เยี่ยมชมวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า และชมพิธีมอบรางวัลทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้า ครั้งที่ 43
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 26 พ.ย. 62 00:00
- 6,150 อ่าน
การเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์นั้น ไม่ได้อยู่ที่การขายรถที่ดี มีคุณภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการบริการหลังการขายที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูแล บำรุงรักษา รวมทั้งค้นหาและแก้ไขปัญหารถยนต์ทุกคันที่พบปัญหาอีกด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ โตโยต้า ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เลยต้องมีสถาบันที่พัฒนาบุคลากรเหล่านี้ให้มีคุณภาพสูงสุด
วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า เป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรอาชีวศึกษา เพื่อปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานโตโยต้า ก่อตั้งโดยมีพันธกิจที่ต้องการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสู่มาตรฐานสากล, พัฒนาระบบบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ, พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และ สร้างสถานศึกษาอาชีวศึกษาเป็นต้นแบบสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ชุมชนและสังคม ภายใต้ปรัชญา "ทักษะเลิศ ชูเชิดคุณธรรม ก้าวล้ำเทคโนโลยี ศักดิ์ศรีมืออาชีพ"
วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า เปิดหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริการหลังการขายในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- สาขางานเทคนิคยานยนต์ ที่ศึกษาเทคโนโลยีรถยนต์ รวมทั้งฝึกทักษะการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ที่เป็นมาตรฐานของโตโยต้า เพื่อให้เกิดความชำนาญ สามารถวิเคราะห์และซ่อมแซมรถยนต์สมัยใหม่ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยภายใต้ระบบปฏิบัติงานที่ล้ำสมัยในศูนย์บริการโตโยต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สาขางานธุรกิจการบริการยานยนต์ ศึกษาเทคโนโลยีรถยนต์ และฝึกทักษะการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ หลักการบริหาร และการบริการลูกค้า การปฏิบัติงานระบบอะไหล่โตโยต้า เพื่อสามารถวิเคราะห์และระบุปัญหา พร้อมทั้งแจ้งรายการซ่อมแซมรถยนต์ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังอธิบายรายละเอียดการซ่อม ด้วยอุปกรณ์สื่อสารที่มีใช้ในศูนย์บริการโตโยต้าให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สาขางานเทคนิคซ่อมตัวถังและสีรถยนต์ ศึกษาเทคโนโลยีด้านโครงสร้างตัวถังรถยนต์ วิทยาการด้านสีพ่นรถยนต์ รวมทั้งฝึกทักษะการซ่อมตัวถังรถยนต์ และสีพ่นรถยนต์ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ล้ำสมัย เพื่อซ่อมรถยนต์สมัยใหม่ที่มีโครงสร้างและระบบสีที่ซับซ้อนให้กลับคืนสู่สภาพปกติ อย่างถูกต้องตามมาตรฐานของโตโยต้า และพร้อมที่จะปฏิบัติงานในศูนย์บริการโตโยต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยรูปแบบการสอนที่วิทยาลัยแห่งนี้ จะเน้นการศึกษาด้วยตัวเอง เริ่มจากการสร้างแผนผังการเรียนรู้ ”Learning Map”> ศึกษาทฤษฎีและวางแผนงานร่วมกับ Buddy > ค้นคว้าข้อมูล > ทำรายงานการเรียนรู้ > นำเสนอรายงาน > ประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 5 ประการ โดยทุกขั้นตอนการเรียนรู้ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามาร่วมแนะนำให้ตลอดทุกขั้นตอน
และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ผมในฐานะทีมงาน AUTODEFT ได้รับการเชิญจากทาง โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) เพื่อร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิดและมอบรางวัลการแข่งขัน “ทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้า” ครั้งที่ 43 (43rd Toyota Dealer Customer Service Skills Contest) รอบชิงชนะเลิศ ที่ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมโตโยต้า ถนนสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา แห่งนี้ โดยก่อนที่จะเริ่มการประกาศรางวัล พวกเราบรรดาสื่อมวลชนก็ได้รับโอกาสในการเดินเยี่ยมชมภายในสถาบัน พร้อมยังได้รับการอธิบายเกี่ยวกับหลักสูตรที่สอน, รูปแบบการสอน, โอกาสของผู้เข้ารับการศึกษาที่จะได้รับระหว่างการเรียนและหลังการเรียน เป็นต้น
วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า เปิดรับนักศึกษาที่มีคุณสมบัติสำเร็จการศึกษา หรือกำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทุกสาขาหรือมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า โดยนักศึกษาชาย ต้องไม่มีรอยสักและไม่เจาะหู และนักศึกษาหญิง ไม่มีรอยสัก และเมื่อศึกษาจบ จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. สามารถนำไปสมัครเข้าเรียนมหาวิยาลัยได้ โดยทางสถาบันได้มีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อรับนักศึกษาที่จบหลักสูตรเพื่อเข้าเรียนต่อในหลักสูตร “Mobility Technologist” รวมทั้งมีโอกาสที่จะเข้าร่วมงานกับผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า, ทำงานกับธุรกิจในเครือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือมีโอกาสได้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยถ้ามีผลการเรียนที่ดีเยี่ยม ถือได้ว่าถ้ามาศึกษาในสถาบันนี้ ถ้าตั้งใจเรียนและมีผลงานในเกณฑ์ดี โอกาสมีงานทำนั้นสูงมาก แถมยังมีโอกาสไปต่อยังสถาบันอันดับต้นของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แถมยังมีโอกาสได้ไปทำงานไกลถึงประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
สำหรับการเยี่ยมชมวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้าครั้งนี้ พวกเราบรรดาสื่อมวลชนยังได้เห็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบการสอนที่ทันสมัยมากมาย อาทิเครื่องวัดขนาดตัวถัง, เครื่องทดสอบวัดสี, เครื่องวัดความหนาของสี, เครื่องวัดความสั่นสะเทือนเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องยนต์ เป็นต้น โดยเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นตัวเดียวกับที่ทางศูนย์บริการของโตโยต้า ใช้งานเพื่อตรวจสอบและดูลคุณภาพของรถยนต์ทุกคัน เหตุผลเพราะว่าเมื่อนักศึกษาจบกลักสูตรออกไป แล้วไปทำงานกับตัวแทนจำหน่าย ก็จะสามารถทำงานได้ทันที ไม่ต้องมาเรียนรู้เครื่องมือกันใหม่ ทำให้เราได้รู้ว่า กว่าที่คน 1 คนจะจบการศึกษาออกไปประจำที่ศูนย์บริการโตโยต้า ต้องผ่านหลักสูตรที่เข้มข้นขนาดไหน คนที่ใช้งานรถยนต์ Toyota ทุกคนจึงเบาใจได้เมื่อเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการ ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดี มีมาตรฐานอย่างสูงสุดแน่นอน
หลังจากการเดินดูจนเกือบทั่วแล้ว ก็ถึงเวลาการเข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิดและมอบรางวัลการแข่งขัน “ทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้า” ครั้งที่ 43 (43rd Toyota Dealer Customer Service Skills Contest) รอบชิงชนะเลิศแล้ว โดยมี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายฐากูร ชวนะพงศ์ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง และผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานครั้งนี้ด้วย
โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับกับภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวจากการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้อย่างแพร่หลายและรวดเร็ว โดยริเริ่มการจัดการแข่งขันทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้า (Toyota Dealer Customer Service Skills Contest) ขึ้นในพ.ศ. 2519 ด้วยวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถของบุคลากร เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการ และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า โดยตลอดระยะเวลากว่า 43 ปี ในการจัดการแข่งขัน สามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพมากกว่า 1,200 คนต่อปี
มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่โตโยต้า บุคลากรคือทรัพยากรที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าการพัฒนาบุคลากรคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จและด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงเชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้าทุกท่านในวันนี้ต่างก็ยึดมั่นในวิถีโตโยต้าเหมือนๆ กัน ซึ่งค่านิยมนี้ประกอบไปด้วยสองเสาหลัก นั่นคือ "การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง" (Continuous Improvement) และ "การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน" (Respect for People) จะใช้เป็นแนวทางที่ทั้งบริษัทและผู้แทนจำหน่ายโตโยต้ายึดถือมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อมอบสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือความคาดหมายของลูกค้า”
โดยการแข่งขัน “ทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้า” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรทางด้านการบริการของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ ซึ่งการแข่งขันแบ่งออกเป็น ประเภททีม 2 ประเภท และประเภทเดี่ยว 8 ประเภท โดยผู้ชนะเลิศมีดังนี้
ประเภททีม
- ประเภททีมบริการตัวถังและสี ได้แก่ บริษัท โตโยต้าไทยเย็น จำกัด
- ประเภททีมบริการรถยนต์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้า เค. มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า
ประเภทเดี่ยว
- ผู้บริหารงานตัวถังและสีรถยนต์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด
- พนักงานคอลเซ็นเตอร์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้าวิชั่น จำกัด
- พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้ามุกดาหาร (1993) ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด
- ช่างซ่อมตัวถังรถยนต์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้าสุราษฎร์ธานี ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด
- ช่างซ่อมสีรถยนต์ ได้แก่ บริษัท โตโยต้าไทยเย็น จำกัด
- พนักงานอะไหล่ ได้แก่ บริษัท โตโยต้าเมืองเลย จำกัด
- ผู้บริหารงานบริการ ได้แก่ บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด
- ช่างเทคนิค ได้แก่ บริษัท โตโยต้าเค. มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด
มร.มิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวปิดท้าย “เราได้คิดค้นระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของโตโยต้าขึ้น เพื่อใช้ผลักดันศักยภาพขององค์กรให้สามารถก้าวทันและเอาชนะความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตได้ ซึ่งการแข่งขันทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้าก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่สำคัญโครงการหนึ่งที่เราดำเนินการภายใต้แนวคิดของการสรรหาบุคลากร (Recruitment) การฝึกอบรม (Re-train) และ การรักษาบุคลากร (Retention) มาต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี ยิ่งไปกว่านั้นเรายังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์ (Mobility Technologist) อีกด้วย ท้ายสุดนี้ ผมขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ตลอดจนผู้ชนะในการแข่งขันทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้า ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นผู้ที่ได้แสดงทักษะการทำงานและลงมือปฏิบัติจริงได้อย่างยอดเยี่ยม ผมเชื่อมั่นว่าบุคลากรที่มีศักยภาพสูงทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ทุกท่านคือความภาคภูมิใจอย่างแท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชน ยิ่งไปกว่านั้น ผมขอแสดงความขอบคุณจากใจจริงต่อรัฐบาลไทยสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรมาโดยตลอด นอกจากนี้ ผมขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านเป็นอย่างสูงสำหรับการช่วยสนับสนุนประชาสัมพันธ์ข่าวโครงการในวันนี้ และสุดท้าย ผมต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทุกท่านด้วย “ขอบคุณสำหรับผลงานที่ดีเยี่ยม!”
หลังจากการเยี่ยมชมวิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า และชมพิธีมอบรางวัลทักษะการบริการลูกค้าโตโยต้าในครั้งนี้จบลง ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า นอกจากการที่โตโยต้าต้องการผลิตรถยนต์ที่สามารถตอบสนองการใช้งานได้ตรงความต้องการของลูกค้าอย่างคุ้มค่าสูงสุดแล้ว การบริการหลังการขายก็เป็นอีกเรื่องที่โตโยต้าก็ให้ความใส่ใจไม่แพ้กัน ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้เป็นค่ายรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องหลายปีอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com