เตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อเริ่มใช้งานรถไฟฟ้าคันแรก
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 20 เม.ย. 64 00:00
- 8,339 อ่าน
เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วว่าไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราต้องใช้งานรถไฟฟ้ากันอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะช้าหรือจะเร็ว หรือจะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้น แต่ถ้าวันนี้คุณอยากจะเริ่มใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว แต่ไม่รู้ว่าควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไร วันนี้ AUTODEFT รวบรวมมาให้แล้วว่าควรเริ่มต้นกันอย่างไรบ้าง
ซื้อรถไฟฟ้า
แน่นอนว่า ก่อนที่จะเริ่มต้นใช้งานรถไฟฟ้าได้ เราก็ควรจะต้องเริ่มต้นด้วยการ “ซื้อ” มาเป็นเจ้าของเสียก่อน ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบ EV มากมายหลายรุ่นเหลือเกิน ตั้งแต่ราคาไม่ถึงล้านอย่าง MG EP หรือเกินล้านเล็กน้อยอย่าง MG ZS EV หรือจะระดับหลายล้านอย่าง Audi e-tron, Jaguar I-Pace, Porsche Taycan เป็นต้น ซึ่งแต่ละคันก็จะมีระยะในการขับขี่ รวมถึง Performance ที่แตกต่างกัน ดังนั้นศึกษาข้อมูลให้ดี เลือกซื้อให้เหมาะกับตัวเองให้มากที่สุด
เตรียมมิเตอร์ไฟบ้าน
เมื่อเราจะครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการต้องเตรียมติดตั้งชุดชาร์จภายในบ้าน จะเลือกแบบชาร์จช้าโดยสายอะแดปเตอร์ที่แถมมาให้ภายในรถ หรือจะติดตั้ง Wall Charge แบบชาร์จเร็วขึ้นมาอีกนิดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีมิเตอร์ไฟและสายไฟที่พร้อมสำหรับการชาร์จไฟฟ้าด้วย ซึ่งแน่นอนว่าบ้านอยู่อาศัยส่วนใหญ่ในเมืองกรุง ก็จะเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15(45) แอมป์ เสียเป็นส่วนใหญ่ [15(45) หมายถึงกระแสไฟฟ้าวิ่งปกติ 15 แอมป์ โหลดได้สูงสุด 45 แอมป์] และถ้าเป็นต่างจังหวัดส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ไฟมาก ก็จะเป็นขนาด 5(15) แอมป์ด้วยซ้ำ แต่สำหรับการใช้ชาร์จรถไฟฟ้านั้น จะมีการกินไฟระดับ 16 แอมป์ขึ้นไป จริงอยู่ว่าตัวมิเตอร์ไฟรองรับได้ แต่ตัวเบรกเกอร์ตัวหลักจะมีการติดเอาที่ไฟไม่เกิน 15 แอมป์ ดังนั้นเมื่อมีการเสียบสายชาร์จจนการใช้ไปเกิน 15 แอมป์เมื่อไหร่ เบรกเกอร์จะทำการตัดการทำงานทันที ดังนั้นถ้าต้องการใช้งานรถไฟฟ้า จึงต้องเตรียมหม้อแปลงให้พร้อมด้วยการเปลี่ยนใหม่ให้เป็นแบบ 30(100) แอมป์ ถึงจะรองรับการใช้งานได้ปกติ ซึ่งสามารถทำเรื่องขอเปลี่ยนกับทางการไฟฟ้า ทั้งในส่วนของนครหลวงและภูมิภาค สามารถสอบถามค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนได้กับทางการไฟฟ้าโดยตรงได้เลย
เตรียมจุดชาร์จไฟฟ้า
เนื่องจากการชาร์จไฟฟ้ากับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าการทำงานของแอร์ระดับ 12,500 BTU เสียอีก ดังนั้นจุดในการติดตั้งแหล่งจ่ายไฟฟ้าจึงต้องเป็นการต่อตรงมาจากเบรกเกอร์เมนหลักของบ้านเท่านั้น และสายชุดนั้นไม่ควรมีต่อพ่วงไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เลย ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้ามีการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทางค่ายหรือตัวแทนจำหน่ายจะมีผู้ที่คอยให้คำปรึกษาอยู่แล้วว่าควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง หรือบางค่ายอาจจะมีโปรโมชั่นพิเศษ แถมชุด Wall Charge ให้เลยพร้อมติดตั้ง ถ้าแบบนี้เราก็แค่เตรียมมิเตอร์ไฟฟ้าให้พร้อม ที่เหลือทางผู้จำหน่ายก็จะให้ทีมงานเข้าไปติดตั้งให้เอง แต่ถ้าบางค่ายมีแถมมาให้เฉพาะสายชาร์จแบบอะแดปเตอร์ เราก็ควรให้ช่างไฟฟ้ามาเดินสายใหม่ลากตรงมาจากกล่องเมนหลัก แล้วแยกเบรกเกอร์ต่างหากสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ และสอบถามกับทางค่ายรถยนต์ให้ดีว่าปลั๊กเป็นแบบไหน เพราะบางค่ายให้เป็นหัวปลั๊ก 3 ขาธรรมดา ถ้าแบบนี้ก็ให้ช่างเดินมาเป็นปลั๊กบ้านธรรมดาได้ (ต้องมีสายดิน) แต่บางค่ายก็ใช้หัวปลั๊กแบบโรงงาน ไม่ใช่หัวแบบธรรมดา ก็ต้องให้ช่างเดินเต้ารับแบบหัวโรงงานด้วยถึงจะใช้งานได้
กรณีที่ค่ายรถยนต์ไม่ได้แถมแท่น Wall Charge มาให้ แต่เราอยากจะติดตั้งเอง แนะนำให้แจ้งช่างติดตั้งให้เพิ่มปลั๊กธรรมดาสำหรับชาร์จโดยสายชาร์จ ให้อยู่ใกล้ ๆ แท่นชาร์จเพิ่มเติมอีก 1 จุดด้วย เผื่อในกรณีที่แท่นชาร์จมีปัญหา จะได้เสียบปลั๊กปกติเพื่อชาร์จรถให้วิ่งได้ไปก่อนชั่วคราว
ต้องเสียบปลั๊กทุกวันให้เป็นนิสัย
รถยนต์ไฟฟ้าต่างกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ที่เมื่อไหร่ก็ตามขับไปแล้วน้ำมันใกล้หมด เราสามารถหาปั๊มน้ำมันเติมได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับรถไฟฟ้าแล้ว การหาจุดชาร์จในปัจจุบันยังยากกว่าการหาปั๊มน้ำมันเยอะ แถมยังใช้เวลาในการชาร์จนานกว่ามากอีกด้วย ดังนั้นเราจึงต้องปรับกิจวัตรประจำวันของเราหลังลงจากรถเพื่อเข้าบ้าน จากเดิมที่ล็อกประตูแล้วเดินเข้าบ้านได้เลย ต้องเปลี่ยนมาเป็นการเสียบชาร์จรถทุกวัน จริงอยู่ว่ารถไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในปัจจุบันนี้ มีระยะทางวิ่งเกินกว่า 200 กิโลเมตรทั้งนั้น พอต่อการใช้งานในเมืองได้ 2 วันสบาย ๆ แต่เรื่องฉุกเฉินมีมาแบบไม่คาดคิดอยู่เสมอ ดังนั้นการเติมไฟให้เต็มทุกวัน มีไฟ 100% ทุกครั้งในตอนเช้าก่อนออกจากบ้าน มันก็มั่นใจกว่าการมีไฟเหลือ 60% แน่นอน และไม่ต้องห่วงว่าการชาร์จบ่อย ๆ จะทำให้แบตเตอรี่เสียหรือเปล่า คำตอบคือไม่เสียง่ายขนาดนั้น เพราะตัวแบตเตอรี่ออกแบบมาให้รองรับการชาร์จลักษณะนี้อยู่แล้ว แถมค่ายรถยังมีการรับประกันแบตเตอรี่อย่างน้อย 8 ปีอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็นข้ออ้างในการชาร์จไฟอยู่แล้ว
โหลดแอพจุดชาร์จไฟไว้ติดเครื่อง
จริงอยู่ว่าถ้าเราชาร์จไฟฟ้าให้รถเรามีพลังงานเต็ม 100% ทุกวัน ถ้าใช้งานแต่ในเมือง เราก็แทบไม่ต้องห่วงเลยว่าเราจะใช้งานรถจนไฟหมดลงได้ แต่การที่มีแอพจำหวกหาจุดชาร์จเอาไว้ เช่น EA Anywhere, MEA EV, PEA VOLTA, PlugShare, Greenlots, EQ Ready เป็นต้น เพื่อเอาไว้ตรวจสอบว่าจุดที่เราจอดรถนั้น มีจุดชาร์จไฟให้บริการ “ฟรี” อยู่หรือเปล่า ถ้ามี ก็เป็นโอกาสให้เราเข้าไปชาร์จไฟเพิ่มได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แน่นอนล่ะว่าอาจจะมีข้อแม้ให้จอดชาร์จได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าเราทำธุระที่จุดนั้นไม่ถึงชั่วโมง ก็หมายความว่าเราได้ชาร์จฟรีแถมยังไม่ต้องวนหาที่จอดรถอีกด้วย
และแน่นอนว่าแอพเหล่านี้จะช่วยเราได้ในเรื่องของเวลาที่เราจะต้องเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวะดที่เราคำนวนแล้วว่าไปกลับอาจจะเสี่ยงเดินทางไม่ถึงบ้าน ก็สามารถใช้แอพเหล่านี้ช่วยตรวจสอบล่วงหน้าว่าจุดปลายทางที่เราไป มีจุดชาร์จอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ จะได้เอาไปชาร์จเพิ่มระยะทางให้ได้มากขึ้นด้วย แต่แนะนำให้โทรสอบถามกับทางเจ้าของสถานที่ก่อนว่าแท่นนั้นสามมรถใช้งานได้หรือเปล่า เพราะหลายจุดมีขึ้นอยู่ในแอพก็จริง แต่เวลาไปใช้งานจริงอาจไม่ให้ใช้หรือใช้ไม่ได้ก็เป็นได้
ต้องรู้ระยะจริงของรถ
ถึงแม้ว่าเราจะรู้ระยะทางของรถไฟฟ้าที่เราใช้งานว่ามันสามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดเท่าไหร่จากการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง แต่เวลาใช้งานจริงแล้วมันก็ไม่เคยถึงสักที ส่วนใหญ่แล้วตัวเลขจะหายไปราว 15-25% เช่น ถ้าเคลมเอาไว้ว่าวิ่งได้ไกลสูงสุด 400 กิโลเมตร แต่เวลาวิ่งจริงแล้วเป็นไปได้ว่าอาจจะเหลือเพียง 300 กิโลเมตรต้น ๆ ก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขับขี่ของเราเลย ยิ่งกดแรง กดลึก ไฟฟ้ายิ่งใช้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นเราต้องควรท่องไว้ในใจเลยว่า จริง ๆ แล้วรถเราวิ่งได้ไกลโดยเฉลี่ยประมาณเท่าไหร่ ซึ่งเราจะทราบได้จริง ก็คือการใช้งานไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป เมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะสามารถวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น
วางแผนให้มากขึ้น
สำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าจุดชาร์จยังมีมากไม่เท่าปั๊มน้ำมัน การใช้งานในเมือง หรือบ้านตัวเองมันยังไม่เท่าไหร่ เพราะระยะทางมันพอต่อการใช้ในแต่ละวันอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่เราอยากเดินทางหรือจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เราก็ควรต้องวางแผนการเดินทางให้ดี เช่น เราต้องเช็คว่าระยะทางที่เราเดินทางไปนั้น พอกับไฟฟ้าที่เรามีอยู่หรือไม่ เช่น ถ้าเราต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปนครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร แน่นอนว่าสามารถเดินทางไปถึงได้แน่นอน จากนั้นเราก็ต้องวางแผนต่อว่า เราจะเอาไปชาร์จไฟได้ที่ไหน เช่น ต้องสอบถามโรงแรมที่พักปลายทางว่ามีจุดชาร์จให้ไหม ถ้ามีก็จบเรื่อง ใช้เดินทางกลับได้ แต่ถ้าไม่มี มีจุดชาร์จเร็วให้ใช้งานในบริเวณใกล้เคียงได้หรือเปล่า และถ้าชาร์จเร็วแล้วไฟจะบรรจุเข้าได้แค่ 80% จะพอขับกลับได้หรือเปล่า ถ้าไม่พอ ต้องมาแวะชาร์จตรงไหนได้อีก นี่คือเรื่องที่ต้องวางแผนเองทั้งหมด เพื่อให้เราสามารถเดินทางกลับสู่บ้านเราได้อย่างปลอดภัย
ถ้าเดินทางไกล ต้องเผื่อเวลาไว้เสมอ
สำหรับใครที่จำเป็นต้องเดินทางไกล นอกจากการวางแผนการเดินทางให้ดีแล้ว เราต้องควรเผื่อเวลาการเดินทางให้มากขึ้นอีกด้วย เพราะเวลาที่เราคำนวนกันก่อนหน้านี้ เราไม่ต้องเพิ่มเติมเวลาในการเติมน้ำมันเข้าไปด้วย เพราะการใช้เวลาแค่ 5-10 นาที มันใช่สาระสำคัญอะไรมากกับเวลาการเดินทาง แต่การใช้รถไฟฟ้าคืออีกเรื่องเลย เพราะการชาร์จไฟฟ้าแต่ละครั้งคือระดับเกิน 1 ชั่วโมงทั้งนั้น ถ้าเป็นหัว Fast Charge ก็อาาจะเร็วขึ้นมาอีกหน่อย แต่ก็ระดับเกินครึ่งชั่วโมง และยังได้แค่ 80% อีกด้วย (ป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เสียหาย) ดังนั้นเราต้อวคำนวนเวลาชาร์จตรงนี้เพิ่มเติมไปด้วย เพื่อให้ไม่พลาดหากเราจำเป็นต้องถึงปลายทางตามเวลาที่กำหนด
การใช้งานรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ต้องยอมรับอยู่ว่ายังไม่สะดวกเท่ากับการใช้งานเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ยังคงเป็นรถที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองเป็นหลัก เพราะต่อให้ค่ายรถมาบอกว่า ตอนนี้รถรองรับการชาร์จไวในระดับ 15 นาทีเพิ่มได้ 300 กิโลเมตรก็ตาม แต่ถาม ณ ตอนนี้เลยว่า จุดชาร์จแบบนี้ มีที่ต่างจังหวัดให้เราใช้ได้หรือยัง อย่าตอบว่ามีแต่ในกรุงเทพ เพราะมันไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง ขนาดในแอพมีจุดชาร์จแบบเร็วเปิดให้บริการ แต่เพื่อนักข่าวด้วยกันเคยบอกว่า ได้ทำการโทรไปถามแล้ว ทางปลายทางบอกว่ายังใช้ไม่ได้ เพราะไฟมาไม่พอ เลยทำให้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เหมาะกับการใช้งานวิ่งต่างจังหวัดระดับเกิน 300 กิโลเมตรสักเท่าไหร่ (ไกลระดับนี้ยังเหนื่อย) แต่สำหรับการใช้งานในเมืองนั้นสบายครับ เพราะปกติทั่วไปแล้ว ก็น่าจะใช้งานรถในระดับไม่น่าเกิน 200 กิโลเมตร/วันอยู่แล้ว เพียงพอต่อการใช้งานแน่นอน ข้อดีของการใช้รถไฟฟ้านั้น นอกจากเราจะได้การตอบสนองของรถที่ดีมากขึ้น, เสียงเงียบลง, ค่าไฟฟ้าในการเสียบชาร์จถูกกว่าเติมน้ำมันแล้ว คุณยังได้ลดในส่วนค่าดูแลรักษาตามระยะทางอีกด้วย เพราะไม่ต้องเติมน้ำมันเครื่อง, ไม่มีหม้อน้ำ, ไม่มีน้ำมันเกียร์ ดูแลเฉพาะส่วนอื่นเช่น น้ำมันเบรก, เบรก, ยาง, อุปกรณ์ปรับอากาศ เป็นต้น และที่สำคัญคือเราจะขับรถที่ไม่มีการปล่อยมลพิษเลย ลองนึกดูว่าถ้าเราเปลี่ยนรถที่วิ่งบนถนนให้กลายเป็นรถไฟฟ้าครึ่งหนึ่ง อากาศที่เราหายใจจะดีขึ้นมากขนาดไหน ไม่รวมถึงการลดเสียงเสียงจอแจบนท้องถนนด้วยนะ
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com