Toyota คาดปี 2559 ตลาดรถยนต์รวมเพียง 720,000 คัน พร้อมเชื่อมั่นตลาดจะฟื้นภายใน 2 ปี
- โดย : Autodeft
- 3 ก.พ. 59 00:00
- 5,664 อ่าน
Toyota ประกาศ ตลาดรถยนต์ปี 2558 อยู่ที่ 799,594 คัน ลดลง 9.3% ตลาดรวมในประเทศปี 2559 อยู่ที่ 720,000 คัน เป้าหมายการขายโตโยต้า 240,000 คัน คาดตลาดรถในประเทศจะฟื้นตัวภายใน 2 ปี
Toyota ประกาศ ตลาดรถยนต์ปี 2558 อยู่ที่ 799,594 คัน ลดลง 9.3% ตลาดรวมในประเทศปี 2559 อยู่ที่ 720,000 คัน เป้าหมายการขายโตโยต้า 240,000 คัน คาดตลาดรถในประเทศจะฟื้นตัวภายใน 2 ปี
มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เซลส์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง / กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2558 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2559
มร.ทานาดะ แถลงยอดขายรวมในภูมิภาคเอเชียว่า “ตลาดรถยนต์รวมในภูมิภาคเอเชียปี 2558 มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 6,900,000 คัน มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 2.5% โดย โตโยต้า มียอดขายในภูมิภาคเอเชีย* กว่า 1,103,000 คัน เป็นยอดขายของกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 894,000 คัน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 30%
หากพิจารณาสถิติยอดขายตลาดรถยนต์จะพบว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มียอดขายรวมสูงเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศเอเชีย แต่อย่างไรก็ตามถือได้ว่าเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมยังจำกัด รวมถึงความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนระมัดระวังเรื่องการลงทุนและใช้จ่าย แม้ว่าจะมีกำลังซื้อเร่งเข้ามาในช่วงปลายปีก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์รวมในประเทศไทยปี 2558 มียอดขายอยู่ที่ 799,594 คัน มีอัตราการเติบโตลดลง 9.3% โดยตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มียอดขายลดลง 2.2% ตลาดรถยนต์นั่งมียอดขายลดลง 19.1%”
สถิติการขายรถยนต์ ในปี 2558
ยอดขายปี 2558 เปลี่ยนแปลงเทียบกับปี 2557
- ปริมาณการขายรวม 799,594 คัน -9.3%
- รถยนต์นั่ง 299,067 คัน -19.1%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 500,527 คัน -2.2%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 396,898 คัน -5.7%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 327,835 คัน -11.9%
สถิติการขายรถ Toyota ที่ประเทศไทย ในปี 2558 แบ่งเป็นดังนี้
- ปริมาณการขาย Toyota 266,005 คัน ลดลง 18.7% ส่วนแบ่งตลาด 33.3%
- รถยนต์นั่ง 105,398 คัน ลดลง 30.6.% ส่วนแบ่งตลาด 35.2%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 160,607 คัน ลดลง 8.4% ส่วนแบ่งตลาด 32.1%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 151,117 คัน ลดลง 8.3% ส่วนแบ่งตลาด 38.1%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 120,112 คัน ลดลง 17.0% ส่วนแบ่งตลาด 36.6%
ด้านการส่งออกในปีที่ผ่านมา Toyota ได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 376,763 คัน ลดลง 12% คิดเป็นมูลค่า 198,014 ล้านบาท ตลอดจนการส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 67,270.24 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่นำรายได้กลับสู่ประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น 265,284.24 ล้านบาท”
สำหรับแนวโน้มตลาดรถยนต์ปี 2559 มร.ทานาดะ กล่าวว่า “แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2559 มีปัจจัยบวกจากการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐ ประกอบกับการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และความพยายามในการเพิ่มส่งออก แต่เนื่องจากกำลังซื้อบางส่วนเกิดขึ้นล่วงหน้าในช่วงปลายปี 2558 ก่อนการปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ ดังนั้นคาดว่าจะมียอดขายรวมทั้งหมด 720,000 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10.0%
ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศ ปี 2559
- ปริมาณการขายรวม 720,000 คัน ลดลง 10.0%
- รถยนต์นั่ง 265,000 คัน ลดลง 11.4%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 455,000 คัน ลดลง 9.1%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 364,000 คัน ลดลง 8.3%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 314,500 คัน ลดลง 4.1 %
ประมาณการขายรถยนต์ของ Toyota ในประเทศ ช่วงปี 2559 แบ่งเป็นดังนี้
- ปริมาณการขายรวม 240,000 คัน ลดลง 9.8% ส่วนแบ่งตลาด 33.3%
- รถยนต์นั่ง 89,000 คัน ลดลง 15.6% ส่วนแบ่งตลาด 33.6%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 151,000 คัน ลดลง 6.0% ส่วนแบ่งตลาด 33.2%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 144,500 คัน ลดลง 4.4% ส่วนแบ่งตลาด 39.7%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 116,100 คัน ลดลง 3.3% ส่วนแบ่งตลาด 36.9%
สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของ Toyota ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 370,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 206,500 ล้านบาท และการส่งออกชิ้นส่วนมูลค่า 64,730 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 271,230 ล้านบาท”
มร.ทานาดะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทั้งนี้ โตโยต้า คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศจะกลับมาดีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของเราตลอดจนเตรียม พร้อมพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในระดับสากล รวมถึงส่งเสริมคนไทยที่มีความ สามารถขึ้นมาบริหารงาน โดยแต่งตั้งผู้บริหารชาวไทยให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงครอบคลุมทุกสายงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภูมิภาคนี้”
มร.ทานาดะ กล่าวย้ำความเชื่อมั่นในประเทศไทย “นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดของภูมิภาคนี้ และเป็นศูนย์กลางทางการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์กลางในการดูแลการผลิตระดับภูมิภาค ด้วยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชียแปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่มีคนไทยเป็นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาและยกระดับการ ปฏิบัติงานในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ทั้งนี้เรายังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้นด้วยการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน โตโยต้า ในประเทศไทย ตลอดจนยังมีการถ่ายทอด นวัตกรรม และ เทคโนโลยี ด้านการผลิตระดับสูงเพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”
Toyota มีความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมที่จะลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งความสุขที่เรามุ่งที่จะขับเคลื่อนและเราพร้อมจะยืนเคียงคู่กับคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป” มร.ทานาดะ กล่าวในที่สุด
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com