‘มิชลิน’ ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยียางล้อขั้นสูงผ่านระบบจำลองเสมือนจริง เพื่อพัฒนายางล้อ (Tire-Development Simulation)
- โดย : PR Autodeft
- 20 พ.ค. 66 11:35
- 1,723 อ่าน
ในการพัฒนายางล้อสำหรับรถแข่งหรือรถสปอร์ตที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วไป ระบบจำลองเสมือนจริงถือเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่รถแข่งต้นแบบประเภท ‘ไฮเปอร์คาร์’ (Hypercar) ทุกคันที่ลงสนามแข่งรถรายการ ‘เลอ มังส์ 24 ชั่วโมง’ (Le Mans 24 Hours) ประจำปี 2566 จะได้รับการติดตั้งยางล้อซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบด้วยซอฟต์แวร์ระบบจำลองเสมือนจริง (Simulation Software) โดยเทคโนโลยีระบบจำลองเสมือนจริงถือเป็นส่วนสำคัญในความสัมพันธ์ของมิชลินกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากมีบทบาทที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนายางสมรรถนะสูงที่ใช้เป็นยางมาตรฐานติดรถ เมื่อนำการสร้างแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ (Mathematical Modelling) มาใช้ร่วมกับเครื่องจำลองเสมือนจริงทำให้สามารถกำหนดขนาดยางและเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ยางล้อซึ่งมีคุณลักษณะทางเทคนิคและคุณสมบัติในการกระจายน้ำหนักที่เหมาะกับรถยนต์รุ่นใหม่แต่ละรุ่นโดยเฉพาะ
บนฐานของเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลและอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง (Advanced Mathematical Algorithms) ระบบจำลองเสมือนจริงเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมสถานะความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลของมิชลินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยระบบจำลองเสมือนจริงไม่เพียงทำให้เกิดนวัตกรรมรองรับการสัญจรและการแข่งรถที่พัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้มิชลินทำงานร่วมกับพันธมิตรและผู้ผลิตยานยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้จริงเมื่อเทียบกับวงจรการพัฒนายางล้อแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลายาวนานกว่า
ในเชิงรูปธรรม เทคโนโลยีดังกล่าวจำลองความเป็นจริงของระบบพลวัต (Dynamic Reality) บนฐานการปฏิสัมพันธ์ของแบบจำลองดิจิทัล 3 ชุด โดยแบบจำลองชุดแรกถอดแบบลักษณะเฉพาะและคุณสมบัติด้านการยึดเกาะของสนามแข่ง, แบบจำลองชุดที่สองถอดแบบคุณสมบัติของระบบช่วงล่างรถ (หรือแม้กระทั่งตัวรถทั้งคัน) และแบบจำลองชุดที่สามถอดแบบพฤติกรรมของยางล้อในรายละเอียดทุกอณู ผู้ที่ควบคุมการขับขี่ในระบบจำลองเสมือนจริงสามารถทดสอบยางประเภทต่าง ๆ ผ่านการกำหนดค่า (Configurations) ที่มีให้เลือกมากมายหลายแบบเป็นพิเศษ
ก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการ ความประทับใจและความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ขับขี่จะถูกนำมาพิจารณาร่วมกับข้อมูล (Objective Data) ซึ่งบันทึกโดยเครื่องจำลองเสมือนจริงขณะผู้ขับขี่ใช้งานเสมือนขับรถยนต์จริงบนสนามแข่งจริง
เมื่อผู้ขับขี่ปรับตัวจนคุ้นเคยกับพัฒนาการทางดิจิทัลนี้แล้ว จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ขับขี่วัยหนุ่มสาวจะมีฝีมือการขับรถแข่งที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เก็บเกี่ยวทักษะที่เกี่ยวข้องกับระบบจำลองเสมือนจริงไปด้วย จึงเท่ากับเป็นการเชื่อมโยง “โลกจริง” และ “โลกเสมือน” เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกสำหรับเทคโนโลยีระบบจำลองเสมือนจริง
การเข้าซื้อกิจการ Canopy Simulations…ผู้นำระดับโลกด้านระบบจำลองการทำเวลาต่อรอบเสมือนจริง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มิชลินได้เข้าซื้อกิจการของ Canopy Simulations ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านระบบจำลองการทำเวลาต่อรอบเสมือนจริง บริษัทสัญชาติอังกฤษแห่งนี้เป็นผู้ทำตลาดอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ระบบจำลองเสมือนจริงที่ล้ำสมัยมากที่สุด โดยระบบจำลองเสมือนจริงของ Canopy Solutions ซึ่งทำงานบนระบบคลาวน์ ผสานสนามแข่ง รถแข่ง และรุ่นยาง เข้ากับฟังก์ชั่นขั้นสูงในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ที่เหมาะสม (Trajectory Optimization) เพื่อแสดงผลการจำลองเสมือนจริงตามการป้อนข้อมูลของ “คนขับเสมือน” (Virtual Driver)
โดยระบบมีการพัฒนาและนำโมเดลคนขับหลายรูปแบบที่มีรายละเอียดแตกต่างกันมาพิจารณาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนายางล้อสำหรับถนนทั่วไปและสนามแข่ง ดังนี้
Ÿ เมื่อถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านกีฬามอเตอร์สปอร์ต “คนขับเสมือน” จะทำหน้าที่พื้นฐาน เช่น ขับขี่ในช่วงของการแข่งรถเสมือนจริงที่ใช้เวลานาน 4 ชั่วโมง (Four-Hour Stint) เช่นเดียวกับในการแข่งรถรายการ ‘เลอ มังส์’ เพื่อประเมินความสม่ำเสมอของสมรรถนะยางล้อ
Ÿ ในกรณีของยางสำหรับใช้งานบนถนนทั่วไป ระบบนี้ช่วยให้ผู้ผลิตยานยนต์สามารถจำลองผู้ขับขี่ลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนประเภทรถยนต์และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันได้หลายรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์เป็นผู้ทำการตัดสินใจ โดยผู้ขับขี่ตัวจริงเป็นผู้อนุมัติคุณสมบัติจำเพาะของยางล้อในขั้นสุดท้าย และพิจารณาความเหมาะสมในการนำไปใช้งานกับรถยนต์รุ่นที่กำหนด
มิชลิน...องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและผู้บุกเบิกด้านระบบจำลองเสมือนจริง
เมื่อ 30 ปีก่อนมีการนำซอฟต์แวร์ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในกีฬามอเตอร์สปอร์ตเพื่อจัดการข้อมูลที่ได้จากการแข่งรถและเพื่อวัตถุประสงค์ในการคาดการณ์ล่วงหน้า โดยมีการปรับปรุงซอฟต์แวร์ดังกล่าวพร้อมกับการเปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษใหม่ และได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอีกในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มิชลินเข้าร่วมการแข่งรถ ‘ฟอร์มูลา วัน’ (Formula 1) และกลุ่มมิชลินมุ่งมั่นที่จะทำให้ยางล้อเสมือนจริง (Virtual Tires) มีพลวัตที่เหมาะสำหรับการแข่งรถ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์อิสระ (Independent Mathematical Models) แยกตามองค์ประกอบโครงสร้างยางแต่ละชิ้น โดยซอฟต์แวร์ Thermodynamic Tame Tire ที่พัฒนาขึ้นใหม่ของมิชลินทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวมีปฏิกิริยาต่อกันได้ด้วยการถอดแบบลักษณะการสึกหรอ ตลอดจนผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่มีต่อคุณสมบัติและพฤติกรรมของวัตถุดิบและต่อแรงดันลมยาง
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาปรับปรุงซอฟต์แวร์ Tame Tire อย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยข้อมูลอัจฉริยะ (Smart Data) ที่จัดเก็บจากการแข่งรถรายการต่าง ๆ ปัจจุบัน ความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นเฉพาะตัวของมิชลินในด้านการประมวลผลข้อมูลทางคณิตศาสตร์ส่งผลให้มิชลินก้าวล้ำหน้าในเรื่องการสร้างแบบจำลองยางล้อและระบบจำลองยางล้อเสมือนจริง
ดาวน์โหลดรูปและวีดีโอเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้
https://contentcenter.michelin.com/portal/shared-board/c694afb0-c8f2-4f1d-afaa-24bd1f58930a
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com