที่เติมไฟฟ้ากันเอาเอง แล้วแบบนี้เมื่อไหร่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราจะโตได้เหมือนทางประเทศเจริญแล้วล่ะครับ เจ้านายยยย...

ทดสอบและเรียบเรียงโดย Earthpark02

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

5 เรื่องน่าสนใจ