เปิดตำนาน... 50 ปี เครื่องยนต์ Boxer ...ค่าย Subaru

  • โดย : Autodeft
  • 15 พ.ค. 59 00:00
  • 17,945 อ่าน

กล่าวถึงบริษัทรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องสมรรถนะในการขับขี่อันโดดเด่นมั่นใจในทุกเส้นทาง จนทำให้ฝรั่งมังค่าถึงกับทึ่งในการวิศวกรรม ชื่อเสียงของ Subaru นับว่ามีความโดดเด่นในการขับขี่มายาวนาน ..และคุณอาจจะไม่รู้ว่าพวกเขาใช้เครื่องยนต์แบบนี้มานานถึง 50 ปีแล้ว

 

Subaru เดิมที เป็นเพียงบริษัทหนึ่งในกลุ่มบริษัท Fuji Heavy Industry (FHI) กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่เกิดจากกองเถ้าถ่านของบริษัทผลิตเครื่องบินรายสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  , บริษัท นากาจิมะ แอร์คราฟท์  จำกัด ,โดยหลังจากสัมพันธมิตรชนะสงครามได้ประกาศร่างแยกส่วนบริษัทเครื่องบินรายนี้ และก่อตั้งขึ้นมาเป็นกลุ่มธุรกิจดังกล่าว

Subaru

แม้เศรษฐกิจญี่ปุนจะย่ำแย่และแทบไม่เหลืออะไรจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หากผู้คนก็ยังต้องการการเดินทาง กลุ่ม FHI  วางวิสัยทัศนการดำเนินธุรกิจทางด้านการขนส่ง ในการผลิตหรือมีส่วนร่วมการสร้างระบบคมนาคมที่พังเสียหายของประเทศขึ้นมาใหม่

ช่วงแรกพวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องการทำรถยนต์เลย หากความต้องการของคนญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามส่งให้ กลุ่มพิจารณาว่าควรจะสร้างบริษัทรถมอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์ ขึ้นมาตอบโจทย์ และด้วยการเดินตามแนวทางความต้องการของตลาด นาย เคนจิ คิตะ  ผู้บริหาร FHI  ในยุคนั้น มองว่าท้ายที่สุดแล้วรถยนต์จะกลับมาได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่น  บริษัทจึงวางแผนงานผลิตรถยนต์ และเริ่มต้นโครงการพัฒนารหัส  P1  

P1 เป็นชื่อโครงการวิจัยและพัฒนาอย่างลับๆ ใน  FHI   และหลายคนคาดว่าท้ายที่สุดมันจะเป็นชื่อบริษัทรถยนต์น้องใหม่จากญี่ปุ่นในทศวรรษ  50  หากแต่ทีมงาน   FHI   มองว่าชื่อบริษัทรถยนต์ใหม่ของพวกเขาควรจะเป็นชื่อที่สวยงาม และเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้ลูกค้าจดจำง่าย “Subaru” อันแปลความหมายตรงหมายถึงกลุ่มดาวลูกไก่.... จึงกลายเป็นชื่อที่เหมาะสมไปโดยปริยาย

เราหลายคนเกิดมาทันยุค  Subaru   เครื่องยนต์สูบนอน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่อง่ายสำหรับค่ายรถยนต์รายนี้ ...

ย้อนไปตั้งแต่ช่วงสร้างสรรค์รถยนต์รุ่นแรก ทาง    FHI   ไม่ได้วางแนวทางในการสร้างรถยนต์ให้เป็นเอกลักษณ์มากมาย พวกเขาแค่ต้องการมีรถยนต์แบรนด์ของตัวเอง เพื่อวางขายเท่านั้น รถยนต์   Subaru  รุ่นแรกจึงไม่ต่างจากรถรุ่นอื่นๆ

รถยนต์   Subaru  1500 - Subaru P1

รถยนต์ Subaru  รุ่นแรกผลิตออกขายในปี  1954   ในชื่อ   Subaru 1500   มันเป็นรถเก๋งตัวถัง   Monoque   ขับเคลื่อนล้อหลัง ตัวรถออกแบบโดย นาย ชิโคคุ โมโมเสะ วิศวกรการบินที่หันมารับผิดชอบโครงการ  P1   ตั้งแต่แรกเริ่มต้นในปี 1951  ตัวรถออกแบบให้เป็นรถคอมแพ็คคาร์ มีความยาว  4,235   มม.   กว้าง 1,670   มม. สูง   1,520   มม.  วางแพลทฟอร์มช่วงล่างแบบปีกนกอิสระสองชั้นทางด้านหน้า และด้านหลังใช้แหนบแผ่น

ยุคนั้น  Subaru  ยังไม่ค้นพบตัวของตัวเอง พวกเขาใช้บริการเครื่องยนต์   Prince Motor   ผู้ผลิตเครื่องยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น (ในยุคก่อนที่จะเข้าไปควบรวมกับ  Nissan ในปี 1966) ยกครื่องยนต์ขนาด 1500 ซีซี รหัส   F4GA   แบบเดียวกับที่ใช้ในรถยนต์  Peugeot 202  มาประจำการในรถของพวกเขา

หลายบริษัทรถยนต์อาจจะเกิดขึ้นจากความสำเร็จทางด้านยอดขาย แต่ไม่ใช่กับ   Subaru  ในครั้งแรก เพราะตลอดปี  1954  มีรถยนต์   Subaru  1500  วางจำหน่ายเพียง 20 คัน ในจำนวนนี้มีเพียง  11  คันเท่านั้น ที่ใช้เครื่องยนต์   F4GA  ส่วนอีก  6  คันถูกผลิตแล้วนำไปทำเป็นรถแท็กซี่ เพื่อทดสอบในเรื่องต่างๆ

แม้การเริ่มต้นจะไม่สวยงาม อย่างที่วาดฝันเอาไว้ ทว่าบรรดาทีมบริหาร   Subaru  ก็ไม่ได้ท้อแท้  ในปี  1958   พวกเขากลับมาด้วยรถยนต์นังขนาดเล็กตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น  

Subaru 360  เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่ออกมาวางจำหน่ายเมื่อครั้นปี  1958   ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันวิสัยทัศน์รัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการให้มีรถยนต์ประจำชาติ ในโครงการรถยนต์   Kei Car ประกอบความต้องการของคนญี่ปุ่นที่เริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น มีความต้องการรถยนต์มากขึ้น ...รถยนต์นั่งขนาดเล็กจึงเป็นหนทางสำคัญให้  Subaru  ได้แจ้งเกิด

รถยนต์  Subaru 360 

 

ตัวรถเจ้า  Subaru  360   เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กระดับ   Micro Car   ถึงจะแปลกในความคิด แต่   Subaru   เลือกใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กแบบ  2  สูบ   ขนาด  360   ซีซี จัดวางเครื่องยนต์ไว้ทางด้านหลังขับเคลื่อนล้อหลัง คล้ายใน   Volkswagen Beetle  มาพร้อมระบบเกียร์ธรรมดา  3  สปีด ในยุคแรกเริ่ม ก่อนจะปรับเป็นระบบเกียร์ธรรมดา  4  สปีด และ ยังมีชุดเกียร์แบบคลัชท์อัตโนมัติตามออกมาภายหลังด้วย

เครื่องยนต์สองสูบแบบ  2  จังหวะที่อยู่ใน   Subaru 360   เป็นเครื่องยนต์ที่ทาง   Subaru   ผลิตขึ้นมาเอง ในรหัสว่า  “EK31” มันให้กำลังเพียง  16  แรงม้า อาจจะไม่ใช่เครื่องยนต์สมรรถนะสูงนัก หากมันดีพอจะกันแดดกันฝน สำหรับคนที่ไม่ได้ชอบกินลมชมวิว

ขุมพลังบล็อกนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีกำลัง  18  และ   20  แรงม้าตามลำดับ นอกจากนี้  Subaru  ยังนำเครื่องยนต์เดียวกันไปใช้กับ   Subaru  Samba  รถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งบ้านเรารู้จักในฐานะ “รถกะป้อ” ที่เราเห็นวิ่งตามซอยใหญ่ๆ กันประจำ จนเครื่องยนต์  2  สูบ เป็นเครื่องยนต์ที่สร้างชื่อเสียงให้  Subaru   

หน้าตาอันคุ้นเคยในบ้านเรา รถยนต์  Subaru  Sambar

แม้เครื่องยนต์  2  สูบจะนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ Subaru  360   สามารถวางขายได้ยาวนานถึง  12   ปี ติดต่อกัน (1958- 1971) ทว่าจุดเริ่มต้นเครื่องยนต์  2  สูบ นี้ก็สร้างให้  Subaru  ก้าวสู่ตัวตนของพวกเขา

ในปี 1960   ทางทีมบริหารของ  Subaru  ต้องการสานต่อโครงการรถยนต์คอมแพ็คคาร์  Subaru 1500 กลับมาวางจำหน่ายจริงอีกครั้ง .. โครงการพัฒนารถยนต์รหัส  A-5   จึงเกิดขึ้นอย่างลับในรั้วของ   FHI   พร้อมกับการแนะนำเครื่องยนต์   Boxer   แบบ   4   สูบ ระบายความร้อนด้วยอากาศ เข้ามาในรถยนต์ของ   Subaru   เป็นครั้งแรก

ไม่มีใครทราบว่าทำไม  Subaru  ถึงตัดสินใจใช้เครื่องยนต์แบบ   Boxer   ทั้งที่พวกเขาก็ผลิตเครื่องยนต์แบบ  2  สูบอยู่แล้ว ข้อมูลจากบางแหล่งเชื่อว่า นั่นเพราะ  Subaru   เล็กเห็นการประยุกต์เครื่องยนต์แบบ  2  สูบ  2  เครื่องยนต์เข้าด้วยกัน เมื่อวางชุดสูบตรงข้ามกัน การทำงานตรงข้ามกันจะหักล้างแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้งาน ตลอดจนการวางเครื่องนอนขวางนั้นช่วยลดจุดศูนย์ถ่วงของเครื่องยนต์ในระหว่างการขับขี่ได้เป็นอย่างดี น่าจะทำให้นาย ชิโรคุ โมโมเสะ ในฐานะผู้ออกแบบและวิศวกรของ  Subaru   ตัดสินใจเครื่องยนต์ดังกล่าว บ้างก็กล่าวว่านาย ชิโรคุ มีโอกาสเข้าถึงเครื่องยนต์แบบสูบนอนของรถยนต์บริษัทอื่นๆจากต่างประเทศ อาทิ  Porsche  ,DKW  หรือ   Chevrolet Covair จนเป็นแรงผลักดันให้เขาได้แรงบันดาลใจมาทำรถยนต์ในแบรนด์   Subaru   

ปี  1963   โครงการรถยนต์คอมแพ็คคาร์ของ   Subaru  กลับมา soouhพวกเขาลดขนาดเครื่องยนต์จาก  1500   ซีซี ลงเหลือเพียง   1,000 ซีซี พร้อมแนะนำระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ แทนการระบายความร้อนด้วยอากาศเดิม แถมยังเป็นระบบวางเครื่องด้านหน้าขับเคลื่อนล้อหน้า (เครื่องวางขวาง) ตลอดจนยังปรับขนาดตัวรถให้เหมาะสมต่อเครื่องยนต์มากขึ้น  และในวันที่   21  ตุลาคม  ปี   1965  Subaru   เปิดเผยรถยนต์   Subaru  1000 ในงาน   Tokyo  Motor Show   ครั้งที่  12  ซึ่งในเวลานั้นจัดที่โรงแรม โตเกียว ฮิลตัน แต่กว่ามันจะพร้อมให้ลูกค้าได้ซื้อหากันจริงๆ ก็ต้องรอกันจนข้ามปี ในวันที่ 14  พฤษภาคม 1966  และด้วยความสำเร็จมากมายดังกล่าวทำให้นาย ชิโรคุ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ  FHI

Subaru  1000 

เครื่องยนต์รหัส   EA 52  เครื่องยนต์สูบนอน รุ่นแรกของ  Subaru   ใน   Subaru  1000

Subaru ประสบความสำเร็จอย่างมากับ   Subaru   1000 จนค่ายดาวลูกไก่ต้องเพิ่มรูปแบบตัวถังออกมา ไม่ว่าจะเวอร์ชั่น 2 ประตู  หรือเวอร์ชั่น  5  ประตู  (4  ประตูแบบแวน) และในปี  1968   Subaru 1000 ให้กำเนิดที่สุดเวอร์ชั่นสปอร์ต ด้วยรุ่น  1000SS ทีมวิศวกรเพิ่มกำลังแรงม้าจาก  55 PS  ไปเป็น   67 PS  มันมากพอจะทำให้ความเร็วปลายจาก 135 ก.ม./ช.ม.เพิ่มขึ้นถึง 150   ก.ม./ช.ม.

ชื่อเสียง  Subaru  1000 ขจรไกลอย่างรวดเร็ว มันคือ Subaru   รุ่นแรกที่ถูกขนไปขายในอเมริกา และด้วยการวิศวกรรมันเหนือชั้น  ในปี  1969  Subaru  1000 มียอดขายถึง   4,000 คัน อาจไม่ใช่จำนวนมากมายนัก แต่มันคือรถที่มียอดขายรองจาก  Toyota KE 10 และ  Nissan  B10    

เครื่องยนต์  FA20F  เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมคลาส  2.0  ประจำปี   2015  และ 2016  จาก   Ward Auto 

ตลอด 50 ปี แห่งการเดินทางอันยาวนาน  Subaru   เปิดเผยว่า   Subaru  Boxer Engine   ถูกขายไปทั่วโลกกว่า  16   ล้านตัว และตลอดเวลาที่ผ่านมาเครื่องยนต์ Boxer  สร้างชื่อเสียงมาให้  Subaru   เสมอ ด้วยการชนะรางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลกมากมาย ตั้งแต่  Ward Engine of the year 2004 (EJ257-Subaru  Impreza WRX STi) , 2010 (EJ255- Subaru Legacy GT ) , 2013 (FA20D- Subaru BRZ) และล่าสุดปี   2015  และ   2016  พวกเขามีชัยจากเครื่องยนต์ของ  Subaru  WRX (FA20F Turbo)

Subaru วันนี้ยังคงความเป็นตัวตนเหมือนที่ผ่านมา พวกเขายังคงใช้เครื่องยนต์   Boxer   และพวกมันมีดีกว่าเดิมด้วยระบบ   Symmetrical All Wheel  Drive  ....  50 ปีที่ผ่านมา อาจจะใช้ไม่ใช่เวลายาวนานเหมือนบางบริษัทรถยนต์ แต่ถ้าคุณพูดถึงชื่อ  Subaru  ไม่ว่าอย่างไรก็น่จะนึกถึงสมรรถนะและความสนุกสนานในการขับขี่อย่างแน่นอน

 

 

เรื่อง โดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)

ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook หรือ ทาง  Fan page ,Twiter (@Nattayosc), Blog  ส่วนตัว

 

 

ที่มาข้อมูล  Wikipedia , Subaru 1000 ,Subaru 360 ,Autospeed

 

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

5 เรื่องน่าสนใจ