Hands on : Mazda CX-3 -2.0 S เสือเล็กพันธุ์สปอร์ต

  • โดย : Autodeft
  • 20 พ.ย. 58 00:00
  • 20,224 อ่าน

เสร็จเรียบร้อยกับสัมผัสแรกของรถยนต์อเนกประสงค์ Mazda CX-3 เจ้าเสือเล็กคันนี้ที่พกมาเต็มเหนี่ยวกับดีกรีความสปอร์ตสุดๆ

 

 

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

 

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่า ชีวิตของคนเราในสังคม ต่างมีหลากหลายบทบาทและหน้าที่ ความต้องการและการใช้งานที่หลากหลายนำมาสู่มุมมองใหม่ๆ ทางการตลาดและการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงบ้านหลังที่สอง อย่างรถยนต์ ยานพาหนะที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งปัจจุบัน จะเพียงสบายอย่างเดียวคงไม่ใช่ จะขับมันส์อย่างเดียวก็ไม่เชิง แต่ต้องพร้อมกับทุกสถานการณ์ของชีวิตชีพจรลงเท้าย่างกรายไปบนถนน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รถยนต์อเนกประสงค์กลายมาเป็นรถยนต์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์อเนกประสงค์ในวันนี้ไม่จำเป็นต้องขนาดใหญ่โตอีกต่อไป แต่มันกลับถูกแทนที่และเพิ่มแนวคิดของการใช้งานที่มีความหลากหลายในการใช้งาน และยังต้องสะดวกต่อสภาวะการขับขี่ของคนเมือง ทำให้รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็กกลายมาเป็นที่สนใจและมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากจนแม้แต่ค่ายมาสด้าก็อดไม่ได้ที่จะขอเข้ามาแบ่งชิ้นเค้กนี้ไปบ้าง

การแนะนำรถยนต์  Mazda CX3  ใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของการพัฒนาครั้งสำคัญของมาสด้า ด้วยการเอาความคิดใหม่ๆ เข้ามาสู่ไลน์สินค้าของพวกเขาเที่ไม่จำเป็นถูกจำกัดอยู่ในกรอบอีกต่อไป แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาด เปิดมุมมองและแนวคิดใหม่ที่มีต่อมาสด้าในการรถยนต์ที่มีดีเอ็นเอความสปอร์ตในตัวตนไม่จำเป็นต้องขลุกอยู่แค่ตัวตนในสไตล์เก๋ง

จากพื้นฐานของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก Mazda 2 ทางค่ายรถยนต์จากฮิโรชิม่าเจ้านี้แต่งแต้มไอเดียสำคัญ ในการจับเอาแพลทฟอร์มที่เหมาะกับชีวิตคนเมืองมาปั้นแต่งในการขับขี่ที่มีสไตล์ และสนองตอบต่อการใช้งานมากขึ้น ตัวตน Mazda CX3 ใหม่ จึงเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดของการออกแบบที่เป็นอิสระจากรถยนต์อเนกประสงค์ประเภทครอสโอเวอร์มากมายที่มีในตลาด ให้ลงตัวมากขึ้นในการใช้งาน และยังดูดีมีสไตล์เป็นของตัวเอง

การออกแบบที่ได้เส้นสายใหม่ของมาสด้า Kodo Design ทำให้ Mazda CX3 ใหม่ ต่อเติมความลงตัวร่างอเนกประสงค์ที่ดูดีมีความสปอร์ตในการขับขี่ ตั้งแต่แรกพบ อย่าแปลกใจที่ใบหน้าของเจ้าเสือคันนี้จะค่อนข้างดูคุ้นหน้าตา มันได้รายละเอียดบางส่วนจากเส้นสายรถครอสโอเวอร์รุ่นใหญ่  Mazda CX5 มามากพอสมควร ให้ความรู้สึกที่ดูน่าเกรงขามมากกว่า ความปราดเปรียวยิ่งเทียบกับเจ้าคอมแพ็คคาร์ Mazda 3 คอมแพ็คคาร์ที่เคยเปิดตัวไปก่อนหน้านี้

ทางด้านข้างเส้นสายการออกแบบผสานระหว่างความเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ เข้ากับความเรียบง่ายในการออกแบบแต่ยังดูดีในเรือนร่าง ที่มีความลงตัวในการให้รายละเอียดด้านหลังแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย อย่าแปลกใจถ้าบางครั้งในบางมุมรถยนต์ Mazda CX3 จะยังดูคล้าย Mazda 2 อยู่บ้าง จนบางครั้งก็อดนึกไม่ได้ว่า นี่พวกเขาจับมาสด้า 2  มายกสูงหรือเปล่า !! แต่ท้ายสุดแล้วเมื่อออกมายืนมองรถทั้งคัน ที่ลงตัวกับล้ออัลลอย ขนาด 18  นิ้วมาพร้อมยางไซส์ใหญ่พร้อมตอบสนองความสปอร์ต  215/50/R18 เจ้าเสือคันนี้ก็ดูมีความลงตัวมากขึ้น จนน่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ไม่น้อย

แต่เมื่อหันมามองมิติตัวถังที่ออกแบบมาให้ใช้งาน เจ้า Mazda CX3 มาพร้อมมิติตัวถังที่มีความยาว 4,275  มม. (+215 มม. เทียบจากมาสด้า2) กว้าง 1,765  มม (+70 มม. เทียบจากมาสด้า2) และสูง 1,550 มม. (+ 55 มม. เทียบจากมาสด้า 2)  ส่วนการวิศวกรรมระยะฐานล้อไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ด้วยความยาว 2,570  มม

การออกแบบที่มีพื้นฐานสำคัญจากมาสด้า 2 ทำให้เมื่อเปิดประตูเข้าสู่ห้องโดยสาร ไม่แปลกใจนักที่เราจะพบการออกแบบ ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับเจ้ามาสด้า 2 ตั้งแต่การออกแบบคอนโซลหน้า แผงหน้าปัด หน้าจอเครื่องเสียง ไปตลอดจนการออกแบบปุ่มควบคุมต่างๆ และ Active Driving Display ค่อนข้างจะชินตา

เมื่อหย่อนตัวลงนั่งบนเบาะความเปลี่ยน Mazda CX3 ต้อนรับความอบอุ่นมากขึ้น ด้วยเบาะนั่งที่มีขนาดใหญ่เท่ากับรถยนต์ Mazda 3 จนกล้าที่จะพูดว่านี่คือเบาะเดียวกัน มุ่งเน้นการให้ความสบายในการเดินทางและความนุ่มนวลบนแผ่นหลังในขณะขับขี่ เสียดายที่ทางมาสด้ายังไม่ยอมให้เบาะไฟฟ้ามาตอบความสบาย แต่ก็เข้าใจได้กับรถกลุ่มนี้ที่ไม่ได้เน้นความสบายจนเกินความจำเป็น

ตรงหน้าคนขับพวงมาลัยสามก้านทรงเดียวกับมาสด้า 2  บนพวงมาลัยมีปุ่มควบคุมเครื่องเสียง แต่ยังขาดในเรื่องของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือ Cruise Control และถ้าคุณคิดว่าอยากจะสปอร์ตด้วยการกระดิกมือเปลี่ยนเกียร์ ผ่านแป้นเกียร์ Paddle shift เราก็คงต้องขอแสดงความเสียใจ เพราะ Mazda CX3 ไม่มีมาให้ได้ใช้งานกัน

เบาะนั่งตอนหลังถือเป็นจุดบอดหนึ่งที่สำคัญ แม้ว่ารถยนต์ประเภทนี้ทางมาสด้าจะมองว่า พวกเขาต้องการกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่มองหารถยนต์ที่มีการออกแบบสไตล์สำหรับใช้งาที่หลากหลาย หรือกลุ่มคู่แต่งงานใหม่ ข้าวใหม่ปลามัน ที่ต้องการรถยนต์ที่ตอบโจทย์สำหรับชีวิตครอบครัว

แต่เอาเข้าจริงเมื่อลองไปนั่งข้างหลังถือว่าค่อนข้างแคบไปนิด อาจจะเพราะผู้เขียนเป็นคนตัวใหญ่สูง 180 ซ.ม. เมื่อมาลองนั่งโดยสารตอนหลังเบื้องต้นพบว่าค่อนข้างพื้นที่วางขาน้อยไปนิด แต่ท่านั่งถือว่าจัดวางออกมาได้อย่างลงตัว ไม่สูงเต่อไป จนนึกถึงนั่งเก้าอี้งานวัด ทว่าก็เสียดายที่พนักผิงหลังถูกจำกัดด้วยแผ่นแผงปิดวางของ ทำให้ไม่สามารถเอนเพิ่มความสบายในการโดยสารได้ตามต้องการของผู้โดยสารตอนหลัง ส่วนถ้าต้องการเรื่องการใช้งานความอรรถประโยชน์เบาะนั่งตอนหลัง นี้ยังสามารถปรับพับได้ในอัตรา 60/40 ส่วนพื้นที่สัมภาระท้ายก็ไม่มากมายนัก ทางทีมวิศวกรเผยข้อมูลว่ามีความจุทั้งสิ้น 240 ลิตร

เครื่องยนต์ถูกสตาร์ททิ้งไว้รอเราไปพิสูจน์สมรรถนะ และในวันนี้เรามีโอกาสขับเจ้า Mazda CX3 รุ่น 2.0S ซึ่งใต้เรือนร่างที่ดูน่าเกรงขามนี้ มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน Mazda Sky Activ G แบบ 4 สูบแถวเรียงขนาด 2.0 ลิตร ที่เราคุ้นเคยใน Mazda 3 ใหม่ ทว่าในการนำมาลงเจ้าอเนกประสงค์ Mazda CX3 ทางค่ายซูม-ซูม จัดการปรับรายละเอียดสมรรถนะเครื่องยนต์ลดลงกว่า Mazda 3 เล็กน้อย ให้กำลังสูงสุด 156   แรงม้า สูงสุดที่ 6,000 รอบต่อนาที และทำแรงบิดสูงสุด 204 นิวตันเมตร ที่ 2,800 รอบต่อนาที ท้ายสุดให้ความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด Sky Activ Drive แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ที่มักจะมาพร้อมระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT โดยสิ้นเชิง

ออกตัวจากจุดเริ่มต้นช่วงแรกทางมาสด้า พาเราขับเจ้า Mazda CX3 ตะลุยชมตัวเมืองเชียงใหม่ จุดประสงค์ของพวกเขาก็คงหนีไม่พ้นความต้องการแสดงศักยภาพการขับขี่ของเจ้าเสือเล็กคันนี้ที่มีเหมาะสมในการใช้งานในเมืองมากกว่าอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่มีอาจจะมีพื้นที่ใช้สอยในการขับขี่มากกว่า แต่ว่าก็ยากลำบากในการใช้งาน

ร่างเล็กดีไซน์สปอร์ตของ Mazda CX -3 ใหม่ได้พื้นฐานสำคัญจากรถยนต์ซิตี้คาร์ Mazda 2 จนไม่แปลกใจนักที่มันจะอัดแน่นด้วยความสปอร์ต โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ซึ่งแม้เราจะคุ้นเคยและรู้อยู่เต็มอกว่านี่คือเครื่องยนต์เดียวกับที่ใช้ในรถยนต์ Mazda 3 เจ้าคอมแพ็คคาร์ของค่าย แต่วันนี้ที่มันมาอยู่ใน Mazda CX3 เสียงการทำงานของมันกลับทำให้เรารู้สึกใจ ความหนักแน่นของเครื่องยนต์ทีมีกำลังสูงถึง 14.0:1 พร้อมพาเราพุ่งทะยานทุกครั้งที่กดคันเร่ง และในครั้งนี้มันยังได้ระบบ i-Stop คอยหยุดการทำงานทุกครั้งที่รถจอดนิ่งติดไฟแดง ช่วยเพิ่มความประหยัดในยามต้องเดินทางในเมือง

การขับขี่ในเมืองช่วงแรก Mazda CX3 สร้างความประทับใจด้วยความคล่องตัวรถที่ไม่ทำให้เรารู้สึกว่า มันมีความแตกต่างจากรถยนต์ซิตี้คาร์ของค่ายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบและวิศวกรรมขนาดของรถที่ไม่ได้ยาวมากมายจากเดิมในตัวตนมาสด้า 2 ช่วยให้รถสามารถควบคุมได้อย่างมั่นใจ ยิ่งปัจจุบันการจราจรในเมืองอย่างจังหวัดเชียงใหม่ต้องเจอตรอกซอกซอยคับแคบ หรือการจราจรที่หนาแน่นตามฉบับคนเมือง

เจ้าพวงมาลัย Mazda CX3 ก็ตอบโจทย์ความมั่นใจในการควบคุม ด้วยการสร้างบุคลิกความสปอร์ตในการควบคุม ตอบสนองด้วยความแม่นยำ และมีระยะฟรีพวงมาลัยน้อยมาก ผ่านชุดพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนียนแบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า (EPS) ช่วยให้นอกจากตอบสนองดีแล้วยังขับสบายน้ำหนักพวงมาลัยกำลังเหมาะมือทั้งชายชาตรีหรือสตรีเพศก็ตาม

ไม่นานเราออกนอกเมืองเชียงใหม่เจ้า Mazda CX3 ยังคงตอบโจทย์การเดินทางได้ดีความคล่องตัวในเมือง เมื่อต้องเดินทางไกลเจ้าเสือน้อยคันนี้ให้ความลงตัวในการใช้งานมากขึ้น ด้วยระบบกันสะเทือนที่รู้สึกได้ทันทีถึงเสถียรภาพในการเดินทาง แม้ว่าคุณจะเริ่มเพิ่มความเร็วไปตามทางหลวงที่โล่งว่างเหมาะทำความเร็ว

ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ประกอบสร้างความลงตัวเข้ากับระบบกันสะเทือนด้านหลังแบบกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม อ่านแล้วก็ไม่ต่างจากรถยนต์ซิตี้คาร์ Mazda 2 ที่เรารู้จักมากนัก แต่ด้วยการขยายความกว้างของตัวรถมากขึ้น ทำ Mazda CX3  ดูมาดมั่นในการขับขี่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเมื่อเทียบกับความรู้สึกที่เราเคยสัมผัสใน  Mazda 2 แล้ว

เจ้า Mazda CX3 ดูมีความนิ่มนวลมากกว่าเล็กน้อย แต่ยังคงความรู้สึกสปอร์ต จากชุดโช๊คและสปริงที่ตอบสนองไว ไม่หวั่นแม้หลุมหรือรอยต่อถนน ส่วนหนึ่งมาจากชุดโช๊คที่น่าจะมีความยาวมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ยามที่ต้องใช้การลุย ซึ่งมาสด้าเปิดเผยว่า ในเจ้าอเนกประสงค์คันนี้ทางทีมวิศวกรรมีการออกแบบการตอบสนองของระบบกันสะเทือนใหม่หมด ทั้งชุดโช๊คและสปริง เพิ่มความมั่นใจมากกว่าในเจ้าซิตี้คาร์ รวมถึงในส่วนของระบบกันสะเทือนยังมีการปรับจุดยึดของระบบช่วงล่างทอร์ชั่นบีมใหม่ ลดอาการเหวี่ยงทางด้านท้าย ซึ่งก็พอจะสัมผัสได้เมื่อทางโค้งอยู่ข้างหน้าและผมแอบเข้าโค้งยาวๆโดยมีผู้โดยสารสามคน พร้อมสัมภาระเต็มรถ ด้วยความเร็ว 130 ก.ม./ช.ม. เจ้า Mazda CX3 ก็ไม่ออกอาการน่าเป็นห่วงแม้แต่น้อย

 

ถนนด้านหน้าโล่งเหนือคำบรรยาย มาสด้าพาเรามาถนนใหม่ที่ยังไม่มีแม้แต่บนแผนที่ระบบนำทาง Google ว่างโล่งแบบนี้...มันน่านักที่จะลองทดสอบอัตราเร่ง เราเตือนผู้โดยสารในการทำอัตราเร่งและเมื่อทุกอย่างพร้อมก็ได้เวลา เหยียบเต็มบาทาลงไปบนคันเร่ง น่าแปลกที่การตอบสนองตอนออกตัวเหมือนมีสะดุดหนึ่งจังหวะ แทนที่จะพุ่งออกไปทันที แต่เมื่อเจ้าเสือตอบสนองเสียงเครื่องที่เร้าใจในสไตล์ High Performance Engine ก็พาเราสนุกสนานเร้าใจเร้าอารมณ์ “Feel the Drive” แบบที่มาสด้า กล่าวเป็นสโลแกนในการทำตลาด เราเร่งไม่นานก็มาถึงความเร็ว   100  ก.ม./ช.ม. จับเวลาคร่าวๆ จาก GPS ได้ 11.0 วินาที ส่วนอัตราเร่ง 80-120 ก.ม./ช.ม. ทำเวลาได้ 7.0 วินาที

ถนนยังโล่ง เราใช้ความเร็วต่อเนื่อง ในช่วงความเร็วสูงเจ้าอเนกประสงค์ Mazda CX3 ยังวางใจได้ ช่วงล่างของมันเกาะถนนหนึบแน่น ไม่มีอาการวาบหวิวให้เห็นแม้แต่น้อย จวบจนเรามาถึงความเร็วสูงสุด 185 ก.ม./ช.ม. เจ้าเสือร้ายก็ยังมั่นใจไม่ออกอาการพร้อมทะยานเหินหาวให้เห็น

ความเร็วสูงสุดใน  Mazda Cx-3

เปลี่ยนคนขับระหว่างทางผมตัดสินใจ ลงไปนั่งเบาะตอนหลังอันคับแคบ แม้ว่าจะต้องยอมรับ ที่วางขาเล็กไปหน่อยผิดกับห้องโดยสารที่ดูกว้างขวางกว่ามาก แต่ท่านั่งตอนหลัง Mazda CX3 ก็ดีไม่แพ้กับคู่แข่งขันมัน น่าเสียดายที่ท่านั่งที่ดีในระกับที่น่าพอใจ จะดีกว่านี้ ถ้าทางมาสด้าจัดการทำให้พนักผิงหลังสามารถปรับเอนได้อีกสักสเตป  รวมถึงเรามาสังเกตจริงจังอีกอย่างว่าพวกเขาไม่มีที่พักแขนของเบาะนั่งตอนหลัง ส่งให้เจ้า   Mazda CX3 เสียแต้มเรื่องความสบายลงไปอย่างน่าเสียดาย

ถึงจะเสียแต้มเรื่อความสบายในห้องโดยสาร ทว่าระหว่างการโดยสารขึ้นดอยอินทนนท์ ทางอันคดเคี้ยวเริ่มโชว์ศักยภาพในการโดยสารของรถที่นั่งได้อย่างสบาย ความจริงแล้วด้วยระยะต่ำสุด ที่สูงเพียง 160 มม. ช่วยให้ความรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงในระหว่างการขับขี่ โดยเฉพาะยามเข้าโค้งน้อยกว่าอเนกประสงค์ในกลุ่มเดียวกัน และมันช่วยให้สบายในยามเดินทางมากกว่าคู่แข่งที่มีในตลาดเสียอีก

Bonn  นักทดสอบรถยนต์ Autodeft.com

ความน่าประทับในในการโดยสาร ตลอดทางขึ้นดอยอินทนนท์ ทำให้เราเริ่มอยากรู้สมรรถนะการขับขี่อันแท้จริงของเจ้าอเนกประสงค์คันนี้ อะไรเลย จะดีกว่าการที่มันจะต้องพิสูจน์ตัวเองบนขุนเขา ในเส้นทางขาลงดอยอินทนนท์ที่อุดมด้วยโค้งมากมายหลากรูปแบบรอพิสูจน์สมรรถนะเจ้า Mazda CX3

สลับกลับมาขับอีกครั้ง ผู้โดยสารอีก 2 คน รู้ชะตากรรมตัวเองเมื่อผมมาอยู่หลัง พวงมาลัยว่ามันไม่ต่างจากพวกเขาขึ้นเครื่องเล่นรถไฟเหาะดีๆนี่เอง ข้อดีของ Mazda CX3 อย่างหนึ่งที่ผมเห็นได้ทันที่ที่คุณต้องกาอะไรที่เร้าใจเร้าอารมณ์ ก็ไม่พ้นเรื่องของโหมดการขับขี่ มันมีโหมดสปอร์ตให้ได้ใช้ ซึ่งโหมดดังกล่าว จะตอบสนองต่อระบบส่งกำลังที่จะพาเร่งรอบยาวไปยังเส้นแดง และยังตบเกียร์ช้ากว่าในบางจังหวะ เพื่อสนองต่อการใช้เบรกจากกลไกเครื่องยนต์ หรือ  Engine Brake มาเพิ่มความรู้สึกสปอร์ตในการขับขี่

เริ่มโค้งแรกความสนุกสนานก่อตัวขึ้น หลังเราเหวี่ยงเข้าโค้งในเจ้าอเนกประสงค์คันนี้ที่มาพร้อมระบบพวงมาลัยที่ตอบสนองในการขับขี่ที่ดี แต่สิ่งที่น่าชมเชยมากกว่าสมรรถนะของตัวรถ คงหนีไม่พ้น เรื่องการจัดแจงท่านั่งตามวิชา Driving Ergonomic ของ Mazda มันเป็นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้ขับขี่สบายที่สุดในระหว่างที่พวกเขากำลังขับรถ ไร้แรงกดทับ อันจะก่อให้เกิดความเมื่อยล้า ตามจุดหรือข้อพับต่างๆ ช่วยให้ผู้ขับขี่ขับรถได้อย่างสบาย ทั้งยังควบคุมรถได้ดี

จุดหนึ่งที่ต้องออกปากชมเชยทีมออกแบบภายในมาสด้าเลย ก็ไม่พ้น การปรับแป้นเบรก และรวมถึงมาสด้ายังใช้แป้นคันเร่งแบบ Organ Type  ต่างจากค่ารถยนต์ญี่ปุ่นอื่นๆที่มีในตลาดปัจจุบัน การให้คันเร่งแบบนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมคันเร่งให้มาเถียรภาพมากกว่า คันเร่งแบบปกติ รวมถึงการเปลี่ยนและจัดวางตัวแป้นเบรกใหม่ ทำให้สามารถควบคุมจังหวะเบรกได้ง่ายขึ้น

คุณอาจจะไม่รู้สึก ถ้านำ Mazda CX-3 มาขับเล่นมุ้งมิ้งขี่ในเมือง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีโอกาส ไปฟัดทางโค้ง จะเห็นความแตกต่างของท่านั่งในรถยนต์ทั่วไปกับ ท่านั่งที่มีการปรับปรุงมาแล้วในมาสด้า

....ตอนนี้คนข้างๆ หยิบยาดมขึ้นมา บอกถึงอาการเมารถปนเสียว ...ผมกำลังสนุกกับทางโค้ง แต่ก็ต้องห่วงสวัสดิภาพของคนในรถ ..”ไหวไหม เกรท” ผมพูดกับน้องจากเว็บ Mthai.com ที่จองเบาะหน้า เพิ่มความมันส์ในการเดินทาง

เสียงแปลกๆ ดังมาจากข้างหลัง ...ให้ตายสิ บิ๊กไบค์ ...ห้อแซงอย่างไวในช่วงทางตรงสั้นๆ ..ศึกความเร็ว บนทางเขา จึงเกิดขึ้นขับเอามันส์ วัดสมรรถนะที่สุดของ Mazda CX -3

จินตนาการถึงยามกลางวัน ท่ามกลางธรรมชาติ บนถนนสองเลนสวน โดยมีการ์ดเรลที่ทางโค้ง มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ฮ้อตะบึงด้วยความเร็วแล้วแบน เข้าโค้งไป แต่ที่คุณจะไม่คิด คือเจ้า Mazda CX-3 ตามเจ้าสองล้อประมาณ ช่วงคันรถอย่างบ้าคลั่ง !!! แต่ไม่ใช่เพราะมีเรื่องกัน แต่สนุกสนานกับความมันส์ทางโค้ง ได้ไม่ต่างกัน

การขับด้วยความเร็วเกิน 120 ก.ม./ช.ม. บนเส้นทางแบบนี้คงไม่มีใครทำกันเป็นแน่ แต่เจ้าเสือเล็กที่มาพร้อมเสียงเครื่องเร้าใจ ก็พาเรามันส์ในการขับขี่ เราทำความเร็วบนทางแบบนี้เฉลี่ยที่ 140 ก.ม./ช.ม. ไล่บิ๊กไบค์ ซึ่งเขาคิดว่า เขาคงเร็วมากพอแล้วไม่น่าจะมีรถอะไรที่มาตามทันได้ แต่ก็คงแปลกใจไม่น้อย เมื่อมองกระจกมองข้างแล้วพบว่าเจ้าเสือร้ายคันนี้ยังตามเขาได้...อย่างไม่ลดละ

แม้จะกดเข้าโค้งที่ความเร็ว 130 ก.ม./ช.ม. ในเส้นทางโค้งแคบๆ มีเสียงยางบดกับโค้ง บอกถึงสมรรถนะที่ยังวางใจได้ แสดงว่ามันไปได้อีก แม้ว่าจะเป็นช่วงล่างแบบซิตี้คาร์บ้านๆ ที่เรารู้จักกันดี แต่ก็เกาะโค้งหนึบแน่นเป็นตุ๊กแก เจ้าบิ๊กไบค์ยังคงพยายามวาดลีลาแบนโค้งหน้าเราด้วยความเร็วต่อไป เส้นทางลงเขาดอยอินทนนท์นี้ก็ไม่ใช่หมูๆ ผมยอมรับว่า นักขี่ท่านนี้มีทักษะพอตัว ดูจากการโยกรถของเขา

แต่เจ้าเสือเราก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน พวงมาลัยที่ควบคุมอย่างแม่นยำ บวกการจัดท่านั่งคนขับทีทำให้ให้ควบคุมคุม และเมื่อมันฟิวชั่นกับระบบกันสะเทือนที่ไว้ใจได้ ปละเครื่องยนต์ที่มีความเร้าใจทั้งสมรรถนะและซุ่มเสียงยามคุณกระแทกคันเร่งลงไป คอมบิเนชั่นนี้จากมาสด้า ก็ทำให้เราเข้าใจความหมายของ Feel The Drive มากขึ้น มันทำให้เราฮึกเหิมในการขับขี่ ผมทำเรื่องที่หลายคนไม่คาดคิด เข้าโค้ง S แคบๆ ที่นี่ด้วยความเร็ว 140 ก.ม./ช.ม. และต่อด้วยโค้งซ้ายแคบๆที่ความเร็วๆ 150 ก.ม./ช.ม. เจ้าเสือเริ่มออกอาการท้ายไหล (Over Steer) เล็กน้อย หมายถึง เกินที่ช่วงล่างหลังจะรับได้แล้ว แต่เส้นวินาทีนั้น คุณก็ไม่ต้องกังวลว่าจะตกเขา หรือเป็นเจ้าป่าเฝ้ารถที่นี่ เพราะระบบควบคุมการทรงตัวรี่เข้ามาช่วยในการตอบสนองอย่างรวดเร็ว  

 

 Mazda CX-3  เสือร้ายน้องเล็ก ..ดีกรีดุ ...ขับมันส์

 

คาดไม่ผิด!!! นี่คือสิ่งที่ผมคิดอย่างแรกตอนลงจากรถ Mazda CX -3 ใหม่ ซึ่ง ตั้งแต่ที่มันเปิดตัวออกมา เพียงดูจากรายละเอียดทางเทคนิค ก็พอจะบอกได้แล้วว่ารถอเนกประสงค์คันนี้ น่าจะมีบุคลิกออกมาเป็นอย่างไร แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

ความโดดเด่นที่สำคัญของเจ้า Mazda CX -3 คงหนีไม่พ้นการออกแบบที่มีความลงตัวมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับ มาสด้า 2 หรือ มาสด้า 3 แต่ด้วยการยัดส่วนผสมเข้ามาระหว่างมาสด้า 3 และ 2 แล้วยกสูงเล็กน้อยให้ดูมีความเป็นอเนกประสงค์มากขึ้น ทำให้บางครั้งเจ้าเสือคันนี้ยังดูเหมือนมาสด้า 2 ยกสูงมากไป หน่อย แต่ในภาพรวมเส้นสายการออกแบบก็น่าพอใจ

ภายในห้องโดยสารที่คล้ายมาสด้า 2 ถือว่ารับได้ เช่นเดียวกับการโดยสารตอนหน้าที่ทำออกมาได้ดี ทั้งคนขับและคนนั่ง โดยเฉพาะคนขับ การออกแบบจัดว่างท่านั่งต่างๆ ถือว่ามีส่วนมากที่ทำให้ใครที่ขับเจ้า Mazda CX -3 จะให้คะแนนการขับขี่มันดี ด้วยองค์ประกอบที่ใช้งานได้ง่ายมาก ยิ่งถ้าเป็นคนขับรถประจำ รักการขับรถ จะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง อย่าคิดว่าแค่เปลี่ยน แป้นเบรกและคันเร่ง มันดีขนาดนั้นเลยหรือ ... คำตอบคือมันดีจริงๆ เป็นแนวคิดที่นาทีนี้กล้าพูดว่า อยากให้ค่ายรถยนต์รายอื่น เอาความคิดนี้ไปพัฒนาต่อยอดด้วยซ้ำไป

แม้ว่าด้านหน้าจะได้คะแนนดีหมดทุกประการ แต่เรื่องที่ต้องติติงเลย และไม่ใช่เพียงผม แต่แม้แต่คนทั่วไปที่สนใจแล้วไปดู Mazda CX -3 พูดเป็นเสียงเดียวกัน คือเบาะตอนหลังจะแคบไปไหน .. ซึ่งในระหว่างช่วงถาม-ตอบหลังการขับทดสอบ ทางทีมออกแบบมาสด้า ยอมรับว่ารถคันนี้ พวกเขาให้ความสำคัญกับการโดยสารตอนหน้ามากกว่าตอนหลัง แล้วด้วยการออกแบบที่ดูเป็นสปอร์ตทำให้รถออกมาเป็นสไตล์ดังกล่าวอย่างที่เห็น....

ส่วนเรื่องระบบ Cruise Control ที่ไม่มีมาให้ ในมุมมองของการใช้รถอเนกประสงค์ดูเหมือนว่า มาสด้าน่าจะลองพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากรถประเภทนี้ส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อเดินทางไกล ดังนั้นระบบ Cruise Control น่าจะเป็นออพชั่นที่จำเป็นในการขับขี่ ส่วนตัวหวังมีเป็นออพชั่นเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าที่ต้องการก็ยังดี

อย่างไรก็ดี แม้จะขาดบางออพชั่นอยู่พอสมควรแต่ท้ายที่สุดแล้ว เจ้าเสือร้ายคันนี้ลงตัวมากกว่าคู่แข่ง ด้วยสมรรถนะที่ไม่เป็นสองรองใครในตลาด มันมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรมีสมรรถนะมากที่สุดในกลุ่ม และยังมีเสียงอันไพเราะเสนาะโสต จนกล้าพูดว่า ถ้าใครได้ขับจะติดใจเสียงเครื่องยนต์มาสด้าที่เร้าใจเร้าอารมณ์

ตลอดจนระบบกันสะเทือนที่เซทมาในเจ้า  Mazda CX -3 ก็ลงตัวมากขึ้น เทียบกับรุ่นอื่นๆ ในตลาด รถคันนี้มีแรงเหวี่ยงในโค้งน้อยกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน อาจจะด้วยตัวตนที่ไม่ได้สูงมากมายจากเดิมในมาสด้า 2 มากนัก ทำให้คุณสามารถขับรถคันนี้ได้ด้วยวิธีเดียวกับการขับรถเก๋ง แถมระบบกันสะเทือนยังมีการตอบสนองค่อนข้างว่องไว และด้วยโครงสร้างน้ำหนักเบาจาก  Mazda Sky Activ Technology  ไม่แปลกใจเลยที่รถคันนี้จะมีดีมากมาย เมื่อเราพูดถึงสมรรถนะในการขับขี่

 

ตัวตน Mazda CX-3 ชัดเจนว่า เจ้าเสือคันนี้คือที่สุดของความสปอร์ต เมื่อมองรถยนต์อเนกประสงค์ในกลุ่มพิกัดไซส์เล็กมาใช้งาน ข้อดีของรถคันนี้คงหนีไม่พ้นสมรรนถะและการออกแบบจากมาสด้าที่โดดเด่นและจับใจขึ้นมาทันใดเมื่อมีโอกาสสัมผัส แต่ในอีกด้านมาสด้ายังต้องทำการบ้านเรื่องของฟังชั่นการใช้งานที่ต้องตอบโจทย์มากกว่า โดยเฉพาะความสะดวกสบายของการโดยสารเบาะนั่งตอนหลัง

 

 

 

รถทดสอบ Mazda CX3 2.0 S

ราคาจำหน่าย 975,000 บาท

 

สิ่งที่ชอบ >>> การออกแบบที่น่าดึงดูดของตัวรถ และสมรรถนะที่เร้าใจจากเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ตลอดจนช่วงล่างที่วางใจได้ แม้คุณจะเข้าโค้งบนเขาที่ความเร็ว 150 ก.ม./ช.ม. ก็ตาม

สิ่งที่ไม่ชอบ >>> เบาะนั่งตอนหลังที่ค่อนข้างแคบไปนิดเมื่อเทียบว่านี่คือรถที่คุณอาจจะต้องขนเพื่อไปต่างจังหวัด และพื้นที่เก็บสัมภาระที่ค่อนข้างน้อยไปนิดหน่อย รวมถึง เบาะนั่งตอนหลังไม่สามารถปรับเอนได้ และ ยังขาดพวกระบบช่วยในการขับขี่อย่าง  Cruise Control   

สิ่งที่อยากให้มี >>> ระบบ  Cruise Control , Paddle Shift   และเบาหลังที่สามารถปรับเอนได้

คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจ >>>  ถ้าจะซื้อ Mazda CX-3 ให้แน่ใจว่า คุณซื้อเพราะความชอบจากการออกแบบและสมรถนะของมัน แต่ถ้ามองหาความสบาย เพียงต้องการเผื่อไว้เอาใจเพื่อน เจ้าเสือคันนี้อาจจะไม่ใช่โจทย์ของคุณ

 

 

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@nattayodc)

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

[GALLERY1801]

5 เรื่องน่าสนใจ