Hands On : New Mazda CX-3 2.0 SP หล่อใหม่…อเนกประสงค์เล็กสายพันธุ์ Zoom-Zoom
- โดย : Autodeft
- 13 ส.ค. 61 00:00
- 31,174 อ่าน
ค่ายรถยนต์จากเมืองฮิโรชิม่ายังคงสร้างสรรค์ยนตกรรม SKYACTIV อย่างต่อเนื่องทุกรุ่นที่จำหน่ายล้วนใส่เทคโนโลยีนี้เข้าไปทำให้ Mazda กลายเป็นค่ายรถที่ครองใจสาวก มายาวนานนับตั้งแต่ Mazda CX-5 รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี SKYACTIV ทั้งคัน ออกจำหน่ายในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2556
จนมาถึง Mazda CX-3 อเนกประสงค์น้องเล็กที่เฉิดฉายตามรอยความสำเร็จจากรุ่นพี่ ตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุด Mazda ไม่ยอมให้คู่แข่งสัญชาติเดียวกันเปิดตัวกอบโกยยอดขาย กันอย่างสำราญ จึงเปิดรุ่นปรับโฉมหรือ Facelift อีกครั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ถึงเป็นร่างเดิมในพิกัด B-Crossover แต่ความหล่อเปลี่ยนไปพอสมควรเริ่มจากกระจังหน้า Signature Wing พร้อมกรอบโครเมี่ยมดีไซน์ภายนอกใหม่ ไฟหน้า Projector แบบ LED พร้อมไฟ LED Daytime ปรับอารมณ์ใหม่ให้สปอร์ตขึ้น กรอบไฟตัดหมอกปรับอารมณ์ใหม่ด้วยสีดำเงา และขอบกันชนหน้าตกแต่งด้วยคิ้วโครเมี่ยม ล้ออัลลอยสีทูโทนปัดเงาลายใหม่ ขนาด 18 นิ้วพร้อมยางขนาด 215/50R18 ที่งานนี้เปลี่ยนรุ่นยางใหม่จากค่าย Toyo เน้นเรื่องความนุ่มนวลและระยะเบรกสั้นลง คิ้วชายล่างโครเมี่ยมออกแบบใหม่ เสาประตูตกแต่งสีดำเงา แทนสีดำด้าน เพิ่มความสปอร์ตแกร่งไปอีกขั้นและไฟท้าย LED Signature ใหม่รับกับความเท่ในยามมองเห็น และใหม่หลังคาซันรูฟไฟฟ้าที่เปิดสไลด์และกระดกขึ้นด้วยระบบ Auto
สำหรับรุ่นที่ทดสอบนั้นเป็นรุ่น 2.0 SP เครื่องยนต์เบนซินตัวท็อป มีตัวรถที่ใกล้เคียงกับรุ่นเดิมตั้งแต่ความยาว 4,275 มม. ความกว้าง 1,765 มม. ความสูง 1,535 มม. (ความสูงรุ่นเดิม 1,550 มม.) ระยะฐานล้อ 2,570 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้น 160 มม. และน้ำหนักรถ 1,303 กก. (น้ำหนักรุ่นเดิม 1,271 กก.)
ภายในยังคงเดิมแต่ด้วยรุ่นปรับโฉม อัพเกรดเติมเต็มความหรูบวกความสปอร์ตไว้ใน Crossover รุ่นนี้ไม่ว่าจะเป็น วัสดุการตกแต่งแผงคอนโซลหน้ากับแผงประตูตกแต่งด้วยวัสดุผ้าคล้ายหนังกลับสีเทา Grand Luxe Suede ช่องแอร์ทรงกลมเติมสีสันด้วยขอบสีแดงบนแผงคอนโซลหน้าคับคั่งด้วยฟังก์ชั่นหลากหลายทั้ง ระบบ MZD Connect พร้อมหน้าจอสัมผัสแบบสีขนาด 7 นิ้ว พร้อมระบบนำทางกับลำโพงรอบคัน 6 จุด ที่ให้เสียงเพลงอันไพเราะตลอดการเดินทาง เย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ดีไซน์เดิม ถึงไม่มีออพชั่นแยกอุณหภูมิซ้าย-ขวา ก็ตามแต่ให้ความเย็นสบายเช่นกัน
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้านทรงเดิมจากรุ่นที่แล้ว ทั้งควบคุมการทำงานเครื่องเสียงฝั่งซ้ายและฝั่งขวาควบคุมการทำงานของระบบ Cruise Control มาตรวัดเรืองแสงดีไซน์เฉพาะของค่าย มาสด้าที่อ่านง่าย ชัดเจน รวมถึงจอแสดงเหนือพวงมาลัย Active Driving Display แบบสี พร้อมปุ่ม Push Start สะดวกในการสตาร์ทรถง่าย และ กุญแจรีโมทอัจฉริยะ Keyles Entry
คอนโซลเกียร์ใหม่โดยปีกสองข้างของคอนโซลเกียร์หุ้มวัสดุหนัง Soft Touch ใหม่สีดำ มีปุ่ม CENTER COMMANDER ออกแบบใหม่ ใกล้มือใช้งานสะดวกพร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้า(EPB) จากเดิมระบบเบรกมือแบบคันโยก สามารถยกเลิกการทำงานโดยการกดสวิตช์พร้อมเหยียบแป้นเบรก หรือยกเลิกการทำงานโดยง่ายด้วยการเหยียบคันเร่ง พร้อมระบบ Auto Hold ช่วยให้รถหยุดอยู่กับที่หลังจากผู้ขับชะลอรถจนหยุดนิ่ง จะถูกยกเลิกชั่วคราวเมื่อผู้ขับเหยียบแป้นคันเร่งอีกครั้ง พร้อมกล่องที่ท้าวแขนใหม่หลังคอนโซลเกียร์ช่วยลดความเมื่อยล้าในการเดินทางได้
เบาะนั่งหุ้มวัสดุกึ่งหนังแท้สีดำเดินด้ายสีใหม่ แต่ปรับระดับสูง-ต่ำ ด้วยระบบกลไลธรรมดาให้ความสบายตลอดการเดินทาง แต่ด้วยทัศนวิสัยการมองโดยเฉพาะกระจกข้างซ้าย-ขวา ที่อยู่ตำแหน่งสูงเกินไป ควรต้องปรับตำแหน่งเบาะให้สูงขึ้นนิดนึง สำหรับสุภาพสตรี ตัวเล็กๆ
ส่วนเบาะหลังอาจเสียรังวัดตรงที่ ตำแหน่งเบาะจะชันไปหน่อย ผนวกกับพื้นที่วางขาแคบทำให้อึดอัดแต่ยังมีความดีตรงที่พื้นที่เหนือศีรษะ ยังพอมีที่เหลือพอสมควรถึงตัวผมเองสูง 174 ซม. ใหม่!! ด้วยพนักวางแขนสำหรับเบาะหลังช่วยพร้อม ที่วางแก้วได้รับการออกแบบมาเพื่อวางกระป๋องน้ำอัดลมหรือแก้วน้ำที่มีขนาดหลากหลาย แถมสามารถพับเบาะได้แบบ 60/40 เช่นเคย
มากันที่เครื่องยนต์กลไกกันบ้างตลอดการทดสอบกรุงเทพฯ-หัวหิน ฝากชีวิตฝากความมั่นใจไว้กับขุมพลังแรง SKYACTIV-G เบนซินขนาด 2.0 ลิตร รหัส PE 4 สูบ 156 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 204 นิวตันเมตรที่ 2,800 รอบ/นาที ตอบโจทย์คนชอบประหยัดน้ำมันด้วย i-STOP ระบบหยุดการทำงานเครื่องยนต์ชั่วคราวเมื่อรถจอดหยุดนิ่ง โดยให้ค่า CO2 ถึง 145 กรัม/กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองตามข้อมูลโรงงานทำได้ 16.4 กม./ลิตร รองรับเชื้อเพลิงสูงสุด E85 จับคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-Drive 6 สปีด พร้อมระบบเปลี่ยนเกียร์ Activematic ในกรณีที่ต้องการเร่งแซงสามารถเลือกโหมดขับขี่ Sport ได้
ระยะทางการทดสอบรวมขาไปและกลับ ประมาณ 500 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯเข้าถนนพระราม 2 มุ่งหน้าไปสมุทรสาคร กับ สมุทรสงคราม จนถึงหัวหิน เครื่องยนต์เบนซินที่มีกำลังอัดสูง 14.0:1 ตอบสนองได้ฉับไว ทั้งช่วงความเร็วกลางๆตั้งแต่ 60 กม./ชม. แม้ช่วงกดคันเร่งคิกดาวน์เร่งแซงอาจออกอาการหน่วงๆบ้างในช่วงต้น (ไม่ได้ใช้ปุ่ม Sport) แต่พอเข้าช่วงความเร็วสูงๆ 100 กม./ชม. เป็นต้นไป กระฉับกระเฉงกันเลยทีเดียว ส่วนความประหยัดนอกเมืองที่วัดได้จากหน้าจอทำได้ 13.8 กม./ลิตร ในความเร็ว 100 กม./ชม. (ส่วนความประหยัดในเมือง และสูตร Save Mode ไว้มีโอกาสจะยืมมาขับอีกครั้ง)
การเก็บเสียง มาสด้า พัฒนาวัสดุดูดซับเสียงให้หนาขึ้นเงียบขึ้นกว่ารุ่นเดิม 4 จุด ทั้งแผงประตูหน้า-หลัง กระจกประตูหลัง ยางขอบประตู และที่หุ้มหลังคาภายในรถ ส่วนการเก็บเสียงทำงานผลงานระดับดีเยี่ยมแต่ช่วงความเร็วสูงอาจได้ยินเสียงเล็ดลอดบ้างก็ตามแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟังเพลงและพูดคุยสนทนา
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด SKYACTIV-Drive แม้จะเป็นแบบ ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ แต่การตอบสนองในแต่ละช่วงเกียร์ ตัดต่อกำลังอย่างรวดเร็วไม่ขาดตอน นุ่มนวลไม่กระตุก พร้อม Manual Mode +/- ไว้ใช้สำหรับขึ้น-ลงทางลาดชัน หรือ เร่งแซงในบางจังหวะก็ยิ่งมีโหมด Sport ในปุ่ม Drive Selection การเร่งแซงคล่องตัวไวกว่าเดิม แถมเอาใจสาวกด้วย paddle Shift หลังพวงมาลัย เพิ่มอรรถรสในการขับขี่อย่างเร้าใจ
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง และแบบกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีมสำหรับด้านหลัง แม้ช่วงล่างยังคงเดิม ให้ความนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม แม้บางจังหวะจะมีอาการโยนบ้างๆเมื่อต้องมานั่งเบาะหลัง ระบบพวงมาลัยเป็นแบบพาวเวอร์ไฟฟ้า (EPAS) ให้น้ำหนักเท่าๆกันไม่แบ่งชั้นวรรณะ ว่าช่วงในเมืองกับทางไกลให้น้ำหนักคนละอย่าง และเป็นรถยนต์ B-Crossover อันดับต้นๆ ที่การทำงานพวงมาลัยให้ความมั่นใจ คมทุกโค้งกันเลยทีเดียว
เจ้าเดียวในตลาดกับระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ G-Vectoring Control (GVC) ช่วยให้ควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์ ช่วงลัดเส้นทางเข้าคลองโคน เพื่อไปถึงที่พักที่หัวหิน ถึงจะเจอทางโค้งหลายจุด แม้จะอยู่ในความเร็วสูง ก็ช่วยให้การควบคุมอยู่ในมือของเราอย่างง่ายดาย ลดอาการหน้าลื่นท้ายปัดได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้การขับขี่ราบรื่น สมอารมณ์หมายอย่างแน่นอน ส่วนระบบห้ามล้อตามสมัยนิยมด้วย ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบเบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ด้วยระยะการเหยียบเบรก ที่ 30 % ทันใจหยุดฉับไว
ระบบความปลอดภัย i-Activsense ติดตั้งเป็นออพชั่นมาตรฐาน ยกชุดจากรุ่นเดิมทั้ง
- Advanced Blind Spot Monitoring (ABSM) & Rear Cross Traffic Alert (RCTA) ตรวจจับรถจากด้านข้างและด้านหลังที่กำลังใกล้เข้ามาบริเวณจุดบอด พร้อมทั้งเตือนเมื่อผู้ขับขี่จะทำการเปลี่ยนเลน หรือขณะถอยหลัง
- Lane Departure Warning System (LDWS) คาดการณ์การเบี่ยงออกนอกเลน และเตือนผู้ขับขี่ถึงอันตรายผ่านทางเสียง
- Adaptive LED Headlamps (ALH) ปรับการทำงานของไฟหน้าที่ส่องไปยังพื้นถนนเพื่อช่วยในเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัย
- Driver Attention Alert (DAA) ลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยการแนะนำให้หยุดพัก เมื่อตรวจพบพฤติกรรมความเหนื่อยล้าและการสูญเสียสมาธิของผู้ขับขี่
- Mazda Radar Cruise Control (MRCC) ช่วยปรับและรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้าโดยอัตโนมัติ เพื่อลดความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่
- Smart City Brake Support (SCBS) & Smart City Brake Support – Reverse (SCBS-R) ระบบที่ช่วยหลีกเลี่ยงการชนโดยตรวจจับระยะห่างระหว่างรถ
- Smart Brake Support (SBS) ระบบที่ช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการชนในความเร็วกลางไปจนถึงความเร็วสูง
ใหม่!!! เอาใจหนุ่มสาวที่ซุกซ่ามในการจอดรถเข้าซอง ถอยหลังพลาดโดนรถชาวบ้าน หรือขับรถในซอยแคบๆ ด้วยระบบกล้องรอบคัน 360 องศา 360o View Monitor พร้อมมุมกล้องในแบบ Top View รอบทิศทาง พร้อมเซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้า 4 จุด
โดยตลอดการทดสอบทั้งไปและกลับได้ใช้งานแค่บางระบบ เช่น ระบบระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน (LDWS) ส่งสัญญาณเตือนเมื่อรถอาจเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ
ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (ABSM) ระบบจะมีสัญลักษณ์บนกระจกมองข้าง เพื่อเตือนว่ามีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน หรือกำลังแซงขึ้นมาจากทางด้านหลังและอยู่ในจุดที่ผู้ขับอาจมองไม่เห็น และจำเป็นมากสำหรับคนขับรถทางไกลที่ขับติดต่อกัน ขับยาวนานจนเกิดอาการง่วง เมื่อยล้า จะมีระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (DAA) มาเป็นของแถม เตือนให้คนขับสามารถพักผ่อนหรือปลี่ยนคนขับได้
ด้วยยอดขายที่พอไปได้ แต่เมื่อมาเจอคู่แข่งร่วมชาติที่ดาหน้ากันเข้ามาโจมตีพ่วงความสดใหม่ เทคโนโลยีสูงส่ง จึงต้องแก้เกมด้วยการปรับหน้าตาให้ทันสมัย สำหรับรถยนต์ใหม่ 2018 Mazda CX-3 การปรับโฉมครั้งนี้สามารถต่อกรได้ด้วยออพชั่นเด่น ทั้งหลังคาซันรูฟ เบรกมือไฟฟ้า กล้องรอบคัน 360องศา และระบบความปลอดภัยที่ให้มาเต็มคัน
รวมถึงการตกแต่งภายในลุคสใหม่เทียบชั้นรถยุโรป ถึงแม้คนโดยสารมาด้วยอาจไม่สบอารมณ์โดยเฉพาะเบาะหลังที่แคบก็ตาม ตอบโจทย์การใช้งานกับกำลังเครื่องยนต์เบนซิน 2 ลิตร SKYACTIV-G ให้พละกำลังทันใจ ช่วงล่างที่ปรับให้นุ่มขึ้นกว่าเดิม พวงมาลัยน้ำหนักเสมอต้นเสมอปลาย ในราคาเดิม 1,083,000 บาท น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับ Mazda CX-3 2.0 SP คันนี้
เรื่องและขับทดสอบโดย นายเต้ย
ขอขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เชิญทีมงาน Autodeft.com เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบรถยนต์ New Mazda CX-3 2.0 SP
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com