ขับช้าชิดขวา เรื่องอันตราย... มากกว่าที่คิด

  • โดย : Autodeft
  • 30 ส.ค. 59 00:00
  • 49,393 อ่าน

ตั้งแต่ผมเริ่มขับรถมา ต้องยอมรับว่าปัญหาของคนไทยในการขับรถมีมากมายหลายสิ่ง ตั้งแต่การขับรถเร็วเกินกำหนดจนมาถึง การขับรถไม่มีมารยาท แต่ระยะหลังเรื่องช้าชิดขวาเป็นเรื่องที่ได้รับความใส่ใจจากสังคมไทยมากขึ้น และไม่ใช่แค่พฤติกรรมนี้จะมีในบ้านเรา หากยังเป็นประเพณีพฤติกรรมทางถนนผิดๆที่มีทั่วโลก

 

รถช้าอยู่เลนซ้าย รถเร็วอยู่เลนขวา เป็นธรรมชาติและกฎหมายบังคับอย่างชัดเจน เราถูกสอนกันตั้งแต่โรงเรียนว่าให้ขับแซงทางขวา และชิดซ้ายเมื่อไม่ประสงค์จะแซงหรือไม่ต้องการใช้ความเร็วในการเดินทาง และด้วยกฎหมายไทยที่ปู่เฒ่าชราภาพในการบอกเหตุผลว่าทำไม คุณถึงควรจะชิดซ้าย หรืออย่างน้อยสุดเข้าเลนกลาง จะได้ไม่เป็นภาระของสังคม

เรื่องราวการขับช้าชิดขวา เป็นเรื่องที่มีมานานในสังคมไทย มันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ทักษะในการขับรถที่ยังไม่แข็งพอหรือมั่นใจพอจะใช้ความเร็ว การเคารพกฎหมายจราจร ไปจนถึงการไม่ตระหนักต่อสำนึกในการใช้รถใช้ถนน แต่ทั้งหมด มันไม่สำคัญเลย ถ้าการช้าชิดขวาของคุณกำลังทำสังคมภาพรวมเดือดร้อน

ตามปกติเรามักจะบอกว่าคนขับรถช้าเป็นพวกผู้ดี ไม่ค่อยก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดขึ้นก็ไม่ร้ายแรงนัก แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดูท่าว่าเราคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เมื่อมีรายงานวิจัยที่น่าสนใจว่า คนขับรถช้ากว่าในการจราจรปกติ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอาจเป็นปัญหาทางสังคมถนน พวกเขาทั้งทำรถติด เมื่อขับเทียบข้างความเร็วรถคันข้าง และอาจจะก่อให้เกิอุบัติเหตุ มากกว่า คนที่ใช้ความเร็วมากกว่าการจราจร 8 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผิดกับที่เราเคยรู้มาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มขับรถว่า ขับช้ากว่าปลอดภัยกว่า ....

 [IMAGE2]

การขับช้าชิดขวาเป็นเหตุให้ผู้ชับขี่รายอื่นต้องแซงทางซ้าย อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

งานวิจัยดังกล่าว มีชื่อว่า  “Understanding Road Usage Patterns in Urban Areas” ทางทีมวิจัยได้สรุปสาระสำคัญไว้อย่างน่าสนใจ หลายประการ ตั้งแต่

                1.การขับรถข้างกันด้วยความเร็วเท่าหรือใกล้เคียงกัน เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้การจราจรติดขัด หรือทำให้การจราจรสะสม

                2.ทุกคนมักตระหนักว่า การขับรถด้วยความเร็วที่ช้ากว่าปกติจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่แต่จากการวิจัยพบว่าการขับช้ากว่าการจราจรปกติในเวลานั้น 8 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง กลับมีอันตรายมากกว่าคุณขับด้วยความเร็วกว่าการจราจรในเวลานั้น 8 กิโลเมตร/ชั่วโมง .ตลอดจนการขับช้ายังมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจเปลี่ยนเลนหรือเปลี่ยนเส้นทางช้าลงไปด้วย

                 3.การใช้ความเร็วในการขับขี่อาจจะดูเป็นอันตราย แต่ที่อันตรายกว่าคือการที่ผู้ขับขี่ต้องขับรถแล้วเปลี่ยนเลนไปมาบ่อยกว่า ส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าการใช้ความเร็ว และยังพบว่าการที่ผู้ขับขี่ต้องเปลี่ยนเลนบ่อย เป็นต้นเหตุสำคัญหนึ่งของอุบัติเหตุทางถนนถึงร้อยละ 10 ของอุบัติเหตุทางถนน ...

                และท้ายสุด 4 .การจำกัดความเร็วเข้มข้นขึ้น อาจไม่ได้ทำให้ถนนปลอดภัยขึ้น แต่อาจจะสร้างความวุ่นวายในการจราจรมากขึ้นกว่าเดิม

                เมื่อย้อนกลับมาดู “ช้าชิดขวา” คุณจะพบว่า  การช้าชิดขวามีส่วนสำคัญต่อการจราจร ถ้ารถหนึ่งคันขับช้าชิดขวา หมายความว่ามี โอกาสที่รถข้างหลังจะติดกันยาวเป็นแพ และทำให้การจราจรไม่ลื่นไหลดั่งที่ควรจะเป็น คุณกำลังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถติด  เพราะรถเร็วไม่สามารถแซงผ่านคุณได้ และยิ่งคุณขับช้า ก็กำลังบังคับให้คนอื่นขับช้าตามไปด้วย

 [IMAGE1]

การชิดซ้ายเมื่อไม่ต้องการแซงทำให้ถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งต่อตัวคุณเอง และเพื่อร่วมทางและทำให้การจราจรไม่ติดขัด

                ประการต่อมา การขับช้าชิดขวาเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุ อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อรถไม่สามารถผ่านคุณได้ทางขวา พวกเขาก็จำเป็นต้องผ่านคุณทางซ้าย เพื่อขึ้นหน้าแล้วเดินทางต่อไป เมื่อเขาแซงไปได้เขาจำเป็นต้องตบเข้าเลนขวาเหมือนเดิม มันคงไม่เป็นไร ถ้าเลนซ้ายไม่มีรถช้าข้างหน้า

                แต่ถ้ามีรถซ้ายขับช้าด้วย หมายความว่า เขาต้องใช้ความเร็วมากยิ่งขึ้น  เพื่อมุดช่องผ่านหน้าคุณไปให้ได้ ในที่สุดแล้วพวกเขาอาจจำเป็นต้องปาดหน้าคุณ เท่ากับคุณเองก็ทำตัวให้เสี่ยงเอง  แล้วลองคิดดูว่า ถ้ามีสักสิบคนในระยะทาง 1 กิโลเมตรคิดแบบคุณ ช้าชิดขวาไม่สนใจโลก มันก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะว่า เพื่อนร่วมทางต้องปาดปาดมา .... แค่มองดูคุณก็คงเสียวแทนแล้ว

                การขับรถไม่ใช่เพียงการไปถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย แต่คุณยังต้องมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง ซึ่งในสังคมถนนคนเมืองวันนี้หาได้น้อยเต็มที บางทีแค่คุณเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ปรับความคิดสักนิด ร่วมด้วยช่วยกันถนนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะถนนเป็นของทุกคนไม่มีใครเป็นเจ้าของพวกมันอย่างแท้จริง ...ครับ

 

ที่มาข้อมูลงานวิจัย yellowhammernews.com

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@Nattayosc), Blog  ส่วนตัว

 

ติดตามเรื่องราว ข่าวสาร และความรู้ รถยนต์ได้กับพวกเรา ได้ที่  www.Autodeft.com 

หรือผ่านทาง   Fanpage Facebook กดไลค์และ  Follow   ได้ที่   www.facebook.com/autodeft 

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ