อยู่คอนโดมิเนียม แล้วอยากใช้งานรถไฟฟ้าเป็นรถส่วนตัวได้ไหม?

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 4 ส.ค. 65
  • 9,138 อ่าน

กระแสการอยากใช้ อยากมีรถไฟฟ้าแบบ EV กำลังเพิ่มขึ้นมากทุกวัน แต่ละค่ายปล่อยให้จองเมื่อไหร่ ก็แทบจะหมดลงภายในพริบตา แน่นอนว่ารถแบบนี้ เจ้าของรถก็ควรมีแท่นชาร์จเอาไว้ชาร์จไฟที่บ้านเพื่อที่จะได้เติมพลังงานไฟฟ้าได้ทุกวัน แล้วคนที่ไม่ได้มีที่หน้าบ้านเป็นของตัวเอง อย่างคนที่อยู่คอนโดมิเนียม หอพัก แฟลต หรืออะไรก็ตามที่ไม่มีพื้นที่ติดตั้งเป็นของตัวเองได้ต้องทำอย่างไร วันนี้เราจะมาคุยกันครับ

รถไฟฟ้า

ผมเอง ถึงแม้ว่าจะอยู่บ้านเดี่ยว แต่ที่บ้านก็ไม่ได้ติดแท่นชาร์จรถไฟฟ้าเอาไว้ใช้งานเลย ถึงแม้ว่าจะมีการเอารถเสียบปลั๊ก ไม่ว่าจะเป็นรถ EV หรือรถ PHEV ก็ตาม มาทำการขับเพื่อรีวิว ทดลองขับกันอยู่บ่อย ๆ ก็พอจะเหมือนการใช้ชีวิตอยู่ที่คอนโดมิเนียม ที่ไม่มีแท่นชาร์จเป็นของตัวเอง แต่อยากจะใช้งานรถไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน แล้วมันใช้ได้ไหม เบื้องต้นก็ต้องบอกว่าใช้ได้ แต่มันมีเงื่อนไขแฝงอยู่ จะมีอะไรบ้างลองมาอ่านดูครับ

รถไฟฟ้า

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสนำรถไฟฟ้า Volvo XC40 Recharge Pure Electric มาทดลองใช้งานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถือว่าเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้เวลาในการทดสอบนานที่สุดแล้ว (ก่อนหน้านี้นานสุดคือ 2 คืน ส่วนใหญ่จะคืนเดียว) แถมยังเป็นสัปดาห์ที่ต้องเดินทางเพื่อทำงานเยอะมาก ดังนั้นจึงต้องวางแผนในการชาร์จไฟฟ้าให้รอบคอบ ประดุจดั่งตัวเองอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเลย ต่างจากคนที่มีแท่นชาร์จอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องคิดอะไรมาก ถึงบ้านก็ดึงสายมาเสียบชาร์จไว้ ตื่นเช้ามาไฟก็เต็ม เดินทางได้ต่ออีกวันแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก (ยกเว้นต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเกิน 200 กิโลเมตร) ดังนั้นการค้นหาจุดชาร์จไฟฟ้า จึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำการบ้านต่อ

รถไฟฟ้า

การเอารถไฟฟ้ามาทดสอบช่วงนี้ เป็นจังหวะที่จุดชาร์จในปั๊ม PTT กำลังจะเริ่มเก็บค่าชาร์จไฟฟ้าอยู่พอดี ดังนั้นผมเองจึงได้มีโอกาสในการใช้งานทั้งแบบชาร์จฟรีและเสียเงินในรอบเดียวกัน ในช่วงชาร์จฟรี บอกเลยครับว่าจองยากมาก รอบแรกจองได้ 7 โมงเช้า  รอบต่อมาได้ตอน 5 ทุ่ม ต้องเคลียชีวิตกันน่าดู แต่พอผ่านเข้าวันที่ 1 สิงหาคมที่ทาง EV Station เริ่มเก็บเงินค่าชาร์จ คราวนี้สบายเลยครับ อยากชาร์จช่วงไหนก็ลุยเลย คนจองวันหนึ่งไม่น่าเกิน 5 Slot ดังนั้นในรายละเอียดของการใช้งาน ผมขอลงในเรื่องการเสียเงินชาร์จเลยนะครับ เพราะการชาร์จฟรีคงไม่มีอีกแล้ว

รถไฟฟ้า

สิ่งแรกที่อยากแนะนำในการค้นหาจุดชาร์จรถไฟฟ้านอกบ้าน แนะนำให้หาจุดชาร์จที่มีระบบชาร์จเร็ว จะเป็น CCS Type 1 หรือ Type 2 ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันเท่าที่เห็น จะมีให้บริการ 3 เจ้าใหญ่คือ EV Station ของ PTT , EA Anywhere และ PEA Volta แต่ถ้าในกรุงเทพก็จะเหลือแค่ 2 เจ้าแรก (ของ MEA ก็มี แต่มันไม่ค่อยสะดวกกับการใช้งานเท่าไหร่) ดังนั้นเจ้าของรถไฟฟ้าก็ควรดาวน์โหลดแอพของทั้ง 3 เจ้านี้เก็บเอาไว้ จากนั้นก็ทำการค้นหาจุดชาร์จไฟฟ้าผ่านทางแอพได้เลย แล้วดูว่าจุดไหนอยู่ใกล้ที่สุด สะดวกเราที่สุด และจุดนั้นควรต้องมีระบบชาร์จเร็วให้บริการด้วย

รถไฟฟ้า

ทีนี้ ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า แท่นชาร์จเร็วแบบ CSS ก็จะมีแรงดันไฟฟ้าไม่เท่ากันอีก เท่าที่เห็นมีตั้งแต่ 37 - 150 กิโลวัตต์ ยิ่งมาก ก็ยิ่งเร็ว แต่ก็ต้องตรวจสอบอีกว่า รถของเรารองรับการชาร์จไฟแบบเร็วได้มากที่สุดเท่าไหร่ อย่างรถที่นำมาทดสอบในรอบนี้ ก็คือ Volvo XC40 Recharge Pure Electric รองรับการชาร์จได้สูงถึง 150 กิโลวัตต์ ดังนั้นจึงควรหาที่ชาร์จระดับ 100 กิโลวัตต์ขึ้นไปถึงจะลดเวลาการชาร์จได้ แต่ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ สัก 75 กิโลวัตต์ก็ได้อยู่ แต่ถ้าใช้งาน ORA Good Cat ที่รองรับการชาร์จเร็วที่ 60 กิโลวัตต์ ก็เลือกใช้งานตู้ที่ไม่เกิน 60 กิโลวัตต์ก็ได้ แต่ถ้าตู้นั้นไฟแรงกกว่า ก็ใช้งานได้นะ เพราะตู้จะจ่ายไฟตาม On-Board ของรถคันนั้นอยู่ดี

รถไฟฟ้า

ทีนี้ จุดชาร์จควรอยู่ห่างจากที่พักของเราไม่เกินกี่กิโลเมตร ถึงจะพอคุ้มค่าในการขับรถไปชาร์จ อันนี้ผมว่าขึ้นอยู่กับตัวรถเลยนะว่าระยะทางใช้งานจริงคือเท่าไหร่ ระยะทางไป-กลับเพื่อชาร์จไฟฟ้าไม่ควรเกิน 10% อย่างเช่นผมลองใช้งานรถที่ทดสอบอยู่ ระยะทางวิ่งจริงจะอยู่ที่ประมาณ 360 กิโลเมตร แต่จุดที่ชาร์จไฟกับบ้านผมอยู่ห่างประมาณ 14 กิโลเมตร ไปกลับ 28 กิโลเมตร ถือว่ายังอยู่ในระยะที่รับได้ ถ้าเกินกว่านี้ผมว่าอาจจะเริ่มไม่คุ้ม แต่สุดท้ายก็อยู่ที่คนใช้งานเองว่ามองอย่างไรนะครับ เป็นความพอใจส่วนตัวจริง ๆ

รถไฟฟ้า

รอบนี้ผมได้ลองทดสอบการชาร์จในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ผ่านตู้ชาร์จแบบ CCS Type 2 กำลังไฟฟ้า 120 กิโลวัตต์ เริ่มต้นด้วยกำลังไฟในแบตเตอรี่คงเหลือ 15% ระยะทางวิ่งคงเหลือตามหน้าจอ 70 กิโลเมตร ตอนจบที่ระบบตัดไปตอนชาร์จในระยะเวลา 58 นาที 37 วินาที ได้ไฟฟ้ามา 60.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง หน้าจอแจ้งแบตเตอรี่มาเป็น 88% ระยะทางคงเหลือ 380 กิโลเมตร จ่ายเงินไป 434.50 บาท (ช่วงนี้ ชาร์จในเวลา On-Peak ยังเก็บในราคา 7.01 บาท/หน่วยอยู่) ดังนั้นหมายความว่า ชาร์จรอบนี้ผมได้ไฟฟ้ามา 73% ได้ระยะทางมาเพิ่ม 310 กิโลเมตร คิดแบบตื้น ๆ หมายความว่า ได้ไฟฟ้ามา 1% ต้องจ่ายเงิน 5.95 บาท หรือกิโลเมตรละ 1.4 บาท เคาะเครื่องคิดเลขยังไง ก็ยังน่าจะคุ้มกว่ารถเครื่องยนต์ปกติในระดับ 20 กิโลเมตร/ลิตรอยู่ดี ด้วยกำลังไฟขนาดนี้ ถ้าเป็นค่าเฉลี่ยของคนทำงานในเมืองทั่วไป ก็น่าจะใช้งานได้ราว 3 วันแบบไม่ต้องลุ้นอะไรมาก

รถไฟฟ้า

แต่เนื่องจากว่า ผมเองใช้งานรถไฟฟ้าคันนี้แบบชั่วคราว การเติมไฟฟ้าในระดับไม่ถึง 100% ก็พอทำได้อยู่ แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของรถไฟฟ้า จะมาเติมไฟระดับ 80-90% ก็ไม่น่าจะดีต่อแบตเตอรี่ของรถสักเท่าไหร่ ดังนั้นผมจึงมีข้อแนะนำว่า ควรจะชาร์จแบบไม่เต็มและเต็ม 100% สลับต่อเนื่องกันไป อ้าว แล้วจะต้องชาร์จอย่างไรถึงจะเต็มล่ะ ก็ต้องบอกว่า ถ้าเราชาร์จด้วยหัวชาร์จเร็วแบบ CCS มันจะเร็วในช่วงต่ำกว่า 80-90% แต่หลังจากนั้นมันจะจ่ายไฟฟ้าในระดับแรงดันเท่าแบบ AC เลย เพื่อการใช้งานร่วมกันกับคนอื่นที่คงอยากใช้งานแบบชาร์จเร็วเหมือนกัน ผมอยากแนะนำให้ชาร์จเร็วจนถึงระดับ 90% หรือเข้าสู่ระดับชาร์จช้าแล้ว (แต่ละคันจะตั้งค่าไม่เท่ากัน ใน Volvo ให้เริ่มชาร์จช้าที่ 90%) หลังจากนั้นให้สลับมาชาร์จด้วยหัวแบบ AC อีกสักชั่วโมง ไฟก็น่าจะเต็ม 100% ได้แล้ว เพราะกำลังไฟฟ้าที่จ่ายบนตู้ชาร์จนั้น แรงกว่าสายชาร์จที่แถมมาแน่นอน (ส่วนใหญ่สายที่แถมมา มีกำลังแค่ 7 kw.)

รถไฟฟ้า

แต่ค่าใช้จ่ายที่แฝงมาในการแวะเข้าไปจอดชาร์จรถไฟฟ้า ก็คือช่วงที่เรารอ มันก็ต้องหาอะไรทำเพื่อรอเวลาจนกว่าไฟจะชาร์จเต็ม ส่วนใหญ่ก็คือการนั่งดื่มกาแฟ, นั่งรับประทานอาหาร ซึ่งตัวนี้แหล่ะที่เป็นตัวการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับตัวเรา ยังไม่รวมเรื่องอาจจะเพิ่มน้ำหนักได้อีกนะ อันนี้ก็แล้วแต่ความเข้มแข็งของจิตใจเจ้าของรถเองแล้วล่ะว่า จะใช้ความอดทรในการรอในรูปแบบไหน (ส่วนผมใช้การนั่งดื่มกาแฟสักแก้ว แล้วนั่งทำงานไป ถ้าได้ชาร์จตอนดึก ก็นอนเอาแรงในรถ)

รถไฟฟ้า

มาสรุปกันเลยว่า ถ้าเราอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปแบบคอนโดมิเนียม ที่ไม่มีแท่นชาร์จส่วนตัว เราก็เพียงแค่เสียเวลาสักวันเว้นวันหรือวันเว้น 2 วัน รอบละ 1-3 ชั่วโมง (ขึ้นกับกำลังไฟที่หัวจ่ายกับระบบรถที่รองรับ) โดยสลับชาร์จแบบเต็มกับไม่เต็ม ก็จะใช้งานรถไฟฟ้าได้แล้ว อันนี้เป็นเคสที่ตั้งใจชาร์จเมื่ออยู่บ้านเท่านั้นเลยนะครับ แต่ถ้าที่ทำงานของใครมีแท่นชาร์จให้อีก ก้จะสะดวกมากกว่าเดิมอีก ดังนั้นการอยู่คอนโดมิเนียมก็ใช้งานรถไฟฟ้าได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจะไม่สะดวกเท่ากับคนที่มีแท่นชาร์จอยู่ที่บ้านนั่นเอง เพราะเราต้องวางแผนการใช้งาน, เสียเวลาและเสียเงินมากกว่านั่นเอง คุณคงต้องพิจารณาเอาเองว่า การต้องทำแบบนี้มันโอเคไหมสำหรับชีวิตคุณ ถ้าคิดว่ามันคือเรื่องยุ่งยากในชีวิต ก็ซื้อรถพวก Hybrid หรือเครื่องยนต์ปกติเหมือนเดิมไปก็ได้ครับ แต่ถ้าคุณทำได้ มันก็น่าจะประหยัดมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดฝุ่น ลดมลพิษให้กับโลกเราได้อีกด้วยครับ

เรียบเรียงโดย EARTHPARK02

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

 

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ