Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Nissan Leaf ภาค 2 รถยนต์ไฟฟ้าบุกขึ้นดอยอินทนนท์ ไฟยังเหลือ

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 11 ต.ค. 62 00:00
  • 8,222 อ่าน

Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมของคนทั้งโลก ที่มียอดขายรวมกันกว่า 3 แสนคันแล้วเมื่อรวมทั้ง 2 เจนเนอเรชั่น ทีมงาน AUTODEFT เคยได้ทำการรีวิวไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้อ่านของเราที่น่ารักอย่างมากมาย ก็ถือว่าเป็นรีวิว ทดลองขับที่ละเอียดมากพอที่จะทำให้รู้ได้แล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มีดีมีด้อยในเรื่องอะไรบ้าง

Nissan Leaf

แต่แค่นี้มันยังไม่พอ เพราะรอบที่แล้วนั้น ทางนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จัดให้เราทดสอบกันในรูปแบบการขับในเมือง และการขับออกไปนอกเมืองแบบทั่วไป เพื่อให้รู้ว่าเมื่อชาร์จไฟรอบเดียว ก็เที่ยวทั่วเมืองได้เหมือนกัน งานนี้จึงได้มีการจัดทดสอบกันอีกรอบ โดยครั้งนี้ท้าทายกันมากกว่าเดิม ด้วยการเชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์ได้ไปลุยกันถึงจังหวัดเชียงใหม่ โดยรอบนี้ เราจะไปไต่เขากัน และเลือกไต่เขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยอย่าง “ดอยอินทนนท์”

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ดอยอินทนนท์ เป็นภูเขาที่อยู่ตั้งอยู่ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยหลวงอ่างกา" ชื่อของ ดอยอินทนนท์ เป็นชื่อของกษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงเป็นผู้ที่ห่วงใยในป่าทางภาคเหนือและพยายามรักษาไว้ ภายหลังเสด็จพิราลัย พระอัฐิส่วนหนึ่งได้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระสถูปบนยอดดอยหลวง และเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในระเทศไทยแล้ว นี่แหล่ะคือความท้าทายที่ทางนิสสัน ต้องการเอา  Nissan Leaf ขึ้นไปพิชิตให้ได้ ด้วยความที่มีข้อครหาจากบางคนว่า “มันจะไปไหนไกลได้ ต้องคอยชาร์จไปอยู่ตลอด” พิสูจน์กันให้เห็นไปเลยว่า รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ ก็เอาไปเที่ยวทั่วไทยได้เหมือนรถยนต์ใช้น้ำมันทั่วไๆปได้เหมือนกัน เพียงแค่วางแผนให้ดีเท่านั้นเอง

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ก่อนออกเดินทาง ก็ขออนุญาตบอกกล่าวกันเรื่องสเปกของ Nissan Leaf กันอีกรอบ โดยขอคัดลอกบางส่วนจาก “Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้ามหาชน มากล้นด้วยความมัน” มาอีกครั้งครับ

“Nissan Leaf ยุคใหม่ ที่เรากำลังทดสอบนี้ มีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 แรงม้า แรงบิด 320 นิวตันเมตร หมุนปั่นที่ล้อหน้า มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 40 กิโลวัตต์ ตามสเปกมีการเคลมเอาไว้ว่า สามารถวิ่งได้ไกลสุด 311 กิโลเมตร / การชาร์จ 1 ครั้ง โดยการชาร์จนั้น ถ้าชาร์จผ่านสายชาร์จที่แถมมากับรถขนาด 3.3 กิโลวัตต์ จะใช้เวลาในการชาร์จจาก 0 ให้เต็ม 100% ได้ใน 12 ชั่วโมง ถ้าเป็นแท่น Wallbox 6.6 กิโลวัตต์ จะลดเหลือ 6 ชั่วโมง และถ้าชาร์จแบบเร็ว Quick Charge จะใช้เวลา 40 นาทีเพื่อชาร์จได้ 80% อ้าว แล้วทำไมไม่บอกตัวเลขที่เต็ม 100% ล่ะ จากการสอบถามผู้ติดตั้งตู้ชาร์จเร็วได้คำตอบมาว่า ระบบจะตั้งให้ตัดการทำงานที่ประมาณ 80% เพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวรถและแบตเตอรี่นั่นเอง

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ขนาดของตัวรถนั้น ไซส์ก็อยู่ประมาณรถ Compact Car ทั่วไป คือ 4,480 x 1,790 x 1,540 มม. (ยาว x กว้าง x สูง) ถ้าเทียบกับ Nissan Sylphy  รถยนต์ร่วมค่ายนั้น อยู่ที่ขนาด 4,615 x 1,760 x 1,495 มม. ก็ถือว่าใกล้เคียงกันเลยทีเดียว ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องการโดยสาร วามันดูเล็กไปไหม บอกเลยว่าไม่เล็กขนาดนั้นครับ นั่งได้ 5 คนแบบไม่อึดอัดอะไรมากอย่างแน่นอน เอาเป็นว่า นั่งสบายกว่ารถ Eco Car ในค่ายเดียวกันอย่างแน่นอน ส่วนการออกแบบนั้น ทางผู้ออกแบบได้ดึงแนวทางการออกแบบมาจาก IDS Concept ที่เคยออกมาอวดตัวเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จับเอามาตบ ๆ ให้ขนาดมันหดลง แล้วจับยืดตัวให้สูงขึ้น จนออกมาเป็น Nissan Leaf โฉมนี้เลย การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในส่วนของกระจังหน้าแบบ V-Motion ที่ใช้เปิดฝาเป็นช่องชาร์จไฟ, ไฟรูปทรง “บูมเมอแรง” และการออกแบบแนวเส้นหลังคา แสดงให้เห็นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของนิสสัน ไฟหน้าแบบโคม LED โปรเจ็คเตอร์แบบคู่ รองรับการทำงานทั้งไฟต่ำ และไฟสูง พร้อม Daytime Running Light ส่วนไฟท้าย ก็เป็นทรงบูมเมอแรงเช่นกัน ติดติดตั้งสปอยเลอร์ท้ายเพื่อเพิ่มความสปอร์ตเข้าไปหน่อย ล้อใช้ขนาด 17 นิ้ว ยางขนาด 215/50 R17 ช่วงล่างด้านหน้าใช้แบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบทร์ชันบีมพร้อมคอยล์สปริง ทั้ง 4 ล้อใช้ระบบดิสก์เบรก

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ส่วนภายในของ Nissan Leaf นั้น ยึดแนวทางการออกแบบสไตล์ Gliding Wing เป็นแนวทางหลัก ใช้สีดำเป็นสีหลักของวัสดุภายใน เบาะเป็นหนัง แต่งขอบด้วยสีฟ้าเพื่อให้ดูเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปรับด้วยมือ พวงมาลัยหุ้มหนังทรงกลมตัดท้ายเรียบแบบฉบับรถสปอร์ต ปรับระดับขึ้นลงได้ หน้าจอวิทยุ อาจจะดูโบราณหน่อย เป็นหน้าจอสีขนาด 5 นิ้ว แต่รองรับการเชื่อมต่อสาย USB และ AUX และการเชื่อมต่อไร้สายแบบ Bluetooth มีช่อง USB ให้ 1 ช่อง และช่อง 12V. อีก 1 ช่อง ลำโพง 4 จุด มีระบบอุ่นเบาะ ส่วนหน้าจอมาตรวัดตรงคนขับนั้น แน่นอนว่าการบอกข้อมูลย่อมแตกต่างกับรถยนต์แบบเครื่องยนต์ปกติทั่วไปอย่างแน่นอน นอกจากจะบอกระยะทาง, ความเร็วที่เป็นระบบมาตรฐานแล้ว มันก็จะบอกระดับของแบตเตอรี่, ระยะทางคงเหลือที่วิ่งได้, กำลังการใช้ไฟฟ้า (คล้ายวัดรอบ), คุณภาพของแบตเตอรี่ รวมทั้งสามารถบอกระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มด้วย

Nissan Leaf

Nissan Leaf

สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างนอกจากการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าของ Nissan Leaf แล้ว ยังมีเรื่องของระบบความปลอดภัยที่ให้มาเพียบ ทัั้ง ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA, เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW) เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking: FEB), เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control: ATC), ถุงลมนิรภัย 6 ลูก, กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor: IAVM) พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection: MOD), ระบบช่วยควบคุมสเถียรภาพการทรงตัวอัตโนมัติ (Vehicle Dynamic Control: VDC), ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist: HSA) รวมทั้งเบรกมือไฟฟ้า”

Nissan Leaf

Nissan Leaf

นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นของรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ส่วนเส้นทางในการทดลองขับวันนี้ เราจะเริ่มกันแถวอำเภอหางดง จ. เชียงใหม่ ใช้เส้นทางถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง มุ่งหน้า อ. จอมทอง เพื่อขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ แล้วย้อนกลับมาเส้นทางเดิมกลับมาสู่จุดเริ่มต้น ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งถ้าดูตามปกติ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะรถนั้นเคลมเอาไว้ว่าวิ่งได้สูงสุด 311 กิโลเมตร แต่อย่าลืมครับ ว่ารอบนี้เราต้องมาไต่ดอยที่สูงที่สุดในไทย ขนาดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันปกติบางคันยังไต่กันเหนื่อยเลย ดังนั้นมันจึงไม่มีทางวิ่งได้ถึง 200 กิโลเมตรแน่ เพราะการไต่เขาที่มีความชันขนาดนี้ ย่อมดึงไฟมาใช้มากกว่าปกติแน่นอน แต่ทางนิสสันเองมารอบนี้ อยากจะมาอวดการอัดไฟกลับเข้าไปที่แบตเตอรี่ด้วย งานนี้ต้องมาดูกันแล้วว่าทำได้ดีขนาดไหน

Nissan Leaf

Nissan Leaf

การขับขี่วันนี้ ขอเน้นเรื่องการไต่เขากับการบริหารพลังงานของ Nissan Leaf เป็นส่วนใหญ่นะครับ เพราะว่าเรื่องการขับขี่ สมรรถนะน้้น เราได้รีวิวการขับไปตั้งแต่รอบที่แล้ว ดังนั้นเรื่องแรงบิด ช่วงล่างนั้นหายห่วงอยู่แล้ว เริ่มต้นการทดสอบ แบบเพิ่งถอดปลั๊กกันสด ๆ ดังนั้นรถยนต์ทดสอบทุกคันจึงมีไฟฟ้าเต็ม 100% ทุกคัน พวกเราบรรดาสื่อมวลชนก็มุ่งหน้าเดินทางไปสู่ อ. จอมทองก่อนเลี้ยวขวาขึ้นดอย โดยระยะทางช่วงแรกก่อนขึ้นเขา จบที่ประมาณ 57 กิโลเมตร ขับแบบใช้ชีวิตปกติประจำวัน มีจังหวะแซง จังหวะขับวิ่งยาว ผสมรถติดเล็กน้อย แบตเตอรี่เราเหลือที่ประมาณ 79% ถ้าขับแบบนี้ คำนวนตามบัญญัติไตรยางค์ ก็น่าจะขับได้รวมประมาณ 250 กิโลเมตรในทางราบ แต่อย่างที่บอกครับว่า ความท้าทายรอบนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น เรายังมีปลายทางอยู่ที่ยอดดอยสูงสุดในประเทศไทยรอเราอยู่ครับ

Nissan Leaf

Nissan Leaf

จากนั้น เราก็เริ่มขับไต่เขากันต่อ โดยปลายทางอยู่ที่จุดสูงสุดของแดนสายม ดอยอินทนนท์ ที่มีความสูงระดับ 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล ระยะทางช่วงนี้อยู่ที่ประมาณ 47 กิโลเมตร ถ้าใครเคยขับในเส้นทางนี้ จะทราบดีว่า ถนนบนนี้จะมีความคดเคี้ยวในระดับหนึ่ง แต่ความชันนี่ไม่เป็นสอยรองใคร และเป็นทางชันระดับ 20% ก็หลายจุด ดังนั้นการใช้กำลังของมอเตอร์ไฟฟ้านั้น ก็ต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน ไฟฟ้าในแบตเตอรี่จึงต้องถูกดึงมาใช้งานอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก ระหว่างทางการขับขี่ เราจึงได้เห็นการลดของเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ที่ลดลงอย่างน่าใจหาย เราเองก็ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ก็เลยต้องลุ้นกันว่า เราจะมีไฟพอขึ้นไปถึงยอดหรือเปล่าหว่า

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ช่วงระหว่างการขับขี่ Nissan Leaf ขึ้นดอยอินทนนท์นั้น ด้วยความที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า อาศัยกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน ทำให้การไต่เขานั้น กระฉับกระเฉงกว่าการใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในอย่างมาก เพราะตัวแรงบิดที่มีสูงถึง 320 นิวตันเมตร และมาตั้งแต่รอบแรกที่ทำการกดเท้าไปที่คันเร่ง มันจึงไม่ต้องรอรอบ รอเกียร์จับ สามารถหมุนปรู๊ดพารถไต่ท้าทายความชันของตัวเขาได้อย่างสบาย เรื่องเข้าโค้งยิ่งหายห่วง เพราะตัวรถนั้นมีการเกาะถนนอย่างดี นั่งสบาย ไม่กระด้าง ผมเชื่อว่าถ้าใครเมารถง่าย มานั่งรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ จะต้องลดอการเมารถได้อย่างแน่นอน

Nissan Leaf

ในที่สุดเราก็ไต่ความสูง มาจนถึงจุดลานจอดรถที่สูงที่สุดในประเทศไทยกันแล้ว หน้าจอแบตเตอรี่คงเหลือบอกเอาไว้ว่า ยังมีไฟเหลืออยู่ที่ 21% ถ้าเราขับรถใช้น้ำมัน แล้วขับมาเที่ยวเดียว น้ำมันหมดไป 79% รับรองว่าไม่มีทางวิ่งถึงจุดเริ่มต้นอย่างแน่นอน แต่ทริปนี้ เรามาท้าทายกันรูปแบบใหม่ โดยการเอา Nissan Leaf ขับไหลลงเขามา แล้วให้การหมุนของล้อนั้นช่วย Regenerate ไฟฟ้า ให้กลับไปเก็บที่แบตเตอรี่ จะได้เอาไฟที่ชาร์จกลับมาเนี่ยแหล่ะ ขับกลับไปให้ถึงปลายทาง ก็คือจุดเริ่มต้นให้ได้นั่นเอง

Nissan Leaf

Nissan Leaf

หลังจากเราดื่มด่ำกับอากาศเย็นและความงามบริเวณยอดดอยอินทนนท์กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาผลิตไฟฟ้าด้วย Nissan Leaf กันแล้ว ก็ได้เวลาในการเดินทางกลับกันแล้ว โดยขาลงนั้น เราจะมีการเปิดระบบ ECO ที่จะลดการใช้งานไฟฟ้าได้ และเดินหน้าด้วยเกียร์ B ที่จะมีความหน่วงดึงเอาไว้เล็กน้อย ออกแบบเอาไว้ให้ใช้งานช่วงเวลาลงเขา คล้ายการใช้งาน Engine Brake แถมยังช่วยในการดึงไฟฟ้ากลับเข้าไปที่แบตเตอรี่ได้อีก ดังนั้นเพื่อให้เรากลับถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ จึงต้องใช้โหมดนี้ตลอดระยะทางในการลงดอย ซึ่งก็น่าชื่นใจมาก เพราะช่วงที่ไหลลงเขามานั้น นอกจากตัวมอเตอร์จะคอยดึงไม่ให้เราลงมาเร็วเกินไปแล้ว ตัวมิเตอร์ที่คอยบอกการอัดประจุไฟฟ้าเข้าไปที่แบตเตอรี่ เต็มขีดหลายช่วงมาก เราจึงได้เห็นตัวเลขที่ดีดขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ช่วงครึ่งหลังจะขึ้นช้าหน่อย เพราะช่วงนี้จะมีความชันน้อยกว่าด้านบน จึงทำให้ส่วนใหญ่แล้วกำลังไฟจะอัดกลับเข้าไปได้ไม่กี่ขีด จนมาถึงด่านของกรมอุทยานฯ เราก็วัดแบตเตอรี่คงเหลือได้ 36% เอาล่ะ เบาใจได้ เพราะพลังงานระดับนี้ เราสามารถวิ่งได้ถึงจุดหมายปลายทางของเราแน่นอน

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ช่วงขากลับก็เหมือนเดิมครับ การขับขี่ก็ยังคงไปตามปกติ แต่เพื่อการตีเซฟหน่อย ก็ลดความกระโชกโฮกฮากช่วงแซงลงบ้าง และลดความเร็วปลายลงนิดนึง เพื่อให้มั่นใจว่า การเดินทางของเราวันนี้จะได้ไม่ต้องขึ้นรถสไลด์กัน (ฮ่า ๆ ๆ ) และในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางจนได้ สรุปรวมระยะทางวันนี้ได้ 206 กิโลเมตร เหลือกำลังไฟที่วิ่งได้อีก 10% ดังนั้นการทดสอบรอบนี้จึงจบลงด้วยความHappy Ending กันทุกคนครับ

Nissan Leaf

Nissan Leaf

เข้าใจดีครับว่า การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Nissan Leaf  นั้น ยังคงมีข้อจำกัดในการเดินทางอยู่บ้างเรื่องจุดชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีน้อย และการชาร์จนั้นใช้เวลานานกว่าเติมน้ำมันหลายเท่าตัว ผมเชื่อว่าปัญหาการใช้งานในเมืองหลวงนั้น ไม่ได้มีผลอะไรมากอยู่แล้ว เพราะโดยเฉลี่ยเราก็น่าจะใช้งานกันประมาณ 100 กิโลเมตร หรือไม่ถ้ามีธุระเยอะหน่อยก็อาจจะวิ่งขึ้นไปถึง 150 กิโลเมตรได้ แต่ตัวรถนั้น สามารถวิ่งได้ระดับ 200 กิโลเมตรอย่างสบาย แต่ก็อาจจะมีข้อแย้งขึ้นมาว่า แต่ในเมืองรถติดมากเลยนะ ก็ต้องกินไปเยอะกว่าหรือเปล่า คำตอบคือ ใช่ครับ แต่มันน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานไปหมุนแบตเตอรี่ ประมาณว่ารถติด 1 ชั่วโมง อาจจะลดระยะทางไปเพียง 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะการที่ไฟฟ้าไปช่วยระบบปรับอากาศ กับพวกไฟหน้า, หน้าจออะไรพวกนี้ มันไม่มากเลยครับ

Nissan Leaf

Nissan Leaf

คำนวนการเดินทางวันนี้ 206 กิโลเมตรของ Nissan Leaf ใช้ไฟฟ้าไป 90% ของแบตเตอรี่ขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง ก็เท่ากับใช้ไฟไป 36 กิโลวัตต์ชั่วโมง แสดงว่าเราจะต้องอัดไฟกลับเข้าไปอีก 36 หน่อย โดยค่าไฟฟ้าตอนนี้ตกอยู่ที่หน่วยละ 4.42 บาท เอามาคูณกันก็จะได้ 159.12 บาท ปัดกลม ๆ เป็น 160 บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 0.77 บาทเท่านั้นเอง ถามหน่อยว่าจะมีรถยนต์คันไหนที่ใช้งานเครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งเครื่องเบนซินหรือดีเซล จะสามารถทำได้ขนาดนี้หรือเปล่า ดังนั้นถ้ามองในระยะยาวแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังไงก็มีอัตราค่าการใช้งานที่ถูกกว่าอย่างแน่นอน นี่ยังไม่รวมค่า Maintenance ตามระยะทางอีกนะที่แทบจะไม่มีอะไรเลย ทางนิสสันได้คำนวนออกมาให้แล้ว ว่าระยะเวลารับประกัน 6 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร จะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าศูนย์บริการเพียง 11,880 บาทเท่านั้น ครึ่งเดียวของค่าบำรุงรักษารถยนต์ระดับ C Segment เพราะมันจะมีเปลี่ยนแค่พวกไส้กรองแอร์ในรถกับน้ำมันเบรกเท่านั้น ส่วนพวกน้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์, น้ำยาหม้อน้ำ, สายพานหน้าเครื่องอะไรพวกนี้ ลืมมันไปได้เลย

Nissan Leaf

Nissan Leaf

Nissan Leaf คันนี้เป็นการนำเข้ามาทั้งคันจากญี่ปุ่น อัตราภาษีที่สูงโลดจึงทำให้ต้องตั้งราคาอยู่ที่ 1.99 ล้านบาท อาจจะดูแพงเกินไปสำหรับหลาย ๆ คน แต่ถ้าใครไม่ได้มีความเดือดร้อนเรื่องเงินทองอะไรมาก ผมว่า การเอื้อมขึ้นไปหยิบเอารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้มาเป็นเจ้าของ มันคุ้มค่าแน่นอนครับ โดยเฉพาะเรื่องมลพิษที่คุณจะไม่ได้ปล่อยมันออกมาเลยตลอดอายุการใช้งาน เท่านี้ก็ตีเป็นราคาไม่ได้แล้วครับ

Nissan Leaf

Nissan Leaf

ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ