ประวัติรถกระบะยอดนิยม Toyota Hilux อันแสนยาวนาน 50 ปี มีรุ่นอะไรบ้าง
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 21 ส.ค. 61 00:00
- 128,268 อ่าน
ใครจะเชื่อว่า กระบะยอดนิยม ที่คุ้นเคยกับคนไทยมาอย่างยาวนานอย่าง Toyota Hilux จะมีอายุยาวนานครบ 50 ปีแล้ว โดยคำว่า Hilux นั้นย่อมาจาก Highly-luxurious หรือสุดยอดความหรูหรา ซึ่งความคุ้นเคยของรถกระบะในประเทศไทย ก็มีโตโยต้าเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์มาตลอด ผ่านไปตลอด 8 เจนเนอเรชั่น กับ 50 ปีที่ผ่านมา จะมีรายละเอียดแต่ละโฉมอย่างไรบ้าง เรามาลองไล่ดูกันดีกว่าครับ
Generation 1 Toyota Hilux N10 (1968–1972)
เริ่มมาตั้งแต่ปี 1968 หรือ พ.ศ. 2511 โตโยต้าเริ่มผลิตรถกระบะฐานสั้นภายใต้ชื่อว่า Toyota Hilux (ในประเทศไทยช่วงแรกจะเรียกว่า Toyopet) ในช่องเดือนมีนาคม ใช้รหัสตัวถังว่า RN10 เป็นกระบะ 2 ประตู เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 77 แรงม้า รหัส 2R I4 เกียร์ธรรมดา 4 สปีด ผลิตจากโรงงานในโตเกียว, ญี่ปุ่นของ Hino เคลมว่าสามารถวิ่งได้เร็วสูงสุด 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะมีการเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรรหัส 12R ในปี 1971 ส่วนในเวอร์ชั่นฐานยาว มีการเพิ่มเข้ามาในปี 1969 ส่วนรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทยจะเป็นตัวเครื่องยนต์รหัส 2R
Generation 2 Toyota Hilux N20, N25 (1972–1978)
เมื่อมาถึงปี 1972 ทางโตโยต้าได้ปรับโฉมกระบะไฮลักซ์ของตัวเองใหม่ เป็นกระบะฐานสั้นรหัส RN20 และกระบะฐานยาว RN25 ยังคงใช้โรงงานผลิตของ Hino เช่นเดิม ส่วนเครื่องยนต์ได้ใช้เป็นรหัส 12R เบนซิน 1.6 ลิตร 83 แรงม้าเป็นเครื่องยนต์หลักในตอนแรก ก่อนที่จะมีการเพิ่มเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 121 แรงม้า 18R และเพิ่มตัวเลือกเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีดเข้ามาเพิ่มในปี 1973 สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 136 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนในประเทศไทยนั้น จะมีการจำหน่ายทั้งตัวฐานสั้นและฐานยาว แต่จะมีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เกียร์ธรรมดา 4 สปีดเพียงอย่างเดียว
Generation 3 Toyota Hilux N30, N40 (1978–1983)
ขยับมาช่วงเดือนสิงหาคม 1978 โตโยต้าได้มีการเปิดตัว Hilux โฉมใหม่ ที่มีหน้าตาเปลี่ยนไปในทางโค้งมนมากขึ้น ภายใต้รหัสตัวถัง RN30 และ RN40 เป็นโฉมที่เริ่มมีแบบ 4 ประตู และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเข้ามาแล้ว โดยตัวขับเคลื่อน 4 ล้อ จะใช้เป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร รหัส 18R เท่านั้น แต่ก็ถูกหยุดผลิตไปเมื่อปี 1983 จะผลิตเฉพาะรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อเท่านั้น และในโฉมนี้นี่เอง ที่เริ่มมีการเพิ่มเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน 1979 และใช้เครื่องยนต์ดีเซลในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อแทนเครื่องยนต์ดีเซลในปี 1983 เลย และสำหรับโฉมนี้ ทางโตโยต้าเริ่มมีโรงงานผลิตของตัวเองแล้ว โดยเป็นโรงงาน Tahara ในจังหวัดไอจิ ส่วนในประเทศไทยนั้น เรียกโฉมนี้ว่า "ม้ากระโดด" มีทั้งตัวถัง RN30 และ RN40 แต่มีเครื่องยนต์เดียวคือรหัส 12R เบนซิน 1.6 ลิตร แต่ในช่วงปลาย ก็เริ่มมีโฉมที่เรียกว่ารุ่น "กรุง ศรีวิไล" มาจากที่ได้กรุงมาเป็นแบบในโฆษณาให้นั่นเอง ใช้เครื่องยนต์รหัส L 2.2 ลิตร มีทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้อ รวมทั้งเริ่มมีแบบ 4 ประตูเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โฉมนี้นิยมใช้กันมากในหน่วยราชการที่ต้องใช้งานในสภาพพื้นที่สมบุกสมบัน เช่น กรมป่าไม้, กรมแผนที่ทหาร เป็นต้น
Generation 4 Toyota Hilux N50, N60, N70 (1983–1988)
มาถึงปี 1983 โตโยต้าเพิ่มทางเลือกของตัวรถให้กับลูกค้าแบบใหม่ ด้วยการนำห้องโดยสารแบบ Xtracab เพิ่มเข้ามา ก็คือการเพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสารด้านหลังของแถวคนขับมานั่นเอง โดยช่วงแรกมีการใช้เครื่องยนต์ 22R เบนซิน 2.4 ลิตร 97 แรงม้า ก่อนที่จะเพิ่มเครื่องยนต์หัวฉีด 22R-E 2.4 ลิตร 105 แรงม้าเข้ามาเพิ่มในปี 1984 นอกจากเครื่องยนต์เบนซินแล้ว ก็ยังมีเครื่องยนต์ที่บ้านเราคุ้นเคยอย่าง 2L 2.5 ลิตร 83 แรงม้า และ 2L-T 2.5 ลิตรเทอร์โบ 93 แรงม้าเข้ามาเป็นตัวเลือกให้อีกด้วย โดยการผลิตนั้น เริ่มมีการเพิ่มโรงงานในอุรุกวัยมาด้วย เพื่อเป็นการรองรับตลาดที่โตมากขึ้นในฝั่งอเมริกานั่นเอง ส่วนในประเทศไทยนั้น เข้ามาเมื่อปี 1984 ถูกเรียกโฉมนี้ว่า "เฮอคิวลิส" ใช้เครื่องยนต์ 2L ดีเซล 2.5 ลิตร ก่อนที่ช่วงปลายจะปรับมาใช้เครื่อง 2L 2.5 ลิตร ภายใต้ที่เรียกกันว่า Toyota Hilux Hero และเริ่มมีการผลิตบางส่วนในประเทศไทยแล้ว
Generation 5 Toyota Hilux N80, N90, N100, N110 (1988–1997)
ในปี 1988 โตโยต้ามีการปรับปรุงในส่วนของตัวถังใหม่ให้มีขนาดยาวขึ้นกว่าเดิม ทำให้เพิ่มขนาดห้องโดยสารแบบ Xtracab ได้ใหญ่กว่าเดิม ถึงขนาดที่พอให้สามารถนั่งเพิ่มได้อีกแถว ส่วนโฉมนี้ในประเทศไทยจะมาถึงยุคของ Toyota Hilux Mighty-X ที่สามารถทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย ด้วยตัวรูปร่างที่โดนใจวัยรุ่นในสมัยนั้นอย่างยิ่ง ถูกจับมาแต่งใหม่กันอย่างแพร่หลาย ใช้เครื่องยนต์ 2 L II ดีเซล 2.5 ลิตรเป็นหลัก ก่อนที่ช่วงหลังจะเพิ่มเครื่องยนต์ 3L ดีเซล 2.8 ลิตร เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม และรอบนี้ ทำการผลิตอย่างเต็มตัวที่โรงงานที่สำโรงใต้แล้ว
Generation 6 Toyota Hilux N140, N150, N160, N170 (1997–2005)
โฉมนี้ โรงงานโตโยต้าในประเทศไทยจะมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้น ด้วยการเป็นฐานส่งออกไปประเทศต่างๆทั่วโลก โดยถูกเรียกว่า Toyota Hilux Tiger เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1998 ใช้เครื่องยนต์หลักเป็น 5L ดีเซล 3.0 ลิตร, 5L-E 3.0 ลิตร, 1KZ ดีเซล 3.0 ลิตร ก่อนที่ช่วงหลังจะเริ่มนำระบบ Direct Injection-DOHC-16 Value-Turbo-Common rail ดีเซล 2.5 ลิตรเทอร์โบเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก ถือเป็นเจ้าแรกๆที่ใช้ระบบหัวฉีดแบบรางเลย
Generation 7 Toyota Hilux AN10, AN20, AN30 (2004–2015)
ถือเป็นโฉมที่ขายดีที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะมีอายุของโฉมนี้ยาวนานถึง 11 ปี ภายใต้ชื่อ Toyota Hilux Vigo ที่ใช้โรงงานในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในการส่งออกไปทั่วโลก มีตัวเลือกให้มากมายทั้ง กระบะ 2 ประตู, 4 ประตู, Xtracab, ขับเคลื่อน 2 ล้อ ขับเคลื่อน 4 ล้อ กระบะขับ 2 ยกสูง ก็มีให้เลือกใช้งานได้ทั้งหมด และเป็นโฉมที่เริ่มใช้การเปิดประตูแบบ Smartcab ที่ฝาแค็บเปิดกว้างออกมาได้แล้ว ส่วนเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ก็มีทั้ง 1KD-FTV ดีเซล 3.0 ลิตร, 2KD-FTV ดีเซล 2.5 ลิตร รวมทั้งภายหลังยังมีเครื่องยนต์แบบ VVT-i รหัส 2TR-FE เบนซิน 2.7 ลิตร เอาไว้เป็นตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการนำไปติดแก๊ส ในช่วงสภาวะน้ำมันแพงได้อีกด้วย
Generation 8 Toyota Hilux AN120, AN130 (2015 - ปัจจุบัน)
โแมนี้ถูกเรียกว่า Toyota Hilux Revo เป็นรุ่นที่ถูกปรับหน้าตาใหม่ไปจากเดิมอย่างมาก เพื่อให้ถูกใจวัยรุ่นมากขึ้น โฉมนี้ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2015 ที่ประเทศไทย มีการนำไฟ Daytime Running Light เข้ามาเพิ่ม เครื่องยนต์ในประเทศไทยมีให้เลือกทั้ง 1GD-FTV (High) ดีเซล 2.8 ลิตร, 2GD-FTV ดีเซล 2.4 ลิตร และ 2TR-FE เบนซิน 2.7 ลิตร แต่สำหรับตลาดอื่นๆแล้ว ยังมีเครื่อง 1TR-FEเบนซิน 2.0 ลิตร, 1GR-FE V6 เบนซิน 4.0 ลิตร, 2KD-FTV ดีเซล 2.5 ลิตร, 1KD-FTV ดีเซล 3.0 ลิตร และ 5L-E ดีเซล 3.0 ลิตร จำหน่ายในประเทศต่างๆที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
นี่เป็นเพียงรายละเอียดคร่าวๆของกระบะยอดนิยมในซีรี่ย์ Hilux ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น จริงๆแล้วมันก็มีการปรับหน้าตา, ออพชั่นต่างๆในระหว่างทางมาโดยตลอด และการปรับเปลี่ยนหน้าตาและโฉมในต่างประเทศและในประเทศไทยก็อาจจะมีช่วงเวลาที่ต่างกันบ้างในช่วงโฉมแรกๆ แต่ในช่วงหลัง ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลัก เลยทำให้การเปลี่ยนโฉมนั้นใช้จากบ้านเราเป็นหลักได้เลย ซึ่งก็ถือเป็นอีก 1 ความภาคภูมิใจของคนไทยก็ได้ ที่บ้านเรากลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ระดับโลกไปแล้วภายใต้ชื่อว่า Toyota Hilux
ข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Toyota_Hilux
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com