Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Honda Civic e:HEV RS แรงล้น เก็บเสียงดี ประหยัดเยี่ยม
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 22 มิ.ย. 65 00:00
- 92,877 อ่าน
ถอยหลังกลับไปเมื่อช่วงประมาณเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ฮอนด้าได้ทำการเปิดตัวรถ Compact Sedan ยอดนิยมของคนไทยและคนทั้งโลกอย่าง Honda Civic ภายใต้รหัสตัวใหมาว่า Civic FE แต่กลับเปิดตัวเครื่องยนต์ในรูปแบบเดียวเป็น 1.5 Turbo มารูปแบบเดียว ต่างกับรุ่นใหม่ที่เปิดตัวมาในรุ่นอื่นที่จะมีเครื่องยนต์แบบ e:HEV หรือ Hybrid อยู่เสมอ
เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงช่วง Motor Show 2022 ครั้งที่ผ่านมา ก็กลับมีหมายด่วนมาถึงบรรดาสื่อมวลชนสายยานยนต์ให้มาเปิดตัวในรูปแบบ World Premier ของ Honda Civic e:HEV ทำให้เข้ามาเติมเต็มในรุ่นนี้ให้ครบ และเดินตามนโยบายหลักของทางฮอนด้าในระดับ Global ที่จะเพิ่มไลน์ของรุ่นรถใหม่ที่เป็นรูปแบบรถไฟฟ้าให้มากขึ้น
\
ผ่านเวลาไปร่วม 3 เดือน ในที่สุดเวลาที่พวกเรารอคอยก็มาถึง เมื่อทาง ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเชิญเพื่อเข้าร่วมทดสอบรถเพื่อรีวิว Honda Civic e:HEV RS กันเสียที โดยเส้นทางการทดสอบนั้น อยู่ที่จังหวัดเชียงราย แต่ดุจากตารางการทดสอบแล้ว เราคงมีเวลาในการรีวิวกันไม่มาก ดังนั้นผมในฐานะทีมงาน AUTODEFT จะพยายามเก็บข้อมูลมาฝากเพื่อน ๆ ให้ได้มากที่สุดครับ
แน่นอนว่า ก่อนที่เราจะเริ่มต้นเดินทาง ก็ต้องมาทำความรู้จักสเปกเบื้องต้นของ Honda Civic e:HEV กันก่อนเลย โดยรถที่ทดสอบในครั้งนี้ จะเป็นตัวท็อปสุดอย่างรุ่น RS ที่ตอนนี้จะมาแทนที่เครื่องยนต์ 1.5 Turbo ไปแล้ว เพราะทางฮอนด้าได้ทำการตัดรุ่นนี้ออกไปแล้ว ดังนั้นถ้าใครเห็นรถใหม่ออกศูนย์มาเป็นตัว RS ก็บอกได้เลยว่ารถคันนี้เป็นเครื่องยนต์ Hybrid อย่างแน่นอน โดยขุมพลังที่ใช้งานนั้น เลือกเป็นแบบเบนซิน 2.0 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC แน่นอนว่าไม่มี VTEC เฉพาะตัวเครื่องยนต์อย่างเดียวให้กำลังได้สูงสุด 141 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 182 นิวตันเมตร เสริมด้วยกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ให้กำลังได้สูงสุด 184 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 315 นิวตันเมตร ส่วนกำลังรวมทั้งเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้านั้น ไม่มีครับ ทางทีมงานฮอนด้าบอกว่าเคลมเป็นตัวเลขจากมอเตอร์ไฟฟ้าได้เลย ไม่ว่ากัน ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ E-CVT ชุดเดียวกับที่ใช้บน Honda Accord แต่ปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ให้ดีกว่าเดิม ส่วนเชื้อเพลิงนั้น รองรับได้สูงสุดที่ E20 เช่นเคย ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้จ่ายไฟให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นแบบ Lithium-ion ขนาด 1.0 KWh. เท่ากับรุ่นอื่น ๆ เลย เพียงแต่ตัว Intelligent Power Unit (IPU) หรือชุดแบตเตอรี่นี้ มีการปรับชุดใหม่ ปรับการทำงานร่วมกับ Power Control Unit (PCU) ที่ควบคุมพลังมอเตอร์ชุดใหม่ ให้รับและจ่ายไฟได้ดีกว่าที่ติดตั้งอยู่ในรถระบบ e:HEV รุ่นอื่น ๆ
สัดส่วนตัวรถของ Honda Civic e:HEV RS นั้น ไม่ต่างจากตัวเดิมเลย โดยมิติตัวรถจะอยู่ที่ 4,678 x 1,802 x 1,415 มม. (ยาว-กว้าง-สูง) ฐานล้อกว้าง 2,734 มม.ซึ่งฐานล้อจะกว้างกว่า Civic Turbo แค่มิลลิเมตรเดียว ส่วนความสูงใต้ท้องนั้น 128 มม. ช่วงล่างด้านหน้าเลือกใช้งานเป็นแบบ แม็คเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบ มัลติลิงค์ อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ล้อแม็กซ์รอบนี้เป็นลายใหม่สี 2 โทน แถมใส่มาใหญ่กว่าเดิมเป็น 18 นิ้ว (RS รุ่นเดิมใส่มา 17 นิ้ว) ยางที่ใส่มาเป็นขนาด 235/40 ZR18 แถมเป็นยางสปอร์ต Primacy 4 อีกด้วย ส่วนระบบห้ามล้อก็เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อเหมือนเดิม
ขยับมาดูภายนอกกันหน่อย ถ้าเอาโดยรวม มองวิ่งผ่าน ๆ ก็เหมือน Honda Civic Turbo RS นั่นแหล่ะ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมาให้เราดูออกว่าเป็นรุ่น e:HEV ก็มีทั้งเส้นโครเมียมที่ตัดขอบประตูทั้ง 4 บาน, มือจับประตูตัดด้วยสีโครเมียม, กระจังหน้าตัดด้วยเส้นโครเมียม และที่ไฟด้านหน้า ก็มีเส้นโครเมียมเช่นกัน มีตรา Blue H-Mark สีฟ้าล้อมขอบตัว H ส่วนข้าง ๆ ดูได้จากล้อ ที่เป็นตัวเด่นมากที่สุด ส่วนด้านท้าย ก็จะมีตรา Blue H-Mark สีฟ้า กับ e:HEV Emblem ที่อยู่บนฝากระโปรงหลังนั่นเอง ด้านในจะมีแค่หน้าปัดข้อมูลการขับขี่ ที่เป็นแบบ TFT Meter Full Graphic ขนาด 10.2 นิ้วเพิ่มเข้ามา เบาะหลังพับได้ (เสียที) รวมทั้งก็ยังใส่ช่องแอร์หลังมาเพิ่มอีกด้วย (เสียที) ที่เหลือก็แทบจะเหมือนกันทุกประการ
อุปกรณ์ภายนอกส่วนใหญ่ก็ยังคงเดิม ทั้งโคมไฟหน้าที่มีไฟ DRL แบบ LED อยู่ในโคมเดียวกัน มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ, ปิดไฟเมื่อดับเครื่อง และระบบ Auto High Beam (AHB) ที่เป็น 1 ในระบบความปลอดภับชุด Honda Sensing นั้นเอง ไฟตัดหมอกแบบ LED ก็ยังอยู่ มือจับประตูก็ยังคงมีรูกุญแจที่ซ่อนเอาไว้ด้านหลัง ต้องดึงมือจับออกถึงจะเห็น มีระบบกุญแจรีโมทพร้อม Honda Smart Key Card มาให้ด้วย เข้ารถได้แบบ Smart Entry คือมือจับที่มือจับประตูปั๊บ รถปลดล็อกให้เอง และมีระบบล็อกรถเมื่อเดินออกจากตัวรถเหมือนกัน และระบบสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเครื่องปรับอากาศด้วยกุญแจรีโมท (Remote Engine Start) กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้า พับเก็บอัตโนมัติเมื่อล็อกรถ ใช้สีดำเป็นสีหลักพร้อมไฟเลี้ยว LED บนตัว ส่วนด้านท้ายก็เหมือนเดิมเป๊ะ เป็นแผงไฟท้ายแบบ LED เพิ่มเติมการสังเกตุได้ง่ายขึ้นว่าคันนี้เป็น Hybrid หรือเครื่อง 1.5 Turbo ก็มาจากท่อไอเสียที่ออกมาเพียงท่อเดียว ส่วนที่เป็น 1.5 Turbo ออกมา 2 ข้างเลย
ส่วนภายในของ Honda Civic e:HEV RS แทบหาความแตกต่างไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเบาะนั่ง ที่ใช้วัสดุเป็นหนังกลับและวัสดุหนังสังเคราะห์ ตกแต่งด้วยด้ายสีแดง เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง ด้านคนนั่งปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง หน้าจอกลางระบบสัมผัสแบบ Advanced Touch ขนาด 9 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay แบบไร้สาย และ Android Auto มีระบบนำทาง ลำโพง 8 ตำแหน่งและระบบเชื่อมต่อ Honda CONNECT พวงมาลัยหุ้มหนังทรงกลม พร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชัน ระดับได้ 4 ทิศทาง มี Paddle Shift ที่ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนเกียร์ แต่เป็นการปรับความหน่วงเมื่อชะลอตัว เครื่องปรับอากาศเป็นระบบอัตโนมัติแบบแยกโซนซ้าย-ขวา กรองฝุ่นแบบ PM2.5 ได้อย่างสบาย คอนโซลข้างคนขับ นอกจากก้านเกียร์แล้ว ก็จะมีปุ่มเลือกโหมดการขับขี่ได้ 3 รูปแบบคือ Econ, Mormal และ Sport นอกจากนี้ก็จะมีปุ่มเบรกมือไฟฟ้าและ Auto Hold อยู่ในแถบเดียวกันอีกด้วย ส่วนใต้ชุดควบคุมอุณหภูมิ จะมีช่อง USB ให้ 2 ช่อง และลงต่ำไปกว่านั้นจะเป็นช่องสำหรับชาร์จไฟแบบ Wireless Charger ให้ด้วย กระจกมองหลังเป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติ แป้นเบรกและคันเร่งเป็นแบบอลูมิเนียมสไตล์สปอร์ต ด้านหลังคงไม่ต้องพูดถึง นอกจากเบาะพับได้กับช่องแอร์ที่ใส่มาแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้พูดถึงเพิ่มเติมได้เลย
แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมา โดยที่ตาเนื้อเราสัมผัสไม่ได้ ก็จะมีทั้งระบบ Active Noice Control ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกด้วยการส่งเสียงผ่านลำโพงด้วยคลื่นที่เป็นตรงกันข้ามกับเสียงรบกวนจากภายนอก ทำให้เสียงนั้นไม่สามารถเข้ามารบกวนผู้โดยสารภายในห้องโดยสารได้ นอกจากนี้ก็ยังมีระบบ Active Sound Control ที่เพิ่มเสียงเครื่องยนต์อันทรงพลังเข้ามาเสริมในช่วงที่เราเปิดโหมด Sport ให้ความเร้าใจในการขับขี่มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของการทรงตัว ก็จะทำได้ดีกว่าตัว RS เดิมที่เป็นเครื่อง 1.5 Turbo เพราะด้วยการที่ต้องติดตั้งชุด IPU หรือตัวแบตเตอรี่ที่อยู่ใต้เบาะหลังนั้น จะช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงนั้นต่ำลงถึง 10 มม. เท่านั้นยังไใ่พอ การที่ยึดชุด IPU ไว้กับตัวถัง ยังลดการบิดตัวของตัวโครงสร้างในยามเข้าโค้งได้อีกด้วย (อันนี้เขาว่ามานะ ของจริงเป็นยังไง มาดูกันอีกที)
ส่วนเรื่องระบบความปลอดภัยนั้นหายห่วง เพราะยังยกชุด Honda Sensing ใส่มาเหมือนเดิมตั้งแต่รุ่นย่อยล่างสุดมายันบนสุด ที่จะประกอบไปด้วย
- ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก (CMBS)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (LKAS)
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (RDM with LDW)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (AHB)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ (ACC with LSF)
- ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ (LCDN)
ส่วนระบบความปลอดภัยเสริมอื่น ๆ ก็จะมีทั้ง
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง
- ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA)
- ระบบป้องกันล้อล็อกและระบบกระจายแรงเบรก (ABS & EBD)
- ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA)
- เสียงเตือนคนภายนอกรถขณะขับขี่โหมดมอเตอร์ไฟฟ้า (AVAS)
- ระบบล็อกประตูรถอัตโนมัติ (Auto Door Lock by Speed)
- ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch)
- กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ
- สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ขณะเบรกกะทันหัน (ESS)
ครบถ้วนกระบวนความไปแล้วกับข้อมูลเบื้องต้นของ Honda Civic e:HEV RS เรามาเริ่มออกเดินทางเพื่อทำการรีวิวกันเลยดีกว่า โดยเส้นทางการเดินทางครั้งนี้ เราจะอยู่กันที่จังหวัดเชียงราย ในแถวตัวเมือง มุ่งหน้าสู่ อ.เชียงแสน ระยะทางการเดินทางก็ราว ๆ 70 กว่ากิโลเมตร โดยผมจะทำหน้าที่พลขับ 1 ขา และทำหน้าที่ผู้นั่งอีก 1 ขา เส้นทางส่วนใหญ่ก็เป็นทางเรียบ ไม่มีภูเขามากสักเท่าไหร่ พอจะมีจังหวะที่ใช้ความเร็วได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ต้องอยู่ในความปลอดภัยสูงสุดด้วยนั่นเอง
ก้าวขึ้นไปนั่งบน Honda Civic e:HEV RS ก็รู้สึกคุ้นเคยขึ้นมาทันที (ก็แน่สิ เพิ่งยืมตัว 1.5 Turbo EL+ มาขับนี่) ด้วยการออกแบบของตัวรถที่มาแบบ Low & Wide ทำให้เราอยู่ในท่านอนขับมากกว่านั่งขับ ให้อารมรณ์การขับรถสปอร์ตได้เล็กน้อย ไม่รู้จะอธิบายอะไร เพราะนอกจากหน้าจอข้อมูลการขับขี่ที่ตระการตามากขึ้น ที่เหลือก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งสิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่ต่างไปจากเดิมเลย เอาเป็นว่าเคยขับแบบไหน อารมณ์ก็เหมือนเดิม
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมเลย ก็คือเรื่องของพละกำลังของเครื่องยนต์ที่ขับสนุกมากขึ้นพอตัว ไม่มีการรอรอบในช่วงออกตัว กดปั๊บรถก็วิ่งเลย เท้ากดเท่าไหร่ รถก็วิ่งพุ่งไปตามใจคิดได้ดีพอตัวเลย เนื่องจากหลักการทำงานของระบบ e:HEV คือการเน้นใช้งานเริ่มต้นด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่เสมอ แล้วพอมาดูกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว แรงบิดอย่างแรง ระดับ 315 นิวตันเมตรที่จะช่วยเคลื่อนตัวรถที่หนักประมาณ 1,429 กก. ให้เคลื่อนตัวจากจุดหยุดนิ่งได้รวดเร็วกกว่าเครื่องยนต์ปกติเป็นอย่างมากแบบไม่ต้องรอรอบ พอลอยตัวได้ และความเร็วเกินร้อยขึ้นไป เครื่องยนต์ก็จะเริ่มเข้ามาทำงานแทนมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะในย่านความเร็วสูง เครื่องยนต์จะให้พละกำลังได้ดีกว่า และจะประหยัดพลังงานกว่าเนื่องจากมันอยู่ในรอบความเร็วที่สามารถสร้างกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ได้ ดังนั้นเวลาเรากดคันเร่งแบบ 100% เราจะเห็นแรงดึงตั้งแต่ออกตัวยาวไปจนถึงความเร็วระดับ 120 กม./ชม.แบบต่อเนื่อง นอกจากนี้ ชุดเกียร์ E-CVT ที่ติดตั้งมาก็เป็นชุดเดียวกับที่ใช้งานบน Honda Accord e:HEV แต่มีการปรับการทำงานให้สอดคล้องกับเครื่องยนต์ชุดนี้ ทำให้สามารถรีดสมารรถนะสูงสุดของระบบขับเคลื่อนให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วยนั่นเอง
อีกระบบบน Honda Civic e:HEV RS ที่ไม่ชมก็ไม่ได้ ก็คือระบบ Active Noise Control หรือ ANC เป็นระบบที่ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก ระบบการทำงานของมันก็คือ จะจับคลื่นเสียงที่เข้ามาในตัวรถด้วยไมค์โครโฟนชุดเดียวกับที่เราใช้เป็นไมค์ตอนโทรศัพท์ แล้วเอาคลื่นเสียงนั้นไปวิเคราะห์แล้วส่งคลื่นเสียงที่เป็นตรงกันข้ามกับเสียงที่จับได้ออกไปทางลำโพงทั้ง 8 ตัว ทำให้เสียงที่เข้ามาในตัวรถนั้นถูกหักล้างให้กลายเป็น 0 เราจึงไม่ได้ยินเสียงที่เข้ามาในตัวรถได้นั่นเอง ก่อนหน้านี้ที่เคยเทสรถของฮอนด้า ไม่ว่าจะเป็น City, City Hatchback, Civic 1.5 Turbo ต่างก็เจอปัญหาเดียวกันก็คือเสียงที่ลอดขึ้นมาจากพื้น ทำให้ช่วงที่เราขับรถด้วยความเร็วสูงมันจะอื้ออึงเต็มห้องโดยสารไปหมด ทั้งที่บริหารเสียงลมจากด้านหน้าและประตูได้ดีแล้ว แต่สำหรับคันนี้แล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดเลย ผมนี่ถูกใจมาก ยกนิ้วโป้งให้ครบ 4 นิ้วในตัวเลย
ส่วนเรื่องของช่วงล่าง ถือเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่พอตัว เนื่องจากการขับของผมในรอบนี้ ไปกับน้องภณจาก Pantip บุคลิกในการขับก็ต่างกันพอตัว โดยขาไปที่มุ่งหน้าสู่ อ.เชียงแสน น้องภณรับหน้าที่เป็นพลขับ ด้วยสไตล์วัยรุ่น ขับเร็ว ชอบการมุดเข้าช่องต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็ว เมื่อจบการขับในรอบนี้ น้องบอกว่า ชอบฟีลลิ่งของตัว RS ที่เป็นเครื่อง 1.5 Turbo มากกว่า เพราะมันกระชับมากกว่าในช่วงขับเร็ว ซึ่งตัวนั้นผมว่ามันแข็งไปหน่อย ขับเจอรอต่อถนนเยอะ ๆ แล้วไม่ค่อยสบายตัว แต่เมื่อผมได้ขับในช่วงขากลับ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในช่วง 100-120 กม./ชม. มีบ้างที่กดทำ Top Speed ที่ดูเหมือนจะล๊อกเอาไว้ที่ 191 กม./ชม. กับวิ่งเร็วกว่าช่วงปกติไปบ้างด้วยความเพลิดเพลิน ผมว่าช่วงล่างมันกำลังดีเลยสำหรับผม ชอบเหมือนที่เคยลองในรุ่น Civic EL+ ก่อนหน้านี้ มันให้ความนุ่มและหนึบกำลังดี เข้าโค้งก็ดี เกาะโค้งแน่น แต่ถ้าเราเข้าโค้งที่เร็วมาก เราจะเจออาการท้ายไหลอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เราสามารถควบคุมอยู่ได้ อาการนี้จะมาช่วงความเร็วมาก ๆ นะครับ แต่ถ้าเราขับตามสไตล์วัยกลางคน ผมว่ามันก็ให้ฟีลลิ่งการขับขี่ที่ดีมากเลยนะ อันนี้คงต้องแล้วแต่ชอบ
ส่วนเรื่องของพวงมาลัย ถ้าเรื่องของน้ำหนักทั้งช่วงความเร็วต่ำและความเร็วสูง ผมว่าน้ำหนักนี้กำลังพอดีเลย ถึงแม้ว่าช่วงความเร็วสูงมากจะออกไปทางเบาเกินไปหน่อย แต่โดยรวมก็ถือว่าดีมาก แต่ถ้าถามถึงความคม คงยังไม่ถึงคำนั้น เพราะพวงมาลัยมันยังมีช่วงฟรีเยอะไปเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้ เอาเป็นว่าไม่ถึงกับคม แต่ก็ยังหันไปตามใจได้พอสมควร
เรื่องระบบความปลอดภัย บอกตามตรงว่าแทบไม่ได้เทสเลย ด้วยความที่เรามีโอกาสในการขับเพียงแค่คนละประมาณ 75 กิโลเมตร ถูกบีบด้วยเวลาอันน้อยนิด เลยทำได้เพียงทดสอบเรื่องการขับขี่มากกว่า แต่ถ้ามาดูรายละเอียด ระบบที่เคยมีมาใน Honda Civic Turbo RS ในรุ่นก่อน ทุกอย่างก็ถูกยกเข้ามาไว้บนคันนี้ทั้งหมด ไม่มีอะไรแตกต่าง เลยเหมารวมเอาว่าก่อนหน้านี้ดียังไง ตอนนี้ก็ดีอย่างนั้น แต่สุดท้ายแล้ว พวกเราที่มาทดสอบกันในรอบนี้รวม 8 สื่อ ลงความเห็นเดียวกันหมดว่า เอา Honda Lanewatch ออกไป แล้วใส่มาเป็น Blind Spot Monitor กับกล้อง 360 องศาดีกว่า ใช้งานดีกว่ากันเยอะเลย
สิ่งที่ทดสอบกันต่อมา ก็คือเรื่องของอัตราเร่ง 0-100 ที่เราได้ทดสอบรวมกัน 3 ครั้ง โดยนั่งในรถกัน 2 คน จับเวลาโดยแอพ iBolid 0-100 บนเครื่อง iPhone 11 เช่นเคย ได้อัตราเร่งออกมาดังนี้ครับ
ครั้งที่ 1 - 7.37 วินาที
ครั้งที่ 2 - 8.80 วินาที
ครั้งที่ 3 - 7.44 วินาที
เฉลี่ย - 7.87 วินาที
น่าจะมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมครั้งที่ 2 มันเกินมากขึ้นไปขนาดนั้น สารภาพเลยครับว่าตอนเทส พื้นมันลื่นไปหน่อย ตอนออกตัวเลยออกล้อเอี๊ยดปั่นทิ้งไปประมาณ 1 วินาที แต่การทดสอบก็คือการทดสอบ เอาตัวเลขแบบนี้มาบอกกันเลย เพื่อความยุติธรรม
ส่วนอัตราประหยัดนั้น รอบนี้จับอัตราการใช้เชื้อเพลิงกันแบบลวก ๆ หามาตรฐานไม่ได้เหมือนการทดสอบทั่วไปแบบที่ผมเคยเทส เอาเป็นว่า รูปแบบการขับขี่รอบแรกแบบที่กล่าวไปแล้วของน้องภณ Pantip ที่กดหนัก ๆ วิ่งด้วยความเร็วสูง มีเทส 0-100 อีก 3 รอบ ทำ Top Speed อีก 2-3 iv[เรียกได้ว่ากดหนักตลอดทาง มีช่วงท้ายประมาณ 10 กม. สุดท้ายเท่านั้น ตัวเลขยังออกมาที่ 10 กม./ลิตรเลย ถ้าเอา 1.5 Turbo มาขับแบบนี้ น่าจะเหลือแค่ 6-7 เท่านั้น
ส่วนรอบขากลับที่ผมขับกลับมา วิ่ง 100-120 กม./ชม. มีเทส 0-100 3 ครั้ง ซัด Top Speed อีก 1 รอบ ได้ตัวเลขออกมาที่ 16.1 กม./ลิตร ว้าวเลย ผมว่าถ้าวิ่งเทสแบบที่ผมเคยทำตามปกติช่วงนอกเมือง น่าจะมีเกิน 20 แหง ๆ เอาเป็นว่าถ้าผมมีโอกาสได้รถเอามาเทสแบบเดี่ยว จะจับอัตราประหยัดให้อีกครั้งครับ
เสียดายที่ผมมีเวลาอยู่กับรถน้อยไป ไม่อาจสรุปได้ถึงความชอบ-ไม่ชอบอะไรมากที่สุด ขอเก็บเอาไว้ในตอเทสเดี่ยวเช่นกัน แต่ถ้าถามผมว่าในราคา 1,259,000 บาท คุ้มไหมที่จะซื้อรถคันนี้มาใช้งาน ผมว่าถ้าคุณชอบรถที่ให้ความสบาย ขับนุ่มนวล แต่ถ้าอยากแรงก็พร้อมเหนี่ยวได้ตลอดเวลา ขับสนุกในเมืองแน่ ๆ แต่ยังมีความประหยัดให้เห็นเกินกว่าการขับรถ Eco Car เครื่อง 1.0 Turbo ไม่ได้เป็นคนกดเร็วแรงเกิน 150 ตลอดเส้นทาง ผมว่า Honda Civic e:HEV RS ถือเป็นตัวเลือกที่ดีอันดับต้น ๆ ในตลาดรถกลุ่มนี้อย่างแน่นอน
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com