Hands On : 2016 Ford Ranger 3.2 XLT หล่อเร้าใจลงตัวมากขึ้น

  • โดย : Autodeft
  • 26 ส.ค. 58 00:00
  • 40,226 อ่าน

พบบบททดสอบของการลองกับ กระบะพันธุ์แกร่ง 2016 Ford Ranger 3.2 XLT อีกหนึ่งรุ่นที่น่าจับตามอง

 

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

 

ตั้งแต่เผยตัวตนออกมาอย่างเป็นทางการ เชื่อเลยว่าสาวกกระบะทั้งหลายต่างจับจ้องการมาของ   Ford Ranger  ใหม่ ด้วยการแต่งแต้มตัวตนใหม่ออกมาเอาใจคนมองหากระบะม้าใช้ ซึ่งปัจจุบันต้องมีดีมากกว่าแค่พร้อมขนของงานหนัก แต่ยังพร้อมสรรพด้วยการออกแบบอัดแน่นความสบายในการขับขี่ ประดุจรถเก๋ง

การเปิดตัวรถยนต์  Ford Ranger  ใหม่ รุ่นปี  2016   ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนจับตามากพอสมควร หลังจากที่รถยนต์กระบะรุ่นนี้วิ่งแรงแซงทางโค้งในเรื่องยอดขาย จนค่ายชั้นนำต่างก็ชายตามองอย่างหนาวๆ ร้อนๆ ในความลงตัวของ   Ford Ranger T6   ใหม่ แต่จากวันเปิดตัวสู่คนไทยครั้งแรก มาจวบจนวันนี้ก็ผ่านมายาวนานกว่า  3  ปี แล้ว และรุ่นใหม่ก็เดินทางมาพร้อมความลงตัวมากกว่าเดิม

ร่างใหม่ของ   Ford Ranger 2016   เริ่มต้นด้วยการสลัดคราบทุกอย่างจากเดิมตัวตนที่ออกแบบมากระบะแกร่ง แอบลุคสปอร์ตไปสู่ตัวตนที่ทึกทึนดูแกร่งมากขึ้น ซึ่งทางค่ายวงรีสีน้ำเงินนิยามรถกระบะใหม่รุ่นนี้ว่า  “Built to take on your World”  หรือพอจะให้เสียงภาษาไทยก็แปลความหมายออกมาได้ว่า  “แกร่งเพื่อทุกความสำเร็จ”

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเห็นได้ตั้งแต่ กระจังหน้าใหม่ ทรง 6  เหลี่ยม ตอบความลงตัวในรุ่นธรรมดาด้วยการเพิ่มความดูดีด้วยสไตล์โครเมี่ยม ยังไม่ทิ้งตัวตนเดิมกระจังหน้าสามแถบ ที่มีให้เห้นในเอกลักษณ์ของค่ายรถยนต์  Ford   แต่การเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่นี้ นำมาถึงการเพิ่มตัวตนการออกแบบที่ต้องปรับปรุงอีกหลายประการ ไม่ว่าจะโคมไฟหน้าที่มีความโฉบเฉี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม  ตลอดจนทีมฟอร์ดยังต้องจัดการเปลี่ยนกันชนหน้า แก้มข้าง และฝากระโปรงใหม่หมดครบครัน 

ตลอดจนตัวรถยังได้ล้อแม็กใหม่ขอบ  17 นิ้ว น่าแปลกที่ทาง  Ford   เลือกล้อลายพื้นตัวทรงดาว  6 แฉกที่ดูแล้วแกร่ง แต่จะว่าไปก็ธรรมดาไปเสียหน่อย จัดมาพร้อมยาง   Dunlop Grantrek  ขนาด   255/55/R17   นอกจากนี้ยังเปลี่ยนบันไดข้างรถใหม่ให้ความลงตัวมากขึ้น จนกลายเป็นรถคนละคันเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมที่วางจำหน่ายอยู่ก่อนหน้านี้ ส่วนช่วงท้ายเป็นต้นไป ทาง    Ford  ยอมรับว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เนื่องจากมีความลงตัวอยู่แล้ว

รับกุญแจมาวันนี้ ทางค่ายวงรีสีน้ำเงินให้เราขับ   Ford Ranger 3.2 XLT  แถมยังเป็นรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ 4X4  ซึ่งเป็นไลน์อัพใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ ถ้าคุณอยากจะมีโอกาสสัมผัสเครื่องยนต์บล็อก  3.2   ลิตร ก็ต้องจัดเต็มอย่างเดียวกับ   Ford Ranger 3.2  Wildtrak   

การเปิดไลน์อัพใหม่ทำให้คุณมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นเจ้าของ   Ford Ranger  ใหม่ รุ่นเครื่องยนต์ขนาด  3.2  ลิตร ซึ่งถูกตอนออพชั่นบางอย่างออกไป เหลือไว้แต่สิ่งที่จำเป็นต่อการใช้งานจริงๆ และเมื่อก้าวเข้าสู่ห้องโดยสารเราก็สัมผัสได้ว่า  Ford Ranger  ใหม่ มีความน่าสนใจมากขึ้น

 

การให้รายละเอียดในกระบะพันธุ์แกร่งรุ่นใหม่ ภาพรวมคือการปรับตัวตนที่มีความลงตัวในเรื่องความทันสมัยมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม ในรุ่น XLT เริ่มจากเบาะนั่งผ้าสีดำ ปรับแบบอัตโนมือ ตรงหน้าคนขับมาพร้อมพวงมาลัย 3 ก้านพร้อมปุ่มมัลติฟังชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะการควบคุมหน้าจอแสดงข้อมูลบนมาตรวัด ,ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ตลอดจนปุ่มควบคุมระบบเครื่องเสียง สร้างเสริมความลงตัวในการใช้งานง่ายปลายนิ้วสัมผัส แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปุ่มต่างเริ่มดูจะเยอะไปหน่อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดจนบางครั้งอาจจะกลายเป็นการสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้

คอนโซลหน้าถูกออกแบบใหม่มีความละม้ายของยกมาจาก   Ford Everest   ซึ่งสไตล์ใหม่นี้ช่วยเพิ่มความภูมิฐานของรถมากขึ้น จนคุณรู้สึกสนใจรถยนต์กระบะคันนี้ โดยเฉพาะตรงกลางที่มาพร้อมเครื่องเล่น   CD / MP3   แผ่นเดี่ยว พร้อมฟังชั่นเชื่อมต่อ  Bluetooth   แถมยังมีการเชื่อมต่อด้วยช่อง   USB – AUX   รวมถึงยังสามารถอ่านเพลงจาก SD Card   ได้ด้วย แต่ถ้าต้องการความล้ำสมัยระบบ  SYNC 2  เห็นทีจะต้องจัดตัว   Wildtrak  ซึ่งจะมาพร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 8  นิ้ว ที่ยังพร้อมตอบเรื่องของการเชื่อมต่อ

ระบบปรับอากาศให้ความสบายในห้องโดยสารของ   Ford Ranger 3.2  XLT   นั้น เป็นระบบแอร์ธรรมดา แต่เปิด-ปิดด้วยระบบสวิทช์ไฟฟ้า ดูเผินๆอาจจะนึกว่าเป็นระบบแอร์อัตโนมัติ แถมการวางระบบยังทำให้นึกถึงรถยนต์จากค่ายพรีเมี่ยมชั้นนำอย่าง  Volvo   เสริมความดูดีในตัวตนมากขึ้นกว่าเดิม

ยังดีที่ใน  Ford Ranger 3.2 XLT   คันนี้เป็นรถกระบะที่มาพร้อมกับช่องเสียบไฟแบบ  12 V  2 ชุด  ขาดเพียงไฟ 230 V  ที่มีให้ใน Wildtrak  ซึ่งเราแอบหวังจะเห็นให้มาในรุ่นนี้ แถมที่นั่งตอนหลังยังขาช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง  ซึ่งถ้าคุณไม่คิดมากกับ เรื่องจะต้องเอาแอร์ไปจ่อเสริมความสบาย ก็พอจะมองข้ามผ่านไปได้

ใต้ฝากระโปรง   Ford Ranger 3.2  XLT   ตอบความเร้าใจที่สุดของความลงตัวในสมรรถนะ ด้วยการแนะนำเครื่องยนต์แบบ  5  สูบแถวเรียงขนาด  3.2  ลิตร พร้อมระบบเทอร์โบชาร์จเข้ามาประจำการ น่าเสียดายที่ในรุ่นบล็อกใหญ่  ford   มองว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังในเครื่องยนต์เฉกเช่นในรุ่นเครื่องยนต์ขนาด  2.2  ลิตร ที่มีกำลังเพิ่มขึ้น (จาก 150 แรงม้า เป็น 160   แรงม้า)

ทว่าด้วยกำลังสูงสุด  200 แรงม้า สูงสุดที่  3,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด   470 นิวตันเมตรสูงสุดตั้งแต่  1,750-2,500 รอบต่อนาที ก็รีดเค้นความเร้าใจในการขับขี่ได้มากพอสมควร ผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ 6  สปีด ซึ่งสำหรับค่ายนี้ยังไร้เงาของระบบเกียร์ธรรมดา (มีจำหน่ายเฉพาะตัว  Open Cab ไม่มีจำหน่ายในรุ่น   Double cab) ทั้งที่ค่ายพันธมิตรก็มีรุ่นเกียร์ธรรมดาให้เลือกขับสนุกตามความต้องการของลูกค้า

การไร้เกียร์ธรรมดา ก็ใช่ว่าจะทำให้  Ford Ranger  3.2 XLT   จะหมดสนุกในการขับขี่ เพราะ  ในนาทีแรกๆของการเริ่มต้นการดินทาง น้องหมูจาก   Headlightmag.com   ก็โชว์ให้เราเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องยากที่รถกระบะฟอร์ดคันนี้ จะให้ความบันเทิงในการขับขี่ ด้วยส่วนหนึ่งในรุ่น XLT   ทางฟอร์ดไม่ได้ติดตั้งระบบควบคุมการทรงตัว Electronic stabilities Program หรือ ESP มาให้ รวมถึงยังขาดระบบ   Traction Control   หรือระบบป้องกันล้อหมุนฟรี

นั่นส่งผลให้เครื่องยนต์ขนาด  3.2  ลิตร มีกำลังแรงบิดสูงสุด   470   นิวตันเมตร ตลอดจน รถคันนี้ยังเป็นเวอร์ชั่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่มาพร้อมเฟืองท้ายแบบ  Limited Slip Differential  (E-Diff lock จะอยู่ในรุ่น Wildtrak) สามารถปั่นฟรีเท้าพารถเกิดอาการท้ายปัด จากกำลังแรงบิดสูง ซึ่งคุณอาจจะไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นในระหว่างการขับขี่

ถ้าคุณเคยผ่านวงการรถซิ่ง อาการแบบนี้จะถูกเรียกว่า   “Power Slide” เป็นการนิยามถึง กำลังแรงของเครื่องยนต์ที่สามารถพารถสไลด์ไปทางด้านข้างได้ และค่อนข้างอันตรายกับผู้ขับขี่ที่ไม่มีทักษะ จนเราอยากบอก Ford  ว่า   รถราคาระดับนี้ติดตั้งมาเถอะครับ ระบบควบคุมการทรงตัวและป้องกันล้อหมุนฟรีน่าจะเพิ่มต้นทุนไม่มากมายเท่าไรนักแถมยังได้ใจเรื่องความปลอดภัยแก่ลูกค้า

ช่วงแรกในการขับขี่ปล่อยให้หมูลองสมรรถนะกันไปก่อน แต่เมื่อถึงในช่วงที่สอง ซึ่งเป็นเส้นทางยาวนอกเมืองก็ถึงคิวของเราบ้างในการลองสมรรนถะเจ้ากระบะยักษ์ปรับปรุงใหม่คันนี้

สัมผัสแรกเมื่อมานั่งหลังพวงมาลัย   the new Ford Ranger   ไฮไลท์เด็ด ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นผู้นำสร้างความแตกต่างในการขับขี่ด้วยการแนะนำระบบพวงมาลัยไฟฟ้า   Electric Power Steering   หรือ   EPS   เข้ามาติดตั้งครั้งแรกในรถกระบะ อันเป็นอานิสงค์ส่วนหนึ่งจากการวิศวกรรม   Ford Everest   อย่างไม่ต้องสงสัย

พวงมาลัยไฟฟ้าแบบใหม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ความลงตัวในการขับขี่มากขึ้น ถือเป็นเรื่องใหม่ของรถยนต์ในกลุ่มกระบะ ที่ท้าทายความเชื่อ และ  Ford Ranger  เป็นกระบะรุ่นแรกในตลาดที่มีระบบดังกล่าวติดตั้งเข้ามา (แต่ไม่ใช่กับกลุ่มรถนั่ง ซึ่งมีใช้มาสักระยะหนึ่งแล้ว)

คุณสมบัติสำคัญของพวงมาลัยไฟฟ้า คือมันสามารถปรับน้ำหนักพวงมาลัยแปรผันตามความเร็ว กล่าวคือในย่านความเร็วต่ำพวงมาลัยจะเบามือเป็นพิเศษเพื่อให้ความคล่องตัวในการขับขี่ แต่ในยามใช้ความเร็วสูงเพื่อการเดินทางต่อเนื่อง น้ำหนักพวงมาลัยจะถูกเพิ่มขึ้นเพื่อให้ตอบความมั่นใจยิ่งขึ้นในการเดินทาง

และเมื่อการเดินทางของเรา กับ   Ford Ranger  เริ่มต้นขึ้น ความดีงามของพวงมาลัยไฟฟ้าก็เริ่มโชว์ศักยภาพของมันทันที่เมื่อคุณสามารถควงเจ้ากระบะคันโตคันนี้ ออกจากลานจอดรถได้ง่ายจนไม่น่าเชื่อ และยังสามารถควบคุมได้ดีในช่วงความเร็วต่ำ จนกล้าพูดว่าแม้แต่ผู้หญิงก็สามารถขับเจ้ายักษ์ใหญ่คันนี้ได้อย่างสบาย

หนทางอันยาวไกล ช่วงแรกเราขับกันแบบประชาชนคนทั่วไปใช้บนถนนมุ่งหน้าสู่กาญจนบุรีบนทางหลวงหมายเลข 346 ใช้ความเร็ว 100  กม./ช.ม.แล้วไล่เรียงไปเรื่อยจนความเร็ว  120  ก.ม./ช.ม.เจ้าพวงมาลัยไฟฟ้าก็เริ่มปรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามลำดับความเร็ว ยามเดินทางไกลแบบนี้พวงมาลัย Ford Ranger  จะมีน้ำหนักในระดับหนึ่ง ตึงมือกำลังพอดีไม่หนักไปหรือเบาใจจนรู้สึกไม่มั่นใจ แถมอำนาจการควบคุมมีระยะฟรีเล็กน้อย แต่กระนั้นความแม่นยำการควบคุมถือว่าไม่น้อยหน้า ด้วยการตอบสนองที่รวดเร็วไร้ระยะเวลาฉุกคิด ซึ่งมักจะมีในรถที่ใช้พวงมาลัยไฟฟ้า

หากเทียบความตกต่างในการเซทพวงมาลัยไฟฟ้าระหว่าง  Ford Ranger  และ   Ford Everest   เราค้นพบประเด็นความแตกต่างเล็กๆ ในเรื่องการสนองตอบต่อการบังคับเลี้ยว ซึ่ง Ford Everest   จะดูมีความลงตัวมากกว่าในการขับขี่เพื่อความคล่องตัว ด้วยน้ำหนักที่เบากว่าแม้จะใช้ความเร็วสูงเท่าๆ กัน แถมความแม่นยำในการบังคับเลี้ยวดูจะมีความแม่นยำมากกว่าเล็กน้อยอาจจะเป็นผลมาจากการเซทอัตราทดที่แร็คพวงมาลัยให้มีความแตกต่างกัน แต่ถ้าถามว่าชอบความรู้สึกของพวงมาลัยไฟฟ้าตัวไหน คงต้องตอบว่าของ   Ford Everest   ดูจะลงตัวกว่า เนื่องจากใช้การควบคุมบังคับรถน้อยกว่าพอสมควรยามเดินทาง

การปรับพวงมาลัยใหม่มาเป็นพวงมาลัยระบบไฟฟ้า อาจจะเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง แต่  Ford  ก็ไม่ลืมที่จะปรับอีกหลายส่วนสำคัญเพื่อการตอบสนองในการขับขี่ได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้สมัยนี้รถกระบะต้องมีความสบายในการขับขี่มากพอๆ กับรถเก๋ง จึงไม่น่าแปลกใจ หากค่ายวงรีสีน้ำเงินจะทำการบ้านเรื่องระบบกันสะเทือนใหม่

การเซทระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบปีกนกอิสระสองชั้น พร้อมคอยล์สปริงทางด้านหน้า และแหนบแผ่นซ้อนทางด้านหลัง อาจจะยังเป็นส่งที่เลี่ยงไม่ได้ในกระบะ แต่น่าแปลกใจที่ สัมผัสของระบบกันสะเทือนใน   Ford Ranger  ใหม่กลับลงตัวมากขึ้น หากเทียบกับรุ่นเดิมการปรับระบบกันสะเทือนใหม่ ให้ความนุ่มนวลมากขึ้น ลดความกระด้างลง แต่พร้อมกันยังมั่นใจได้ในทุกการขับขี่ ด้วยการตอบสนองของชุดโช๊คที่ยืดและยุบไว จนคุณกล้าที่จะทำอะไรห่ามๆ อย่างกระโดดข้ามทางรถไฟที่ความเร็ว 120  ก.ม.  ซึ่งในเสี้ยววินาทีสั้นๆ ของความห่ามกลายเป็นความสนุกสนาน ดีพอที่คุณจะแสยะยิ้มจากความมั่นใจหลงจากแตะพื้นว่า นี่คือช่วงล่างสไตล์สปอร์ตพร้อมลุย แต่ก็ยังนุ่มสบายในการขับขี่

หนทางอันยาวไกลทางโล่งว่างแบบนี้ เครื่องยนต์ขนาดใหญ่  5  สูบแถวเรียง  ขนาด 3.2   ลิตร สามารถโชว์ศักยภาพในการขับขี่ได้ดี ขับเพลินๆ เผลอแวบเดียว คุณอาจจะขับอยู่ที่ความเร็ว 140  กม./ช.ม.   อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน  แต่ที่ความเร็ว  120  ก.ม./ช.ม. เหลียวมองหน้าปัดเราได้รอบเครื่องยนต์ที่เกียร์   6  ที่ 2,100 รอบต่อนาที  ถือว่าค่อนข้างต่ำมาก และหากจ้องการที่จะเร่งแซงก็ง่ายได้ไม่ต้องคิดดาวน์ให้วุ่นวาน เพียงเติมคันเร่งเข้าไปเล็กน้อย ก็สามารถทำความเร็วเพิ่มเจ้ากระบะยักษ์ได้สบายๆ

แม้ในเครื่องยนต์   3.2   ลิตรจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของพละกำลัง แต่ Ford   เปิดเผยว่า  เครื่องยนต์ใน  Ford Ranger   ใหม่มีการปรับปรุงเฉกเช่นที่มีการปรับปรุงใน Ford  Everest   โดยสองหัวใจสำคัญที่พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงให้มีความลงตัวมากขึ้นก็ได้แก่ระบบหัวฉีดใหม่ที่การจุดระเบิดที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกันยังมีการปรับปรุงระบบหมุนวนไอเสีย หรือที่เราหลายคนเรียกว่าระบบ EGR (Exhaust Gas Recirculation) ใหม่ทั้งหมดก็เพื่อเน้นการตอบสนองในเรื่องความประหยัดของดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมถึงยังตอบโจทย์เรื่องการลดมลภาวะจากการปล่อยไอเสียด้วย

ถึงกำลังวังชาอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แถมพูดกันตามตรงว่าเครื่องยนต์ใหม่กลับเน้นความประหยัดมากขึ้น แต่ด้วยพละกำลังที่มากที่สุดในกระบะปัจจุบัน ก็ยังให้ความเร้าใจ และครั้งนี้พละกำลังแรงถูกปรับให้ตอบโจทย์ดีขึ้น ด้วยการปรับการคำนวณการขึ้นหรือลดการทดตำแหน่งเกียร์ ของโปรแกรมเกียร์อัตโนมัติใหม่ ซึ่งแม้จะไม่ใช่การปรับปรุงทางด้านกลไก หากแต่เป็นเพียงทางด้านโปรแกรม ทว่ามันก็ดีพอที่จะทำให้คุณรู้สึกถึงความต่อเนื่องของเกียร์ที่เพิ่มมากขึ้นในยามเร่งเครื่องยนต์ และมีอาการเกียร์กระตุกน้อยลง จนให้ความสบายในการขับขี่มากขึ้น เมื่อเทียบกับ   Ford Ranger 3.2  ที่เคยผ่านมือมา แต่ในเรื่องอัตราเร่งต่างๆยังคงเหมือนเดิม จากที่มีโอกาสทดลองระหว่างทาง

ไม่ว่าจะอัตราเร่ง  0-100  ก.ม.  ที่ทำเวลาดีที่สุดด้วยเวลา  11.982  วินาที และ อัตราเร่ง   80-120   ก.ม./ช.ม.   ใช้เวลาเพียง  9.0  วินาที ตลอดจน รถยังล็อคความเร็วเอาไว้ที่ 182  ก.ม./ช.ม.  ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้วในการขับขี่บนถนนทั่วไป

ท้ายสุดเราถึงที่หมายปลายทางวันนี้ด้วยความประทับใจ เจ้า   Ford Ranger 3.2 มีความลงตัวในการขับขี่มากขึ้น แต่ด้วยความใหญ่ของเครื่องยนต์ทำให้เราอดไม่ได้กลายเป็นบุคคลตีนผีบนถนนไปโดยปริยาย ทว่าความสนุกสนานในการขับขี่ ตลอดเส้นทาง เราก็ยังจบอัตราทดที่   8.5   ก.ม./ลิตร

 

ลองเส้นทาง   Off Road   ตัวตนที่ดีขึ้นมากกว่าที่เคย

การเปลี่ยนแปลงใหม่สองสามประการที่พอจะบรรยายสรุปในความรู้สึกได้ว่า  Ford ranger 3.2   มีการเปลี่ยนแปลงทีสำคัญ เริ่มจากระบบกันสะเทือนที่ตอบสนองดีขึ้น นุ่มนวลมากขึ้นกว่าเดิม ระบบเกียร์ต่อเนื่องมากขึ้น เพียงพอที่ทำให้รถยนต์กระบะคันนี้ตอบโจทย์ในการขับขี่ดี แต่เมื่อเรามีฟังชั่นขับเคลื่อนสี่ล้อให้ในทุกรุ่นของเครื่องยนต์  3.2   ลิตร  ที่จะทราบว่าตัวตนเจ้ากระบะคันนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง

แม้ว่าการลองลุยเส้นทางออฟโรด อาจจะการสร้างสถานการณ์จำลองในการขับขี่ขึ้นมา ไม่ใช่สภาวะจริง แต่ในสนามทดสอบวันนี้ที่ทางค่ายวงรีสีน้ำเงินพาเรามาเล่นกันในสนามทดสอบพาหนะของกรมการขนส่งทหารบก ก็ค่อนข้างตอบโจทย์ให้เราเห็นอะไรหลายอย่างใน Ford Ranger  ใหม่

เกิดมาแกร่งเป็นวลีที่ติดตัวรถยนต์   Ford Ranger  มาตั้งแต่แรกเริ่มของรุ่นใหม่ที่มีรหัสว่า  T6   ทางค่าย Ford  พยายามอย่างยิ่งในการสร้างกระบะ  Ford  พันธุ์แท้ตามสไตล์ที่เกิดมาถึกทนทายาก เราเคยผ่านวีดีโอที่ท้าท้ายความเชื่อมากมายไม่ว่าจะการลากรถไฟหัวรถจักรไอน้ำ และอื่นๆ อีกมากมายที่วันนี้ ตอบอีกครั้งในรุ่นใหม่

การทดสอบในภาคออฟโรดครั้งนี้เพื่อการตอบโจทย์ได้เต็มครบมากที่สุดทาง  Ford  แบ่งสถานีออกเป็น 3  สถานีสำคัญให้เราเห็นศักยภาพของรถ และงานนี้เราเริ่มต้นด้วยสถานีออฟโรด ซึ่งมุ่งเน้นการทดสอบระบบช่วงล่าง โดยเราเริ่มจากการขับรถบนรูปแบบทางหิน ซึ่งระบบช่วงล่างของ   Ford Ranger  ใหม่ สามารถตอบโจทย์ในการขับขี่ได้อย่างลงตัว  ด้วยการให้สัมผัสถงความนุ่มนวลในระดับที่น่าพอใจ แม้คุณกับกระบะคันโตอาจจะต้องขับบุกป่าฝ่าดงในการขับขี่

น่าเสียดายที่  Ford  ยังไม่กล้าพอทีจะใส่ระบบ Terrain Management System  มาให้เราได้ใช้ใน  Ford Ranger   จึงยังเป็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ หากคุณต้องเลือกระหว่างกระบะหรืออเนกประสงค์เพื่อตอบการลุยในการขับขี่

ผ่านทางหินมาได้ เราต่อเรื่องไปยังบ่อน้ำ ซึ่ง Ford  ต้องการโชว์ศักยภาพในการลุย ซึ่งวันนี้จากที่ไถ่ถามทีมงานน้ำในบ่อมีอยู่ราวๆ 40 เซนติเมตร มันไม่ละคายต่อเจ้ากระบะคันนี้ที่สามารถลุยนำได้ลึกถึง 80 เซนติเมตร

ในสถานีต่อมา Ford โชว์ระบบช่วยในการขับขี่ทีสำคัญ อย่างระบบ Hill Start Assisted   (HSA)  ช่วยในการออกตัวบนทางชัน รถจะหยุดนิ่งไม่ไหลค้างเป็นเวลา  3  วินาที และเช่นเดียวกัน ยามลงจากทางชั้น ยังมีระบบ Hill Decent Control  ช่วยเบรกในยามลงเขาระบบในรุ่นใหม่นี่ถือว่าค่อนข้างฉลาดพอสมควร เพรานอกจากจะคุมความเร็วได้แล้ว ยังฉลาดพอที่จะเรียนรู้ความชันที่กำลังลง เราสังเกตได้ระหว่างการทดลองว่า การลงเนินชัน  45  และ  60   องศานั้นมีความแตกต่างในการจับเบรกอย่างชัดเจน

และท้ายสุด ทางฟอร์ดต้องการโชว์ศักยภาพในการขับขี่ขาลุยของระบบพวงมาลัยไฟฟ้า พวกเขาให้เราลองเอา   Ford Ranger  ไปวาดลีลาสาดโค้งมันส์ ๆ บนพื้นหินกรวดลอย และ Ford Ranger  3.2 XLT  ก็แสดงศักยภาพในการขับขี่ของมันให้เราเห็นว่า แม้ในยามลุยพวงมาลัยไฟฟ้าก็ยังตอบสนองได้ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขัน Ford Ranger ก็ยังตอบการควบคุมได้ดี

แต่ไหนๆ เอ่ยถึงพวงมาลัยไฟฟ้าแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ามันจะทนทานหรือไม่เมื่อต้องใช้ในการขับขี่เพื่อการลุย โดยเฉพาะการที่จะต้องมาเจอน้ำเจอฝุ่นจากการลุย มันจะทนทานแค่ไหน จนสื่อบางท่านถึงกับออกโรงโต้เถียงอย่างเมามันส์ โดยเปรียบเทียบกับรถยุโรปางรุ่น ทว่าแม้ว่า  Ford จะไม่สามารถตอบเรื่องความทนทานในการใช้งานได้ย่างชัดเจนจนเป้นที่น่าพอใจ แต่จากข้อมูลทางวิศวกรรมที่เราได้ถามมาจาก Ford ชุดพวงมาลัยไฟฟ้าของ Ford Ranger & Ford Everest   นั้นจะมีเคสกันน้ำและกันฝุ่นในการใช้งาน โดยจะมีเพียงเฉพาะส่วนปลั้กของมอเตอร์ที่จะโผล่ออกมาเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาตลอดอายุการใช้งาน แต่ถามเราก็คงตอบยากว่าจะทนทานมากแค่ไหน

 

สรุป   The New Ford Ranger  ตันตนใหม่ที่ดีกว่า ...ฟันธง!!!

 

จบทริป   Ford Ranger  ใหม่ เราก้าวลงมาจากรถคันนี้ด้วยความมั่นใจว่านี่คืออีกรถกระบะที่มีความสมบูรณ์แบบในตัวตน ซึ่งแม้จะไม่ใช่รถยนต์ที่ออกมาเปิดตัวโฉมใหม่หมด ทว่า  Ford   ก็ทำการบ้านของพวกเขามาอย่างดี

การเริ่มต้นด้วยการใส่อเมริกันสไตล์มาในแบบความดิบโหดโครเมี่ยมเยอะๆ เหมือนใน  Ford F-150   ใหม่ ทำให้   Ford Ranger   ดูมีความลงตัวมากขึ้นในสายตาของเรา แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านบั้นทายตามอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะเข้าใจว่ามันลงตัวอยู่แล้วก็ตาม

หากว่า   Ford   กลับ อาศัยเสียงจากผู้บริโภคในการเป็นตัวชูโรง นำมาพัฒนารถให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น  ด้วยการเสริมเติมแต่งตัวตนในเรื่องความสบายในการขับขี่ ไม่ว่าจะพวงมาลัยไฟฟ้า แล้วจัดการเพิ่มออพชั่นที่ทำให้รถดูมีความทันสมัยประดุจรถเก๋งมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะปรับปรุงการขับขี่ให้มีสมรรถนะที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเครื่องยนต์   3.2   ลิตรที่มีความประหยัดในการขับขี่มากขึ้นกว่าเดิม ตลอดจน ระบบกันสะเทือนที่ขับขี่ได้ดีขึ้น มีความนุ่มสบายมากขึ้น จนแทบจะพูดได้ว่านี่คือรถที่เป็น  All New Ford Ranger คนละคันเลย แม้จะเป็นเพียงการไมเนอร์เชนจ์

Ford Ranger   ใหม่ คือ  “ความสมบูรณ์แบบมากขึ้นอีกขั้น” ..กล่าวสั้นๆ แต่ได้ใจความของการตอบโจทย์อัตลักษณ์รถยนต์กระบะพันธ์แกร่งที่วันนี้ถูกพัฒนาให้ก้าวไกลอีกขั้น และแม้ปีที่ผ่านมาจะมีคู่แข่งมากมาย แต่ว่าท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เราได้สัมผัสมา   เจ้ากระบะคันนี้ก็น่าจะยังครองใจใครหลายคนที่ไม่ได้มองแบรนด์แต่ต้องการกระบะที่ดิบโหดในตัวตนของสไตล์กระบะอเมริกันพันธุ์แท้

 

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page  ,Twiter (@nattayodc)

 

ขอบคุณ ฟอร์ดประเทศไทย ที่เชิญทีมงาน Autodeft.com   เข้าร่วมการทดสอบรถยนต์   Ford Ranger  2016   เส้นทางกรุงเทพมหานคร-กาญจนบุรี

 

รถทดสอบ   Ford Ranger 3.2 XLT  

ราคาจำหน่าย 1,019,000 บาท

 

สิ่งที่ชอบ >>> การออกแบบที่มีความลงตัวมากยิ่งขึ้นในตัวตนที่ดุดันมากขึ้น แมทช์เข้ากับสมรรถนะบางส่วนที่มีการปรับปรุงให้ความสำคัญในการขับขี่มากขึ้น ไม่ว่าจะชุดพวงมาลัย ,ระบบกันสะเทือน ,การอัพเกรดระบบเกียร์ ตลอดจนเครื่องยนต์ที่มีการปรับปรุงสมรรนถะ ในส่วนของการเพิ่มเติมความประหยัดในการเดินทาง

 

สิ่งที่ไม่ชอบ >>> การไม่มีระบบ  ESP   อาจจะสร้างความบันเทิงให้คุณในยามขับขี่ แต่อย่าประมาทเลินเล่อ เพราะเจ้ายักษ์คันนี้สามารถ พาคุณขวางถนนโชว์ลีลานักดริฟท์ได้

 

สิ่งที่อยากให้มี >>>  อยากให้  Ford   พิจารณาติดตั้งระบบ  ESP   และ  traction control   ในรถยนต์ลุยที่มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด  3.2   ลิตร ทุกรุ่น เนื่องจากรถมีกำลังมากพอจะเกิดอาการ   Power Slide   อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ที่ไม่มีทักษะในการขับขี่ได้

 

คำแนะนำ สำหรับผู้ทีสนใจ >> Ford Ranger  เป็นกระบะที่มีความลงตัวในการขับขี่มากขึ้นอย่างชัดเจน มันคือรถที่คุณจะรู้สึกว่าเหมาะสมมากขึ้น มันไม่ใช่กระบะที่ใหญ่เทอะทะขับยากอีกต่อไป แต่ขับง่ายในทุกสภาวการณ์ แถมความทรงพลังของมันมาพร้อมความดุดันในการขับขี่  แต่ก็ยังสะดวกสบายในการเดินทางไม่ว่าจะบนถนนหรือเส้นทางสุดโหดที่คุณอาจจะอยากลุยไปกับคนที่คุณรัก

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

 

[GALLERY1587]

 

 

5 เรื่องน่าสนใจ