Test Drive : รีวิว ทดลองขับ All New Mazda CX-30 2.0 SP สปอร์ตครอสโอเวอร์น้องใหม่ ขับสนุก ออพชั่นเพียบถูกจริตคนเมือง
- โดย : Autodeft
- 20 มี.ค. 63 00:00
- 14,333 อ่าน
ตลาดรถยนต์ครอสโอเวอร์ ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ค่ายรถยนต์ทุกค่ายเบนแข็มพัฒนาออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยากได้ความอเนกประสงค์ ความคล่องตัว อรรถประโยชน์ใช้สอยที่สมบูรณ์แบบหนึ่งในนั้นมีค่ายรถยนต์ Mazda จากเมืองฮิโรชิม่า ที่ส่งยนตกรรมครอสโอเวอร์บุกตลาดมาแล้วหลายรุ่นและล่าสุดกับ All New Mazda CX-30
All New Mazda CX-30 เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ปี 2019 ที่ เจนีวา สวิตช์เซอร์แลนด์ และริ่มทำตลาดในหลายๆประเทศและล่าสุดที่เมืองไทยเปิดตัวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา ถึงจะอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักแต่สามารถสร้างยอดจองไปแล้วกว่า 1,000 คัน หลังการเปิดตัว
รถยนต์ใหม่ 2020 จากค่าย Zoom-Zoom เป็นสมาชิกรายล่าสุดในตระกูล CX เหมาะสำหรับกลุ่มคนเมืองที่เริ่มต้นชีวิตคู่ เริ่มมีลูก หรือกลุ่มคนที่ยังใช้ชีวิตสันโดษ มาในร่าง Crossover 5 ประตูหลังคาลาดลงดุจรถสปอร์ตคูเป้ ความหล่อมีเสน่ห์มาในแนวเอกลักษณ์สไตล์ Kodo Design ตั้งแต่กระจังหน้าทรงซิกเนเจอร์วิง พร้อมไฟหน้า Projector แบบ LED ทรงเรียวขึ้นรับกับไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED Signature รับกับกันชนหน้าทูโทนทรงบึกบึนรับกับคิ้วขอบล้อดีไซน์ใหญ่ และล้ออัลลอยดีไซน์เท่ 5 ก้านคู่ (ดีไซน์ล้อดันไปคล้ายปิกอัพในค่าย Mazda BT-50 Pro) ขนาด 18 นิ้วพร้อมยางจากค่าย Dunlop 215/55 R18 ด้านท้ายคล้าย CX-3 ตั้งแต่ไฟท้าย LED Signature วงกลมดีไซน์เดียวกับ Mazda 3 พร้อมสปอยเลอร์หลังฝังด้วยไฟเบรกดวงที่ 3 และประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้าและที่ขาดไม่ได้นั่นคือ หลังคาซันรูฟที่เปิดเลื่อนและกระดกขึ้นด้วยระบบไฟฟ้า
ตัวรถถึงจะใช้แพลตฟอร์มเดียวกับ Mazda 3 แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า Mazda CX-3 ตั้งแต่ ความยาว 4,395 มม. ความกว้าง 1,795 มม. ความสูง 1,540 มม. ฐานล้อ 2,655 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้น 175 มม. น้ำหนักรถ 1,423 กก. และความจุถังน้ำมัน 51 ลิตร (Mazda CX-3 ความยาว 4,275 มม. ความกว้าง 1,765 มม. ความสูง 1,535 มม. ฐานล้อ 2,570 มม.ระยะต่าสุดจากพื้น 165 มม. น้ำหนักรถ 1,303 กก. และความจุถังน้ำมัน 48 ลิตร)
ภายในมีความคล้ายคลึงกับเก๋งยอดนิยมอย่าง Mazda 3 เจนใหม่ แบบ “less is more” ดีไซน์แผงคอนโซลหน้าออกแบบเน้นไปแนวสปอร์ตแต่บางจุดดีไซน์จะต่างจาก Mazda 3 แต่การใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆจะเหมือนกันตั้งแต่ การบุวัสดุผิวสัมผัสใช้งานง่ายตั้งแต่แผงช่องแอร์ซ้าย-ขวาออกแบบใกล้แผงมาตรวัดดิจิตอลแบบ TFT LCD ขนาด 7 นิ้ว หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบสีบนกระจกหน้าแบบ Windshield Active Driving Display ซ่อนมุม สะท้อนขึ้นกระจกบนแผงคอนโซลหน้า ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน จอสัมผัสขนาดใหญ่ตรงกลางแผงคอนโซล แสดงข้อมูลผ่านหน้าจอสี Center Display แบบ Widescreen 8.8 นิ้ว ที่มาพร้อม Apple CarPlay พร้อมระบบความบันเทิง Mazda Connect ผ่านปุ่มควบคุมอัจฉริยะ Center Commander โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน ติดตั้งลำโพง 12 ตัวจาก Bose ที่ยังเสียงดี ไพเราะตลอดทาง รวมถึงปรับปรุงการเก็บเสียงให้เงียบยิ่งขึ้นและพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้านดีไซน์ใหม่แบบเดียวกับ Mazda 3 พร้อม Paddle Shift เพิ่มความสุนทรีย์ในการขับขี่ เบรกมือไฟฟ้าพร้อมปุ่ม Hold Brake ให้อยู่ในจุดเดียวกันรวมถึงคอนโซลเกียร์ที่ออกแบบใกล้มือผู้ขับขี่มากที่สุดระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Dual Zone พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังที่ว่างตำแหน่งช่องแอร์ต่ำไปหน่อยแถมไม่มีช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จมือถือซึ่งต้องไปรบกวนฝั่งคนขับด้วยการเปิดกล่องคอนโซลกลาง พร้อมปุ่ม Push Start สะดวกในการสตาร์ทรถง่าย กุญแจรีโมทอัจฉริยะ Keyles Entry และกระจกมองหลังอัตโนมัติ
เบาะนั่งคนขับดีไซน์โอบกระชับด้วยการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาเส้นโค้งรูปตัวเอส ตามธรรมชาติของกระดูกสันหลังเพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารคงท่าทางที่ดีแม้ในยามเข้าโค้งแถมยังปรับไฟฟ้า 10 ทิศทางพร้อมระบบบันทึกตำแหน่งเบาะนั่งของผู้ขับขี่ได้ 2 ตำแหน่งสำหรับคนขับแต่คนนั่งปรับได้ 6 ทิศทางแบบธรรมดา ส่วนเบาะหลังด้วยตัวผม สูง174 ซม. การนั่งด้านหลังไม่มีความลำบากแต่อย่างใด Head Room ยังมีพื้นที่เหลืออยู่พอสมควร ถึงตำแหน่งเบาะจะชันไปหน่อย เข้าออกสบาย แต่ Leg Room มีพื้นที่เหลือเช่นกันด้วยการวางตำแหน่งเบาะหน้าให้สูงจนพื้นที่วางขามีเหลือๆและพับได้ 60:40 แยกอิสระจากกัน
เวอร์ชั่นต่างประเทศมีขุมพลัง SKYACTIV ให้เลือกมากมายทั้งแบบเบนซิน 2.0 ลิตร ทั้ง SKYACTIV-G กับใหม่ล่าสุด SKYACTIV-X และเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ SKYACTIV-D 1.8 ลิตร แต่สำหรับเวอร์ชั่นไทยจำหน่ายเพียงขุมพลังเดียวนั่นคือ เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร รหัส PE 165 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 213 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ/นาที ให้ค่า CO2 150 กรัม/กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองตามข้อมูลโรงงานทำได้ 15.4 กม./ลิตร มาพร้อมระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด SKYACTIV-DRIVE ในกรณีที่ต้องการเร่งแซงสามารถเลือกโหมดขับขี่ Sport ได้ ระบบ I-Stop หยุดการทำงานเครื่องยนต์ชั่วคราวเมื่อรถจอดนิ่ง และยังรองรับพลังงานทางเลือก E85 ขับเคลื่อนล้อหน้า
การทดลองขับครั้งนี้ทาง มาสด้า พาไปสัมผัสความสวยงามของเมืองไทย 2 ภาค บนเส้นทาง พิษณุโลก-ขอนแก่น ระยะทางทั้งหมด 330 กม. รุ่นที่ทดลองขับเป็นรุ่นท็อปสุด 2.0 SP สมรรถนะของเครื่องยนต์ 2 ลิตร บล็อกนี้ ถึงยกชุดมาจากเก๋ง Mazda 3 แต่เมื่อมาอยู่ในร่าง Crossover หนักเกือบ 1.5 ตัน ช่วงออกตัว เร่งความเร็ว จนถึงความเร็วสูงในเส้นทางเรียบๆยาวๆยังให้ความกระฉับกระเฉงเช่นเดิมรวมถึงขณะเร่งแซงให้ตอบสนองฉับไว ไหลยาวๆได้สบายๆ แต่พอทางขึ้นเขาเส้นน้ำหนาวออกอาการอืดๆไปบ้าง ด้านอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 11.71 วินาที และ 80-120 กม./ชม. ทำได้ 9.22 วินาที ส่วนความประหยัดที่วัดได้จากหน้าจอทำได้ 10.0 กม./ลิตร
การทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ที่ทำงานด้วยระบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ตัดต่อกำลังอย่างนุ่มนวลตอบสนองแม่นยำราบรื่นดี ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ D หรือ เล่น Paddle Shift หลังพวงมาลัย เพิ่มอรรถรสในการขับขี่อย่างเร้าใจพร้อม Manual Mode +/- ไว้ใช้สำหรับขึ้น-ลงทางลาดชัน หรือ เร่งแซงในบางจังหวะก็ยิ่งมีโหมด Sport ในปุ่ม Drive Selection การเร่งแซงคล่องตัวไวกว่าเดิม การเก็บเสียงหรือ NVH (Noise, vibration and harshness) ยังให้ความเงียบเช่นเดิม เพราะทาง Mazda เอง คำนึงถึงสมรรถนะของเสียง การสั่นสะเทือน และความกระด้าง หลากรูปแบบจึงพัฒนาระบบเก็บเสียงให้หนาแน่นขึ้นด้วยวัสดุดูดซับเสียงติดตั้งมาอย่างดีถึงจะเงียบในช่วงความเร็วกลางๆ 60-90 กม./ชม. แต่ความเร็วสูงๆกลับมีเสียงยางดังอยู่นิดหน่อยซึ่งจะตัองปรับปรุงเรื่องของยางให้มีดอกยางดีๆเน้นความเงียบมากขึ้น
ระบบช่วงล่างหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนช่วงล่างหลังแบบทอร์ชั่นบีมถีงพื้นฐานช่วงล่างมาจาก Mazda 3 แต่การเซ็ตช่วงล่างกลับคนละแบบกัน Mazda 3 ให้ความหนึบสปอร์ตซับแรงกระแทกได้ดีแต่พอมารุ่นนี้เปลี่ยนบุคลิกกลายเป็นให้ความนุ่มนวลไม่แข็งกระด้างในช่วงถนนทางเรียบยาวๆช่วงความเร็วกลางๆ แต่เข้าความเร็วสูงๆกลับมีอาการโยนๆ การซับแรงกระแทกยังทำงานระดับพอใช้ได้ถึงจะกระแทกหลุมบ่อยๆ
การควบคุมและการเข้าโค้งเป็นจุดเด่นของค่าย มาสด้า มายาวนาน ด้วยระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ G-Vectoring Control PLUS (GVC Plus) ช่วยให้ควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์เพื่อความแม่นยำในการถ่ายทอดกำลังลงล้อ ส่งผลให้การขับขี่ทางโค้งราบรื่น เพิ่มเสถียรภาพในการควบคุมรถ เมื่อผู้ขับขี่ขับรถออกจากโค้งโดยคืนพวงมาลัยกลับไปที่ตำแหน่งกึ่งกลาง GVC Plus เพิ่มแรงเบรกเพียงเล็กน้อยไปที่ล้อด้านนอก ทำงานได้คมกริบ ฉับไว ไม่มีอาการท้ายปัดขณะเข้าโค้ง มั่นใจกว่าและการหมุนพวงมาลัยได้สั้นลงและระบบพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนี่ยนแบบไฟฟ้า น้ำหนักเบาๆในทุกความเร็วไม่แบ่งช่วงไหนจะเบาะจะหนืดหนักและคมทุกโค้ง
ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ กลับทำผลงานไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เมื่อเหยียบเบรกไปประมาณ 30 % กลับมีระยะการเบรกที่ยาวๆไปหรือเบรกทื่อ จนต้องเหยียบเพิ่มอีก 10 % รถจึงจะหยุดได้ ในหยุดรถสัญญาณไฟแดง จากการสอบถามกับทางทีมงาน Mazda กลับให้คำตอบนั้นพบว่าชุดเบรกหลังยกชุดจากเก๋ง Mazda 3 นั่นเองแต่ชุดเบรกหน้าต่างจากเก๋งนั่นเอง
การปรากฎตัวของ All New Mazda CX-30 เป็นการมาเสริมตลาดระหว่าง Mazda CX-3 และ Mazda CX-5 ที่สาวกไม่ต้องการห้องโดยสารเล็กๆแบบ CX-3 แต่งบไม่พอที่จะขยับไปเล่น CX-5 รูปทรงดีไซน์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความสะดวกสบายในห้องโดยสารที่เหนือกว่า CX-3 ระบบเครื่องเสียง BOSE ที่าเสียงดีเทียบเท่ารถยนต์ยุโรป ความโอบกระชับของเบาะนั่งคู่หน้า แผงคอนโซลหน้าเน้นเรียบง่ายไม่บดบังทัศนวิสัย เครื่องยนต์ 2 ลิตร ให้ความสนุกสนานในการขับขี่พอสมควรแต่ขึ้นเขาอาจอืดๆบ้าง ระบบเบรกหยุดทันใจพอสมควร
และด้วยราคา 1,199,000 บาท กับออพชั่นเพียบกว่าใครรวมถึงระบบความปลอดภัย i-ACTIVSENSE มาเต็มคันเหนือกว่าคู่แข่งทำให้ All New Mazda CX-30 2.0 SP กลับมีความน่าสนใจไม่แพ้ใคร
เรื่องและขับทดสอบโดย นายเต้ย
ขอขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เชิญทีมงาน Autodeft.com เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบรถยนต์ All New Mazda CX-30
สิ่งที่ชอบ >>> เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร กับระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดเซ็ตมาได้ลงตัวในช่วงความเร็วกลางๆ-สูงๆ ในเส้นทางยาวๆต่างจังหวัดรวมถึงการใช้งานในเมือง การออกแบบคอนโซลหน้าที่เรียบง่าย จัดวางฟังก์ชั่นดี เครื่องเสียง BOSE 12 จุด ให้เสียงที่ชัดไพเราะไม่แพ้รถยนต์ยุโรปพรีเมี่ยม เบาะนั่งสปอร์ตโอบกระชับปรับด้วยไฟฟ้า ข้างหลังนั่งสบายกว่า Mazda 3
สิ่งที่ไม่ชอบ >>> ไม่มีไฟตัดหมอกหน้า ไม่มีช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จมือถือด้านหลัง ช่องแอร์ด้านหลังอยู่ในระดับต่ำให้ความเย็นส่งไปถึงตัวคนนั่งน้อยไป ช่วงล่างโยนตัวในช่วงความเร็วสูงๆในขณะที่นั่งในตำแหน่งเบาะหลัง
ชม Gallery Test Drive All New Mazda CX-30 2.0 SP ได้ที่นี่ !!
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com