กรมธุรกิจพลังงาน - EEC และ กฟผ. ผสานความร่วมมือผลักดันระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานการใช้พลังงานสะอาด
- โดย : PR Autodeft
- 3 เม.ย. 67 13:55
- 1,297 อ่าน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าพร้อมพื้นที่ให้บริการเต็มรูปแบบเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม Auditorium อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายให้มีการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับและส่งเสริมระบบนิเวศที่สำคัญ เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุมและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่บางส่วนของสำนักงานกรมธุรกิจพลังงานในพื้นที่อีอีซีให้เป็นต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่นอกจากรองรับการใช้งานของประชาชนแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของกระทรวงพลังงาน เยาวชนและประชาชนทั่วไปอีกด้วย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ ว่า เป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมมาตรฐานและยกระดับการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งด้านพลังงานสะอาด ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยเฉพาะเป็นการพัฒนาในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจดิจิทัล มีศักยภาพรองรับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา เปรียบเสมือน Showroom ด้านนวัตกรรมของไทย และยังเป็นประตูในการขยายผลไปยังเขตส่งเสริมพิเศษต่าง ๆ การเดินหน้าร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายอันดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้พลังงานสะอาด สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่อีอีซีต่อไป
ด้าน นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EleX by EGAT) และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA มาตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้ธุรกิจ EGAT EV Business Solutions เพื่อสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วเกือบ 200 สถานีทั่วประเทศ ได้รับความเชื่อถือในประสิทธิภาพและความมีเสถียรภาพสูงส่งผลให้มีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกปี การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญของ EleX by EGAT ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้กับประเทศ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าพร้อมพื้นที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (EleX by EGAT Eco Charging Sphere) ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าพร้อมพื้นที่ให้บริการเต็มรูปแบบบนพื้นที่ EECd ขนาด 5 ไร่ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ พื้นที่พักผ่อน อาคารในพื้นที่จะใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์รูฟท็อป และเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน ตามมาตรฐาน TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) หรือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ภายใต้แนวคิด Green Energy เพื่อเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รองรับความต้องการของประชาชนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในพื้นที่และการสัญจรมายังภาคตะวันออก คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 และจะมีการเก็บข้อมูล ข้อคิดเห็นของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ความต้องการในด้านต่าง ๆ เพื่อที่ทั้ง 3 หน่วยงานจะนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com