สายพระเนตรอันกว้างไกลกับพลังงานทางเลือก ตอนที่ 1 ในหลวงกับแก๊สโซฮอลล์
- โดย : Autodeft
- 19 ต.ค. 59 00:00
- 39,058 อ่าน
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลายคนต่างต้องการให้ผมรวบรวมข้อมูลรถยนต์พระที่นั่งมาให้ประจักษ์ถึงรถยนต์รุ่นต่างๆมากมาย ที่พระองค์ใช้ในพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมาย ในระหว่างที่พระองค์ทรงครองราช แต่นอกจากรถยนต์ที่พระองค์ท่านใช้ในการส่วนพระองค์ และการทรงงานแล้ว ...โครงการพระราดำริต่างๆมากมายของพระองค์ ก็ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ และหนึ่งในนั้นมีเรื่องที่ใกล้ชิดกับคนใช้รถยนต์อย่างไม่น่าเชื่อ .
..
หลายคนอาจเกิดมาในยุคที่พลังงานทางเลือกกลายเป็นที่รู้จักกันดีของตลาด แต่หารู้ไม่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระปรีชาสามารถมองการไกลถึงพลังงานที่เราใช้ในชีวิตประจำวันว่า ในวันหน้าน่าจะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และอาจจะเป็นการดีที่เราจะมีพลังงานที่เป็นทางเลือกมากกว่าการคอยจะเฟ้นหาหรือนำเข้าขุดเจาะน้ำมัน
“แก๊สโซฮอล์” ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักกันดีในวันนี้ แต่ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบและควรตระหนักว่า เราโชคดีแค่ไหนที่มีพระมหากษัติรย์นักพัฒนา ด้วยว่า น้ำมันแก๊สโซฮอลเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จุดเริ่มต้นของพลังงานทางเลือกอย่างแก๊สโซฮอล์ที่เราคุ้นเคยกันดี ใครจะคิดมาก่อนว่า เกิดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีสายพระเนตรต่อเศรษฐกิจว่า ในอนาคตอาจะเกิดการขาดแคลนน้ำมันได้ หรืออ้อยอาจจะมีราคาตกต่ำในอนาคต พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัส ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอลจากพืช โดยโปรดให้ทดลองนำพืชเกษตร อย่าง “อ้อย” มาทดลองศึกษาวิจัยในการทำออกมาเป็นแอลกอฮอลจากพืช นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการศึกษาพลังงานทางเลือกชีวมวล ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานทุนการวิจัย 925,500 บาท ใช้ในการจัดสร้างอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการวิจัย
ต่อมา ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จด้วยพระองค์เอง พร้อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีในการเปิดอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย หากแต่ว่าในการผลิตยังคงมีต้นทุนสูงมาก และผลิตได้เพียงแอลกอฮอล 91 % ได้เพียง 2.8 ลิตร/ชั่วโมง
โดยในระหว่างที่ศึกษาวิจัยพบว่า วัตถุดิบในการใช้ในการผลิตไม่เพียงพอจึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และมีการเปิดอาคารวิจัยเพิ่มเติ่มอีกด้วย
แม้ว่าช่วงแรกในการศึกษาวิจัยจะสามารถผลิตเอทานอลได้แล้ว แต่ยังมีความบริสุทธิ์ไม่มากพอที่จะนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินได้ ทางโครงการจึงพัฒนาให้เป็นน้ำส้มสายชู และต่อมาพัฒนาเป็นแอลกอฮอลแข็งสำหรับใช้อุ่นอาหารของทางห้องเครื่องในวังสวนจิตรดา เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยมีการขนส่งแอลกอฮอลเหลวไปยังพระตำหนักที่ภาคเหนือ ปรากฏว่าระหว่างทางรถเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ทั้งคัน จึงมีแนวคิดในการทำแอลกฮอลแข็งเพื่อความปลอดภัย
ในปี พ.ศ. 2533 บริษัท สุราทิพย์ จำกัด ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนในการผลิตเอทานอล โดยทางบริษัทได้เข้ามาช่วยปรับปรุงหอกลั่นเอทานอล ให้สามารถผลิตเอทานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 95% และยังสามารถผลิตได้ 5 ลิตรต่อชั่วโมง จากกากน้ำตาล
เมื่อได้เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้นทางโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา จึงทดลองเติมรถยนต์ที่ใช้ในโครงการบางส่วน ปรากฏว่า เอทานอลที่ผลิตในตอนนั้นยังมีน้ำเจือปนอยู่ จึงไม่ประสบความสำเร็จ หากกระนั้นทางโครงการวิจัยดังกล่าวจึงนำเอทานอลดังกล่าวไปผ่านกระบวนการแยกน้ำทางวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จนได้เอทานอล แล้วนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ใช้ในโครงการส่วนพระองค์
ปี พ.ศ. 2537 ทางบริษัท สุราทิพย์ จำกัด และโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา ได้ขยายกำลังการผลิตจนเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน และได้ทำการผสมาเอทานอลในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำมันเบนซิน (91) 9 ส่วน หรือมีเอทานอล 10% ในเนื้อน้ำมันที่ใช้ และเรียกน้ำมันที่ผ่านการผสมนี้ว่า “แก๊สโซฮอล์”
น้ำมันแก็สโซฮอล์ที่ผลิตได้นั้น ถูกนำไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทุกคันในโครงการส่วนพระองค์ และเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๕๐ ปี ของสำนักพระราชวัง
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่บริษัท สุราทิพย์ จำกัด (ปัจจุบันคือ กลุ่มบริษัท 43) น้อมเกล้าฯ ถวายและดำเนินการกลั่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตหอกลั่น 25 ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนการผลิตแบบธุรกิจทั่วไป 32 บาทต่อลิตร ถ้าคิดต้นทุนการผลิตแบบยกเว้นต้นทุนคงที่ราคา 12 บาทต่อลิตร (ทำการผลิต 4 ครั้งต่อเดือน) ได้เอทานอลประมาณ 900 ลิตร ต่อการกลั่น 1 ครั้ง ใช้กากน้ำตาลความหวานร้อยละ 49 โดยน้ำหนัก ครั้งละ 3,640 กิโลกรัม ส่วนน้ำกากส่า (น้ำเสียจากหอกลั่น) สามารถนำมาใช้รดกองปุ๋ยหมักที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
เมื่อเริ่มผลิตใช้ได้แล้ว ก็ยังติดปัญหาสำคัญคือการผสมเอทานอลกับน้ำมันเบนซินในช่วงแรกยังต้องการผสมโดยใช้กำลังคน ในตอนนั้นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. จึงน้อมถวายหอผสม และสถานีบริการน้ำมันที่บริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้กับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
จากพระราชดำริ สู่ภาคประชาชน
หลายคนอาจจะสงสัยว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในวันนี้มีที่มาอย่างไร ....
จากโครงการพระราชดำริตั้งแต่แรก การก้าวมาสู่การวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ให้แก่ประชาชนนั้นก็หาใช่เรื่องง่าย โดยตั้งแต่ทีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มทดลองผลิตเอทานอล ทางการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ได้ลองดำเนินตามรอยพระราชดำริ หากว่าน้ำมันเบนซินยังมีราคาถูกมากจึงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังเฝ้าติดตามการดำเนินโครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการเติมสารตะกั่วในน้ำมัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของคนในสังคม ทางบริษัทน้ำมันจึงหันมาใช้ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) แต่ภายหลังก็มีงานวิจัยจากอเมริกาออกมาว่า สารดังกล่าวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งได้เช่นกันถ้าเกิดการรั่วลงน้ำ และยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และทาง ปตท. เห็นว่า โครงการส่วนพระองค์ได้ดำเนินการมานานแล้วในการเติมเอทานอล 10% ที่ใช้ในรถยนต์โครงการส่วนพระองค์ จึงได้ถวายรายงานการพัฒนาการใช้งานน้ำมันแก๊สโซฮอลแก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2543
โดยตามรายงานได้นำเสนอ ผลการทดลอง ระหว่างรถยนต์ที่ผสมเอทานอล 7.5% และ น้ำมันเอทานอล 15% โดยผสมกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ซึ่งพบว่า เครื่องยนต์ใช้งานได้ดี มลภาวะลดลง มีการสิ้นเปลืองน้ำมันเล็กน้อย และด้วยราคาที่ถูกกว่า จึงน่าจะมีการนำมาใช้กับรถยนต์ทั่วไป
ในปีต่อมาทางปตท.ได้ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ทดลองเปิดวางจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่สถานีบริการน้ำมันในสาขาสำนักงานใหญ่ บริเวณ ถนนวิภาวดีรังสิต
ในปีพ.ศ. 2545 บริษัทบางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ได้คิดค้นนำเอาทานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% มาเติมกับน้ำมันเบนซิน 95 และเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 สูตรที่เราทั้งหลายใช้ในปัจจุบันมาถึงวันนี้ เริ่มจำหน่ายครั้งแรกในบางสถานีบริการ ได้แก่ สถานีบริการติวานนท์, ถนนพหลโยธิน ถนนเจริญกรุงตัดใหม่ และถนนนวมินทร์ ก่อนที่จะมีสาขาบนถนนสุทธิสารวินิจฉัยใน พ.ศ. 2546
จนในที่สุดพวกเราหลายคนก็เริ่มคุ้นเคยยิ่งกอปรกับราคาน้ำมันเบนซินดั้งเดิมมีราคาแพงขึ้นตามลำดับ ทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้รับความนิยมมากขึ้น จนบางจากเป็นปั้มรายแรกในเชิงพาณิชย์ที่ขายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
จากสายพระเนตรอันยาวไกลทางด้านพลังงาน จนมาถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย เราหลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อนถึงเรื่องราวที่มาของแก๊สโซฮอล์ ..ผมเองก็เช่นกัน แต่วันนี้เราคงได้รู้แล้วว่าพระองค์ท่านทรงมีสิ่งที่พระองค์ดำริและได้ทุ่มเทพระวรกายเพื่อปวงชนชาวไทยกลับใกล้ชิดเรามากกว่าที่เราคิดเสียอีก
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง Content Specialist - นักขับทดสอบรถยนต์ Autodeft.com ติดตามได้ที่ Facebook
อนุญาตให้เผยแพร่ต่อได้เพื่อเป็นวิทยาทาน และรับรู้พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
ที่มาข้อมูล
สาระความรู้ โรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (1)
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (2)
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com