ขุดตำนานความแรงที่อวสานไปแล้ว Mitsubishi Lancer Evolution
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 23 ส.ค. 61 00:00
- 72,333 อ่าน
ถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 20 ปีก่อน สมัยผมเองยังอยู่ในวัยละอ่อน รถยนต์ซิ่งตัวแรง ที่มีความฝันไฝ่อยากมีเอาไว้ครอบครอง 1 ในอันดับต้นๆที่นึกถึงได้คือ Mitsubishi Lancer Evolution ด้วยรูปทรงที่แสนจะถูกใจ กับเสียงเครื่องที่ทรงพลัง ซึ่งช่วงแรกก็อยากด้ของแท้สั่งตรงมาจากญี่ปุ่น แต่ตอนหลังเอาแค่ได้ขับตัว Lancer แต่งตัวใหม่เป็น Evolution ก็พอใจแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป โลกก็เปลี่ยนไป เมื่อทางมิตซูบิชิกลับยุติการผลิ
Mitsubishi Lancer Evolution I (1992 - 1994)
ย้อนกลับไปเมื่อเมื่อปี 1992 ช่วงเดือนตุลาคม มิตซูบิชิที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการเปิดตัวจำหน่ายรถยนต์ตัวแรง ที่ทำการดัดแปลงมาจากรถยนต์ซีดานยอดนิยม Mitsubishi Lancer เจนเนอเรชั่นที่ 6 หรือบ้านเราเรียก E-Car เอาเครื่องยนต์รหัส 4G63 ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบ 244 แรงม้า แรงบิด 309 นิวตันเมตร และระบบขับเคลื่อน AWD ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีดของ Galant VR-4 มาใส่ สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 228 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใต้รหัสตัวถัง CD9A มีจำหน่าย 2 รุ่นคือ GSR และ RS โดยในตัว RS นั้น เอาไว้ให้นักแข่งในสนามเอาไปโมต่อเพื่อเพิ่มสมรรถนะ เพราะไม่มีทั้งกระจกไฟฟฟ้า, เบาะนั่ง, ปัดน้ำฝนหลัง, ระบบ ABS และใส่เป็นล้อเหล็กมาให้ แต่ชุดเพลาหลังใส่เป็นระบบ Limited-slip differential (LSD) มาให้ แต่สำหรับตัว GSR นั้น เน้นเอามาใช้งานได้ตามถนนทั่วไป เพราะมีแอร์ใส่มาให้ด้วย แต่ชุดขับเคลื่อนล้อหลังจะใส่มาเป็นระบบ Viscous Limited Slip Rear Differential (VLSD) เท่านั้น
Mitsubishi Lancer Evolution II (1994 - 1995)
สำหรับเวอร์ชั่น 2 นี้ จะยังคงใช้พื้นฐานมากจาก E-Car เช่นเดิม แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะกับความแรงมากขึ้น ทั้งปรับเรื่องการควบคุมให้ดีขึ้น, ปรับปรุงเรื่องฐานล้อให้รองรับการขับขี่ที่ดีขึ้น, ติดตั้งเหล็กกันโคลงที่มีขนาดเบาขึ้น, มีการปรับปรุงตัวถังใหม่ในหลายจุด รวมถึงปรับให้สปอยเลอร์มีขนาดใหญ่กว่าเดิม, ยางนั้นใส่ให้มีขนาดกว้างกว่าเดิม 10 มม. ส่วนตัวเครื่องยนต์นั้น ปรับจูนใหม่ให้มีกำลังมากขึ้นกว่าตัวแรก กลายเป็น 252 แรงม้า แต่แรงบิดยังคงเท่าเดิม ตัวถังถูกปรับใหม่ให้เป็นรหัส CE9A
Mitsubishi Lancer Evolution III (1995-1996)
เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ 1995 ก็ถึงเวลากำเนิดตัวแรงเวอร์ชั่นที่ 3 มีการปรับดีไซน์ของตัวรถใหม่ให้ดูดุดัน โฉบเฉี่ยวมากกว่าเดิม, ตัวช่องรับลมด้านหน้าแบบใหม่ ให้สามารถรับลมเข้าประบายอากาศภายในเครื่องยนต์, หม้อน้ำ, อินเตอร์คูลเลอร์ และเบรกได้ดีกว่าเดิม ตัวสเกิร์ตด้านข้างและกันชนหน้า-หลัง ออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ส่วนตัวสปอยเลอร์ด้านท้ายนั้น ถูกลดความสูงลง เพื่อให้ตอบสนองเรื่อง Aerodynamic ได้ดีขึ้น รวมทั้งเครื่องยนต์นั้น ถูกปรับแต่งในส่วนอัตราแรงอัดของเทอร์โบใหม่ ทำให้เครื่องยนต์สามารถรีดพลังออกมาได้เป็น 270 แรงม้า แต่แรงบิดยังเท่าเดิม รวมถึงตัวถัง CE9A เช่นเดิมด้วย
Mitsubishi Lancer Evolution IV (1996-1998)
สำหรับโฉม 4 นี้ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชั่น ได้มีการเปลี่ยนรถพื้นฐานจากเดิม E-Car ให้กลายเป็น Lancer ท้ายเบ๊นซ์แล้ว ภายใต้รหัสตัวถัง CN9A ตัวเครื่องยนต์ถูกหมุนจากเดิม 180 องศา เพื่อถ่วงน้ำหนักของตัวรถให้ดีกว่าเดิม รวมทั้งลดอาการ Torque Steer หรืออาการพวงมาลัยเป๋จากการกดคันเร่งอีกด้วย โดยยังคงมีวางจำหน่ายเป็น 2 รุ่นเช่นเคย โดยเวอร์ชั่นรถแข่งอย่าง RS นั้น มีการเพิ่มระบบ Limited-slip differential เข้าไปที่ล้อหน้าด้วย รวมทั้งยังมีเบาะของ GLX รุ่นปกติมาใส่ให้, ล้อสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นขนาด 16 หรือ 17 นิ้ว, กระจกไฟฟ้า และในบางตัวก็สามารถเลือกใส่แอร์เข้าไปได้ด้วย, มีการใส่ตัวยึดตัวถัง เพื่อลดการบิดตัว ติดไว้ตรงใต้กระจังหน้า และใต้ท้องรถ ส่วนเครื่องยนต์นั้น มีการเปลี่ยนเทอร์โบให้เป็นแบบ Twinturbo ทำให้มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 276 แรงม้า แรงบิด 330 นิวตันเมตร และในตัว GSR รุ่นสำหรับขับบนท้องถนน ยังเพิ่มระบบ Active Yaw Control ซึ่งเป็นระบบควบคุมแรงบิดที่ล้อ จากการคำนวนค่าจากพวงมาลัย, คันเร่ง และ G Sensor ทำให้การเข้าโค้งแต่ละครั้งมีความหนึบมากกว่าเดิมแม้จะเข้าด้วยความเร็วสูง แต่ก็แลกมาด้วยน้ำหนักตัวที่มากกว่าเดิม และมีระบบ ABS เข้ามาเพิ่ม, เบาะหน้าของ Recaro, วิทยุ 2 DIN, กระจกไฟฟ้า และ แอร์ ด้วยความสวยแปลกใหม่ ทำให้ยอดผลิตรถจำนวน 10,000 คัน หมดไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว
Mitsubishi Lancer Evolution V (1998-1999)
รุ่นนี้ จะมีการใช้ตัวถังรหัส CP9A แต่ตัวเครื่องยนต์จะยังเป็น 4G63 มีกำลังเท่าเดิม โดยมีการปรับเปลี่ยนทั้งตัว Kit มีการเพิ่มในส่วนของซุ้มล้อขึ้นมา, สปอยเลอร์หลังเป็นแบบอลูมินั่ม ปรับองศาการรับลมได้, ระยะห่างของล้อเพิ่มขึ้น 10 มม., ออฟเซ็ตของล้อก็เปลี่ยนจาก ET45 เป็น ET38 และเป็นรุ่นแรกที่เพิ่มเบรก Brembo เข้ามาด้วย
Mitsubishi Lancer Evolution VI (1999-2001)
โฉมนี้จะยังคงใช้เป็นรหัสตัวถังเดิมคือ CP9A ที่ใช้พื้นฐานมาจากแลนเซอร์ ท้ายเบนซ์ แต่มีการปรับเรื่องระบบการระบายอากาศและความทนทานของเครื่องยนต์มากขึ้น โดยเพิ่มขนาดของ Intercooler, Oil cooler ให้ใหญ่กว่าเดิม ในรุ่น RS นั้น ปรับเปลี่ยนวัสดุใบพัดเทอร์ไบน์ใหม่ให้เป็น Titanium-aluminide ซึ่งเป็นรุ่นแรกของรถยนต์แบบ Production Car ถึงแม้จะทำแรงม้าได้เท่าเดิม แต่ได้มาซึ่งแรงบิดที่เพิ่มขึ้นเป็น 373 นิวตันเมตร ในส่วนของกันชนหน้า มีการปรับจุดติดตั้งไฟตัดหมอกให้เล็กลง และขยับไปอยุ่ตรงมุมให้มากขึ้นกว่าตัวเดิม เพื่อระบบการไหลเวียนของอากาศที่ดีขึ้น และใน Mitsubishi Lancer Evolution VI รอบนี้ จะมีรุ่นแบ่งย่อยเพิ่มขึ้นมาอีก ทั้ง RS2 ที่มีออพชั่นเพิ่มเติมเกือบเท่า GSR, RS Sprint และ RS Ralliart ที่น้ำหนักของตัวรถเบาลง แต่กำลังของเครื่องยนต์มากขึ้น ถูกจูนใหม่ให้กลายเป็น 330 แรงม้า
นอกจากนี้ ในโฉม 6 ยังมีเวอร์ชั่นพิเศษ Tommi Makinen Edition มาเพิ่มอีกรุ่น เพื่อเป็นเกียรติแก่ Tommi Makinen ที่ขับ Evolution ชนะการแข่งขันรายการ World Rally Championship ด้วยการติดตั้งกันชนหน้าแบบใหม่, เบาะ Recaro สีดำตัดแดง พร้อมโลโก้ของ T. Makinen, ล้อแม็กซ์สีขาว 17 นิ้วของ Enkei, หนังแท้ของ Momo หุ้มที่พวงมาลัยและหัวเกียร์, ตัวใบพัดเทอร์ไบ มีการปรับให้ตอบสนองได้เร็วขึ้น, ตำแหน่งคนขับอยู่ต่ำลง รวมทั้งอัตราส่วนในการหมุนของพวงมาลัยก็มากขึ้น ทำให้ตอบสนองการเลี้ยวได้เร็วกว่า
Mitsubishi Lancer Evolution VII (2001-2003)
สำหรับโฉมนี้ ได้มีการปรับรถพื้นฐานให้กลายมาเป็น Mitsubishi Lancer Cedia ภายใต้รหัสตัวถัง CT9A ส่วนเครื่องยนต์ยังคงเป็น 4G63 ที่มีการปรับจูนใหม่ รวมทั้งระบบการไหลเวียนอากาศที่ดีขึ้น แรงบิดจึงเพิ่มขึ้นเป็น 385 นิวตันเมตร ส่วนแรงม้ายังคงเท่าเดิม แต่เกียร์นั้น จากเดิมจะมีเฉพาะแบบธรรมดา 5 สปีด แต่รอบนี้มีการเพิ่มเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีดมาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย ถูกเรียกว่าระบบ "Fuzzy Logic" ที่ตัวเกียร์สามารถเรียนรู้วิธีการขับรถของเราได้ แล้วเอาไปปรับการทำงานของตัวเองให้ทำงานรองรับการขับขี่ของเราได้ดีมากกว่าเดิม แต่ด้วยความเป็นรุซิ่ง จึงมีการใช้งานเป็นโหมด manual ได้ด้วยปุ่ม +/- บนพวงมาลัย (ยังไม่ใช่ Paddle Shift) หรือการเปลี่ยนที่คันเกียร์ตามปกติ แต่ในเวอร์ชั่นเกียร์อัตโนมัตินั้น ถูกจูนให้เครื่องยนต์มีกำลังลดลงเล็กน้อย เหลือเพียง 268 แรงม้าเท่านั้น
และ Mitsubishi Lancer Evolution VII นั้น ถูกออกไปนำแสดงในภาพยนตร์ดังเรื่อง 2 Fast 2 Furious ที่ขับขี่โดย Paul Walker เป็นคันสีเหลือง
Mitsubishi Lancer Evolution VIII (2003-2005)
และแล้วก็เดินทางมาถึงรุ่นที่ 8 กับการปรับเปลี่ยนใหม่อีกครั้งหลายอย่าง เพิ่มรุ่นที่ทำการจำหน่ายเป็น 4 ไลน์ คือ GSR, RS, SSL และ MR โดยครั้งนี้จะตัดตัวเกียร์อัตโนมัติที่ใช้ในโฉมที่แล้วออกไป แล้วใส่เกียร์ธรรมดา 6 สปีดเข้ามาแทน ในรุ่น RS และ MR ส่วนในรุ่น SSL จะมีส่วนของ Sunroof, ลำโพง Sub-Woofer และเบาะหนังเข้ามาเพิ่มด้วย ในตัว MR จะมีการปรับการทำงานของ limited-slip front differential ให้ทำงานดีขึ้น, หัวเกียร์อลูมิเนียม, ก้านเบรกมือจากคาร์บอนไฟเบอร์, แม็กซ์ขนาด 17 นิ้วของ BBS หลังคาอลูมิเนียม, ช่วงล่างจาก Bilstein รวมทั้งไฟท้ายและไฟหน้าเป็นโครเมี่ยมแบบสปอร์ต ทำให้ตัวรถนั้นมีน้ำหนักเบาลง และจุดศูนย์ถ่วงอยู่ต่ำลงกว่าตัวเก่า นอกจากนี้ ระบบขับเคลื่อน AWD ยังถูกปรับใหม่ให้ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า และที่สำคัญคือ Mitsubishi Lancer Evolution VIII เป็นรุ่นแรกที่ได้ถูกจำหน่ายในสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Subaru Impreza WRX STI
Mitsubishi Lancer Evolution IX (2003-2007)
สำหรับโฉมที่ 9 ของรถซิ่งตระกูล Evolution มีจุดที่สำคัญหลายอย่าง ถึงเครื่องยนต์จะยังเป็นรหัส 4G63 2.0 ลิตร เทอร์โบเช่นเคย แต่ในโฉมนี้มีการเพิ่มระบบวาล์วแปรผัน MIVEC เข้าไป ให้การทำงานของวาล์วนั้นดีกว่าเดิม รวมทั้งปรับในส่วนของเทอร์โบใหม่ จนสามารถผลิตกำลังได้ถึง 287 แรงม้า แรงบิด 392 นิวตันเมตร มีเกียร์ให้เลือกใช้งานทั้งแบบธรรมดา 5 สปีดและ 6 สปีด
นอกจากนี้ ทางมิตซูบิชิยังปล่อยตัว Evolution IX wagon ออกมาอีกด้วย โดยในตัวนี้จะมีเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีดกลับมาให้เลือกใช้อีกครั้ง แต่ตัวเครื่องจะกลับไปใช้ตัวเวอร์ชั่น Evolution VII ไม่มีระบบวาล์วแปรผัน MIVEC ถูกผลิตขึ้นมาเพียง 2,500 คัน และมีจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น (ไม่รวมผู้จำหน่าย Grey Market นำไปจำหน่าย)
Mitsubishi Lancer Evolution X (2007-2016)
รุ่นล่าสุดและรุ่นสุดท้าย กับ Evolution X ที่เปิดตัวเป็น Concept Car ที่งาน Tokyo Motor Show 2005 ภายใต้ชื่อ Concept-X จากนั้นในปี 2007 ก็ได้เผยโฉมตัวต้นแบบที่ 2 ภายใต้ชื่อว่า Prototype-X ที่งาน North American International Auto Show (NAIAS) และมีการผลิตมาจำหน่ายจริงในปีเดียวกัน โดยโฉมนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงยกแผง ทั้งตัวถังใหม่ภายใต้รหัส CZ4A พื้นฐานเดียวกันกับ Lancer เจน 9 รวมทั้งเครื่องยนต์ก็ถูเปลี่ยนเป็นครั้งแรกภายใต้รหัส 4B11T เป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบเหมือนเดิม แต่การจูนกำลังของเครื่องยนต์นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการไปจำหน่ายที่ประเทศแถบไหน แต่กำลังเครื่องเริ่มต้นจะอยู่ที่ 276 แรงม้า ในบางแห่งมีการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ จนมีกำลังสูงถึง 360 แรงม้าก็ยังมี สำหรับเวอร์ชั่นที่จำหน่ายในอเมริกานั้น Mitsubishi Lancer Evolution X MR จะมาพร้อมเกียร์แบบใหม่ อัตโนมัติ คลัทช์คู่ Sportronic Shift แต่ก็ยังมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีดให้เลือกใช้อยู่ มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full-Time ภายใต้ชื่อ Super All Wheel Control (S-AWC) ซึ่งจะคอยควบคุมแรงบิดของแต่ละล้อให้สัมพันธ์กันตามสภาพของถนนและการขับขี่ ยังไม่พอ เวอร์ชั่น 10 นี้ ยังมีเกียร์แบบใหม่กึ่งอัตโนมัติ6 สปีดแบบ SST twin-clutch มาเพิ่มอีก พร้อมความมันในการเปลี่ยนเกียร์ด้วย Paddle Shift ที่ใช้วัสดุสุดหรูอย่าง Magnesium alloy เข้ามาใช้งานแทนแบบ Tiptronic สำหรับ Mitsubishi Lancer Evolution X นั้น ถือเป็นโฉมที่มีความหลากหลายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกำลังของเครื่องยนต์, เกียร์, ออพชั่น และของตกแต่ง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแถบประเทศไหนนั่นเอง
เมื่อมาถึงปี 2011 ได้เริ่มมีข่าวลือหนาหูว่า ทางมิตซูบิชิจะตัดสินใจหยุดการพัฒนารถซิ่งตัวแรงในตระกูล Evolution ไว้เพียงรุ่นที่ 10 เท่านั้น ถึงแม้จะยังมีความต้องการอยู่ก็ตาม แต่เมื่อถึงปี 2014 มันก็เป็นจริง เมื่อทางโฆษกของมิตซูบิชิได้ออกแถลงการณ์ว่า Mitsubishi Motors ไม่มีแผนในการพัฒนารถซีดานพละกำลังสูง, ขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ใช้น้ำมันอีกต่อไป เราจะหันไปพัฒนารถยนต์สมรรถนะสูงที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าแทน ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ Mitsubishi Lancer Evolution แต่เพียงเท่านี้ แต่เพื่อเป็นการส่งท้าย จึงได้มีการปล่อย Final Edition (FE) ออกมาเพื่อปลอบใจสาวกในปี 2015 ใช้รถพื้นฐานมาจากตัว GSR เกียร์ธรรมดา 5 สปีด, หลังคาสีดำพร้อมอักษร Final Edition, ล้อแม็กซ์ดำของ Enkei ส่วนของเครื่องยนต์ปรับจูนให้แรงขึ้นไปเป็นระดับ 303 แรงม้า ผลิตขึ้นมาเพียง 1,600 คันเท่านั้น และทุกคันจะมีเลขลำดับกำกับไว้ทุกคันที่แผงคอนโซล และมีจำหน่ายเฉพาะในสหรัฐฯเท่านั้นด้วย
ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ Mitsubishi Lancer Evolution จะกลายเป็นตำนานไปแล้ว แต่เชื่อว่าถ้าใครอยู่ในสายรถแต่ง รถซิ่ง ก็คงต้องยังนึกถึงรถรุ่นนี้ได้เสมอ และเชื่อว่าถ้าหากเป็นไปได้ ก็อยากให้มิตซูบิชิเปลี่ยนใจ เอาซีดานตัวแรงกลับมาอีกครั้ง แล้วจะได้ผลตอบรับอย่างล้นหลามแน่นอน
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com