Test Drive: รีวิว ทดลองขับ All New Honda City TURBO SV อีโค่คาร์แรงขั้นเทพ ขับแบบเซฟก็ประหยัดได้
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 22 ม.ค. 63 00:00
- 35,267 อ่าน
ถ้าเราเอ่ยชื่อถึงรถยนต์อย่าง Honda City สมองเราก็จะสั่งการบอกว่ารถยนต์รุ่นนี้มันเป็นรถขนาด City Car (หรือจะเรียกว่า B-Segment ก็ไม่ว่ากัน) ในระดับราคา 6-9 แสนบาท ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ระดับ 1,500 ซีซี ด้วยความที่รถยนต์รุ่นนี้อยู่กับเรามายาวนาน ตั้งแต่รุ่นแรกที่นำมาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 (ค.ศ. 1996) ถ้านับถึงปีนี้ก็ครบรอบปีที่ 24 ปีพอดี ถ้าเป็นอายุคนก็หนุ่มวัยฉกรรจ์เลย
แต่ถ้าย้อนถอยกลับไปตอนที่นำเข้ารถยนต์อย่าง Honda City เข้ามาอย่างเป็นทางการโดย ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย โฉมนั้นไม่ใช่โฉมแรกของรุ่นนี้เลย แต่ถือเป็นโฉมที่ 3 แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะฮอนด้า ซิตี้ ก็โกยยอดขายไปเป็นว่าเล่น และต้องขอบอกว่า ช่วงแรกที่ขายในเมืองไทยนั้น Honda City ยังใช้งานเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตรอยู่เลย ก่อนที่ช่วงปลายโฉม เริ่มจะมีตัวเลือกมาเป็นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรด้วย นั่นแหล่ะคือจุดเริ่มต้นการเลือกใช้งานเครื่องยนต์ขนาดนี้จนมาถึงโฉมที่ 4 (ของเมืองไทย โฉมที่ 6 ของโลก) ก่อนโละทิ้งไปเมื่อปีที่แล้ว
ขยับมาจนถึงปลายปีที่แล้ว (ค.ศ. 2019) ฮอนด้าได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ กระโดด (หรือปรับลดดี) ข้ามเข้ามาเล่นในตลาด Eco Car เพิ่มขึ้นอีก 1 รุ่น ถึงแม้ว่าตัวเองจะมีรถยนต์กลุ่มนี้อย่าง Honda Brio และ Brio Amaze อยู่แล้ว แต่ก็ต้องเข้าใจว่าตลาดนี้มันเถื่อน ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้ (หมู่เชียรไม่ได้กล่าว) เพราะแต่ละค่ายก็งัดเอาไม้เด็ดของตัวเองมาอัดเต็มที่ ใส่ลงบนรถยนต์ Eco Car ของตัวเองอย่างไม่ยั้ง มองไปแต่ละค่ายคู่แข่งแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเสียบ้าง อาจจะหาที่ยืนบนตลาดนี้ได้ลำบากจริง ๆ
แน่นอนว่า เมื่อ Honda City ตัดสินใจกระโดดเข้ามาอยู่ในกลุ่ม Eco Car ด้วยอีกคัน ย่อมนำมาซึ่งเสียงฮือฮากันอย่างเต็มที่ เพราะเอาเข้าจริงพอเข้ามาปั๊บ ก็กลายเป็นรถอีโค่คาร์ที่ขนาดใหญ่ลำดับต้น ๆ ในทันที สร้างความดึงดูดใจให้กับคนที่กำลังเลือกซื้อรถในกลุ่มนี้อยู่พอดี จึงทำให้เมื่อไหร่ที่ทีมงาน AUTODEFT ลงข่าวเรื่องนี้ทีไร ก็เรียกยอดการอ่านได้อย่างมากทุกครั้งไป
ถึงแม้นว่า AUTODEFT จะมีการรีวิว ทดสอบ All New Honda City ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ตามมาอ่านได้ที่ Test Drive: รีวิว ทดลองขับ All New Honda City สัมผัสแรกกับเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร VTEC TURBO พร้อมความสบายเกินคาด!!) แต่มันก็เป็นเพียงระยะทางสั้น ๆ ยังไม่หนำใจ โชคดีที่ทาง ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ได้มีการจัดทริปทดสอบแบบกลุ่มขึ้นมาอีกครั้ง โดยรอบนี้เรามีเส้นทางในการทดสอบอยู่ในจังหวัดเชียงราย เส้นทางจะมีทั้งแบบเรียบกับบนภูเขาอย่างแน่นอน เข้าใจได้ว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนี้ เพราะยังมีหลายคนมีทัศนคติที่ว่า “รถ Eco Car มันจะวิ่งขึ้นเขาไหวได้ยังไง”
ในทริปนี้ทางฮอนด้าได้จัดให้สื่อมวลชนได้ทำการทดสอบกัน 2 รุ่น คือ All New Honda City Turbo RS กับรุ่น SV โดยผมนั้นได้โอกาสในการขับรุ่น SV ซึ่งเป็นตัวรองท็อป หรือจะเรียกเป็นรุ่นท็อปตัวปกติ (ไม่ใช่ตัวแต่ง) ก็ได้ ดังนั้นข้อมูลการขับขี่และสเปกทั้งหมดที่เอ่ยในการรีวิวครั้งนี้ จะเป็นรุ่นนี้เท่านั้นครับ ก่อนจะเริ่มสัมผัสและทดลองขับกัน เรามาทำความรู้จักและรับทราบข้อมูลของ All New Honda City Turbo SV กันก่อนดีกว่า เครื่องยนต์นั้นเป็นเบนซินดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) 3 สูบ 12 วาล์ว VTEC TURBO ขนาด 1.0 ลิตร หัวฉีดมัลติพอยท์ PGM-FI ระบบควบคุมการเปิด-ปิดลิ้นปีกผีเสื้อแบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBW) สามาถสร้างแรงม้าได้ 122 ตัว มากที่สุดในกลุ่มอีโค่คาร์ด้วยกันแล้ว (มาทีหลังดังกว่า) แรงบิด 173 นิวตันเมตร ที่ฮอนด้าบอกว่า แรงเท่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แต่กินน้ำมันเท่าเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร (จริงเปล่าเดี๋ยวมาดูกัน) ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ CVT มีโหมด S เพิ่มความสนุก ไม่มี Paddle Shift ที่พวงมาลัย โดยอัตราการใช้น้ำมัน ดูตาม Eco Sticker ในเมืองได้ 21.7 กิโลเมตร/ลิตร นอกเมืองได้ 25 กิโลเมตร/ลิตร และเฉลี่ยรวม 23.8 กิโลเมตร/ลิตร (ทดลองในห้องปฏิบัติการณ์) รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ได้สูงสุดแค่ E20 เท่านั้นจ้า
สิ่งที่ All New Honda City Turbo SV ใส่มาอีกอย่าง ที่แปลกไปกว่ารถยนต์ที่ใส่ Turbo ในรุ่นอื่น ๆ ก็คือการใส่ Inter-Cooler ระบายความร้อนให้กับเทอร์โบนั้น ก็คือการระบายความร้อนด้วยน้ำ ต่างจากรุ่นอื่นที่ใช้การระบายความร้อนด้วยลม ซึ่งทางฮอนด้าบอกว่าจะระบายความร้อนได้เร็วกว่าแบบอากาศ การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก โดยใต้ฝากระโปรงจะมีหม้อเติมน้ำให้ 2 ตัว คือสำหรับหม้อน้ำตามปกติ และสำหรับระบายความร้อนให้ Turbo เราก็แค่ดูให้น้ำอยู่ในระดับที่แนะนำ เท่านี้ก็ใช้งานได้ปกติแล้ว
มิติของตัวรถ All New Honda City Turbo SV นั้น ความยาว 4,553 มม., ความกว้าง 1,748 มม., ความสูง 1,467 มม., ฐานล้อกว้าง 2,589 มม. ใต้ท้องรถสูงจากพื้น 135 มม. ช่วงหน้าด้านหน้าใช้เป็นแบบ แม็กเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังยังเลือกใช้งานเป็นแบบคานเหล็กทอร์ชั่นบีม ล้อเป็นแม็กซ์อัลลอยขนาด 15 นิ้ว สี 2 โทน (เงิน-ดำ) ติดมาพร้อมยางขนาด 185/60R15 มียางอะไหล่ให้ที่ท้ายรถ พวงมาลัยเป็นแบบไฟฟ้า (EPS) วงเลี้ยวแคบสุด 5 เมตร ส่วนเบรกนั้น ยังคงให้มาเป็นเบรกดิสก์ด้านหน้า และดรัมเบรกด้านหลัง โดยทางทีมวิศวกรจากญี่ปุ่นให้เหตุผลที่ยังคงใส่ดรัมเบรกมาลงที่ล้อหลังเนื่องมาจากไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนักรถให้มากกว่านี้ และผมยังเชื่อด้วยความเห็นส่วนตัวอีกว่า น่าจะเป็นการควบคุมต้นทุนให้ต่ำสุดอีกด้วย แต่การใช้ดรัมเบรกไม่ได้หมายความว่ามันจะทำให้การเบรกมีประสิทธิภาพลดลงนะ
ด้านหน้าของ All New Honda City Turbo SV ออกแบบให้คล้ายกับการจับเอา Honda Accord มาย่อให้แคบลง มีแถบทึบด้านบนที่ติดกับของฝากระโปรงหน้าสีเงินขนาดหนาแบบเดียวกับบน Accord ไฟหน้าใช้โคมไฟ แบบ หลอด HID โคมแบบโปรเจคเตอร์ ตัดขอบแนวบนโคมด้วยไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED (Daytime Running Light) ด้านท้ายเป็นชุดแผงไฟ LED ติดผสมกันระหว่างตัวฝากระโปรงกับตัวถังรถ
ขยับมาภายในบ้าง All New Honda City Turbo SV เลือกการหุ้มเบาะเป็นทูโทน (ไอเวอรี่/ดำ) ปรับด้วยมือ ปรับสูงต่ำได้ วัสดุเป็นหนังแท้และวัสดุหนังสังเคราะห์ผสมผสานกันในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป คอนโซลหน้าใช้เป็นวัสดุ PP สีดำเสริมด้วยวัสดุ Piano Black และหนังสังเคราะห์เพิ่มความหรูหรา หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ (Multi-Information Display) เป็นแบบ Analog มาตรวัดเข็มทั้งวัดรอบและความเร็ว มีเป็นช่อง Digital แทรกกลางบอกข้อมูลอื่น ๆ พวงมาลัยปรับระดับ 4 ทิศทาง พร้อมปุ่ม Multi-Function ควบคุมเครื่องเสียงและรับ-วางโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อ สตาร์ทรถด้วยปุ่ม Push-Start ใช้งานคู่กับกุญแจรีโมทพร้อมสวิตช์เปิดฝากระโปรงท้าย ที่ก้านคันเกียร์เป็นแบบโยกหุ้มด้วยหนังเทียม มีปุ่ม ECON ช่วยลดการใช้งานเชื้อเพลิงและปุ่มสวิตช์ เปิด-ปิด ระบบ Idle Stop
All New Honda City Turbo SV ให้ระบบปรับอากาศมาเป็นแบบอัตโนมัติ หน้าจอกลางแสดงผลระบบ Infotainment แบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว Advanced Touch รองรับ Apple CarPlay เชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth, USB มีมาให้ 2 ช่องใต้คอนโซล ลำโพงจัดมาให้ 4 ตำแหน่ง ส่วนระบบความปลอดภัยที่ใส่มาใน All New Honda City Turbo SV มีทั้งถุงลมนิรภัย 4 ตำแหน่ง, ระบบป้องกันล้อล็อกและระบบกระจายแรงเบรก (ABS & EBD), ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA), ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA), สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS), กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ, ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer พร้อมระบบสัญญาณกันขโมย
อีกออพชั่นใหม่ที่เสริมเข้ามาใน All New Honda City Turbo ทุกรุ่นนั้น ก็คือระบบเตือนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอัตโนมัติ ที่ไม่ได้ดูตามระยะทาง แต่จะดูตามคุณภาพจริงของน้ำมันเครื่องที่ใช้อยู่ โดยตัว ECU จะเอาค่าการหมุนรอบของเครื่องยนต์, ค่า Engine Load, ค่าอุณหภูมิน้ำ และค่าอุณหภูมิเครื่องยนต์มาคำนวน ถ้าได้ค่าที่ผิดปกติไป หน้าจอจะแจ้งให้เข้าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทันที โดยวิศวกรของฮอนด้าที่มาจากญี่ปุ่นนั้น ได้ให้เหตุผลว่า การขับขี่แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน รวมทั้งสภาวะแวดล้อมแต่ละการขับขี่ก็แตกต่างกัน ดังนั้นน้ำมันเครื่องจะมีระยะทางหรือระยะเวลาในการเสื่อมที่แตกต่างกันไปด้วย การใช้ระยะทางเป็นตัวกำหนดจึงอาจจะเสี่ยงทำให้เกิดการสึกหรอมากกว่าปกติได้ หรือเปลี่ยนเร็วเกินไปก็ได้ ดังนั้นระบบนี้จะช่วยตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
เอาล่ะ ข้อมูลรู้มาพอสมควรแล้ว ได้เวลาในการเดินทางทดสอบรถยนต์ All New Honda City Turbo SV กันได้แล้ว เส้นทางในการทดสอบวันนี้ จะเป็นการเริ่มต้นจากแถว อ. เมือง จ. เชียงราย วิ่งขึ้นไปทางชายแดนไทย-ลาว แถว อ.เชียงของ ระยะทางประมาณเกือบ 100 กิโลเมตร กลับทางเดิมก็จะรวมประมาณ 200 กิโลเมตร มีผู้ร่วมเดินทาง 2 คน ดังนั้นจึงแบ่งกันคนละขา ผมรับหน้าที่ในการนั่งขาไป และขับขากลับ เส้นทางก็มีทั้งทางเรียบ ทางภูเขา ทางตรง และทางโค้งบนภูเขา ถือว่าเป็นเส้นทางที่ครบครันทุกรูปแบบ ขาดไปก็แค่เพียงการวิ่งในเมืองเท่านั้น (ไม่เป็นไร เดี๋ยวเอามาลองอีกรอบ)
สัมผัสแรกในการนั่งคือ เออ มันนั่งกระชับตัวดีนะ จากการแนะนำตัวรถของวิศวกรที่มาจากญี่ปุ่นโดยตรง ได้บอกว่าตัวเบาะหน้า มีการปรับความกว้างให้แคบลง 60 มม. จากตัวโฉมเก่า ทำให้ตัวเบาะมีความกระชับมากกว่าเดิม ซึ่งมันก็กระชับขึ้นจริงนะ ขนาดผมตัวใหญ่ประดุจหมีตัวย่อม ยังนั่งกระชับสบายเลย เวลาเข้าโค้งตัวก็ยังยึดอยู่กับเบาะได้อย่างสบาย และสิ่งที่ปรับอีกคือตัวรางยึดเบาะ มีการขยายความห่างมากกว่าเดิม 25 มม. ทำให้มีช่องว่างในการวางเท้าของคนที่นั่งด้านหลังได้สบายกว่าเดิม ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง เพราะหลังจบการทดสอบ ผมก็ได้ไปลองนั่งดูข้างหลัง เออว่ะ มันยืดขาได้สบายมากกว่าเดิม (สูง 172 นะ) แต่ติดนิดเดียวตรงที่ว่า ช่องว่างระหว่างศีรษะกับเพดานรถมันเหลือนิดเดียว แต่เป็นการนั่งที่แบบหลังแนบเบาะหมดเลยนะ ผมว่าคนที่สูงระดับ 180 ซม.อาจจะมีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ผมได้สอบถามและแนะนำกับทางวิศวกรไปว่า มันเป็นไปได้ไหมที่จะเจาะเบาะให้ลึกลงไปอีกเพื่อให้ Head Room มันเหลือมากกว่านี้ ได้รับคำตอบมาว่า ไม่ได้แล้ว เพราะถ้าทำเบาะให้บางกว่านี้ จะทำให้คนที่นั่งด้านหลังได้รับแรงสั่นสะเทือนจากช่วงล่างมากเกินไป จะทำให้นั่งไม่สบาย แนะนำให้ขยับก้นไปด้านหน้าของเบาะเล็กน้อย หัวจะได้ห่างขึ้น เพราะ Leg Room หรือช่องว่างที่ขามันเหลือเยอะแยะอยู่แล้ว
ส่วนตำแหน่งการจัดวางของอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทั่ว ๆ ไปแหละ ไม่ได้พิเศษเหนือใคร แต่ที่ชอบที่สุดก็คงเป็นตำแหน่งของช่อง USB และช่อง 12V (หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่าช่องจุดบุหรี่) อยู่ในตำแหน่งใต้แผงควบคุมแอร์เลย มันเอื้อมเพื่อเสียบได้ง่ายทั้งคนขับและคนนั่ง มีให้ 2 ช่อง โดยช่องหนึ่งเอาไว้เชื่อมต่อกับหน้าจอได้ ส่วนอีกช่องเอาไว้ชาร์จไฟปกติ ไม่เหมือน Honda Civic รุ่น Hatchback ตัวก่อนที่เอาไปแอบไว้ใต้คอนโซลแบบลึกลับ ต้องก้มลงไปเสียบหรืออาศัยความเคยชินถึงจะเสียบได้ ย้ายมาไว้ตรงนี้แหล่ะแจ่มแมว
นั่งไปร่วม 100 กิโลเมตรแล้ว เริ่มเบื่อแล้ว ขากลับเรามาลุยกับการเป็นสารถีกันบ้างดีกว่า แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คนสงสัยว่า เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo ใน All New Honda City Turbo SV นั้น มันจะแรงพอเหรอ ยิ่งย้ายตำแหน่งของรถมาย่ำอยู่ในดินแดนของรถยนต์ Eco Car อีกด้วย สงสัยจะอืดแน่เลย อันนี้ขอบอกไว้เลยว่าอย่าคิดไปเองครับ เพราะจากสัมผัสแรกของการได้ทดลองขับในครั้งนี้ มันคือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของตลาดรถยนต์ Eco Car จริง ๆ เพราะเครื่องยนต์นั้นตอบสนองต่อเท้าของเราได้อย่างดี แน่นอนแหล่ะว่ามันไม่ได้กดเต็มเท้าแล้วรถกระชากแบบหน้าหงาย แต่สามารถพาเพิ่มความเร็วไปได้อย่างต่อเนื่อง เหลือเชื่อตรงที่ไม่มีอาการ Lag ให้เห็นเลย ถ้าเปรียบเทียบกับการที่ทดสอบ Honda Accord 1.5 Turbo แล้วจะเจอช่วง Lag เล็กน้อยช่วง 60-90 กม./ชม. ความเร็วขึ้นได้อย่างต่อเนื่องอย่างดี ถึงแม้เกียร์ที่ใช้จะเป็นแบบ CVT ก็ตาม แต่มันก็มีอารมณ์ประมาณเกียร์ Torque Convertor ได้เหมือนกัน เพราะเมื่อกดเท้าลงไปแบบเต็ม รอบเครื่องยนต์จะวิ่งไปชน Red Line ที่ประมาณ 5,500 รอบ ก่อนที่จะไหลกลับลงมาแล้วสลับขึ้นไปใหม่แบบนี้ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่บุคลิกของเกียร์ CVT เลย แต่เชื่อว่าคนออกแบบ (วิศวกรที่ดูแลเรื่องนี้เป็นนักแข่งด้วยนะ) จะอยากได้อารมณ์ประมาณรถซิ่ง เลยให้อาการสับเกียร์เป็นแบบนี้ แรงไม่แรงไม่รู้นะ แต่ผมเทส 0-100 ได้ประมาณ 10 วินาที และกดเต็มที่แบบยาว ไปสุดที่ราว 207 กม./ชม. ได้ (ล็อกไว้ที่ 210 กม./ชม.) และอย่าลืมว่า นี่คือรถในกลุ่ม Eco Car นะครับ ประเมินได้เลยว่าซัดแซงรถเครืองยนต์ 1,500 ซีซีอย่าง Honda City โฉมเก่าได้อย่างสบาย และอาจจะสูสีได้กับรุ่นพี่อย่าง Honda Civic 1.8 แต่อาจจะเกินกำลังมากไปหน่อยกับ Honda Civic 1.5 Turbo เพราะรอบนี้ลองออกตัวแข่งแล้วกับรถช่างภาพที่ใช้รุ่นนี้ สรุปว่าค่อย ๆ ฉีกออกไปทีละน้อย ตามไม่ทัน ฮ่า
ต่อมาที่ต้องพูดถึงคือเรื่องการควบคุมรถ โดย All New Honda City Turbo SV ถูกปรับจูนในเรื่องน้ำหนักของพวงมาลัยใหม่ให้มีน้ำหนักมากกว่าเดิม ถ้าใครเคยขับ Honda City โฉมก่อน จะรู้สึกว่ามันเป็นรถที่พวงมาลัยเบาหวิว มันขับสบายช่วงอยู่ในเมืองนะ แต่ช่วงวิ่งทางไกลแบบความเร็วสูงมันเบาไปไง ถึงแม้มันจะมีการเพิ่มน้ำหนักเข้ามาก็ตาม แต่ผมว่ามันก็เบาไปอยู่ดี แต่สำหรับในรถยนต์ใหม่ 2020 คันนี้ มันคือน้ำหนักที่ดีเลิศสำหรับการใช้งานความเร็วสูงอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หนักเกินไปในยามใช้งานในเมือง ยิ่งสายซิ่งแล้ว เจอพวงมาลัยในน้ำหนักขนาดนี้เข้าไป รับรองว่าต้องหลงรักอย่างแน่นอน แต่สำหรับสาว ๆ อันบอบบางอาจจะมีบ่นเล็กน้อยถ้าเคยชินมาจากโฉมเก่า แต่เชื่อว่ามันก็ไม่ได้หนักซะจนหมุนแล้วไขมันละลายได้แน่นอน ความแม่นยำก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ไม่ถึงกับคำว่าดีเลิศ แต่ควบคุมไม่ยากแน่นอน และดีเลิศกว่าตัวเก่าอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับการทรงตัวใน All New Honda City Turbo SV ก็ดีขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ถึงแม้จะขับด้วยความเร็วทางตรงระดับเกิน 160 กม./ชม. ตัวรถก็ยังนิ่งอยู่เลย มันคือรูปแบบในการขับรถอีโค่คาร์แบบใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ที่ผมเคยสัมผัสในรุ่นอื่น ๆ เกิน 140 กม.ชม. ก็รู้สึกตัวรถเบามากแล้ว การเข้าโค้งนั้นก็ทำได้ดี อาจจะมีบ้างที่เกิดอาการย้วยท้ายหรือท้ายไหนเล็กน้อยถ้าเข้าโค้งในช่วงใช้ความเร็วมากหน่อย แต่มันอยู่ในระดับที่ยอมรับได้เลย ยิ่งคนที่ขับรถแบบไม่รีบร้อนอะไร ไปเรื่อย ๆ รับรองว่าเอาอยู่ทุกโค้งอย่างแน่นอน
อีกเรื่องที่ต้องชมเลยของ All New Honda City Turbo SV คือเรื่องการเก็บเสียง เพราะเอาจริงเราจะรู้สึกว่าเสียงลมเริ่มเข้ามาในตัวรถให้เรารำคาญหูได้ ก็อยู่ในระดับเกิน 140 กม.ชม. ไปแล้ว และถึงความเร็วที่แตะ 200 กม.ชม. เสียงก็ดังขึ้นมาหน่อย แต่ยังสามารถคุยกันในรถได้อย่างไม่ต้องตะโกนคุยกัน ความดีงามนี้ทางวิศวกรญี่ปุ่นบอกว่า มาจากการอัดโฟม Polyurethane เข้าไป 2 จุดคือที่โคนเสา A และเสา B รวมทั้งยังมีการลดแรงสั่นสะเทือนด้วยการเพิ่มขนาดความหนาของแท่นรองใต้เครื่องยนต์ให้มากกว่าเดิม เป็นการลดได้ทั้งแรงสั่นสะเทือนและลดเสียงที่จะเข้ามาในห้องโดยสารได้พร้อมกัน อันนี้ดีจริง ขอบอก
แต่สิ่งหนึ่งที่ออกจะน่าห่วงสำหรับการใช้งาน All New Honda City Turbo SV ในการเดินทางลงจากภูเขา ก็คือเรื่องของการใช้ Engine Brake นั่นเอง ต้องบอกอีกครั้งว่า ในรถยนต์คันนี้จะไม่มี Paddle Shift เหมือนกับในรุ่น RS และที่คันเกียร์เองก็มีแต่เกียร์ S ให้ใช้งาน โหมด Manual ไม่มีให้ใช้ ผมมีการใช้งานโหมด S ในช่วงลงเขาแบบยาว ๆ ชัน ๆ อยู่บางช่วง สิ่งที่เจอก็คือมันไม่มีแรงดึงของ Engine Brake เลย ดังนั้นภาระหนักจึงตกไปอยู่กับการใช้เบรกอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจจะเกิดอาการเบรกไหม้ได้ถ้ามีระยะทางลงเขาที่มากกว่านี้ ดังนั้นถ้าใครอยากกจะขับรถคันนี้ขึ้นไปเที่ยวแถบภาคเหนือ หรือแถบที่มีทางลงเขาเป็นระยะทางยาว ๆ คงต้องระมัดระวังกันหน่อยครับ อย่าใช้ความเร็วสูง ค่อย ๆ ลงมา และคอยจับอาการของเบรกว่าเริ่มมีอาการ Fade เมื่อไหร่ (เหยียบเบรกแล้วรถหยุดได้ช้ากว่าเดิม) ให้รีบหาที่จอดแบบปลอดภัยเพื่อพักรถทันทีครับ
ขากลับของรอบนี้ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ผมได้ทำการกด Reset Trip เอาไว้ เพื่อหาอัตราสิ้นเปลืองเบื้องต้นว่าจะได้เท่าไหร่ โดยรอบนี้บอกได้เลยว่ากดกันยับ ซัดกันทุกรูปแบบ มีเทส 0-100 อีก 4 รอบ ระยะทางที่สรุปสุดท้ายประมาณ 90 กิโลเมตรได้อัตราการใช้น้ำมันอยู่ที่ราว 10.8 กิโลเมตร/ลิตร (เสียใจลืมถ่ายรูป) และมีการกด Reset อีกรอบเมื่อเหลือราว 10 กิโลเมตรก่อนถึงที่จุดหมายปลายทาง โดยวิ่งแบบชิว 80-90 กม./ชม.ไหลมาเรื่อย จับช่วง 6.1 กิโลเมตรแรกได้ราว 22.9 กิโลเมตร/ลิตร ก่อนที่จะติดไปแดง, รอกลับรถ เลี้ยวนั่น เลี้ยวนี่เพื่อเข้าที่พัก สรุปสุดท้าย 10.5 กิโลเมตรได้ที่ 18.2 กิโลเมตร/ลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยครับ ผมว่ากดกันแบบยับขนาดนี้ ได้อัตรานี้มา ได้ความแรงมาขนาดนี้ คงไม่ขออะไรมากกว่านี้อยู่แล้วครับ แต่อย่างที่บอกว่ารอบนี้เน้นการทดสอบ Performance เป็นสำคัญ ส่วนเรื่องอัตราประหยัด เอาไว้ผมยืมรถจากทางฮอนด้ามาทดสอบเดี่ยวอีกรอบ น่าจะได้อัตราที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่านี้ครับ
หลังจากการนั่ง-ขับมาด้วยระยะทางราว 200 กิโลเมตร สรุปได้ดังนี้ครับ
ชอบ
- เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo คือความดีงาม กำลังเครื่อง 122 แรงม้า แรงบิด 173 นิวตันเมตร ขับสนุกมาก เกินความเป็น Eco Car ไปเยอะเลย
- การเก็บเสียงที่ดีเลิศ วิ่งเร็ว 120 กม./ชม.ยังมีเสียงลมเข้าน้อยมากเลย
- ตัวรถนิ่งมาก เกินหน้าเกินตารถ B Segment ไปหน้าตาเฉย
ไม่ชอบ
- ระบบ Engine Brake ไม่มี ใส่ S แล้วลงเขาไม่มีแรงดึงเลย น่าจะมีโหมด L หรือ Manual Mode ให้สับลงมาเกียร์ต่ำได้หน่อย ไม่ต้องถึงขนาด Paddle Shift ก็ได้
All New Honda City Turbo SV ตั้งราคาจำหน่ายเอาไว้ที่ 665,000 บาท ออพชั่นมีมาให้ประมาณหนึ่ง อาจจะมีสิ่งที่แตกต่างจากตัวท็อปอย่าง All New Honda City Turbo RS บ้าง ทั้งชุดแต่สไตล์สปอร์ต, ล้อแม็กซ์ 16 นิ้ว (SV 15 นิ้ว) , Airbag 6 ลูก (SV 4 ลูก), ลำโพง 8 ตำแหน่ง (SV 4 ตำแหน่ง) รวมถึง Paddle Shift กับราคาที่ต้องเพิ่มเงินอีก 74,000 บาท ให้กลายเป็น 739,000 บาท แต่สำหรับผมมองว่า ถ้าเอาไปใช้งานทั่วไป ไม่ได้ต้องการเอาไปโชว์ใครที่ไหน หรือกะว่าจะเอาไปแต่งแบบเปลี่ยนนู้นนั่นนี่อยู่แล้ว เลือกรุ่นนี้ก็เพียงพอแล้วครับ เอาเงินส่วนต่างไปแต่งเพิ่มทั้งเปลี่ยนแม็กซ์ (สัก 17 นิ้วน่าจะหล่อดี), ติดสปอยเลอร์, สเกิร์ตในรูปแบบที่เราต้องการ เท่านี้ก็เจ๋งแล้ว เพราะที่โดดเด่นคือกำลังเครื่องยนต์มันมีมาเท่ากันอยู่แล้วในทุกรุ่น แต่ถ้าใครอยากซื้อทีเดียวแล้วจบ หล่อเลยแทบไม่ต้องแต่งเพิ่ม จัดตัว All New Honda City Turbo RS เลยครับ คุ้มแน่นอน
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com