สอบใบขับขี่หินกว่าเดิม..กฏใหม่ที่ไม่แก้ไขตรงจุด....

  • โดย : Autodeft
  • 7 พ.ค. 57 00:00
  • 14,513 อ่าน

เปลี่ยนเกณฑ์สอบใบขับขี่ ใหม่ของกรมการขนส่งทางบก มันช่วยวินัยจริงๆ หรือเป็นอีกครั้งของการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด

 

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง

 

ใบขับขี่ สิทธิเสรีภาพที่หอมหวานของคนอยากมีอิสระบนชีวิตหลังพวงมาลัย แน่นอนว่าการมีใบขับขี่สักใบต้องผ่านการตรากตรำที่เข้มข้นและการสอบใบขับขี่ครั้งแรก ก็ดูเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับบรรดามือใหม่หัดขับ แต่หลายปีที่ท้องถนนเมืองไทยมีรถยนต์เยอะขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากฎหมายไทยในการออกใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่ ยังอ่อนไปจริงๆ

การออกมาประกาศกร้าวของกรมการขนส่งทางบก ที่เตรียมปรับกฏเกณฑ์การสอบใบขับขี่ใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่กรมการขนส่งพยายามเล่นบทวัวหายล้อมคอกของการออกใบอนุญาตการขับขี่ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้วินัยจราจรในชาติดีมากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้คนที่มีทักษะน้อย ได้มีโอกาสเพิ่มความรู้ ก่อนที่จะเผชิญโลกความจริงบนถนน

[IMAGE1]

ด้วยแนวคิดที่กรมขนส่งทางบกเข็นออกมาคราวนี้ พวกเขามองว่าการจะทำให้ข้อสอบยากขึ้นนั้นอยู่ที่การสอบภาคเขียน ที่มีการปรับจากเดิม การสุ่ม  300 ข้อ เปลี่ยนเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 ข้อ พร้อมทั้งเพิ่มเกณฑ์การวัดผลจากผลคะแนน 75% จึงจะถือว่าสอบผ่าน เป็นต้องมีผลคะแนนถึง 90% จึงจะสอบผ่าน กลายเป็นประเด็นร้อนทันทีมในชั่วข้ามคืนว่า เป็นทางออกที่ถูกต้องหรือไม่ การให้ข้อสอบยากขึ้นมีผลมากแค่ไหน ที่จะส่งถึงคุณภาพการขับขี่บนถนน หรือว่าที่จริงพวกเขาควรเรียนรู้จากภาคปฏิบัติมากขึ้นกันแน่

แนวทางหนึ่งที่รัฐดูจะมองข้ามไปคงเป็นการสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งทุกวันนี้นักเรียนมือใหม่หัดขับที่อยากมีใบขับขี่ทั้งหลาย ต่างดาหน้าพึ่งโรงเรียนสอนขับรถ ที่มีคุณภาพมากขึ้น มีสถานที่ให้เขาฝึกท่าต่างๆที่ต้องใช้ในการสอบ อย่างชำนาญการ ติวเข้มก่อนจะไปลงสนามสอบจริง ที่มีข้อกำหนดเพียงท่าสอบ  4-5  ท่า ตามแต่ละขนส่งจังหวัดจะกำหนด และเมื่อสอบผ่านก็จบกัน รับใบขับขี่ไปตามกฏระเบียบ

หากคงไม่พ้นว่า ท่าสอบปฏิบัติเหล่านี้ ...แม้จะมีส่วนช่วยในการขับขี่ แต่ไม่ได้สร้างสรรค์ห้ผู้ขับขี่มือใหม่ มีวินัยรวมถึงมารยาทบนถนนมากขึ้น ไม่เท่านั้นที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การที่คนหนึ่งคนโชว์ว่า เขาจอดรถได้ เดินหน้าถอยหลังได้ อ่านป้ายจราจรออก มันเพียงพอแล้วหรือต่อการที่ภาครัฐจะมันใจได้ว่า เขาคนนั้นเหมาะสมเป็นผู้ขับขี่ที่ควรจะได้ใบขับขี่มาครอบครอง..

[IMAGE4]

ในแง่หนึ่ง อาจจะใช่ ที่นั่นเพียงพอต่อการพิจารณาว่า เขามีความสามารถในการขับขี่ แต่ว่า มันไม่ใช่อย่างที่คิด โดยเฉพาะเมื่อแนวคิดแบบนี้บนเวทีโลกมาตรฐานการออกใบขับขี่ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนไป โดยสิ้นเชิง และส่งปัญหาถึงบรรดาเด็กไทยที่เดินทางไปนอก ต้องไปหัดเรียนใหม่สอบใหม่ เพราะการออกใบอนุญาตในบ้านเราไม่เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ

ทุกวันนี้ในต่างประเทศ มีระบบที่เรียกว่า การเรียนรู้การขับขี่จากประสบการณ์ มันไม่ใช่เรื่อง่ายอีกต่อไปสำหรับการมีใบขับขี่ เพราะมันดูจะมีค่ามากขึ้น ระบบนี้ถูกยกย่องว่าเป็นการสร้างนักขับ รวมถึงนักขี่ที่ดี โดยใช้วิธีการฝึกฝน จากครอบครัวและสังคมรอบข้าง เพื่อประกอบสร้างนักขับรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องออกมาเงอะงะบนถนนอีกต่อไป

การฝึกฝนนักขับ ด้วยการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ใช้วิธีการสร้างข้อจำกัดต่างๆในการขับขี่เป็นสภาวะแวดล้อม ภายใต้สิทธิบังคับ ในตัวบทกฎหมาย โดยยกตัวอย่างเช่น การจะมีใบขับขี่จริงในอังกฤษสามารถทำได้เมื่อตอนอายุ 17 ปี แต่ก่อนหน้านั้น คนที่อยากจะมีใบขับขี่ต้องขอเป็นนักขับขี่ฝึกหัด หรือที่เรียกว่า  Learner  ก่อนเพื่อเรียนรู้การขับขี่บนถนนจริงไม่ใช่สนามจำลอง และขับมันไปตามทางจริงๆ เพียงแต่จะมีข้อจำกัดบางประการเท่านั้น

[IMAGE6]

ภาวะการณ์เป็นนักขับขี่ฝึกหัดตามระบบที่อังกฤษนำมาใช้ รวมถึงหลายประเทศที่พัฒนาแล้วนำมาใช้ด้วยนั้น คือการให้นักขับมือใหม่ ต้องถูกฝึกสอนโดยผู้ชำนาญการบนถนน โดยระหว่างที่ขับขี่ต้องมีผู้ควบคุมที่มีใบขับขี่แล้วและอายุ  21 ปี ขึ้นไป คอยควบคุมกำกับการขับขี่ ซึ่งอาจจะเป็นญาติ หรือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยในระหว่างฝึกหัดจะต้องแสดงตัวตนชัดเจน เพื่อผู้ขับขี่อื่นๆจะได้ให้อภัยและหลีกเลี่ยงด้วยการแสดงสัญลักษณ์ L ก้คล้ายๆ กับป้ามือใหม่หัดขับในบ้านเรา ที่นิยมมาติดหลังจากได้ใบขับขี่ เพื่อแสดงว่ายังเป็นนักขับขี่ฝึกหัดและกำลังเรียนรู้อยู่

ข้อจำกัดทางด้านความเร็วถูกตั้งขึ้นเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ในบางประเทศ อาจจะมีการปล่อยให้ขับเดี่ยวได้ เช่นขับจากบ้านไปโรงเรียนในระยะที่กำหนด แต่ห้ามขับขี่ในเวลากลางคืน กระทั่งห้ามมีผู้โดยสารในวัยเดียวกัน ซึ่งแม้จะฟังแล้วแปลกไปนิด หากประเด็นทั้งหมดของการขับขี่โดยเป็นนักขับฝึกหัด อยู่ที่การหัดประสบการณการขับขี่เรียนรู้การขับจริง และปฏิบัติตามกฎจริงเพื่อให้สามารถปรับตัวได้

เมื่อถึงเวลา นักขับฝึกหัดก็ยังต้องสอบใบขับขี่ตามขั้นตอนต่างๆเหมือนเดิม ทั้งสอบข้อเขียน ทดสอบทางกายภาพ ทดสอบสภาวะจิตใจ รวมถึง สอบภาคปฏิบัติ ซึ่งในต่างประเทศ ยังมีจุดที่ชี้วัดว่าจะเป็นนักขับที่เหมาะสมหรือไม่อีกประการ คือการทดสอบสภาวะการขับขี่บนถนนจริง โดยมีนักประเมินจากหน่วยงานภาครัฐคอยนั่งติดรถไปด้วยเพื่อดูพฤติกรรมในการขับขี่ ที่หินที่สุดคือในอเมริกา ซึ่งพวกเขาจะจับตาดูบรรดามือใหม่นานถึง 6 ชั่วโมงในระหว่างการขับขี่ 2  วัน ของผู้เข้ารับการทดสอบ

[IMAGE5]

ในกรณีถ้าสอบไม่ผ่านผู้ขับขี่ฝึกหัดจะยังเป็นผู้ฝึกหัดต่อไป แต่จะมาขอสอบใหม่ได้ในเวลา สัปดาห์หรือสองสัปดาห์โดยประมาณ เพื่อให้เกิดการฝึกฝนมากขึ้นก่อน

นอกจากนี้ระบบ การขับขี่แบบผู้ฝึกหัดขับขี่ที่น่าสนใจแล้ว ในประเทศอังกฤษยังมีระบบใบขับขี่แบบจำกัดตามความสามารถ เช่น มีการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งจะไม่มีสิทธิที่จะแตะรถเกียร์ธรรมดา แม้ว่าจะขับขี่มายาวนาน จนกว่าจะสอบเพิ่มเติม

และในลักษณะเดียวกันยังถูกนำมาใช้กับการขับขี่รถมอเตอร์ไซคืบิ๊กไบค์ที่กำลังนิยมในบ้าน ด้วยการจำกัดกำลังของรถจนกว่าจะสอบใบขับขี่ขั้นสูงได้ จึงจะมีโอกาสขี่รถที่มีความเร้าใจมากขึ้นกว่าเดิม และมีสิทธิพิเศษต่างๆ เช่นการใช้ทางไฮเวย์ได้ มีสิทธิเท่ารถเก๋ง 1  คัน เป็นต้น

ถ้ามองทั่วโลกให้ดี จะเห็นได้ว่า แนวทางการสอบใบขับขี่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปมากแล้ว ทั่วโลก ต่างเน้นในการเรื่องการปฏิบัติอย่างถูกต้องในสภาวะจริงและ สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ นั่นคือคำว่า “ประสบการณ์ในการขับขี่”  และถึงเวลาที่รัฐต้องมองเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าเชื่อเพียงว่าการอบรม หรือการทำให้ใบขับขี่ทำยากขึ้น จะเป็นจุดสิ้นสุดปัญหาการจราจรที่ไม่จบสิ้น ทั้งจากความไร้วินัย ไปจนถึง การไม่ใส่ใจต่อกฎจราจร จนทำให้ บางครั้งการจราจร กลายเป็นจลาจล.

 

ใบขับขี่อาจเป็นเรื่องใหญ่ของนักขับมือใหม่ทั้งหลาย ที่พยายามสบช่องหาวิธีในการครอบครองสิทธิอิสระบทใหม่ที่ทำให้เขาเดินทางได้สะดวกขึ้น แต่การแก้โจทย์สำคัญ นั่นไม่ได้จบเพียงแค่ทำให้มันยากมากขึ้น แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้นักขับหน้าใหม่ใช้ถนนอย่างปลอดภัย รู้วินัยมีมารยาทมากขึ้น และเข้าใจโลกใหม่ในชีวิตบนถนนได้เร็วขึ้น

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ