ข้อหาไหนบ้าง ที่คนขับรถยนต์บนถนนมักทำผิดจนเคยชิน

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 10 เม.ย. 60 00:00
  • 14,437 อ่าน

หลังกระแสดราม่าเรื่องห้ามนั่งในแคปและกระบะ เลยทำให้มีควันหลงถกเถียงกันเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่า การบังคับแบบนี้เป็นการกลั่นแกล้งผู้มีรายได้น้อย, หักดิบมากเกินไป ไม่อะลุ้มอล่วย, เพิ่มข้อหาให้ตำรวจเขียนใบสั่งได้มากขึ้น เป็นต้น ส่วนอีกฝ่ายก็บอกว่า กฎหมายเขียนแบบนี้มาตั้งนานแล้ว แต่คนไทยทำผิดซะเคยชินจนกลายเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้วยังมีอีกหลายเรื่องบนท้องถนน ที่คนไทยยังทำผิดกฎหมาย แต

ขับรถเร็วเกินกำหนด

ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด

เป็นเรื่องที่เถียงกันมานานแล้วเกี่ยวกับความเร็ว ทั้งในเขตเมืองและทางหลวง หลายคนโดนใบสั่งหรือโดนเรียกแล้วโวยวายว่า ขับแค่เท่านั้นเท่านี้ ทำไมโดนจับ หรืออ้างไปถึงกฎหมายว่า เขียนขึ้นมานานแล้ว น่าจะเปลี่ยนได้หรือยัง ถ้าเอาตามความเป็นจริงแล้ว กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า สำหรับรถยนต์ เขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลให้ขับได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้านอกเหนือจากนี้ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนบนทางหลวง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ให้รถยนต์ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางสาย กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ให้รถยนต์ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ผู้กระทำความผิดฐานขับรถยนต์ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในปัจจุบัน ตำรวจได้อะลุ้มอล่วยในเขตเมืองซะเป็นส่วนใหญ่ และทางหลวงเองก็เปิดโอกาสให้ขับได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงเกือบทั้งนั้น ถ้าเกินกว่านี้ก็รับใบสั่งกันไป

 

วิ่งบนไหล่ทาง

สิ่งที่เราจะเห็นกันเป็นประจำเมื่อรถเริ่มติดขัดคือ เปิดเลนเพิ่มอีก 1 ช่องทาง ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวากันอยู่เป็นประจำ ซึ่งคำนิยามตามกฎหมายของไหล่ทางก็คือ " พื้นที่ที่ต่อจากขอบทางออกไปทางด้านข้างซึ่งยังมิได้จัดทำเป็นทางเท้า" ซึ่งปกติแล้วไหล่ทางด้านข้างก็จะไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ส่วนใหญ่มีไว้ให้รถจักรยานยนต์หรือจักรยานใช้วิ่ง หรือเผื่อกรณีฉุกเฉินเอาไว้ให้รถจอดข้างทาง ถ้าเอาจริงๆกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าการวิ่งบนไหล่ทางคือผิด แต่มีส่วนที่อยู่ใน พรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 3 การใช้ทางเดินรถ หมวด 1 การขับรถ มาตรา 43 ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ ซึ่งการขับรถบนไหล่ทาง ก็ย่อมต้องขับทับเส้นหรือคร่อมเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว มีอัตราต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึง หนึ่งพันบาท ยกเว้นจะได้รับอนุญาตในบางกรณีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่น บนทางด่วนช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น

Traffic Light

ฝ่าไฟเหลือง

เราเรียนรู้กันเองมาตลอดว่า ไฟแดงให้หยุด ไฟเขียวให้ไป แต่สำหรับไฟเหลือง ยังมีคนอีกมากมายที่ยังเข้าใจว่า ยังวิ่งผ่านไปได้ หลายคนเมื่อเห็นไฟเหลือง ก็จะรีบเร่งกระทืบคันเร่ง เพื่อให้หลุดจากแยกนั้นได้ทัน หลายคนเมื่อโดนจับ ก็จะเถียงกันอย่างเต็มที่ว่า "ตอนผ่านเส้นมา ไฟยังเหลืองอยู่เลย" ถ้าเอาตามตัวบทกฎหมายแล้ว ได้นิยามเอาไว้ใน พรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 2 สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร มาตรา 22 ว่า สัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพัน ให้ผู้ขับขี่เตรียมหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเพื่อเตรียมปฏิบัติตามสัญญาณที่จะปรากฏต่อไป (ไฟแดง) เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่ได้เลยเส้นให้รถหยุดไปแล้วให้เลยไปได้ ดังนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วว่าตอนที่สัญญาณไฟเหลืองติดขึ้น รถยังอยู่ในวิสัยที่ยังสามารถชะลอรถเพื่อหยุดหลังเส้นได้ แต่ยังพุ่งตะบึงเพื่อให้ผ่านไฟสัญญาณนั้นอยู่ ก็สามารถเรียกปรับได้เช่นกัน อัตราระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

 

ทับเส้นทแยง

ถ้าเราขับรถอยู่ ที่หน้าอาคารหลายแห่ง หรือสถานที่ราชการ ก็มักจะมีเส้นทแยงสีเหลืองอยู่บนถนนตรงหน้าทางเข้าออกอยู่เสมอ ซึ่งสัญลักษณ์นี้หมายถึง ห้ามจอดรถทับเส้นนี้โดยเด็ดขาด เพื่อให้รถที่มีความประสงค์จะเข้าไปสถานที่นั้น สามารถเข้าได้เลยไม่ต้องหยุดรอ ซึ่งปัจจุบันรถหลายคันยังทำการขับรถทับเส้นนี้อยู่ และถ้าจะเอาตามบทกฎหมายจริงๆแล้ว มีการบัญญัติไว้ใน พรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 3 หมวด 4 การหยุดรถและจอดรถ มาตรา 55 ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ และตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ ถ้าตีตามตัวอักษร หมายความว่า ถึงจะไม่มีเส้นทแยงเหลืองบนถนน แต่ถ้าหยุดรถกีดขวางทางเข้าออกอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารอะไรที่เป็นเส้นทางเดินรถ ก็สามารถถูกเรียกปรับได้ทั้งสิ้น ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ขับช้าชิดขวา

ช้าชิดขวา

เถียงกันมานานแล้วว่าการขับรถชิดขวา ขับได้ในกรณีไหนบ้าง ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ขับในเมืองไม่นับ นับเฉพาะขับถนนหลวง บางคนบอกว่า ก็วิ่งสูงสุดตามกฎหมายกำหนดแล้ว วิ่งได้ แต่ถ้าไปดู พรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 3 การใช้ทางเดินรถ หมวด 1 การขับรถ มาตรา 34 เขียนไว้ว่า  ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่อง เดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุดผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทางเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้

(1) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร

(2) ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว

(3) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก

(4) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น

(5)(1) เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย

 

และมีขยายความไว้ใน มาตรา 35(2) ว่า  รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้ หมายความว่าถ้าขับตามปกติในถนนที่วิ่งไปทางเดียวกัน 2 เลนขึ้นไป ต้องขับรถในเลนซ้ายสุด หรือเลนที่ติดช่องทางเดินรถประจำทางมากที่สุด ยกเว้นกรณีที่กล่าวไว้ในวงเล็บ 1-5  แถมยังขยายความอีกว่า ถ้าวิ่งด้วยความเร็วช้ากว่าคันที่ตามมา ก็ต้องหลบในช่องซ้ายสุดเช่นกัน และใช้กฎหมายเดียวกันนี้กับถนนสาธารณะทุกเส้น ดังนั้นข้ออ้างที่บอกว่า ฉันวิ่งเร็วตามกฎหมายอยู่แล้วก็วิ่งได้ อันนี้ไม่จริง เพราะถ้าเขาขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดก็เป็นเรื่องความผิดของเขา แต่ถ้าเขาเร็วกว่า ยังไงเราก็ต้องหลบให้ไปในช่องทางซ้าย ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึง หนึ่งพันบาท

 

เปลี่ยนเลนทับเส้นทึบ

คนขับรถยนต์บนถนนหลายคน ยังคงให้ความเคารพกับสัญญาณจราจรบนพื้นทางน้อย ทั้งจะตรงผ่านแยก แต่วิ่งเข้าเลนเลี้ยวซ้ายแล้วแทรกก่อนถึงแยก, วิ่งแทรกรถคันอื่นก่อนขึ้นสะพาน เป็นต้น ซึ่งการขับรถแบบนี้ล้วนมีการทับเส้นทึบกันทั้งสิ้น เมื่อไปดูสัญลักษณ์จราจรบนพื้นทางประเภทบังคับ จะระบุในส่วนของเส้นทึบว่า "เส้นห้ามเปลี่ยนช่องเดินรถ" หรือ "เส้นห้ามเปลี่ยนช่องจราจร" Solid White Line มีลักษณะเป็นเส้นทึบสีขาวแบ่งทางเดินรถ หรือทางจราจรในทิศทางเดียวกัน ให้เป็นช่องเดินรถ หรือช่องจราจร หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถภายในช่องเดินรถหรือช่องจราจร ห้ามขับรถผ่านหรือคร่อมเส้น ซึ่งเส้นนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ทางแยกหรือทางร่วม เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ในช่วงจราจรติดขัด ก็ยังมีให้เห็นรถขับข้ามเส้นทึบกันอยู่เป็นประจำ ระวางโทษปรับ 400-1,000 บาท

Mobile Phone

โทรศัพท์ขณะขับรถ

พวกเราล้วนน่าจะรู้ดีกันอยู่แล้วว่าขณะขับรถอยู่ ห้ามใช้มือถือโทรศัพท์โดยเด็ดขาด ถ้าต้องการจะใช้เพื่อสนทนา ต้องมีอุปกรณ์เสริมจำพวก Hand Free หรือ Small Talk เท่านั้น ซึ่งช่วงที่เพิ่งออกกฎหมายนี้มาใหม่ๆ ก็มีการรณรงค์และบังคับใช้กันอย่างเข้มแข็ง ตำรวจแทบจะยืนจ้องแทบทุกเส้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้และบังคับใช้ก็หย่อนยานไปตามเวลา ปัจจุบันยังมีให้เห็นมากมาย ทั้งการโทรศัพท์ระหว่างขับรถ จนกระทั่งขับไปแชทไป สร้างความอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งตาม พรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 3 การใช้ทางเดินรถ หมวด 1 การขับรถ มาตรา 43 ระบุไว้ในวงเล็บ 9 ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ซึ่งถ้าตามตัวอักษร แม้จะติดไฟแดงอยู่ แต่ถ้ายังนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับ ก็ห้ามหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้งานเลย โดยมีระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึง หนึ่งพันบาท

 

ข้อหาเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นในการใช้ถนนกันอย่างผิดกฎหมาย ทั้งการใช้รถป้ายแดงต้องระบุการใช้งานช่วงตะวันตกดินไว้ในสมุด, จอดรถในที่ห้ามจอด, หยุดรถบนทางเท้า เป็นต้น แต่หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ก็อะลุ้มอล่วย เพื่อให้การจราจรเป็นไปได้อย่างสะดวก จนคนขับรถทำจนเป็นนิสัย และวันหนึ่งเมื่อบังคับใช้อย่างจริงจังขึ้นมา ก็โดยวายกันว่า ที่ผ่านมาก็ทำอย่างนี้ ไม่เห็นเป็นอะไร ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่ที่บังคับใช้ก็เพื่อความปลอดภัยแก่ทั้งรถของผู้ขับขี่และรถของผู้อื่นทั้งสิ้น ถ้าไม่หนักหนาอะไร ก็ลองทำตามที่กฎหมายกำหนดจนเป็นนิสัย แค่นี้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็จะเกิดขึ้นบนท้องถนนเองแหละครับ

ข้อมูลจาก Trafficpolice , Thailawforum , กรมการขนส่งทางบก

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com 

5 เรื่องน่าสนใจ