เปิดบ้าน TMAP-EM เบื้องหลังวิศวกรยานยนต์ไทย..สู่ผลงานความสำเร็จระดับโลก
- โดย : Autodeft
- 9 ต.ค. 58 00:00
- 13,636 อ่าน
ตบเท้าเข้าชมศูนย์วิจัยพัฒนาผลิต Toyota- TMAP-EM บ้านลึกลับวิศวกรยานยนต์ค่ายสามห่วง งานเปิดทองหลังพระที่คุณอาจไม่เคยได้รู้มาก่อน
หากกล่าวถึงรถยนต์ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานตลอดกว่า 50 กว่าปี ชื่อเสียงของรถยนต์แบรนด์ Toyota ดูจะตราตรึงในใจคนไทย จนยังครองใจคนไทยที่มองหารถยนต์ใหม่สักคันไว้คู่กาย แต่ที่หลายคนไม่ทราบคือในประเทศไทย Toyota ได้สร้างเส้นทางแห่งอนาคตให้กับวิศวกรยานยนต์ชาวไทย ภายใต้ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Toyota ที่เรียกสั้นๆ อย่างย่อว่า TMAP-EM
ห่างจากกรุงเทพราวๆ 29 กิโลเมตรบนถนนบางนา-ตราด จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกสองกิโลเมตรเศษๆ โดยประมาณ อาคารหลังใหญ่บนพื้นที่อันกว้างใหญ่นี้ เป็นสถานที่ตั้งของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือที่เรียกว่า (TMAP-EM) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ.2550ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนกว่า 1.3 พันล้านบาท โดยรวมกับ โตโยต้า เทคนิคอล เซ็นเตอร์ เอเซีย แปซิฟิค (TTCAP – Toyota Technical Center Asia Pacific) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาศักยภาพของรถยนต์ Toyota TMAP-EM เป็นศูนย์กลางการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาแห่งที่ 3 ของโตโยต้า นอกประเทศญี่ปุ่น ต่อจาก สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยได้รับความไว้วางใจจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ให้รับผิดชอบการสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ใน 11 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึง ทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกา ภายใต้สโลแกน “Challenge the dream” เพื่อพัฒนาให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่ดียิ่งขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Ever-Better Cars) ภายใต้ 4 ขอบเขตการวิจัยหลัก ได้แก่
- การวางแผนผลิตภัณฑ์ (Product Planning)
- การออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design)
- การทดสอบและประเมินประสิทธิภาพ (Evaluation)
- การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Localization
การเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ถือว่ามีโอกาสน้อยมาก วันนี้ Toyota ได้เปิดบ้านของพวกเขาให้เราได้ชมว่า หลังพื้นที่อันหวงห้ามลับสุดยอด พวกเขาได้ทำอะไรบ้างกับการวิศวกรรมในรถยนต์ที่เราขับขี่กันอยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์ ตลอดจนการสนับสนุนพลังงานทางเลือก E85 ซึ่งต้องมีการปรับจูนชุดเกียร์ให้มีความเหมาะสมในการทำงาน รวมถึงยังต้องมีการปรับรายละเอียดต่างๆ ของการวิสวกรรมในรถยนต์ เพื่อสนองต่อทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศด้วย
ไฮท์สำคัญที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ T Map EM คงไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่าการที่ทีมงานวิศวกรยานยนต์ชาวไทย มีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนารถยนต์กระบะรุ่นใหม่ Toyota Hilux Revo ตั้งแต่กระบวนการนำเสนอแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) โดยพร้อมกัน ยังมีส่วนสำคัญการมีส่วนในการออกแบบ (Drawing) ชิ้นส่วนถึง 40% และการทดสอบและประเมินผลสมรรถนะรถยนต์และวัสดุทั้งหมด (Vehicle and All Material Evaluation)
ตลอดจนยังมีการพัฒนาฟังชั่นต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น ต่อนิสัยการขับขี่ของคนไทย โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากลูกค้าผู้ใช้งานจริง เช่นความต้องการระบบชาร์จไฟฟ้าภายในรถแบบไฟบ้าน ( 220V)
หรือออพชั่น Cooler Box ในรถยนต์ Toyota Hilux Revo ใหม่ ตลอดจน ยังออกแบบตัวรถมีความลงตัวในการใช้งานและเป็นมิตรมาขึ้น เช่นที่วางของสามารถวางกล่องข้าวได้ ไปจนกระทั่งการให้ความสำคัญกับการสื่อสารของระบบแจ้งเตือนต่างๆ ด้วยการพัฒนาหน้าจอ Multi information display เป็นภาษาไทย แทนการใช้สัญลักษณ์ต่างๆบนหน้าปัด ซึ่งเข้าใจยากแก่ผู้ใช้งาน
รวมถึง TMAP-EM เองยังมีการทดสอบรถ Toyota Hilux Revo ใหม่ เพื่อให้ตอบสนองในการขับขี่มากขึ้น โดยเฉพาะระบบกันสะเทือนใหม่ล่าสุดที่มีความลงตัวให้ความนุ่มนวลในการขับขี่มากขึ้น เหมาะกับสภาพการใช้งานของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่น Double Cab สี่ประตู
และท้ายที่สุด TMAP-EM ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมในการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ Toyota Hilux Revo มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากถึง 95% เลยทีเดียว
ตลอดระยะเวลาที่เดินศึกษาและดูงานภายใน TMAP-EM ต้องยอมรับว่า การที่เราได้มีโอกาสเข้ามาที่นี่ทำให้เรามีโอกาสเข้าใจอะไรหลายๆอย่างทางด้านการทำงานเบื้องหลังของ วิศวกรยานยนต์มากขึ้น การพัฒนารถยนต์สักคันกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และการมีศูนย์พัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า วิศวกรยานยนต์ไทย มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลก
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com
[GALLERY1692]