Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้ามหาชน มากล้นด้วยความมัน
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 26 ก.ค. 62 00:00
- 14,612 อ่าน
ต้องยอมรับว่า ช่วงปีนี้เป็นการเริ่มต้นกระแสการตื่นตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจริง ๆ ก่อนหน้านี้เราอาจจะเสพเรื่องราวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าผ่านสำนักข่าวต่าง ๆ (รวมถึง AUTODEFT ที่นำเสนอข่าวรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง) แต่ก็เป็นเพียงเรื่องของข่าวต่างประเทศ เลยทำให้ทุกคนยังมองเป็นเพียงแค่ข่าว ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเมืองไทย
แต่แล้วเมื่อวันที่นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ทำการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปีที่แล้วว่า กำลังจะมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ที่มียอดขายรวมสูงที่สุดในโลกอย่าง Nissan Leaf เข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซึ่งถ้ามองภาพโดยรวมแล้ว Nissan Leaf จะไม่ได้เป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่เอามาขายในบ้านเราอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ในชื่อแบรนด์ใหญ่อย่าง นิสสัน มันก็ดึงกระแสได้มากกว่าค่ายเล็กอย่างแน่นอน
และแล้วเวลาที่หลายคนรอคอยก็มาถึง เมื่อรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่งาน Motor Expo 2018 แล้วประกาศราคาอย่างเป็นทางการออกมาที่ 1.99 ล้านบาท ทำเอาหลายคนส่งเสียงครางถึงราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายในประเทศอื่น ที่ตกอยู่ราวล้านต้น ๆ เท่านั้น ทำให้มีเสียงออกมาจากคนที่รอดูอยู่หลากหลายกระแส ทั้งการบ่นไปยังนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทยว่าทำไมตั้งราคาสูงจัง รวมทั้งหันปากกระบอกปืนไปยิงใส่ทางรัฐบาลว่า ไหนบอกว่าส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า แต่ทำไมดันเก็บภาษีเต็มเสียขนาดนี้ ทำเอามีเสียงอื้ออึงอยู่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่มีการประกาศราคารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้เลยทีเดียว
แต่ก็ยังมีบางความเห็น ที่ยังมีมุมมองที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น Nissan Leaf ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความกล้า ที่ยอมนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาเป็นตัวเบิกทางในประเทศไทย ทั้งที่ระบบการชาร์จไฟยังไม่รองรับอย่างทั่วถึงทั้งประเทศเลย ราคาอาจจะแพงในช่วงแรก แต่มันก็สามารถปลุกกระแสรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งมุมมองนี้ผมในฐานะสื่อมวลชนที่ติดตามเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามานานแล้ว เห็นด้วยอย่างมาก เพราะถ้าค่ายรถส่วนใหญ่ยังลังเลในการนำเข้ามา เพราะมองว่า เอามาก็ขายไม่ได้, เอามาขายแพงก็โดนด่า แบบนี้ ความต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเมื่อ Demand ไม่เกิด Supply มันก็ไม่มี Infrastructure ย่อมไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้ ดังนั้นการที่นิสสันยอมเสี่ยงนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ต้องชื่นชมในส่วนนี้เช่นกัน
หลังจากการเปิดตัวไปแล้วหลายเดือน และเริ่มส่งมอบกันได้แล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในที่สุดทีมงาน AUTODEFT ก็ได้รับเชิญเพื่อเข้าร่วมทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf เสียที โดยรอบนี้เป็นรูปแบบ One Day Trip ที่ทางนิสสันไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่า เส้นทางในการทดสอบนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็เดากันเองว่า ไม่น่าจะเป็นเส้นทางที่ไม่ไกลอะไรมาก เพราะต้องยอมรับกันว่า จุดที่จะรถไปชาร์จไฟได้ มันยังคงมีแต่ในกรุงเทพ กับนอกเขตกรุงเทพฯ ไปไม่ไกลเท่านั้นเอง แต่ไม่เป็นไร งานนี้อยากมานานแล้ว จะได้ขับรถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมของคนทั้งโลกเสียที
ก่อนออกเดินทาง เราก็ต้องมาทำความรู้จักข้อมูลเบื้องต้นของรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf กันเสียก่อน บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้เป็น Generation ที่ 2 ของเขาแล้ว โดยรุ่นแรกนั้นผลิตขึ้นมาตั้งแต่ปี 2010 โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 110 แรงม้า แรงบิด 280 นิวตันเมตร ช่วงแรกใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ขนาด 24 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ภายหลังขยับมาใช้ขนาด 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่เมื่อมาถึง Nissan Leaf ยุคใหม่ ที่เรากำลังทดสอบนี้ มีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 แรงม้า แรงบิด 320 นิวตันเมตร หมุนปั่นที่ล้อหน้า มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 40 กิโลวัตต์ ตามสเปกมีการเคลมเอาไว้ว่า สามารถวิ่งได้ไกลสุด 311 กิโลเมตร / การชาร์จ 1 ครั้ง โดยการชาร์จนั้น ถ้าชาร์จผ่านสายชาร์จที่แถมมากับรถขนาด 3.3 กิโลวัตต์ จะใช้เวลาในการชาร์จจาก 0 ให้เต็ม 100% ได้ใน 12 ชั่วโมง ถ้าเป็นแท่น Wallbox 6.6 กิโลวัตต์ จะลดเหลือ 6 ชั่วโมง และถ้าชาร์จแบบเร็ว Quick Charge จะใช้เวลา 40 นาทีเพื่อชาร์จได้ 80% อ้าว แล้วทำไมไม่บอกตัวเลขที่เต็ม 100% ล่ะ จากการสอบถามผู้ติดตั้งตู้ชาร์จเร็วได้คำตอบมาว่า ระบบจะตั้งให้ตัดการทำงานที่ประมาณ 80% เพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวรถและแบตเตอรี่นั่นเอง
ขนาดของตัวรถนั้น ไซส์ก็อยู่ประมาณรถ Compact Car ทั่วไป คือ 4,480 x 1,790 x 1,540 มม. (ยาว x กว้าง x สูง) ถ้าเทียบกับ Nissan Sylphy รถยนต์ร่วมค่ายนั้น อยู่ที่ขนาด 4,615 x 1,760 x 1,495 มม. ก็ถือว่าใกล้เคียงกันเลยทีเดียว ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องการโดยสาร วามันดูเล็กไปไหม บอกเลยว่าไม่เล็กขนาดนั้นครับ นั่งได้ 5 คนแบบไม่อึดอัดอะไรมากอย่างแน่นอน เอาเป็นว่า นั่งสบายกว่ารถ Eco Car ในค่ายเดียวกันอย่างแน่นอน ส่วนการออกแบบนั้น ทางผู้ออกแบบได้ดึงแนวทางการออกแบบมาจาก IDS Concept ที่เคยออกมาอวดตัวเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จับเอามาตบ ๆ ให้ขนาดมันหดลง แล้วจับยืดตัวให้สูงขึ้น จนออกมาเป็น Nissan Leaf โฉมนี้เลย การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในส่วนของกระจังหน้าแบบ V-Motion ที่ใช้เปิดฝาเป็นช่องชาร์จไฟ, ไฟรูปทรง “บูมเมอแรง” และการออกแบบแนวเส้นหลังคา แสดงให้เห็นการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของนิสสัน ไฟหน้าแบบโคม LED โปรเจ็คเตอร์แบบคู่ รองรับการทำงานทั้งไฟต่ำ และไฟสูง พร้อม Daytime Running Light ส่วนไฟท้าย ก็เป็นทรงบูมเมอแรงเช่นกัน ติดติดตั้งสปอยเลอร์ท้ายเพื่อเพิ่มความสปอร์ตเข้าไปหน่อย ล้อใช้ขนาด 17 นิ้ว ยางขนาด 215/50 R17 ช่วงล่างด้านหน้าใช้แบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีมพร้อมคอยล์สปริง ทั้ง 4 ล้อใช้ระบบดิสก์เบรก
ส่วนภายในของ Nissan Leaf นั้น ยึดแนวทางการออกแบบสไตล์ Gliding Wing เป็นแนวทางหลัก ใช้สีดำเป็นสีหลักของวัสดุภายใน เบาะเป็นหนัง แต่งขอบด้วยสีฟ้าเพื่อให้ดูเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปรับด้วยมือแบบ (ร้องไห้แปป) พวงมาลัยหุ้มหนังทรงกลมตัดท้ายเรียบแบบฉบับรถสปอร์ต ปรับระดับขึ้นลงได้ หน้าจอวิทยุ อาจจะดูโบราณหน่อย เป็นหน้าจอสีขนาด 5 นิ้ว แต่รองรับการเชื่อมต่อสาย USB และ AUX และการเชื่อมต่อไร้สายแบบ Bluetooth มีช่อง USB ให้ 1 ช่อง และช่อง 12V. อีก 1 ช่อง ลำโพง 4 จุด ที่ให้เสียงระดับ… (เอาไว้ฟังแก้เหงาแล้วกัน) มีระบบอุ่นเบาะ (ที่ไม่ต้องให้มาก็ได้นะ) ส่วนหน้าจอมาตรวัดตรงคนขับนั้น แน่นอนว่าการบอกข้อมูลย่อมแตกต่างกับรถยนต์แบบเครื่องยนต์ปกติทั่วไปอย่างแน่นอน นอกจากจะบอกระยะทาง, ความเร็วที่เป็นระบบมาตรฐานแล้ว มันก็จะบอกระดับของแบตเตอรี่, ระยะทางคงเหลือที่วิ่งได้, กำลังการใช้ไฟฟ้า (คล้ายวัดรอบ), คุณภาพของแบตเตอรี่ รวมทั้งสามารถบอกระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มด้วย
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างนอกจากการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าของ Nissan Leaf แล้ว ยังมีเรื่องของระบบความปลอดภัยที่ให้มาเพียบ ทัั้ง ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA, เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW) เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking: FEB), เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control: ATC), ถุงลมนิรภัย 6 ลูก, กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor: IAVM) พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection: MOD), ระบบช่วยควบคุมสเถียรภาพการทรงตัวอัตโนมัติ (Vehicle Dynamic Control: VDC), ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist: HSA) รวมทั้งเบรกมือไฟฟ้า
ครบถ้วนกันไปแล้วกับข้อมูลต่าง ๆ ของตัวรถ คราวนี้เราเริ่มออกเดินทางเพื่อทำการทดสอบกันเลยดีกว่าครับ โดยการทดสอบวันนี้ ทางนิสสันได้จัดให้ทดสอบกันรวม 2 แบบ โดยช่วงเช้านั้น จะมาทำความคุ้นเคยกับระบบ e-Pedal หรือที่เรียกเป็นภาษาบ้านเราว่าเทคโนโลยีคันเร่งอัจฉริยะ อธิบายการทำงานง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเปิดระบบแล้ว เราสามารถใช้งานคันเร่งเพียงอย่างเดียวในการขับขี่ได้เลย เมื่อเรากดคันเร่ง รถก็จะวิ่งออกไปตามปกติ แต่เมื่อปล่อยเท้าออกจากคันเร่งเมื่อไหร่ รถจะทำการเบรกให้เราเองโดยอัตโนมัติจนหยุดสนิท โดยที่เท้าเราไม่ต้องยกไปแตะที่แป้นเบรกเลย ช่วงเช้านี้เราจะมีการแข่ง Gymkhana กันแบบเบา ๆ โดยให้เปิดใช้งานระบบ e-Pedal แล้วขับไปในเส้นทาง ทั้ง Slalom, โค้งแคบหักศอก, วนเป็นเลข 8 รวมทั้งทางตรง โดยทั้งหมดในสนาม ห้ามใช้เบรกโดยเด็ดขาด ใครใช้บวกเวลาครั้งละ 5 วินาที, โดนกรวยบวกจุดละ 2 วินาที และจอดเลยเส้นบวก 1 วินาที ใครทำเวลาได้น้อยที่สุด รับรางวัลไป ตอนแรกก็กลัวหน่อยครับว่าถ้าไม่ใช้เบรก จะขับได้จนจบแบบปลอดภัยมั้ยเนี่ย แต่มาแล้วจะไม่ขับ มันก็กะไรอยู่ มามันกันเลยดีกว่า
เมื่อเริ่มการแข่งขัน ผมก็กดคันเร่งไป ก่อนที่ Instructor จะบอกเบา ๆ ว่า “ปล่อยคันเร่งเลยครับ” ด้วยเราที่เป็นเด็กไม่ดื้อ ก็เลยทำตาม เฮ้ย รถกำลังลดความเร็วเหมือนเราแตะเบรกไประดับหนึ่งอย่างนุ่มนวลเลยครับ คือมันไม่ได้เบามาก แต่ก็ไม่ได้ลึกเสียจนหัวทิ่ม ลองนึกถึงเวลาคุณปล่อยรถไหลเข้าไฟแดง แล้วกดเบรกเลียชะลอความเร็วจนรถหยุดสนิท มันคืออารมณ์ประมาณนั้นเลยครับ พอรถลดความเร็วได้แล้ว ก็หักเข้าโค้งพร้อมหมุนพวงมาลัยกันเลย ว้าว พวงมาลัยรถยนต์ไฟฟ้ามันเบามากเลยครับ (แน่นอนแหล่ะว่ามันผ่อนแรงได้ด้วยระบบไฟฟ้า) แม่นยำตามมือเราหมุนเลย ระบบการทรงตัวก็ถือว่าทำได้ดี แต่การทดสอบรอบนี้เราไม่ได้กดกันแรงเท่าไหร่ เพราะด้วยความที่ถูกบีบบังคับให้เราห้ามใช้เบรกเลย เราจึงส่งรถเข้าโค้งด้วยความเร็วที่มากเกินไปไม่ได้ เดี๋ยว e-Pedal จะทำงานไม่ทันเอา (ฮ่า ๆ ๆ) แต่จังหวะเทคตัวเพื่อออกจากโค้งเพื่อเข้าเส้นตรงนั้น กดกันเต็มเท้านเลยครับ ล้อนี่ปั่นเอี๊ยดเลย แรงบิดมันมาตั้งแต่เราย่ำเท้าลงไปที่แป้นคันเร่ง พาตัวรถพุ่งออกไปอย่างรวดเร็ว มันจริง ๆ ส่วนตอนเข้าเส้น ก็ต้องเล็งให้ดีหน่อย เพราะเราต้องเบรก (ไม่ใช่สิ ต้องเรียกว่าจอด เพราะห้ามใช้เบรก) ไม่เกินเส้นที่กำหนดไว้ ไม่งั้นโดนบวกเวลาอีก สรุปแล้วทุกคนก็สามารถจบการแข่งขันไปได้อย่างปลอดภัย
เข้าสู่ช่วงบ่าย เราจะได้รับภารกิจในการเอา Nissan Leaf ไปท่องเที่ยวตามมุมต่าง ๆ ของกรุงเทพและปริมณฑลครับ โดยมีกำหนดเอาไว้รวม 5 จุดก็คือ ฟอร์จูนทาวน์ (ตรงข้ามจุดปล่อยนี่เอง), ลานจอดรถ Hard Rock Cafe สยามสแควร์, Warehouse30 เจริญกรุง, ช่างชุ่ย และร้านกาแฟริมน้ำสุดยอดบรรยากาศดี RIVA floating cafe ที่สามพราน นครปฐม ใครจะไปที่ไหนก่อน ที่ไหนหลัง หรือจะไม่ไปก็ได้ แต่ถ้าไปครบ จะลบเวลาตอนแข่ง Gymkhana ไปให้อีก 2.5 วินาที และต้องกลับมาที่จุดปล่อยตัวบริเวณลานด้านหลังตึก G Land พระราม 9 ก่อน 1 ทุ่ม และที่พิเศษคือ บนลานดาดฟ้าอาคารฟอร์จูนทาวน์ จะมีเกมให้เล่นอีก 1 เกม เรียกว่าเกมปาเป้า คือต้องขับรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf มาในระยะทางราว 100 เมตร แล้วปล่อยคันเร่งให้ระบบ e-Pedal ทำการจอดรถให้ได้ใกล้เส้นที่กำหนดมากที่สุด ยิ่งใกล้ยิ่งลบเวลามาก โดยมากที่สุดที่ 2.5 วินาที ทุกคันก็สนุกสนานกันตามเรื่องตามราวไป (กรุณาอย่าถามว่าผมได้เท่าไหร่นะ)
หลังจากสนุกสนานกับเกมแล้ว ผมก็มุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ที่กำหนดเอาไว้เลย โดยแผนของผมนั้น จะเรียงตามที่ได้บอกเอาไว้เมื่อย่อหน้าที่แล้ว เพราะต้องการจะเก็บในเมืองให้ครบก่อนที่การจราจรจะเริ่มเล่นงานเรา แล้วไปจบเอาที่นอกเมือง จะได้มีเวลานั่งพักริมน้ำแบบชิว ๆ กันนานหน่อย แล้วค่อยหวดกลับรวดเดียวสู่จุดหมาย ช่วงแรกที่ขับในเมืองนั้น ยังคงมีการจราจรที่คับคั่งอยู่ แต่ไม่ได้ติดมาก ต้องบอกเลยว่าระบบ e-Pedal เหมาะกับการใช้งานในเมืองอย่างมากถึงมากที่สุดจริง ๆ มันคือสุดยอดเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานในบ้านเราอย่างมาก ก่อนหน้านี้ผมเคยชอบระบบ Auto Brake Hold หรือระบบเบรกมืออัตโนมัติ ที่เมื่อรถหยุดสนิทแล้วระบบจะทำการล็อกล้อให้เราอัตโนมัติ แล้วจะปลดให้เมื่อเรากดคันเร่ง มันก็สบายระดับหนึ่งแล้ว แต่กับ e-Pedal มันยกระดับขึ้นไปอีก เราเพียงแค่กด-ยกแค่คันเร่งเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องออกแรงย้ายเท้าไปแตะที่แป้นเบรกเลย ลดความเมื่อยล้าในการขับขี่ในช่วงรถติดได้อย่างมาก แต่ถ้าใครไม่ชอบใช้ ก็สามารถปิดการทำงานได้นะ
อ่านถึงตรงนี้อาจจะมีบางคนตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วถ้าเกิดมีรถตัดหน้า e-Pedal จะเบรกให้ทันเหรอ คำตอบคือ “ไม่ทัน” ครับ แต่แป้นเบรกมันยังคงทำงานอยู่ ถ้าเราต้องการเบรกให้หนักกว่าระบบทำงาน เราก็กดได้เองเลย รถมันก็หยุดได้เหมือนกับเราขับทั่วไปครับ ซึ่งระบบการทำงานของ e-Pedal นั้น จะแบ่งการห้ามล้อ, ชะลอความเร็วเป็น 2 แบบ คือในช่วงความเร็วต่ำ ระบบก็ใช้งานการเบรกผ่านทางระบบไฮโดรลิกของชุดเบรกปกติ แต่ถ้าเริ่มมีความเร็วเกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะใช้การชะลอความเร็วด้วยมอเตอร์แทน ซึ่งการหน่วงความเร็วด้วยมอเตอร์นั้น จะเป็นการช่วยให้มีการอัดไฟกลับเข้าไปเก็บที่แบตเตอรี่ได้อีกด้วย คำถามคือ แล้วทำไมถึงต้องแบ่งเป็น แบบ ไม่ใช้มอเตอร์ไปอย่างเดียวเลย คำตอบจากทางวิศวกรของนิสสันก็คือ ในความเร็วต่ำ มอเตอร์ไม่มีกำลังพอที่จะเบรกรถได้ จึงต้องพึ่งพาระบบเบรกปกติมาทำงานแทนนั่นเอง
สิ่งที่เราเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf และรถที่ใช้เครื่องยนต์ปกติ ก็คือเรื่องเสียง เราจะมีโอกาสได้ยินเฉพาะเสียงยางบดถนน กับเสียงจอแจจากภายนอกในช่วงยามรถติดเท่านั้นเอง ไม่มีเสียงเครื่องยนต์มาให้กวนใจ (มีแต่เสียงเครื่องยนต์คันอื่น) เอาจริง ๆ แม้แต่เสียงวี๊ด ๆ ของมอเตอร์เองก็แทบไม่ได้ยินนะถ้าไม่สังเกต แต่ด้วยความเงียบแบบนี้ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายให้กับคนเดินถนนได้ เพราะไม่ได้ยินเสียงรถ ดังนั้นทางนิสสันจึงได้ติดตั้งเสียงสังเคราะห์ คล้ายเสียงวี๊ดของมอเตอร์แหล่ะ แต่มันดังนิดหน่อยในช่วงความเร็วต่ำ มันจะทำงานตอนออกตัว, วิ่งไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง และตอนถอยหลัง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคนอื่นนั่นเองครับ
อีกอย่างที่ชอบมากในการใช้ Nissan Leaf วิ่งในเมืองนั้น คือการเปลี่ยนเลนด้วยความรวดเร็ว ถ้าใครที่ขับรถแบบเครื่องยนต์ทั่วไป สิ่งที่เราจะเจอก็คือ เมื่อเรากดคันเร่งออกไปแล้ว มันจะมีช่วงรอรอบอยู่แวบหนึ่งก่อนรถจะพุ่งไปข้างหน้า แต่กับเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ไม่ต้องรอครับ กดคันเร่งปั๊บ ล้อก็หมุนพารถออกไปได้ทันที ไม่มีการรอรอบ ไม่ต้องรอเกียร์ทำงาน (รถคันนี้ไม่มีเฟืองทดเกียร์) ดังนั้นการเปลี่ยนเลนด้วยความรวดเร็วจึงทำได้ง่ายมากกว่า ทันใจกว่าแบบเครื่องยนต์อย่างเห็นได้ชัดมากครับ
หลังจากเก็บไอเทมจากทั้งสยามสแควร์กับ Warehouse 30 เรียบร้อยแล้ว เท่ากับภารกิจในเมืองของ Nissan Leaf ก็หมดลงแล้ว เรามาวิ่งออกนอกเมืองกันดีกว่า อย่างที่บอกครับว่าจุดหมายต่อไปนั้นจะวิ่งตรงไปสู่ช่างชุ่ย แถวตลิ่งชัน เราก็ใช้บริการทางด่วน ที่รถวิ่งกันน้อย เราขอลองกันหน่อยว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้จะวิ่งได้ประมาณเท่าไหร่ พอเห็นว่าปลอดภัยเราก็กดคันเร่งเลยครับ อย่างที่บอกแหล่ะว่ามอเตอร์ไฟฟ้ามันไม่ต้องรอรอบ รอการเปลี่ยนเกียร์ กดปุ๊บ แรงบิด แรงม้ามันมาปั๊บ ไม่ต้องรอแรงบิดสูงสุดที่เท่านั้น เท่านี้รอบ กดเมื่อไหร กำลังมาเต็ม ความเร็วนี่ไหลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเกือบสุดแบบสม่ำเสมอ ก่อนที่จะมาเริ่มไหลช้าลงเมื่อถึง 150 กม./ชม. ก่อนที่จะมาหยุดนิ่งเอาที่ 155 กม./ชม. หมายถึงรถวิ่งได้เพียงเท่านี้แล้ว ซึ่งตามสเปกแล้ว จะทำ Top speed ได้ที่ 160 กม./ชม. แต่ที่หายไปอาจจะมีปัจจัยอื่น เรื่องลมและน้ำหนักบรรทุก (ไป 2 คน รวมสัมภาระด้วยน่าจะร่วม 200 กิโลกรัม ฮ่า) คำถามเลยมีว่า ที่ได้เท่านี้ คือล็อกเอาไว้หรือมันเป็นขีดสุดของมอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว คำตอบคือ นี่คือขีดจำกัดของมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่สามารถทำเพิ่มมากกว่านี้ได้แล้ว ซึ่งอาจจะเป็น 1 ข้อจำกัดสำหรับบางคนที่ต้องการเร็วกว่านี้ แต่จะเอาเร็วมากไปทำอะไรล่ะ เพราะเราก็ควรขับตามกฎหมายที่ไม่เกิน 120 กม./ชม. อยู่ดีใช่ป่ะ
สำหรับเรื่องความนุ่มนวลในการนั่งบน Nissan Leaf นั้น ผมถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ นะ มันไม่ได้นั่งแล้วนุ่มนวล แต่ก็ไม่ได้แข็งกระด้างอะไร นั่งได้แบบไม่จุกอะไรยามที่ต้องเจอกับถนนลูกรัง ส่วนการทรงตัวนี้ก็อยู่ในระยะกลางค่อนไปทางดี เข้าโค้งคุมได้แต่ไม่ถึงกับนิ่งกริ๊บ แต่ถือว่าดีกว่ารุ่นอื่นที่อยู่ในทรงแบบนี้ น่าจะมาจากการออกแบบให้จุดแบตเตอรี่เอาไปวางไว้ที่พื้นห้องโดยสาร ตัวรถเลยมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ การทรงตัวเลยทำได้ดีเมื่อมองจากรูปทรง แต่เวลาใช้ความเร็วสูง พวงมาลัยออกไปทางเบามากไปหน่อย ถ้าปรับให้หน่วงได้มากกว่านี้ จะดีมากขึ้นอีกเยอะเลย
การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf นั้น อาจจะต้องมองข้ามเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกันหน่อย เพราะในรถแทบจะให้เฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้นจริง ๆ ไม่มีล็อกอัตโนมัติเมื่อรถวิ่ง, ช่อง USB มีช่องเดียว, หน้าจอโบราณ ไม่ได้เป็นระบบสัมผัส เบาะนั่งไม่ปรับไฟฟ้า ยังดีหน่อยที่มีเบรกมือไฟฟ้าให้ใช้ รวมทั้งแอร์อัตโนมัติ (เบาะอุ่นไม่นับนะ เพราะผมมองว่าเป็นส่วนเกิน) ไม่งั้นล่ะก็ คงจะโดนเพื่อล้อแย่เลย
สิ่งที่ไม่ชอบใน Nissan Leaf อีกอย่าง ก็คงเรื่องเกียร์นี่แหล่ะ ไม่ได้เรื่องวิธีการใช้งาน ที่ใช้ได้ไม่ยาก เพียงโยกเข้าหาตัวแล้วดึงลง รถก็เข้าเกียร์ D ถ้าดันไปข้างหน้า ก็ถอยหลัง จะจอดก็กดตัว P มันก็ง่ายดี แต่ติดในเรื่องดีไซน์ของมันเนี่ยแหล่ะ ทำไมต้องทำเป็นเหมือนก้อนขนมเปี๊ยะ ส่วนตัวไม่ชอบเลย ของเป็นคันเกียร์เล็ก ๆ สูงขึ้นมาดีกว่า มันดูแล้วค่อยเป็นรถยนต์หน่อย แต่ก็อีกแหล่ะ คนออกแบบของนิสสันคงอยากให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ดูล้ำหน้าอนาคตไกลแบบ Minimal ก็เลยได้ผลการออกแบบมาแบบนี้ ผมอาจจะเป็นคนส่วนน้อยก็ได้นะที่ไม่ชอบหัวเกียร์แบบนี้
*ภาพประกอบเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาพที่ถ่ายมาจากหลังการทดสอบ
สรุปหลังจากจบทริปการเดินทางวันนี้ สรุปรวมระยะทางได้ประมาณ 120 กิโลเมตร มีทั้งวิ่งในเมืองแบบรถติดประมาณหนึ่ง กับวิ่งยาว ๆ แบบมีกดทำความเร็วสูงสุดอยู่ระยะหนึ่ง (ที่เหลือก็แถว ๆ 120 กม./ชม.) เราใช้แบตเตอรี่ไปประมาณ 57% (คงเหลือ 43%) ที่หน้าจอแจ้งว่าวิ่งได้อีกประมาณ 110 กิโลเมตร ซึ่งถ้าเอาจริง การเดินทางในเมืองมันพอใช้งานอย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว กลับบ้านก็รีบเสียบปลั๊ก เช้ามาก็เอามาใช้ใหม่ ไม่มีปัญหาอยู่แล้วครับ และจากการสอบถามแล้ว การชาร์จแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion นั้น สามารถชาร์จเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องกลัวเรื่องแบตเตอรี่เสื่อมเร็ว ใช้งานได้แบบโทรศัพท์มือถือเลย เป็นแบบเดียวกัน
มาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า แล้วค่าใช้จ่ายต่อหน่วยการใช้งาน จะมีที่เท่าไหร่ เอาง่าย ๆ นะครับ แบตเตอรี่ของ Nissan Leaf จะมีขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง ดังนั้นการชาร์จไฟฟ้าเข้าไป ก็ต้องใช้จำนวน 40 หน่วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าประเภท 1 หรือที่ใช้ตามบ้านพักอาศัยทั่วไป อยู่ที่สูงสุดประมาณหน่วยละ 4.42 บาท หมายความว่าถ้าแบตเตอรี่เหลือ 0% (ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบจะไม่ยอมให้ใช้งานจนเหลือ 0% เพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพก่อนเวลาอันสมควร) แล้วชาร์จไฟจนเต็ม 100% จะเป็นค่าไฟที่ 4.42 x 40 = 176 บาท ถ้าเอาไปหารระยะวิ่งได้สูงสุดที่เคลมเอาไว้ที่ 311 กิโลเมตร ก็จะตกที่ประมาณ 0.56 บาท/กิโลเมตร แต่ถ้าเราเอาระยะทางที่เราผลาญกันไปในรอบนี้ จะตกประมาณ 2.1 กิโลเมตร/ 1% แสดงว่า 100% จะได้ 210 กิโลเมตร เท่ากับว่าค่าชาร์จไฟฟ้าจะตกอยู่ที่ราว 0.83 บาท/กิโลเมตร แต่ราคานี้ต้องบวกค่า FT กับ VAT 7% สรุปแล้วก็อยู่ที่ราวเกือบ 1 บาทได้ (ตามทันใช่ไหมครับ)
สิ่งต่อมาก็คือ แล้วค่าแบตเตอรี่ของ Nissan Leaf ล่ะ แพงขนาดไหน ก็ต้องบอกว่า “แพง” มากครับ โดย ณ ราคาปัจจุบัน นิสสันเองตั้งราคาในการเปลี่ยนแบตเตอรี่เอาไว้ที่ประมาณ 40,000 บาท/โมดูล โดยทั้งหมดมีรวมแล้ว 24 โมดูล หมายความว่า ถ้าเปลี่ยนทั้งหมด จะต้องใช้เงินกว่า 960,000 บาท แต่ด้วยเทคโนโลยีของแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion มันสามารถแยกเปลี่ยนเป็น Module ได้ เพราะปกติมันไม่ได้เสียแบบทั้งหมดพร้อมกันอยู่แล้ว สามารถแยกเปลี่ยนได้เลย แต่ถ้าคุณซื้อวันนี้ ทางนิสสันนั้นรับประกันแบตเตอรี่กันยาว ๆ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร ถึงวันนั้นแบตเตอรี่จะถูกลงมากกว่านี้อย่างมากแน่นอน เดาว่าน่าจะเกินครึ่งด้วยซ้ำ และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะเปลี่ยนรถก่อนหมดระยะรับประกันอีกต่างหาก ดังนั้นลืมเรื่องค่าแบตเตอรี่ไปได้เลยครับ ส่วนระบบไฟฟ้านั้น นิสสันทำการรับประกันให้ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตรครับ
สำหรับการดูแลรักษานั้น ทางนิสสันได้คำนวนออกมาให้แล้ว ว่าระยะเวลารับประกัน 6 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร จะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าศูนย์บริการเพียง 11,880 บาทเท่านั้น ครึ่งเดียวของค่าบำรุงรักษารถยนต์ระดับ C Segment เพราะมันจะมีเปลี่ยนแค่พวกไส้กรองแอร์ในรถกับน้ำมันเบรกเท่านั้น ส่วนพวกน้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์, น้ำยาหม้อน้ำ, สายพานหน้าเครื่องอะไรพวกนี้ ลืมมันไปได้เลย ส่วนเรื่องยางรถ, ใบปัดน้ำฝน เจ้าของรถก็ต้องดูแลเอง ไม่ได้รวมมาในตรงนี้นะครับ แต่มีข้อแนะนำของคนที่ต้องการซื้อมาเป็นเจ้าของ แนะนำให้ซื้อ Wallbox มาติดที่บ้านด้วยครับ เพราะการชาร์จด้วยสาย 3.3 กิโลวัตต์ที่แถมมากับรถนั้น ผมว่ามันใช้เวลานานไปหน่อย 12 ชั่วโมงมันเกินเวลานอนเราไปเยอะ (ความเป็นจริงไม่ถึงหรอก เพราะเราคงไม่ชาร์จตอนมัน 0%) ผมว่าการชาร์จสักวันละไม่เกิน 6 ชั่วโมงคือกำลังดี
แต่การติดตั้งระบบการชาร์จไฟฟ้าของ Nissan Leaf ที่บ้านนั้น อาจจะต้องมีการลงทุนกันเพิ่มอีกเล็กน้อยเพราะจากการสอบถาม Partner ของนิสสันที่เป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์ตู้ชาร์จไฟแบบ Wallbox และ Quick Charge นั้น ได้ข้อมูลมาว่า สายที่เป็นขนาด 3.3 กิโลวัตต์ที่แถมมาในรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้นั้น จะมีการจ่ายกระแสไฟที่ 16 แอมป์ตลอดระยะเวลาการชาร์จ ดังนั้นถ้าที่บ้านไหนมีเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 15 แอมป์ โหลดสูงสุดได้ 45 แอมป์ ก็จะมีปัญหาหน่อยตอนชาร์จไฟ เพราะแค่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวก็เต็มแล้ว ถ้าเปิดแอร์อีก ที่จะใช้ไฟอีกประมาณตัวละ 8 แอมป์ ก็อาจจะมีปัญหาต่อมิเตอร์ไฟฟ้าได้ ดังนั้นอย่างน้อยต้องมีมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 30 แอมป์ขึ้นไป เพราะมิเตอร์ขนาดนี้จะสามารถจ่ายไฟได้สูงสุดถึง 100 แอมป์เลย รวมทั้งการเดินสายนั้น ต้องเป็นการต่อออกมาจากตู้โดยตรง และก่อนจะถึงแท่นชาร์จ ก็ควรต้องมีเบรกเกอร์ติดเพื่อความปลอดภัยเพิ่มอีกตัว ดังนั้นถ้าจะซื้อ Nissan Leaf ไปใช้งาน คงต้องลงทุนเพิ่มอีกสักหน่อย เพื่อความปลอดภัยของบ้านและตัวรถด้วยครับ แต่ไม่ต้องเป็นห่วง ตัวแทนจำหน่ายพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องนี้อยู่แล้วครับ
นิสสัน เอา Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมของคนทั้งโลก ด้วยยอดขายที่มีมากที่สุด (นับตั้งแต่เจนแรก) รวมกว่า 420,000 คันไปแล้ว ตั้งราคาขายเอาไว้ที่ 1.99 ล้านบาท มีสายชาร์จ 3.3 กิโลวัตต์แบบ Type 1 แถมมาให้ และสายแปลงเพื่อเสียบกับตู้ Quick Charge แบบ Type 2 ก็มีให้ด้วย ถามผมว่าแพงไปไหม ผมว่ามันก็สูงไปนิดนึง แต่ถ้าวันหนึ่งที่รัฐบาลส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าแบบเท่าเทียมกันมากกว่านี้ แล้วสามารถทำราคามาได้ที่ ประมาณ 1.49 ล้านบาทได้ ผมว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าใช้อย่างมาก เพราะเป็นรถยนต์ที่ได้รับการยืนยันมาแล้วจากผู้ใช้งานรอบโลกว่า มันใช้งานได้ดีจริง และยังไม่เคยพบปัญหาพวกระเบิด, ไฟไหม้ หรือแบตเตอรี่เสื่อมก่อนเวลาอันควรมาก่อนเลย และที่สำคัญที่สุดก็คือ รถคันนี้จะไม่มีการปล่อยมลพิษออกมาเลย แถมเสียงก็ไม่ดังอีกด้วย ลองนึกภาพตามว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนรถบนถนนทุกคันให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ อากาศเราจะสะอาดขนาดไหน และเมืองหลวงอันใหญ่โต แต่สามารถคุยกันแบบข้ามฝั่งถนนได้โดยไม่มีเสียงเครื่องยนต์จากรถรบกวน มันจะดีขนาดไหน เราจะตีราคาเรื่องพวกนี้เอาไว้ที่เท่าไหร่ นี่ยังไม่รวมเรื่องค่ารักษาพยาบาล พวกอากาศภูมิแพ้จากการเจอฝุ่น, อาการไอจากการดมไอเสีย และอีกหลายโรคที่มาจากไอเสียเครื่องยนต์อีกล่ะ เราน่าจะเห็นถึงพิษภัยทางอากาศจากสภาวะการเกิดหมอกฝุ่น PM2.5 กันมาแล้ว ผมว่าถ้าใครมีกำลังซื้อได้โดยไม่เดือดร้อน ซื้อเถอะครับ เพราะมันก็เป็นรถที่ขับสนุกได้ ออกตัวแรงไม่แพ้รถเครื่องเบนซิน 2.0 ลิตร Turbo แถมยังรักษ์โลกได้อีกด้วยครับ
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com