Test Drive: รีวิว ทดลองขับ MG ZS EV รถยนต์ไฟฟ้าเอนกประสงค์ ลุ้นจนสุดทาง
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 13 ก.ย. 62 00:00
- 23,517 อ่าน
ย้อนเวลาถอยกลับไปสัก 2 ปีก่อน รถยนต์ไฟฟ้ากับประเทศไทย เกือบจะวิ่งกันไปเป็นเส้นขนาน เพราะเมืองนอกคอกนาทางฝั่งยุโรปกับอเมริกา เขาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากับแบบตัวเลือกมากมาย แต่หันกลับมาเมืองไทยกลับมีตัวเลือกอยู่ไม่เท่าไหร่ แถมราคายังสูงปรี๊ดชนิดที่หาคนเป็นเจ้าของได้ยาก ใครจะเชื่อว่าอีกไม่นาน แค่การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเพียงคันเดียว ทำเอาคนหันมาจับจ้องและอยากเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในทันที นั่นคือการมาของ MG ZS
ก่อนวันที่เปิดตัว MG ZS EV นั้น นักข่าวหลายสำนัก รวมทั้ง AUTODEFT เองก็ด้วย มีการประเมินกันว่า รถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์คันนี้จะเปิดราคามาที่เท่าไหร่ ส่วนตัวเดาเอาเองว่า น่าจะอยู่ที่ 1.49 ล้านบาท เพราะการเปิดตัวของ Nissan Leaf ก่อนหน้านี้ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งราคาเอาไว้ที่ 1.99 ล้านบาท เลยทำให้ทีมงานพวกเราเองประเมินกันว่า น่าจะอยู่แถวนี้แหล่ะ แต่ทุกอย่างดันผิดคลาด เมื่อทางเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ประกาศราคากันมาเพียง 1.19 ล้านบาทเท่านั้น ทำเอาเสียงฮือฮาดังสนั่นงาน แถมยังดังต่อเนื่องผ่านทางสังคมออนไลน์กันอีกด้วย
ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ทางทีมงาน AUTODEFT ก็ได้รับหมายเชิญมาจาก เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ให้เข้าร่วมรีวิว ทดลองขับ รถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์คันนี้ โดยมีการกำหนดเส้นทางเอาไว้จาก กรุงเทพฯ - พัทยา (ขอบคุณมากคร้าบ) แน่นอนอยู่แล้วว่า พวกเราสนับสนุกเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว และอยากรู้เช่นกันว่าสมรรถนะของ MG ZS EV นั้น จะดีขนาดไหน และจะแตกต่างกับการขับรถยนต์ MG ZS รุ่นปกติหรือไม่ จึงได้รีบตอบรับในการเข้าทดสอบรถยนต์ครั้งนี้ทันที
ก่อนที่เราจะขับ ก็ต้องมาทำความรู้จักข้อมูลเบื้องต้นของรถยนต์เอนกประสงค์พลังงานไฟฟ้า 100% MG ZS EV กันก่อน โดยรถนั้น ถูกจัดให้เป็นรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก ตามศัพท์ทั่วไปที่เรียกว่า Sub-Compact SUV แบบ 5 ประตู 2 แถว 5 ที่นั่ง มิติตัวรถเท่ากับรุ่นปกติเป๊ะ คือขนาด 4,314 x 1,809 x 1,624 มม. (ยาวxกว้างxสูง) ฐานล้อกว้าง 2,585 มม. มีแต่ความสูงใต้พื้นนี่แหล่ะที่ต่างกันเล็กน้อย ก็คือสูงจากพื้น 161 มม. ในขนะที่ตัว MG ZS เครื่องยนต์ปกตินั้นอยู่ที่ 165 มม. แน่นอนว่าการ Setting ที่แตกต่างกัน มาจากการปรับน้ำหนักให้ Balance จากการที่น้ำหนักตัวรถที่มาอยูแถวใต้ท้องรถ ที่เป็นตำแหน่งการติดตั้งแบตเตอรี่ แทนการรับน้ำหนักจากเครื่องยนต์ด้านหน้าในรุ่นปกติ จึงทำให้ความสูงและการเซ็ตช่วงล่าง มีความแตกต่างไปจากเดิม
การขับเคลื่อนของ MG ZS EV นั้น แน่นอนว่าเป็นการใช้พลังงานขับเคลื่อนจากมอเตอร์ไฟฟ้า 100% เป็นมอเตอร์แบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ที่สามารถให้กำลังได้ 150 แรงม้า แรงบิด 350 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ Lithium - ion Battery ความจุ 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง เคลมว่าสามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดที่ 337 กิโลเมตร (ในห้องทดลอง) ขับเคลื่อนล้อหน้า เดินหน้าแบบ Single Speed ระบบพวงมาลัย แบบแร็คแอนด์พิเนียน ควบคุมด้วยไฟฟ้า (EPS) ระบบช่วงล่างหน้า แบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบคานเหล็ก ทอร์ชันบีม ดิสก์เบรก 4 ล้อ ใส่ยางขนาด 17 นิ้ว ยาง 215/50 R17 เท่ากันทุกประการกับรุ่นเครื่องยนต์
MG ZS EV มีไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์พร้อมไฟ Daytime Running Lights ระบบควบคุมการ เปิด - ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ ที่เปิดฝาท้ายใช้ตรายี่ห้อ MG เป็นตัวเปิดประตูหลัง มี ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED และสปอยเลอร์หลังเพิ่มความสวยงาม กระจกมองข้างพับ และปรับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว มีราวหลังคาเผื่อเอาไว้เพิ่มการติดตั้งอุปกรณ์ขนของเพิ่มเติมได้ ส่วนหลังคานั้นเจ๋งตรงที่มี หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามา (Panoramic Sunroof) เปิดรับลมรับแดดได้ตามสบาย (เอาไว้เปิดหลังเที่ยงคืน)
การตกแต่งภายในของ MG ZS EV นั้น ทางเอ็มจีบอกว่า มีส่วนสัมผัสแบบ Soft Touch อยู่มากถึง 80% แน่นอนว่าหลักใหญ่คือส่วนของเบาะนั่งโดยสารที่เป็นหนังสังเคราะห์สีดำ ตัวแผงคอนโซ,หน้าก็เป็นวัสดุนิ่มเช่นกัน และที่ประตูเองก็มีบางส่วนที่เป็นวัสดุเดียวกัน ทำให้ดูแพงขึ้นได้เลยทีเดียว แต่ส่วนที่เป็นวัสดุแข็ง เอาจริงมันก็ยังสัมผัสได้ไม่ค่อยเข้ามือนัก เอาล่ะ รถในราคาเท่านี้ ก็ถือว่าได้มาขนาดนี้ก็สมราคาแล้ว ตัวเบาะนั่งนั้นมี 2 แถว โดยเบาะคนขับนั้นเป็นแบบปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง แต่ผู้โดยสารข้างคนขับนั้นเป็นแบบปรับมือ เบาะแถวหลังนั่งได้ 3 คน พับได้แบบ 60 : 40 พวงมาลัยหุ้มหนัง ปรับได้ 2 ทิศทาง สูง - ต่ำได้ มีปุ่มมัลติฟังก์ชันควบคุมเครื่องเสียง, รับ-วางโทรศัพท์ และกดเพื่อดูข้อมูลการขับขี่ ระบบปรับอากาศแบบดิจิตอล ที่มีระบบกรองอากาศระดับ PM2.5 ได้ (หนาวนี้สบายเลย) หน้าจอเป็นระบบสัมผัส 8.0 นิ้ว ที่ใส่ระบบสั่งการอัจฉริยะ i-Smart มาให้ด้วย แน่นอนว่าเราสามารถสั่งการทำงานด้วยเสียงภาษาไทยได้ (เปิด-ปิด-เบา-เร่งแอร์, เปิด-ปิด Sunroof เป็นต้น) มีระบบนำทางในตัว สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนได้ด้วยสาย USB หรือ Bluetooth ลำโพง 6 ตัว ระบบกุญแจรีโมทอัจฉริยะ (Smart Key) พร้อม Push Start แต่เอาจริงจะเรียกว่าปุ่ม Start ไม่ได้หรอก เพราะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็จะต้องเรียกว่าปุ่ม On-Off แทน
ส่วนระบบความปลอดภัยนั้นหายห่วง ถ้าคุณบอกว่าใน MG ZS นั้นมีเยอะแล้ว หลบไปได้เลยครับ เพราะรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV คันนี้เหนือกว่ามาก เพราะมีทั้ง ระบบป้องกันล้อล็อก ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD, ระบบเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBA (Electronic Brake Assist), ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System), ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง CBC (Curve Brake Control), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล TCS (Traction Control System), ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System), ระบบเปิด - ปิดไฟสูงอัตโนมัติ IHC (Intelligent High - Beam Control), ไฟแจ้งเตือน เมื่อมีการเบรกฉุกเฉิน ESS (Emergency Stop Signal), ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD (Blind Spot Detection), ระบบช่วยเตือนขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert), ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนรถยนต์คันหน้าขณะขับขี่ FCW (Forward Collision Warning), ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keep Assist), ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning), ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถออกนอกเลน LDP (Lane Departure Prevention), ระบบช่วยเตือนเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน LCA (Lane Change Assist), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC (Adaptive Cruise Control), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA (Traffic Jam Assist), กล้องมองหลัง, สัญญาณเตือนระยะถอยหลัง, ระบบกุญแจนิรภัยแบบ Immobilizer พร้อมถุงลมนิรภัยอีก 6 ลูก โอย อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว
และแน่นอนว่า MG ZS EV ก็ต้องมีระบบการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ โดยระบบ SMART CONNECT นั้น สามารถนำทางพร้อมรายงานการจราจรแบบ Real Time ได้, ช่วยค้นหาร้านอาหาร และที่พักบนแผนที่นำทางได้, เล่นเพลงออนไลน์แบบสตรีมมิ่งได้, อัพเกรดระบบผ่านออนไลน์ ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ตเครือข่าย Truemove-H (แน่นอนอยู่แล้ว) และสามารถลงแอพ MG iSMART เพื่อตรวจสอบสถานะรถยนต์, สั่งการ และระบบค้นหารถ Find My Car, เตือนความผิดปกติของรถยนต์, ตั้งขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์, ตรวจสอบสถานะแบตเตอรี่ และช่วยค้นหาสถานีชาร์จ, ช่วยค้นหาศูนย์บริการ นัดหมาย และบันทึกการดูแลรักษารถยนต์ตามระยะ และสั่งการเปิดแอร์ล่วงหน้าได้เช่นเดียวกับรุ่นอื่นอย่างแน่นอน (อย่าไปบอกคุณภรรยาเข้าล่ะว่ามีระบบนี้ ไม่งั้นโดน Tracking ทั้งวันแน่ 555)
สิ่งพิเศษที่แตกต่างไปจากรุ่นปกติทั่วไปของ MG ZS EV นั้น ก็คงต้องเรื่องของคอรโซลกลาง ที่ตัวแท่นเกียร์นั้น แทนที่จะเป็นแท่งคันโยก แต่ในรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้เป็นเหมือนลูกบิดแทน มีให้ใช้งานได้ 4 แบบ คือ P, N, D, R โดยมีเบรกมือไฟฟ้าและระบบ Auto Brake Hold เอาไว้ใช้งาน แต่ถึงแม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่ MG ZS EV ก็สามารถขับเคลื่อนด้วยโหมดการขับขี่ 3 แบบ คือ ECO, Normal และ Sport ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นการไปปรับเปลี่ยนการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ให้มีการตอบสนองจากการเหยียบคันเร่งที่แตกต่างกัน รวมทั้งมันสามารถไปปรับความหน่วงของพวงมาลัยได้อีกด้วยนะ ส่วนการปรับก็เพียงแต่โยกปุ่มที่อยู่ใกล้ปุ่มเกียร์ โยกขึ้นลงได้ตามใจเลย และที่ข้างปุ่มขับขี่ จะมีปุ่มที่เรียกว่า KERS หรือ Kinetic Energy Recovery System ซึ่งระบบนี้คือตัวที่คอยปรับระดับความหน่วงของตัวรถในช่วงที่เราปล่อยคันเร่ง เพื่อนำไฟฟ้าให้ชาร์จกลับเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ใหม่ สามารถปรับได้ 3 ระดับคือ 1 คือหน่วงบาที่สุด ไปจนถึง 3 ที่หน่วงมากที่สุด แต่ชาร์จไฟได้มากที่สุดนั่นเอง ส่วนปุ่มสุดท้ายคือปุ่ม Battery ที่เอาไว้เช็คไฟฟ้าคงเหลือนั่นเอง
น่าจะพอกันได้แล้วกับข้อมูลเบื้องต้นของ MG ZS EV คราวนี้ก็ถึงเวลาขับจริงกันได้เสียที โดยการรีวิว ทดลองขับในครั้งนี้ เรามีนัดกันที่ MG Driving Experience Centre หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า MGD แถวถนนศรีนครินทร์ (ก่อนซีคอนสแควร์นิดเดียว) โดยกำหนดการวันนี้ เราจะเริ่มด้วยการทดสอบในสนามกันก่อนช่วงเช้า แล้วค่อยออกเดินทางไปที่พัทยา เพื่อชาร์จไฟแบบเร็ว จากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพกันเลย เพื่อพิสูจน์ให้รู้กันไปว่า มันวิ่งไปเที่ยวได้นะถ้าวางแผนให้ดี โดยระยะทางรวมไปกลับรอบนี้ก็อยู่ที่ราว 280 กิโลเมตรได้
มาเริ่มต้นกันที่การทดสอบในสนามกันก่อน เราจะเริ่มจากการประลองการออกตัวด้วยการกดเต็มเท้าเพื่อวัดว่า มันออกตัวได้สนุกขนาดไหน โดยสถานีแรกชื่อว่า “กดให้มิด แล้วหยุดให้ทัน” (ตั้งเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้จัด) โดยเริ่มจากทางตรงระยะทางประมาณ 100 เมตร จากนั้นให้กดจมคันเร่ง เพื่อรับรู้ถึงความแรงของมอเตอร์ระดับม้า 150 ตัวว่ามันจะดีขนาดไหน ทันทีที่กดคันเร่งปั๊บ ล้อนี่ลั่นเอี๊ยดขึ้นมาทันที เพราะแรงบิด 350 นิวตันเมตร มันโผล่มาตั้งแต่เมตรแรกเลย นั่นเป็นข้อได้เปรียบของรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน มันไม่ต้องรอรอบ กำลังทั้งหมดมันมาสุดตั้งแต่แรก แต่ครับแต่ มันมีอาการเอี๊ยดที่ 2 ตามมาอีก เฮ้ย ทำไมมันมีเอี๊ยด 2 ประดุจรถเครื่องยนต์ที่มีเกียร์ในการส่งกำลัง ก่อนที่เราจะมาพินิจพิเคราะห์กันเอาเองว่า น่าจะมาจาก Traction Control ที่ทำงานเมื่อจังหวะที่ล้อจะหมุนฟรี จากนั้นก็ปล่อยให้มอเตอร์ส่งกำลังใหม่อีกรอบ แล้วก็ทำการจับอีกครั้ง ก่อนที่รถจะพุ่งตัวไปได้อย่างรุนแรง (โห) เมื่อถึงจุดหยุด ก็กดเบรกเต็มที่ จนรถหยุดนิ่งสนิท สถานีนี้ทำให้เห็นเลยว่า กำลังของมอเตอร์ไฟฟ้านั้นไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะมันพารถพุ่งออกไปได้ดีกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างชัดเจน ไม่มีการรอรอบ ไม่มีการสับเกียร์ ได้เปรียบช่วงต้นกันแบบเห็น ๆ ส่วนจังหวะเบรก ABS สามารถทำงานได้ดี เบรกแล้วไใม่มีอาการเสียศูนย์แต่อย่างใด
สถานีต่อมาชื่อว่า “ปล่อยให้ไหลไป ให้ล่องลอยไปสู่ทางโค้ง” (ตั้งเองเช่นเดิม) ไม่มีอะไรหรอก ก็แค่การขับไปตามทางโค้งซ้ายที ขวาที ในความเร็วแถว 50-60 กิโลเมตร/ชม. ถ้าใครเคยขับรถยนต์ในตระกูล MG มาก่อน จะรู้ว่าสายตระกูลนี้มีช่วงล่างที่แน่นหนึบเป็นอย่างมาก เข้าโค้งดี และการที่มากลายร่างเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการติดตั้งแบตเตอรี่อยูที่พื้นท้องรถ ก็น่าจะมีความมั่นคงในการเข้าโค้งที่มากขึ้น แต่เอ๊ะ ทำไมมันดูย้วยมากกว่า MG ZS ตัวเครื่องยนต์หว่า แต่ก็ยังจับไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะความเร็วมันไม่ได้เยอะมากนัก
ถัดมากับสถานี “หลบให้พ้นเลย ชึบชึบชึบ” (ก็ยังคงตั้งชื่อเองอยู่) ก็คล้ายกับสถานี Moose Test แหล่ะ ก็คือการขับเข้าไปในช่องที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะหักขวา (หรือซ้ายก็ได้ ไม่ขัด) จากนั้นก็หักกลับมาเข้าช่องตรงกลางอีกครั้ง โดยความเร็วที่เดินเข้าไปอยู่ที่ประมาณ 50 กม./ชม. เฮ้ย มันก็ทำได้นี่หว่า รถก็ยังคงเกาะถนนได้ดี ไม่ได้มีอาการเสียหลักแต่อย่างใด หรือว่าอาการนั้นเราแค่คิดไปเองหว่า แต่เอาเป็นว่า จบทั้ง 3 สถานีเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นรถที่มีสมรรถนะการใช้งานที่ดีพอตัวเลย
จบการทดสอบ MG ZS EV ในสนามทดสอบที่ MG Driving Experience Centre แล้ว เราก็เริ่มออกเดินทางกันเลยดีกว่า โดยการทดลองขับครั้งนี้ จุดหมายปลายทางเราอยู่ที่เมืองพัทยา จ. ชลบุรี เพื่อจะไปชาร์จไฟที่ 7-eleven สาขาที่เขาว่าสวยที่สุดในพัทยา ณ เวลานี้ ระยะทางอยู่ที่ประมาณ 140 กิโลเมตร เส้นทางที่เราใช้จะเริ่มจากถนนศรีนครินทร์ ก่อนที่จะหันหน้าสู่พัทยาบนถนนบางนา-ตราด ก่อนที่จะขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี แล้วลงที่บางวัวก่อนที่จะวิ่งเข้าทางมอเตอร์เวย์ จบปลายทางที่พัทยา แน่นอนว่าเส้นทางนี้มีรถไม่มากเท่าไหร่ ยิ่งวันที่เราทดสอบคือวันธรรมดา ยิ่งทำให้เส้นทางในวันนี้ค่อนข้างโล่ง จึงทำให้พวกเราสามารถทดสอบได้อย่างเต็มที่ ผู้โดยสารที่จะไปพร้อมกันวันนี้มีรวมกัน 4 คน คือผม, น้องซ้งจาก MThai, น้องบอนจาก Ridebuster และน้องโอ๊ตจาก Topgear Thailand ซึ่งบอกได้เลยว่าน้ำหนักรวมกัน 4 คนก็ราว 400 กิโลกรัมได้ (ไซส์หมีทั้งนั้น)
เริ่มต้นจากการเป็นผู้โดยสารด้านหลังก่อน ต้องบอกว่าที่ทาง MG เคลมว่ามีวัสดุ Soft Touch รวมกันราว 80% ก็ถือว่ามันก็น่าจะราวนั้นจริง ๆ เพราะเฉพาะตัวเบาะก็เกินครึ่งไปเยอะแล้ว ฮ่า แต่ก็มีการใช้วัสดุส่วนนุ่มที่ดีเลย ทำให้ภายในนั้นดู “แพง” ขึ้นมาได้จริง ที่ประตูก็มีบางส่วนที่ถูกหุ้มเอาไว้ด้วยหนังเทียม ได้การสัมผัสที่ดีในยามนั่งอยู่ด้านหลัง พื้นที่ในการนั่งนั้น ถือว่าทำได้ดีเลย มีที่วางขาได้กว้างพอที่จะไม่ทำให้อึดอัด ขาไม่ดันไปที่เบาะหน้า แต่ตัวเบาะมันออกจะนิ่มไปนิดสำหรับผมนะ นั่งนานแล้วจะรู้สึกเมื่อยเล็กน้อย ถ้าแข็งกว่านี้อีกหน่อยคงจะดีกว่านี้ มีช่อง USB ให้เสียบชาร์จไฟให้ 1 ช่องตรงกลาง ไม่มีช่องแอร์ด้านหลัง อาจจะมีอาการอึดอัดบ้างเมื่อเพิ่งขึ้นรถมาจากอากาศร้อนใหม่ ๆ แต่แอร์จากด้านหน้าก็สามารถสร้างอากาศหมุนเวียนมาจนถึงด้านหลังได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่ระหว่างการเดินทางนั้น การเด้งตัวของช่วงล่างนั้นดูแปลก ๆ เพราะมันเหมือนกันมีการโยกตัวขึ้นลงที่มากกว่ารถยนต์รุ่นอื่นของ MG คือมันไม่ได้รู้สึกว่ารถไม่เกาะถนนนะ แต่มันมีความรู้สึกว่ามันเด้งตัวเหมือนกระบอกโช้คนั้นยืด-หดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่จังหวะดึงกลับไปจุดปกติมันก็ทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมนะ อันนี้ตอนแรกคิดว่าตัวเองคิดไปเอง แต่พอสอบถามเพื่อนร่วมทางแล้ว ทุกคนก็รู้สึกคล้าย ๆ กัน แต่ยังตอบกันไม่ได้ว่ามันจะเกิดจากอะไรได้บ้าง
เมื่อมาถึงจุดแวะพักที่มอเตอร์เวย์ เรา 4 คนก็ขยับเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่และการนั่งกันใหม่ โดยกะ 2 ผมจะทำหน้าที่ทดสอบการนั่งด้านหน้าดูบ้าง ซึ่งมันก็นั่งสบาย กว้างพอที่จะยืดขาได้สุดเลย โดยที่เบาะไม่ได้ถอยหลังอะไรไปมากมายจนติดเข่าของน้องที่นั่งด้านหลัง (ผมตัวใหญ่ สูง 172 ซม.) อุปกรณ์อำนวยความสะดวกก็มีพร้อม โดยเฉพาะหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 8.0 นิ้ว ที่ใส่ระบบ i-Smart เข้ามาด้วย เราก็สนุกกับการรับคำสั่งภาษาไทยกันเลย เอาจริงมันก็ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์แหล่ะ เพราะบางครั้งก็ยังไม่สามารถรับคำสั่งได้ถูกต้อง แต่ก็ถือว่าเป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้มากยามที่เราต้องขับรถไปคนเดียว ลองนึกว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนคลื่นวิทยุไปที่ จส.100 เราก็แค่สั่งด้วยภาษาไทย ไม่ต้องหันไปมองหน้าจอ เท่านี้เราก็สามารถเปลี่ยนคลื่นได้โดยไม่ต้องหันสายตาไปมองที่หน้าจอเลย และอีกอย่างที่ชอบมากคือ Panoramic Sunroof ที่ช่วยลดความอึดอัดในการโดยสารรถยนต์อเนกประสงค์คันนี้ได้ แต่เปิดม่านหลังคาก็โปร่งโล่งสบายแล้ว แต่อย่างได้เปิดตอนแดดเปรี้ยงเชียว เล่นเอาหัวแทบไหม้เลย
และแล้วเราก็มาถึงจุดหมายแปลายทางที่ 7-eleven สาขาที่สวยที่สุดในพัทยา (เอาจริงคือ ไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าสาขาอะไรอย่างเป็นทางการ) ซึ่งวัตถุประสงค์ที่เราแวะกันมาที่นี่ ก็เพราะที่ลานจอด้านหลัง มีแท่นชาร์จไฟเร็วสูงของ EA Anywhere อยู่ ซึ่งระยะทางตอนออกมาจากต้นทางมาถึงปลายทาง อยู่ที่ประมาณ 140 กม. แล้วไฟในแบตเตอรี่รถเราเหลืออยู่ที่ 29% คือไม่ต้องแปลกใจนะครับว่าทำไมมันเหลือน้อย จะไม่หมดไปเยอะได้ยังไงเพราะแต่ละคนขับอย่างกับรีบไปขึ้นเรือไม่ทัน เปิดโหมด Sport กันทั้งวัน กดมิดคันเร่งกันเกือบตลอด เร่งแซงกันเป็นว่าเล่น เหลือเท่านี้ก็เป็นบุญมากแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องมาชาร์จไฟเพื่อเดินทางกลับกันให้ถึงกรุงเทพฯ ให้ได้ โดยตู้ชาร์จไฟแห่งนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 4 หัว ก็คือหัวชาร์จแบบ AC ที่อัดไฟได้เท่ากับการชาร์จ Wallbox ที่บ้าน รวม 2 หัว และแบบ DC ชาร์จเร็วอีก 2 หัว เอาจริงแล้วตอนนี้ยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แต่วันนี้ทาง MG จัดให้เป็นพิเศษ เลยได้ทดลองกันไปเลย วิธีการชาร์จก็ไม่ยากครับ เพียงแค่กดไปที่ตราสัญลักษณ์ MG ที่กระจังหน้า ตัวฝาก็จะเปิดออกมา ในนั้นจะมีช่องชาร์จที่ปิดเอาไว้ด้วยยาง เราก็ดึงยางออก แล้วเอาหัวจ่ายจากตู้มาเสียบเข้าไป (Type 2) จากนั้นก็ให้กดปุ่มล็อกรถซะ เท่านี้ไฟจากตู้ก็จะจ่ายเข้าไปในรถทันที ใช้เวลาไม่นานครับ ไม่ถึง 30 นาที ไฟก็ชาร์จเข้าไปถึงระดับ 80% แล้ว (การชาร์จแบบเร็ว จะชาร์จได้ไม่เกิน 80% เพื่อป้องกันอันตรายต่อแบตเตอรี่ ที่อาจเกิดระเบิดหรือเสื่อมอายุก่อนเวลาอันควรได้) เท่านี้เราก็กลับบ้านกันได้แล้วครับ
กะ 3 ยามบ่ายหลังอาหารเที่ยง ผมก็รับหน้าที่เป็นสารถีในการขับขี่เสียที อย่างแรกที่สัมผัสได้จากการเริ่มขับขี่ในถนนจริงนั้น คือความเงียบครับ เราจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของ MG ZS EV มาให้ระคายหูเลย (แน่สิ มันไม่มีเครื่องยนต์) ลองนึกดูว่าขนาดเราขับขี่กันความเร็วระดับ 120 กม./ชม. ยังได้ยินเสียงน้ำยาแอร์ฉีดที่แผงคอยน์เย็นอยู่เลย ที่เหลือคือเสียงลมกับเสียงยาง ที่เริ่มได้ยินชัดเมื่อความเร็วเกินจากนี้ขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร ส่วนเรื่องอัตราเร่งนั้นหายห่วง อย่างที่บอกว่ามอเตอร์ไฟฟ้าไม่ต้องรอรอบ กดเมื่อไหร่ ความเร็วก็มาต่อเนื่องทันที แต่มันจะไปได้ไม่เกิน 150 กม./ชม. นะ เพราะตัวรถนั้นล็อกความเร็วเอาไว้ จากการสอบถามทางผู้ดูแลฝ่ายเทคนิคก็ได้คำตอบว่า เป็นระบบที่ล็อกเอาไว้ ถ้าไม่ล็อก มอเตอร์สามารถวิ่งได้ถึง 180 กม./ชม.เลย และด้วยตัวมอเตอร์ที่ตอบสนองได้ดี ทำให้การเปลี่ยนเลนนั้นกระฉับกระเฉง ไม่ต้องรอรอบกับการสับเกียร์ อย่างเปลี่ยนเลนเมื่อไหร่ก็กดแล้วพุ่งออกไปได้อย่างทันใจ สนุกกว่ารถเครื่องยนต์อย่างชัดเจน
อีกข้อสงสัยของน้อง ๆ 2 กะแรกบอกว่า เวลาขับความเร็วสูง ทำไมมันรู้สึกพวงมาลัยเบา ไม่ปรับให้หนักตามความเร็วเหมือนพวงมาลัยที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าทั่วไป เราก็เลยสอบถามกับทางฝ่ายเทคนิคอีก คุณพี่… (ขออภัยด้วยครับ จำชื่อไม่ได้จริง ๆ T T) ได้คำตอบมาว่า ขากลับให้ลองปิดระบบ ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keep Assist) ดูนะ น่าจะมาจากตัวนี้ เพราะมันจะคอยควบคุมรถให้อยู่กลางเลนเสมอ เราเลยอาจจะรู้สึกว่ามันเบามือไป ผมก็เลยลองปิดระบบนี้ตลอดทาง เออ จริงด้วย พวงมาลัยนั้นหนืดมือขึ้นมาตามความเร็วจริง ๆ ดังนั้นถ้าใครเจอกับความรู้สึกแบบนี้ ให้ลองปิดระบบกันดูครับ
ส่วนเรื่องการทรงตัวช่วงการขับนั้น เอาล่ะ เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า มันไม่ได้มีผลเรื่องการทรงตัวนะ เข้าโค้งก็ยังทรงตัวดี ควบคุมง่าย ไม่มีอาการเหวี่ยงมากแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เจอก็คือเรื่องของการเด้งตัวที่มันขึ้นและลงมากกว่ารุ่นปกติ เราเลยรู้สึกว่าตัวรถมันโยนเท่านั้นเอง ถ้าใครที่เพิ่งเริ่มมานั่งใหม่ ๆ ก็คงจะพอจับความรู้สึกได้ แต่เชื่อได้ว่าไม่มีผลกับการทรงตัวอย่างแน่นอน
ขากลับเราก็มาแวะพักกันที่จุดจอดมอเตอร์เวย์กันอีกเช่นเดิม เพื่อทำการเปลี่ยนกันขับ ส่งต่อไม้สุดท้ายให้กับน้องโอ๊ต Topgear Thailand เอาล่ะสิ ตอนขับมามันก็ลืมตัว วิ่งมุดไปมุดมา ทำ Top Speed กันไปก็หลายรอบ แบตเตอรี่เหลือแค่ 39% เองเว้ย ยังเหลืออีกราวครึ่งทาง งานนี้จะถึงปลายทางไหมหว่า ไม่รู้อ่ะ ถ้าแบตหมดก่อนก็ตัวใครตัวมันล่ะฮะ แถมน้องโอ๊ตก็ไม่เบาเท้าเสียด้วย กดยับมาแบบเดียวกับทุกคนเลย จนมาถึงทางออกแถวบางวัว รถก็เริ่มเตือนแล้วว่าแบตเตอรี่ต่ำแล้วนะ (เตือนตอนเหลือ 30%) ระยะทางคงเหลือที่หน้าจอก็ประมาณ 80 กิโลเมตรได้ แต่เอาจริงมันวิ่งได้ไม่ถึงหรอก ก็พวกเราเล่นกดกันมิดไมล์ขนาดนี้ ปลายทางอีกราว 40 กิโลเมตรจะรอดไหม ลุ้นกันเต็มที่เลย
พอขึ้นทางด่วนบูรพาวิถีได้ น้องโอ๊ตก็กดกันอีกรอบ แต่ยังอยู่ในช่วงแถว 120 กม./ชม. เพราะเจอลมกรรโชกแรงมาก จนน้องบอกว่าต้องประคองพวงมาลัยน่าดูเลย เพราะพายุฝนกำลังจะมานั่นเอง แต่ฝนยังไม่น่ากลัวเท่าแบตเตอรี่ เพราะมันลดกันแบบใจหายกันทุกเปอร์เซ็นต์ จนมาถึงทางลงที่จะวนเข้าทางถนนศรีนครินทร์ แบตเตอรี่เหลือ 17% แล้วจ้า อีกประมาณ 10 กิโลเมตรก็จะถึงปลายทางแล้ว แต่พอลงมาด้านล่างที่เป็นทางธรรมดาได้ ความเร็วเราก็จะลดลงแล้ว วิ่งอยู่ได้ที่ราว 60-90 กม./ชม. เท่านั้น เพราะรถเริ่มหนาแน่นนั่นเอง คราวนี้แบตเตอรี่แทบไม่ขยับเลยครับ วิ่งจนถึง MG Driving Experience Centre แล้ว แบตเตอรี่ลดไปอีกเพียง 2% เท่านั้น สรุปว่าถึงปลายทางแบตเตอรี่เหลือ 15% เหลือเฟือให้วิ่งไปลาดพร้าวยังได้เลย (เดาเอาเอง)
หลังจากเวลาผ่านไป 1 วัน เดินทางกับ MG ZS EV ได้ราว 280 กิโลเมตร ประเมินความชอบ-ไม่ชอบด้วยความคิดเห็นส่วนตัวได้ว่า
ชอบ
- อัตราเร่งของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่กระฉับกระเฉง ไม่ต้องรอรอบ กดเมื่อไหร่ แรงม้า แรงบิด มาเต็ม
- Panoramic Sunroof ช่วยให้โปร่งโล่ง ดูไม่อึดอัด
- ความกว้างในการนั่งด้านหลัง ไม่อึดอัด พื้นที่เหลือให้พอเหยียดขาได้
- ชาร์จไฟได้เร็วผ่านตู้ชาร์จเร็ว ใช้เวลา 30 นาที ก็เดินทางต่อได้อีกไกล
ไม่ชอบ
- ช่วงล่างที่มันดูเด้งขึ้นลงมากเกินไป
- เบาะนั่ง นิ่มไปนิดสำหรับคนอายุระดับผม นั่งนานแล้วเมื่อยไปนิด
คำถามที่ต้องตอบทุกครั้งก็คือ แล้วเสียเงินชาร์จไฟที่เท่าไหร่ ต้องบอกว่าตอนนี้ EA Anywhere ยังมีหลายตู้ที่เปิดบริการให้ชาร์จไฟได้ฟรี เพียงแต่ต้องคนหาผ่านทางแอพดูเอา โดยเบื้องต้นจะเปิดให้ชาร์จได้ฟรีจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนปีหน้าค่อยประกาศราคากันอีกครั้ง ส่วนการชาร์จที่บ้านจะเสียเงินเท่าไหร่ ก็คูณกันง่าย ๆ เลยครับ แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้อยู่ที่ 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ก็เท่ากับ 44.5 หน่วยนั่นเอง ราคาค่าไฟฟ้าบ้านเราตอนนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 4.42 บาท ถ้าชาร์จตั้งแต่ 0-100% เต็ม ๆ ก็จะอยู่ที่ 44.5 x 4.42 =192.69 บาท ถ้าเอาวิ่งแบบบ้าระห่ำอย่างเราในวันนี้ น่าจะวิ่งจนหมดได้อยู่ประมาณ 160-180 กิโลเมตร ก็จะตกอยู่ที่ประมาณกิโลละบาทนิด ๆ เท่านั้นเอง ถูกกว่ารถ ECO Car ด้วยซ้ำไป
และสิ่งที่ดีของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV นั้น ก็คือเรื่องค่า Maintenance นั่นเอง โดยทางเอ็มจี คำนวนมาให้แล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการเข้าศูนย์บริการในระยะทาง 100,000 กิโลเมตร จะอยู่ที่ 8,454 บาทเท่านั้นเอง เพราะไม่ต้องเปลี่ยนพวกน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์อะไรให้วุ่นวาย สายพานหน้าเครื่องก็ไม่มี จะต้องเปลี่ยนก็มีเพียงน้ำมันเบรก กับน้ำยาหล่อเย็น ที่ทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับมอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่เท่านั้นเอง ไม่รวมพวกผ้าเบรก, ยางรถยนต์, ยางปัดน้ำฝนอะไรพวกนี้ ที่เราต้องเปลี่ยนกันเองตามปกติอยู่แล้ว ส่วนเรื่องแบตเตอรี่นั้นหายห่วง เพราะทางเอ็มจีนั้นรับประกันให้ 8 ปี 180,000 กิโลเมตร แต่ถ้าใครจองก่อน 30 กันยายนนี้ จะรับประกันไม่จำกัดระยะทางทันที นอกจากนี้ยัง ฟรี! ชุดอุปกรณ์ชาร์จไฟในบ้าน หรือ MG Home Charger มูลค่า 45,000 บาท, ฟรี! ค่าติดตั้ง MG Home Charger มูลค่า 20,000 บาท, ฟรี! ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี, ประกันคุณภาพรถยนต์ 4 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตรอีกด้วย
MG ZS EV ตั้งราคาเอาไว้ที่ 1.19 ล้านบาท ถามว่าแพงไปไหม ตอบตรงนี้ได้เลยว่าไม่แพงครับ จริงอยู่ว่ามันมีส่วนต่างกับ MG ZS ตัวท็อปอยู่ที่ 401,000 บาท แต่คุณจะได้รถยนต์ที่ตอบสนองดีกว่า, มีระบบความปลอดภัยที่มากกว่า, ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรที่ถูกกว่า, ค่าดูแลบำรุงรักษาที่น้อยกว่า และที่สำคัญที่สุดก็คือ ค่ามลพิษที่เป็น 0 ไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาเลย ผมว่าแค่เราช่วยลดมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ เท่านี้ก็ประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้แล้วครับ
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com