Deft Versus After Drive : เปรียบประชันความแรง .... สมรรถนะหลังขับ คอมแพ็คคาร์เทอร์โบ
- โดย : Autodeft
- 13 ก.ค. 59 00:00
- 57,149 อ่าน
ในยุคนี้สมัยนี้เครื่องยนต์ขนาดเล็กเน้นเค้นพลังเบ่งกำลังเทอร์โบชาร์จ ดูจะเป็นเครื่องยนต์ที่มาแรงและเรียกเสียงเกรียวกราวจากลูกค้าได้มากพอสมควร พวกมันเร้าใจกว่า ขับสนุกมากกว่า และที่สำคัญประหยัดมากกว่า แต่นั่นก็อาจจะทำให้คุณเกาหัวได้ไม่น้อยเมื่อเห็นราคาจำหน่ายแสนแพงจนหลายคนถอยกรูดกลับมาตั้งต้นใหม่ว่าตกลงคุ้มหรือไม่ที่จะคบหาพวกมัน
ของใหม่.....ใครๆ ก็คงอยากเป็นเจ้าของยิ่งในชั่วโมงนี้คนไทยอย่างเราขึ้นชื่อกันอยู่แล้ว เรื่อง “บ้าพลัง” ทำให้หลายคนตาลุกมันวาว เมื่อพบว่ารถยนต์ที่สามารถคบหาได้ มีอารมณ์ขับขี่ได้ไม่ต่างจากสปอร์ตคาร์ ในราคาที่เอื้อมถึงได้ และ ถ้าคุณอยากรู้ว่าหลังจากขับแล้วรุ่นไหนเด่นทางด้านใดมากที่สุด วันนี้ผมพร้อมแล้วที่จะตอบคำถามในทุกการประชัน ของศึกสามเส้าคอมแพ็คคาร์เทอร์โบ Nissan Vs. Honda Vs. Ford คำถามร้อนของคนอยากทราบในชั่วโมงนี้
Nissan Sylphy Turbo รายแรก ราคาไม่ถึงล้านบาท
เปิดตัวออกมาสกัดคู่แข่งตั้งแต่แรกเริ่มกันเลยกับเจ้ารถยนต์ Nissan Sylphy DIG Turbo ใหม่ที่ออกมาเอาใจคอแรงต้องการความแตกต่าง วางจำหน่ายเป็นคู่ใจของรถรุ่นเดิมที่ยังมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร
การออกมาเปิดตัวในฐานะรถยนต์คอมแพ็คคาร์เจ้าสมรรถนะรุ่นแรกทำเอาหลายคนสนใจมันมากพอสมควร จนถึงขนาดพี่ J!MMY จาก Headlightmag จองเป็นเจ้าของหนึ่งคันและเก็บมันไว้ที่บ้านอย่างดี กายภายนอกรถคันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากรถยนต์ Nissan Sylphy เดิมทั่วๆ ไป แถมดันตัดไฟ Daytime Running Light ออกไปอีก รุ่นนี้ได้ล้ออัลลอยใหม่ลายดาบ 5 ก้านพร้อมยาง 205/50/R17 จัดมาให้ ตลอดจนรถยังได้ ชุดแต่งรอบคันเสริมความหล่อยิ่งขึ้น พร้อมสปอร์ยเลอร์หลังใหม่ ให้รถดูมีความสปอร์ตลงตัว
ในห้องโดยสารการออกแบบทุกอย่างยังคงคล้ายเดิม เพิ่มเติมเข้ามาเป็นลายตบแต่งเคฟล่าร์ภายในห้องโดยสาร ที่เราว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ตัวรถหล่อขึ้นอีกดีกรีด้วยชุดหลังคา Sunroof และ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ตลอดจนยังคงตัวตนพวงมาลัยทรงมดลูกเอาไว้อย่างเหนียวแน่น คันเกียร์เลือกตำแหน่งตามความชอบได้ แต่ไม่มี Paddle Shift มาให้ได้บริหารนิ้วกัน
เรื่องเครื่องยนต์เป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์แบบ 4 สูบแถวเรียง ขนาด 1.6 ลิตร พร้อมระบบเทอร์โบชาร์จ ขุมพลังสมรรถนะแรง 190 แรงม้า สูงสุดที่ 5,600 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตรที่ 2,400-5,290 รอบต่อนาที ส่งกำลังลงระบบเกียร์ Xtronic CVT พร้อม Manual Mode 6 จังหวะ ตอบเรื่องการขับขี่เร้าใจ มันไม่ใช่เกียร์รุ่นเดียวกับรถเครื่องเวอร์ชั่นธรรมดา เพราะรับแรงบิดมากกว่า แต่มาจาก Jatco เหมือนกัน
เมื่อขับจริง Nissan Sylphy Turbo ไม่มีอะไรดีกว่าการเป็นรถยนต์เครื่องแรง ขับสนุกเร้าใจ แต่ยังไม่เต็มอารมณ์ เนื่องจากมันใช้ระบบเกียร์ CVT ซึ่งได้อารมณ์ขับสนุกกระชากความแรง แต่ไร้ความรู้สึกสปอร์ตระหว่างการขับขี่ไปเหมือนกัน ถ้าคุณอยากมันส์ต้องใช้โหมดสับเกียร์เองพอจะได้ฟีลลิงขึ้นมานิด แต่ก็ยังคงบุคลิกของความเป็นเกียร์ CVT ซึ่งไม่ได้กระชากดึงดันบ้างเป็นบางจังหวะ
ด้วยกำลังเครื่องยนต์ที่แรงกว่าชาวบ้าน ยังมาพร้อมเรือนร่างที่เบาเพียง 1,359 กก. แต่ด้วยความเบาของตัวรถ ปรากฏว่าเราสัมผัสได้ว่า Nissan ไม่ได้จัดการเรื่องระบบช่วงล่างมาให้เลย หรือถ้าจัดการให้มันก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง ในการขับขี่ ช่วงล่างรถดูนุ่มไป และ เมื่อเทียบกับกำลัง 190 แรงม้า มันก็แล ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก เมื่อคุณใช้ความเร็ว หรือต้องขับห่ามทำตัวเป็นนักมุดบนถนนในยามเร่งรีบ และอาจหมายถึงอันตรายอย่างมหันต์ ถ้าไม่เซทช่วงล่างใหม่
Honda Civic 1.5 Turbo RS คุณชายเทอร์โบ ที่แตกต่าง ...
ไม่กี่เดือนหลังจาก Nissan Sylphy Turbo ทางค่ายรถยนต์ Honda ก็ให้ผมหยิบยืมรถยนต์ Honda 1.5 Turbo RS ใหม่ มาครอบครอง มันเป็นรถที่หลายคนถามหาอย่างมาก ด้วยการออกแบบใหม่ที่แลดูงดงาม และแนวทางใหม่ของฮอนด้าที่หันมาเล่นเครื่องยนต์บล็อกเล็กกันบ้าง
กายภายนอกคงไม่ต้องตอกย้ำว่า Honda Civic ใหม่ งดงามแค่ไหน มันลงตัวในการขับขี่มากมายเพียงใด ยิ่งตัว RS สวมชุดแต่งเบ็ดเสร็จจัดหนักอย่างลงตัวจากโรงงาน ยิ่งทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะมันลงตัวกับการออกแบบผสานสไตล์รถคูเป้ ในร่างซีดานกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจในการขับขี่อย่างมาก
ส่วนภายในห้องโดยสารก็ได้รับการออกแบบใหม่หมดจด มันมาพร้อมฟังชั่นใหม่ๆ อาทิ หน้าจอเรือนไมล์แบบ TFT แบบรถยนต์จากค่ายยุโรป ในจอบอกฟังชั่นต่างๆมากมาย รวมถึงฟังชั่นเทอร์โบบูสต์ ทีรุ่นอื่นมักไม่มีมาให้ ตลอดจน การออกแบบภายในห้องโดยสารโทนสีดำต้อนรับความสปอร์ตอย่างลงตัว น่าเสียดายเจ้าซีวิคดันไม่มีซันรูฟ และที่สำคัญเบาะหลังก็ปรับพับไม่ได้
มาถึงเรื่องเครื่องยนต์ ใต้เรือนร่างสุดหล่อมาพร้อมขุมพลังใหม่ล่าสุด เครื่องยนต์ EarthDream ต้นกำลังแบบ 4 สูบแถวเรียง ขนาด 1.5 ลิตร พร้อมระบบเทอร์โบชาร์จ ทำงานคู่กับระบบวาล์แปรผันทั้งทางฝั่งไอดีและไอเสีย ทำกำลังสูงสุด 173 แรงม้า สูงสุดที่ 5,500 รอบต่อนาที และทำแรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน เมตร สูงสุดที่ 1,700- 5,500 รอบต่อนาที กำลังขับขี่มั่นใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบเกียร์ CVT ใหม่
มันสนองตอบการขับขี่ในสไตล์ CVT สามารถตัดเกียร์ขึ้นได้เองอัตโนมัติ รวมถึงยังพร้อมให้คุณสนุกสนานผ่านระบบ Paddle Shift มันขับสนุกสนานแต่ไม่มันส์ เพราะอารมณ์การขับขี่ เป็นอารมณ์ของเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ 2.0 ลิตร คุณไม่สัมผัสถึงฟีลลิงแรงกระชากจากเทอร์โบ แต่รู้ว่ามันแรงขับสนุกไปไว จะพูดก็คงจะพอสรุปได้ว่า แรง!! แบบไม่ใช่สไตล์เทอร์โบนั่นเอง คือ นิยามของฮอนด้าคันนี้
ด้านระบบกันสะเทือนใน Honda Civic 1.5 Turbo RS ก็เซทมาพร้อมซิ่งต่างจาก Honda Civic ธรรมดารุ่น 1.8 หรือ รุ่นเทอร์โบธรรมดา มันตอบสนองได้ดีเร้าใจ และ มั่นใจได้ในยามขับขี่ ช่วงล่างออกมาในสไตล์หนึบแน่นไม่แข็งกระด้าง เหมาะใช้งานทุกวันไม่ว่าจะรับส่งศรีภรรยาเป็นประจำ หรือ ซิ่งบี้เวลาไปประชุม ก็แลดูจะมั่นใจ
Ford Focus Ecoboost 1.5 หล่อเร้าใจเต็มอารณ์มากขึ้น
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตลาดรถยนต์กลุ่มคอมแพ็คคาร์เทอร์โบ ฟอร์ดจะหันมาเอาจริงเอาจังในรถยนต์กลุ่มนี้ หลังจากพวกเขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จใน Ford Fiesta Ecoboost แต่ครั้งนี้พวกเขาตัดสินใจมาคิดใหม่ทำใหม่ ในรถยนต์ Ford Focus ที่ถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนอัพเดทตัวตนสักที
Ford Focus Ecoboost พบหน้าครั้งแรก ก็ต้องบอกว่ามันหล่อจริงจัง ดูแล้วมีดีเทียบชั้นเจ้า Honda Civic ในแบบที่แตกต่าง ลุคใหม่ของ Ford เอาใบหน้าสไตล์ Aston Martin มาใช้ มันสร้างมูลค่ารถได้มากพอสมควร และทำให้รถดูน่าสนใจมากขึ้น ด้านข้างและด้านหลัง อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมายนัก ทว่าแค่หน้าใหม่ ก็กินขาดแล้ว
ด้านในห้องโดยสาร Ford จัดการอัพเดทรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อสนองตอบการขับขี่ความต้องการของลูกค้า เรือนร่างเดิมเพิ่มเติมคือความทันสมัย Ford จัดระบบ Sync 3 เข้ามาในรถคันนี้ รวมถึงเรือนไมล์ที่ดูลงตัวความสปอร์ตยิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม ติดเพียงภายในห้องโดยสาร ที่ยังไม่ได้ปรับเรื่องของการนั่งและพื้นที่โดยสาร ที่ยังดูแคบและใช้งานจริง ก็ยังแคบไม่ลงตัวกับตำแหน่งคอมแพ็คคาร์ โดยเฉพาะเบาะนั่งผู้โดยสารและเบาะนั่งตอนหลัง
เช่นเดียวกับการพับเบาะนั่งตอนหลังอันยุ่งยากถ้าคุณต้องการจะให้มันพับเรียบเนียน จะกดปุ่มพับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการดึงดันที่ตัวเบาจึงจะทำได้ พับเรียบตามใจคิด นอกจากนั้น Ford ยังตัดหลังคาซันรูฟออกไป ทั้งที่มีในรุ่นเดิม เช่นเดียวกับระบบความปลอดภัยบางรายการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวเอก แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ทางด้านเครื่องยนต์ ค่ายวงรีสีน้ำเงินเปิดตัวด้วยเครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด Ecoboost 1.5 ลิตร มันเป็นขุมพลังใหม่ที่พร้อมตอบโจทย์ลูกค้า ที่มองหาการขับขี่ที่ประหยัดและยังสนุกสนานได้ทุกการเดินทาง
หัวใจแรงตัวใหม่ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า สูงสุดที่ 6,000 รอบต่อนาที และทำแรงบิดสูงสุดได้ 240 นิวตันเมตร ที่ 1,600-5,000 รอบต่อนาที สมรรนถะส่งลงชุดเกียร์ใหม่ Durashift เป็นชุดเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ธรรมดา เน้นความทนทานในการใช้งานและตอบสนองได้ดีในยามขับขี่ คุณรู้สึกดีที่ขับมันยามออกตัว แต่เมื่อถึงเกียร์ 3 รถจะไม่เร้าใจเหมือนเดิม จากอัตราทดเกียร์ที่ออกแบบมาค่อนข้างจะห่างจนเกินไปสักหน่อย
เรื่องระบบช่วงล่างนั้น ก็ค่อนข้างลงตัว มันได้รับการปรับปรุงชุดโช๊คและสปริงใหม่ให้พร้อมสรรพมั่นใจในยามซิ่ง กับ Ecoboost แต่ความหนึบนั้นยังติดความกระด้างอยู่บ้างเล็กๆ แต่ถ้านับว่านี่คือการปรับปรุงรถใหม่ในแบบ ไมเนอร์เชนจ์แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าได้มาขนาดนี้ก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว...
ประชันสามเทพเทอร์โบ ..... ใครจะเจ๋งทางด้านไหน..
หลังจากขับมาทั้ง 3 คัน ตลอดในช่วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา ต้องบอกก่อนว่า เอกลักษณ์สำคัญของรถยนต์เครื่องยนต์เทอร์โบบล็อกกลาง คือความเร้าใจในการขับขี่ มันตอบสนองดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องอัตราประหยัดน้ำมัน ที่หลายคนแอบหวังลึกๆ กับเครื่องยนต์กลุ่มนี้ คงต้องบอกว่ามันไม่ได้เห็นผลต่างมากมาย ถึงขนาดจะพูดได้ว่า มันประหยัดกว่ามาก
ก่อนจะไปไกล ผมอยากให้เพื่อนๆ เห็นการเปรียบเทียบชัดเจนขึ้น จึงได้ทำตารางที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ในระหว่างการทดสอบตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เอาไว้อย่างครบถ้วนประกอบสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปข้างหน้า
|
Nissan Sylphy DIG Turbo |
Honda Civic Turbo RS |
Ford Focus Ecoboost 1.5 GTDi |
รูปแบบตัวถัง |
ซีดาน |
ซีดาน |
แฮทช์แบ็ค |
น้ำหนักตัวเปล่ารถ (กก.) |
1,359 |
1,317 |
1,438 |
ขนาดยางติดรถที่ให้มา |
205/50/R17 |
215/50/R17 |
215/50/R17 |
เครื่องยนต์ขนาด |
1.6 ลิตร เทอร์โบ |
1.5 ลิตรเทอร์โบ |
1.5 ลิตรเทอร์โบ |
ชุดเทอร์โบจาก รหัส |
MHI TF035HL-13T |
MHI TD03 |
Borgwarner B01 |
กำลังแรงดันสูงสุดเทอร์โบวัดจาก OBDII (Bar) |
0.9 |
1.5 |
0.9 |
กำลังสูงสุด (แรงม้า -รอบต่อนาที) |
190/5,600 |
173 / 5,500 |
180/6,000 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร – รอบต่อนาที) |
240 nm/ 2,400-5,290 |
220 nm /1,700-5,500 |
240 nm / 1,600-5,600 |
ความเร็วสูงสุด (กม./ช.ม.) |
215 |
207 |
210 |
ระบบส่งกำลัง |
Xtronic CVT |
Earthdream CVT |
Durashift (ECT) 6 Spd |
อัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม เฉลี่ย |
9.059 |
9.033 |
9.759 |
อัตราเร่ง 80-120 ก.ม./ช.ม เฉลี่ย |
5.600 |
5.700 |
6.567 |
อัตราน้ำหนักต่อแรงม้า (กก./แรงม้า) |
7.15 |
7.612 |
7.98 |
อัตราประหยัดน้ำมันในเมือง (กม./ลิตร) |
11.2 |
10.73 |
11.75 |
อัตราประหยัดน้ำมันนอกเมือง (กม./ลิตร) |
10.7 |
12.29 |
12.4 |
อัตราประหยัด Bonn testmode (กม./ลิตร) |
16.7 |
16.11 |
13.5 |
ใช้ E85 ได้ |
ไม่ |
ไม่ |
ใช่ |
ราคาจำหน่าย |
999,000 |
1,199,000 |
1,099,000 |
หมายเหตุ อัตราประหยัด ทดสอบด้วย แก๊สโซฮอล 95
จากข้อมูลการเปรียบเทียบในตารางที่ผมจัดทำขึ้นมาให้ คงจะทำให้เห็นชัดแล้วว่า เจ้าเทอร์โบทั้ง 3 รุ่นนั้น นั้นมีดีคนละด้านในการขับขี่ โดยเมื่อพูดถึงสมรรนถการขับขี่ในแง่ของตัวเลขสมรรถนะ Nissan เป็นค่ายที่มีกำลังเครื่องยนต์สูงที่สุด ด้วยตัวเลขกำลัง 190 แรงม้า และ แรงบิด 240 นิวตันเมตร และน้อยที่สุดเป็น Honda Civic Turbo RS มีกำลังเพียง 173 แรงม้า แถมยังใช้ระบบ CVT เหมือนกัน
แต่กระนั้น Honda ก็ปั่นกำลังแรงดันเทอร์โบมากกว่าชาวบ้านที่ 1.5 บาร์ ทำให้เมื่อมาพูดถึงอัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. เจ้า Honda Civic กลับทำอัตราเร่งเฉือนเอาชนะไปได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากมองต่อไปว่า Nissan Sylphy ปั้นแรงดันเทอร์โบเท่ากัน มีหวังทะลุไป 200 แรงม้า อย่างแน่นอน
ด้าน Ford Focus เอง กลายเป็นรถที่อ่อนด้อยที่สุดในเรื่อสมรรนถะการขับขี่ มันหนักกว่ามาก แถมระบบเกียร์นั้นก็ไม่ใช่แบบ CVT เหมือนคู่แข่จากแดนอาทิตย์อุทัยที่หันมาใช้ระบบเกียร์แบบนี้กันหมด ทั้ง Nissan Sylphy turbo และ Honda Civic แต่จากการทดสอบ เราพบว่า Ford Focus มีดี ในด้านประหยัดมากกว่าคู่แข่งอยู่พอสมควร มันทำอัตราประหยัดดีกว่า ในการขับขี่จริง ทั้งในเมืองและนอกเมือง จากการทดสอบด้วยน้ำมันแก๊สโซฮฮล์ 95 นับเป็นจุดที่สำคัญในการขับขี่สำหรับคนทั่วไป รวมถึงยังเป็นคันเดียวในกลุ่มที่สามารถใช้น้ำมัน E85 ได้ด้วย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราไม่ได้ระบุไว้ในตารางคือเรื่องระบบกันสะเทือนหรือช่วงล่างของรถ ซึ่งจากการขับขี่แล้ว ถ้าคุณมองหารถยนต์เครื่องยนต์เทอร์โบที่สามารถขับได้ใช้งานทุกวัน Honda Civic 1.5 Turbo RS ดูจะเป็นคำตอบที่ดี ช่วงล่างนิ่มนวลแน่นหนึบในคันเดียวกัน มั่นใจได้ในระหว่างการขับขี่ รองลงมาก็ไม่พ้น Ford Ecoboost ที่เซทช่วงล่างใหม่มาพร้อมความลงตัวพอดีๆ กับเจ้าเครื่องยนต์ใหม่ของมัน มันอาจจะเน้นไปทางด้านความสปอร์ตแข็งกระด้างไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแบบที่ผมสัมผัสใน Nissan Sylphy Turbo มันมีดีที่เครื่องยนต์แรงอย่างเดียว แต่เวลาขับขี่บอกเลยว่าต้องระวังให้มาก อย่าเที่ยวไปซ่าสะบัดมุดสามเลนหรือเข้าโค้งแรงๆ อะไรเทือกนั้น มีสิทธิจูบกำแพงเอาง่ายๆ แต่ถ้าอนาคตมีช่วงล่าง Nismo มาให้เซท อันนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ได้ไม่น้อย
นอกจากเรื่องช่วงล่างและสมรรถนะเครื่องยนต์แล้ว หากมามองที่รูปแบบตัวรถ Ford Focus Ecoboost จะได้เปรียบเรื่องรูปแบบตัวรถที่ออกมาในสไตล์แฮทช์แบ็ค ผิดกับคู่แข่งที่นำเสนอในรูปแบบซีดาน แต่ฟอร์ดเองก็มาสะดุดเรื่องของภายในห้องโดยสารที่แคบเกินไปหน่อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้งสองที่ทำได้ดีกว่า อย่างเห็นได้ชัด
สรุป...ชอบคันไหนเลือกคันนั้น เทอร์โบเหมือนกัน ขับมันส์ทั้งหมด
หลังจากลงจากรถทั้งสามคัน ก็ได้เวลาที่เราจะสรุปตัวตนตามความเหมาะสมในการใช้งาน และความต้องการของลูกค้า ตลอดจนเงินในกระเป๋าของคุณ
Nissan Sylphy turbo เป็นรถที่แรงแบบเน้นความบ้านๆ เอาไว้ครบถ้วน มันเป็นรถที่ศรีภรรยาคุณจะไม่ทันสังเกตว่าคุณแอบมีรถแรงไว้ในบ้าน สมรรถนะการขับขี่ของมันวางใจได้ตามสไตล์ Nissan เพียงแต่คุณต้องทุ่มงบกับระบบกันสะเทือนของมันหน่อย ทำให้หนึบกว่านี้จะเป็นรถที่ขับดีคันหนึ่งเลยทีเดียวเชียวแหละ
ด้าน Honda Civic Turbo RS เป็นรถที่ครบเครื่องทุกด้าน เป็นรถเพียงคันเดียวในกลุ่มเทอร์โบที่ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย มันเพอร์เฟคอยู่แล้ว ช่วงลางก็เซทมาดี เครื่องยนต์ก็มีอัตราเร่งดีเร้าใจ เสียอย่างเดียวคือฟีลลิ่งการขับขี่มันไม่ใช่แบบที่รถเทอร์โบควรจะเป็น มันคล้ายเครื่องยนต์ขนาดใหญ่มากกว่า แต่ถึงผมจะบอกแบบนั้นมันก็แรงเอาเรื่องจนชนะ Nissan Sylphy Turbo เลยนะ หากคุณก็ต้องพร้อมสำหรับค่าตัวแสนแพงของมัน เพราะถึง รุ่นที่ไม่ใช่ RS จะใช้เครื่องยนต์เดียวกัน แรงเหมือนกัน แต่ วิศวกรฮอนด้าบอกว่า การเซทช่วงล่างก็ต่าง ชุดแต่งก็ไม่มี แถมไม่มี Paddle shift อีกต่างหาก ถ้าจะซิ่งไม่แนะนำอย่างแรง!!
ทางด้าน Ford Focus Ecoboost ดูจะพ่ายคู่แข่งก็จริง จนอาจจะเป็นไม่ประดับ แต่ต้องมองปัจจัยประกอบด้วยว่า รถพวกเขาหนักกว่า ระบบเกียร์ก็ไม่ใช่ CVT นั่นแหละที่ทำให้รถจากค่ายวงรีสีน้ำเงินน่าสนใจ ระบบเกียร์ออโต้ธรรมดานั้นใช้งานง่ายเราคุ้นชิ้น ที่สำคัญมันยังได้ฟีลลิ่งของเทอร์โบที่แท้จริง คุณชอบที่ถูกเครื่องยนต์กระชากไปมา มันให้ความรู้สึกที่ดีสนุกสนานในการขับขี่ พอหอมปากหอมคอ และมันช้ากว่าคู่แข่งเพียง 0.7 วินาที เท่านั้น นั่นไม่มากพอที่จะทำให้คันอื่นฉีกหนีคุณไปได้
จุดเด่นของ Ford คือความรู้สึกและความประหยัด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ Ford Ecoboost ประหยัดที่สุดในกลุ่ม จากการขับใช้งานบนถนนจริง ทั้งในเมืองและนอกเมือง แถมเป็นรุ่นเดียวที่สามารถเติม E85 ได้ด้วย ว้าว! ไปเลยใช่ไหมล่ะ รวมถึงมันยังเป็นรถแบบ 5 ประตู เพียงแต่ถ้าคุณรับได้กับภายในห้องโดยสาร ที่แคบและฟังชั่นบางอย่าที่ใช้งานยากจนเกินไป ก็โอเค ... แถมราคาก็กลางๆ ไม่จัดว่าถูกหรือแพง คบหาได้ในราคาตำหน่ายที่เหมาะสม
รถคอมแพ็คคาร์เครื่องเทอร์โบเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง พวกมันประหยัดขึ้นพวกมันเร้าใจกว่า และราคาก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิด แต่เมื่อคุณจะเลือกคบหา ก็ควรเลือกที่ถูกต้องโดนใจ เพราะเราคงไม่เปลี่ยนรถยนต์กันบ่อยๆ จริงไหมครับ
เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)
ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง Fan page ,Twiter (@Nattayosc), Blog ส่วนตัว
อ่านรีวิวรถยนต์ รุ่นต่างๆ เพิ่มได้ที่นี่
Nissan Sylphy DIG Turbo มีดีพร้อมซิ่ง..สะบัดทิ้งคราบหรู
Honda Civic 1.5 Turbo RS หล่อครบเครื่อง..อารมณ์ครบรส ...
Ford Focus GTDi 1.5 Ecoboost Turbo MK3.5 เติมเต็มฟีลลิง เช็คอินสมรรถนะ ...
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com