Test Drive : รีวิว ทดลองขับ Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD ครอสโอเวอร์สายพันธุ์แรง 231 แรงม้า หล่อ แรง กระชากใจ
- โดย : Autodeft
- 17 มี.ค. 63 00:00
- 34,988 อ่าน
มาสด้า ค่ายรถยนต์จากเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น สร้างสรรค์ยนตกรรมที่เน้นในเรื่องความสนุกความเร้าใจด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ความสะดวกสบายที่เป็นมิตรกับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ขุมพลังระบบความปลอดภัยที่เทียบชั้นค่ายรถยนต์พรีเมี่ยมจากยุโรปและด้วยค่าตัวที่สมเหตุผลกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่สาวกเลือกใช้ไม่ว่าจะเป็น เก๋ง Mazda 2 Mazda 3 สปอร์ตโรสเตอร์อย่าง Mazda MX-5 รวมถึงครอสโอเวอร์ชื่อดังที่สร้า
สำหรับเมืองไทย Mazda CX-5 เปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2560 ช่วงแรกจะจำหน่ายเพียง 2 ขุมพลังทั้งเบนซิน 2.0 SKYACTIV-G กับ ดีเซลเทอร์โบ 2.2 ลิตร SKYACTIV-D และในปี พ.ศ.2562 สร้างยอดขายสูงเป็นอันดับ 4 ของค่ายด้วยตัวเลข 3,020 คัน เลยเสริมทางเลือกใหม่ที่เร้าใจกว่าด้วยขุมพลังเบนซินเทอร์โบ SKYACTIV-G 2.5 ลิตร เปิดตัวตั้งแต่ 28 ตุลาคม ปีเดียวกัน เหมาะสำหรับสาวก Zoom-Zoom ที่อยากได้ความแปลกใหม่ลบความจำเจเดิมๆ โดยทางเราได้นำมารีวิวทดลองขับในครั้งนี้
รถยนต์ใหม่ 2020 จากค่าย มาสด้า ยังคงใช้ร่างเดิมแต่ยังเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมานานนั่นคือ Kodo Design เริ่มจากกระจังหน้าดีไซน์แบบ Signature Wing ที่มีกรอบแบบโครเมี่ยมล้อมรอบไว้ โดยไส้ในของกระจังหน้าเป็นแบบตะแกรงเหลี่ยมดูมีมิติมากกว่า พร้อมโลโก้ Mazda ขนาดใหญ่ สอดรับกับไฟหน้าโคมเล็กลงแบบ Projector แบบ LED ชัดเจนในยามค่ำคืน และ Day Time Running Light ในโคมเดียวกัน สำหรับรุ่นนี้ตัดระบบปรับไฟหน้าตามทิศทางการเลี้ยว AFS (ระบบนี้จะปรับทิศทางของลำแสงไฟหน้าจะหมุนไปซ้าย-ขวา ตามการหมุนของพวงมาลัย) จะเหลือแค่ไฟตัดหมอกดวงเล็กๆแบบ LED ฝังในกันชนหน้าที่หรูหราแฝงความสปอร์ตในตัว
ด้านข้างเส้นสายเรียบง่ายแต่คมสวยงามด้วยการตัดเส้นโครเมี่ยมที่กรอบกระจกรับกับชุด Color Key สีเดียวกับตัวรถทั้ง กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวและที่เปิดประตู ล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้วสำหรับรุ่น 2.5 Turbo SP นี้มีการเปลี่ยนไปใช้ลายใหม่แบบสีเงิน 5 ก้านคู่ทั้งวงแบบเดียวกับ Mazda CX-8 พร้อมยาง 225/55 R19 จาก Toyo Proxes R 46 รับกับซุ้มล้อสีดำดีไซน์เรียบง่ายเฉกเช่นกับดีไซน์ด้านข้าง
ฟังก์ชั่นการใช้งานบางอย่างที่ไม่ติดตั้งจากโรงงานนั่นคือแร็คหลังคา แต่สามารถติดตั้งเพิ่มได้ตามความต้องการเหตุผลคือเพื่อความสวยงามของตัวรถ เสาอากาศแบบครีบฉลามสีเดียวกับตัวรถกับหลังคา ซันรูฟเปิดเลื่อนและกระดกขึ้นด้วยระบบไฟฟ้า ด้านท้าย ดีไซน์ดูเรียวขึ้นอย่างชัดเจนด้วยไฟท้าย LED Signature มีลายเส้นขีดออกไปจากตัวไฟพร้อมฝาท้ายดีไซน์เด่น รวมไปถึงแนวกันชนชายขอบด้านล่างที่ไม่สูงขึ้น แถมเอาใจสาวๆขาช็อปสามารถจัดเก็บสัมภาระได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ด้วย POWER LIFTGATE ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้าได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสนอกจากนี้ยังมีระบบสัญญาณเตือนระยะการจอดทั้งหน้า-หลัง และเพิ่มระบบกล้องมองภาพรอบคันแบบ 360 องศาที่สามารถปรับมุมกล้องได้
มิติตัวรถยังเท่าเดิมทุกมิติตั้งแต่ ความยาว 4,550 มม. ความกว้าง 1,840 มม. ความสูง 1,680 มม. ฐานล้อ 2,700 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้น 193 มม. น้ำหนักรถ 1,717 กก.และความจุถังน้ำมัน 58 ลิตร
ภายในยังคงเดิมทุกประการในรูปแบบ 5 ที่นั่ง แต่สำหรับรุ่น 2.5 Turbo SP AWD ครั้งนี้ปรับสีสันให้เข้ากับตัวตนของตัวรถด้วยเบาะนั่งคู่หน้าทรงสูงโอบกระชับหุ้มด้วยวัสดุหนัง Nappa สีแดง Deep Red เดินด้ายสีน้ำตาลเข้มปรับสูง-ต่ำด้วยระบบไฟฟ้าคู่หน้า โดยคนขับปรับได้ 8 ทิศทางพร้อมระบบบันทึกตําแหน่งเบาะได้ 2 ตําแหน่งและดันหลังไฟฟ้าส่วนคนนั่งปรับ 6 ทิศทางพร้อมฟังก์ชั่นพิเศษดุจรถยนต์ยุโรป ติดตั้งระบบระบายอากาศตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้า Seat Ventilation เพื่อความเย็นสบายตลอดการเดินทาง เบาะสบายขึ้นระดับหนึ่งเพราะสามารถปรับเอนได้แต่ปรับเอนได้นิดหน่อยราวๆ 20-30 % ส่วนพื้นที่วางขากว้างขวางสบายกว่า และสามารถพับแยกอิสระได้แบบ 3 ส่วน 40:20:40 รวมถึงที่พักแขนและที่มีที่วางแก้วน้ำในตัวแถมเอาใจคนเล่นสมาร์ทโฟนด้วยช่องเสียบ USBที่ปล่อยไฟระดับ 2.1 แอมป์ ไว้ชาร์จกันจุใจถึง 2 ช่อง และพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายมีขนาดความจุ 505 ลิตร และวัสดุหุ้มหลังคารถขึ้นรูปแบบสีดำ พิเศษ !!เฉพาะรุ่นนี้ติดตั้งไฟส่องสว่างหลายตำแหน่งทั้ง ไฟอ่านแผนที่ ไฟในห้องโดยสารและไฟในห้องเก็บสัมภาระ แบบ LED รวมถึงติดตั้งไฟอีกหลายจุดทั้งไฟส่องคอนโซลกลางแบบ Down Light ไฟส่องที่วางเท้าหน้า-หลัง และไฟในกล่องเก็บของด้านหน้า สำหรับคนที่ชอบทำของหล่นในรถแล้วหาไม่เจอโดยเฉพาะ
ชุดแผงคอนโซลหน้ารวมถึงแผงประตูขึ้นรูปตกแต่งเข้มโดยโทนสีแดง Deep Red แต่งด้วยวัสดุลายไม้ Real Wood ผสม สีเงินซาตินโครมพร้อมสวิตช์กระจกไฟฟ้าครอบด้วยวัสดุสีดำเปียโนแบล็คตกแต่งสวิตช์สีเงินซาตินโครม พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้านหุ้มหนัง ตกแต่งด้วยสีเงินซาตินโครมดูเงางามเป็นเอกลักษณ์พร้อมมาตรวัดเรืองแสงปรับดีไซน์ใหม่ ที่ช่องมาตรวัดแสดงรอบเครื่องยนต์ปรับอารมณ์ใหม่ รวมถึงมาตรวัดความเร็ว ที่ข้างในแสดงข้อมูลการขับขี่แบบดิจิตอล TFT LCD พร้อมจอแสดงผลแบบสี ขนาด 7 นิ้ว รวมไปถึงจอบนคอนโซลหน้า Head Up Display แบบสี ที่ดูง่ายในระดับสายตาผู้ขับ แสดงข้อมูลสําคัญในการขับขี่แบบสี บนกระจกหน้ารถและกระจกมองหลังอัตโนมัติปรับดีไซน์ใหม่แบบไร้กรอบ
ช่องแอร์ดีไซน์แบบทรงเหลี่ยมคล้ายลูกศรชี้ตกแต่งขอบสีเงินซาตินโครมถัดลงมาเป็นเครื่องปรับอากาศแยกอุณหภูมิซ้าย-ขวา ปรับดีไซน์ใหม่ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น พร้อมช่องแอร์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังของคอนโซลกลาง บันเทิงเริงใจด้วยลำโพงคุณภาพจาก Bose ติดตั้งภายในรอบคันถึง 10 จุด เพิ่ม Subwoofer มาที่ด้านท้าย ทำให้ฟังเพลงแล้วมีมิติมากขึ้น เสียงชัด สมจริง เหมือนกับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 XDL AWD ที่เคยทดลองขับไป คอนโซลเกียร์อัตโนมัติหุ้มด้วยวัสดุหนังสลับกับวัสดุสีเงินซาตินโครมตกแต่งด้วยสีดำเปียโนแบล็กวางตำแหน่งคันเกียร์ให้สูงขึ้นกว่าเดิม 60 ซม. ทำให้การเปลี่ยนเกียร์มีความรู้สึกจับได้ง่ายกว่าเดิม และปุ่ม Parking Brake ที่ใช้งานง่ายพร้อม Auto Hold และ ปุ่ม Push Start กับ กุญแจรีโมท Smart Keyless ตามสมัยนิยม
หน้าจอทัชสกรีนขนาด 7 นิ้วรวมถึงระบบนำทางและเครื่องเล่น DVD CENTER DISPLAY แสดงเมนูสั่งงานของระบบ และตั้งค่าฟังก์ชั่นการใช้งานอื่นๆ หรือ พร้อมระบบ MZD Connect ไม่พลาดทุกการติดต่อ อัพเดทข้อมูลข่าวสารได้ตลอดการเดินทาง หรือ รับ-ส่ง SMS จากสมาร์ทโฟนผ่านสัญญาณ Bluetooth พร้อม Infotainment ที่มีให้เลือกมากมาย เรียกดูข้อมูลผ่านระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Command ให้ ควบคุมด้วยปุ่มการทำงานระบบ MZD Connect แบบ Center Commander
จากการแนะนำเทคโนโลยี SKYACTIV ทั้งคันผสานการทำงานเป็นหนึ่งเดียวไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการขับขี่ ช่วงล่าง โครงสร้างตัวถัง และระบบส่งกำลัง ลงในรถยนต์ Mazda ส่งให้ตัวเองขึ้นแท่นเป็นค่ายรถยนต์ทีมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว ในส่วนของเครื่องยนต์ที่ประจำการนี้เป็นเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ SKYACTIV-G Turbo รหัส PY ขนาด 2.5 ลิตร อัตราส่วนกำลังอัดเครื่องยนต์เป็น 10.5:1 ระยะชัก/ขนาดกระบอกสูบ 89.0/100.0 มม.ให้กำลังสูงสุด 231 แรงม้าที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิด 420 นิวตันเมตรที่ 2,000 รอบนาที ปล่อย CO2 ที่ 198 กรัมต่อกิโลเมตร และระบบ I-Stop หยุดการทำงานเครื่องยนต์ชั่วคราวเมื่อรถจอดนิ่ง
ระบบของเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G Turbo มาพร้อมระบบเทอร์โบ Dynamic Pressure หรือที่เรียกว่าเทอร์โบที่มีแรงดันเปลี่ยนแปลงไปตามรอบเครื่องยนต์ที่สามารุเปลี่ยนจังหวะองศาของไอเสียได้ตามรอบเครื่องยนต์เพื่อให้เทอร์โบทำงานในรอบต่ำได้ โดยจะมีวาล์วที่อยู่ด้านหน้าตัวเทอร์โบซึ่งสามารถ บีบ การไหลเวียนของอากาศได้ช่วยให้เทอร์โบทำงานเต็มที่ถึงจะมีแรงดันมาถึงตัวเทอร์โบน้อยก็ตาม ด้านระบบส่งกำลังยังเป็นเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-Drive 6 สปีด เช่นเดิม พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ แบบ i-ACTIV AWD ช่วยปรับระบบการขับขี่ให้เหมาะสมโดยใช้เซนเซอร์ 27 ตัว ทราบพฤติกรรมการขับขี่ตามสภาพเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น
นานๆทีจะมีรถยนต์ครอสโอเวอร์เบนซินติดเทอร์โบ (ติดหอย) ออกสู่ตลาดเมืองไทยโดย Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD สร้างกำลังแรงบิดมหาศาลตั้งแต่รอบต่ำ 2,000 รอบนำพาความว่องไว เร่งแซงคลิ๊กดาวน์คล่องตัวแบบไม่น่าเชื่อ สร้างความสุนทรีย์ในการขับขี่อย่างรื่นรมย์สมอุรา ดุดัน เร้าใจ เมื่ออยู่ในย่านความเร็วสูงๆ รอบการทำงานของเครื่องในช่วงความเร็ว 90-120 กม./ชม.ทำผลงานไม่ถึง 2,500 รอบ/นาที และแต่ละช่วงของความเร็วมาแบบรวดเร็วติดปีกเลยทีเดียว ด้วยรอบตั้งแต่ 1,850, 2,000, 2,100 และ 2,350 รอบ/นาที เสียงเครื่องยนต์เงียบในช่วงรอบต่ำจนถึงขับปกติ 60-120 กม./ชม.เพราะการออกแบบฉนวนกันเสียงรบกวนที่หนาขึ้นกว่าเดิม ยางติดรถถึงจะใช้ยี่ห้อเดียวกันกับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ที่ได้ทดลองขับ แต่ก็มีอาการเสียงยางรถกัดกับถนนทางเรียบซึ่งเรื่องควรน่าจะปรับปรุงเรื่องลายดอกยางให้มีความเงียบมากขึ้น พละกำลัง 231 แรงม้ากับน้ำหนักรถตันกว่า ผนวกกับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ทำให้โหมด Performance Test จับอัตราเร่ง มีเรื่องต้องให้ว้าวตกตะลึงด้วยการทะยานจากจุดหยุดนิ่งไปแตะถึง 100 กม./ชม. ทำได้ 8.32 วินาที และ 80-120 กม./ชม. ทำได้ 4.61 วินาที
ระบบเกียร์อัตโนมัติเป็นแบบ SKYACTIV-Drive 6 สปีด คาดว่าเป็นลูกเดียวกันกับเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร ด้วยอัตราทดเกียร์ที่เท่ากันตั้งแต่ เกียร์ 1 =3.487 เกียร์ 2 = 1.992 เกียร์ 3 = 1.449 เกียร์ 4 = 1.000 เกียร์ 5 = 0.707 เกียร์ 6 = 0.600 เกียร์ถอยหลัง 3.990 แต่อัตราทดเฟืองท้ายมีการปรับให้มากขึ้นถึง 4.411 (รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร ทดไว้ 4.090) ยังรักษาการตัดต่อกำลังที่นุ่มนวล ตอบสนองต่อเนื่องไม่กระตุก ไม่รอรอบ เช่นเดิม พร้อม Activematic แบบ Manual Mode +/- ไว้ใช้สำหรับขึ้น-ลงทางลาดชัน หรือ เร่งแซงในบางจังหวะ แต่ถ้าอยากเร้าใจมากขึ้นยังมีปุ่มเพิ่มกำลังอยู่ข้างคันเกียร์หรือ Drive Selection โดยเลือกโหมด Sport ได้
ช่วงล่างหน้าและหลังสำหรับ Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD เหมือนกับทุกๆรุ่นของ CX-5 โดยใช้ระบบช่วงล่างแบบอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง และหลังแบบมัลติลิงค์พร้อมเหล็กกันโคลง ตลอดการขับขี่ให้ความนุ่มนวลขึ้นในช่วงความเร็วต่ำถึงปานกลาง เกาะถนนเข้าโค้งมั่นใจซับแรงกระแทกที่เป็นหลุมเป็นบ่อรวมถึงช่วงจัมพ์คอสะพานได้ดีอารมณ์เดียวกันกับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร ส่วนหนึ่งเพราะระบบ G-Vectoring Control Plus = GVC Plus ทำให้ทุกโค้งที่เข้ามั่นใจหายห่วงแม้จะอยู่ในความเร็วสูงและยังลดอการหน้าลื่นท้ายปัดได้อย่างดี ช่วยให้การควบคุมอยู่ในมือของเราอย่างง่ายดาย และยังทำงานร่วมกับระบบควบคุมการทรงตัว DSC อีกด้วยระบบห้ามล้อตามสมัยนิยมด้วย ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบเบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระยะการเหยียบเบรก ที่ 30 % ทันใจหยุดฉับไวแช่นเดิม
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพาวเวอร์ไฟฟ้า (EPAS) ที่ให้น้ำหนักพอประมาณและหนักเสมอกันในช่วงขับในเมืองธรรมดาไม่เกิน 80 กม./ชม. แต่ถ้าความเร็วสูงๆกลับให้น้ำหนักมากขึ้น หนืด ดีกว่ารุ่นเครื่องยนต์ดีเซลที่น้ำหนักเสมอตั้นเสมอปลายในทุกย่านและคมทุกโค้ง สารพัดฟังก์ชั่นความปลอดภัย i-Activsense ของ Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD จัดเต็มๆดังนี้
- ALH (Adaptive LED Headlamps) ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ ปรับการทํางานของไฟ สูง - ต่ำ แยกอิสระ ซ้าย - ขวา
- MRCC (Mazda Radar Cruise Control) ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติ
- LDWS (Lane Departure Warning System) ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน
- DAA (Driver Attention Alert) ระบบช่วยเตือนเมื่อผู้ขับเหนื่อยล้าขณะขับขี่ โดยเฉพาะขณะขับรถทางไกล
- LAS (Lane-keep Assist System) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน
- SBS (Smart Brake Support) ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ
- ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน
- อัพเกรดใหม่ Advanced SCBS (Advanced Smart Brake Support) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติหากระบบตรวจสอบพบว่าไม่สามารถเลี่ยงการชนได้
- SCBS-R (Smart City Brake Support-Reverse) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง
- RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
ตลอดการทดลองขับมาเกือบสัปดาห์ระบบต่างๆที่ได้กล่าวมานี้กลับได้ใช้แค่บางระบบ เช่น ระบบระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน (LDWS) ส่งสัญญาณเตือนเมื่อรถอาจเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (ABSM) จะมีสัญลักษณ์บนกระจกมองข้าง เพื่อเตือนว่ามีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน หรือกำลังแซงขึ้นมาจากทางด้านหลังและอยู่ในจุดที่ผู้ขับอาจมองไม่เห็น จำเป็นมากสำหรับคนขับรถทางไกลที่ขับติดต่อกันหลายชั่วโมง จนเกิดอาการง่วง เมื่อยล้า จะมีระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (DAA) มาเป็นของแถม เตือนให้คนขับสามารถพักผ่อนหรือเปลี่ยนคนขับได้ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA) ระบบจะมีสัญญาณเตือนเมื่อมีรถ จักรยานยนต์ ตัดหน้าขณะถอยหลังจอด
สำหรับคนเดินทางไกลนั่นคือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ MRCC (Mazda Radar Cruise Control) จะมี Radar จับรถที่อยู่คันหน้าพร้อมตรวจสอบความเร็วแล้วปรับความเร็วให้เหมือนกับคันหน้าโดยอัตโนมัติ สมมติถ้าเราตั้งความเร็วไว้ที่ 120 กม./ชม. แล้วคันหน้าอยู่ที่ความเร็ว100 กม./ชม. ก็จะปรับความเร็วเท่ากับคันหน้า และจะกลับมาที่ 120 กม./ชม.อีกครั้งเมื่อคันหน้าเปลี่ยนเลนไปช่องทางอื่น
อีกระบบหนึ่งที่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับหนุ่มสาวที่ซุ่มซ่ามทำข้าวของหล่นจนต้องเก็บแล้วไม่หันมามองรถคันหน้าแล้วเบรกจนชนคันหน้าด้วยระบบ Anvanced SCBS (Advanced Smart City Brake Support) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ เมื่อเราขับใกล้วัตถุ หรือมีวัตถุอะไรก็ตามที่ตัดหน้าเรามาในระยะที่อันตราย นอกจากจะมีสัญญาณเตือนเพื่อแจ้งให้เราเบรกแล้ว รถจะทำการกดเบรกให้อัตโนมัติก่อนราว 2 วินาที เพื่อลดความเร็วของตัวรถซะก่อนที่เท้าเราจะเข้าไปเบรกเพื่อหยุดรถอีกครั้ง
ปิดท้ายด้วยอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน รถยนต์ Crossover หรูติดเทอร์โบจากโปรแกรม Save Mode ทำได้ 11.99 กม./ลิตร จากระยะทางรวม 60.8 กม.จัดน้ำมันแก็สโซฮออล์ 95 เต็มถังจากปั๊มแถวเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ 5.07 ลิตร ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ตามสภาพการใช้งานจริง ส่วนการใช้งานในเมืองได้ตัวเลข 6.35 กม./ลิตร และ อัตราสิ้นเปลืองนอกเมืองทำตัวเลขอยู่ที่ 8.93 กม./ลิตร จากระยะทาง 120.89 กม. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- ฉะเชิงเทรา และเติมเข้าไปเต็มถัง 20.89 ลิตร นับว่าเป็นตัวเลขสิ้นเปลืองต้องแลกกับความแรง 231 แรงม้า และไม่แคร์ไม่สนใจราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นปรับลง (ตัวเลขสิ้นเปลืองจากโรงงาน เฉลี่ย 12.0 กม./ลิตร ในเมือง 9.43 กม./ลิตร นอกเมือง 14.08 กม./ลิตร)
การเติมเต็มความสมบูรณ์แบบในกลุ่มรถยนต์ Crossover ด้วยพลังเบนซินเทอร์โบ 2.5 ม้ามากกว่า 200 แรงม้า เป็นทางเลือกหนึ่งตอบโจทย์สาวก Zoom-Zoom ที่ภักดีมานาน รวมถึงสาวกครอสโอเวอร์ ที่ใช้ยี่ห้ออื่นๆแล้วอยากตีจากมาสัมผัส
โลดแล่น แรงเร็ว ตามความปรารถนาของตนแอง แต่ยังรักษาความเป็นรถยนต์ขับสนุก ขับเร้าใจ อีกหนึ่งจุดเด่นที่น่ายกย่องนั่นคือเครื่องเสียงพร้อมลำโพง Bose ชั้นดี กับราคาค่าตัวเพียง 1,850,000 บาท และไม่แคร์กับค่าน้ำมันที่เติมไปแต่ละครั้ง เป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มที่แรงสุด และน่าสนใจสำหรับ Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD
เรื่องและขับทดสอบโดย นายเต้ย
ขอขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ความอนุเคราะห์รถยนต์ Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD มารีวิวทดลองขับครั้งนี้
สิ่งที่ชอบ >>> รูปลักษณ์เหมือน Mazda CX-5 ทุกรุ่นแต่ลายล้ออัลลอยที่ยกชุดจาก CX-8 สร้างความแตกต่างและจดจำง่าย เครื่องเสียงพร้อมลำโพง Bose ชั้นดีมอบเสียงเพลงไพเราะเสนาะหู น่าฟังเช่นเดิม เครื่องยนต์เบนซิน 2.5 Turbo ให้การตอบสนองที่คล่องแคล่วกว่ารวมถึงพวงมาลัยที่ปรับปรุงดีขึ้นกว่าเดิมทั้งเรื่องน้ำหนักและการเข้าโค้ง
สิ่งที่ไม่ชอบ >>> อัตราการบริโภคน้ำมันที่มากกว่ารุ่นอื่นในตระกูล CX-5 และอยากให้เบาะหลังตอน 2 สามารถปรับเอนได้มากกว่าที่เป็นอยู่และอาการเสียงยางรถกัดกับถนนทางเรียบซึ่งเรื่องควรน่าจะปรับปรุงเรื่องลายดอกยางให้มีความเงียบมากขึ้น
ชม Gallery Test Drive New Mazda CX-5 2.5 Turbo SP AWD ได้ที่นี่ !!
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com