ภาพคันจริง!! ภายนอก-ภายใน Toyota LQ รถไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 4 จากงาน Tokyo Motor Show 2019
- โดย : รัฐศิลป์ รัตนกู้เกียรติ
- 24 ต.ค. 62 00:00
- 13,787 อ่าน
เริ่มต้นขึ้นแล้วกับงาน Tokyo Motor Show 2019 ช่วงเดือนตุลาคมนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปีนี้ทางโตโยต้าได้มุ่งเน้นที่จะนำเสนอหลากหลายยานยนต์ไฟฟ้าเพื่ออนาคตอันใกล้ หนึ่งในนั้นกับ Toyota LQ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 4 ที่ในงานครั้งนี้ ก็ได้มีการนำมาโชว์ตัวให้ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดที่โซน Future Expo ซึ่งทีมงานได้เก็บภาพมาให้ได้ชมกันทั้งภายนอกและภายใน
สำหรับรถไฟฟ้าใหม่ Toyota LQ นี้ โดดเด่นมาด้วยการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์และใช้ไฟฟ้าพร้อมขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 4 ได้รับการต่อยอดและพัฒนามาจาก Concept-i ที่ได้เผยโฉมไปแล้วที่งาน Consumer Electronics Show 2017 ที่ผ่านมา มีมิติตัวรถ ยาว 4,530 มม. กว้าง 1,840 มม. สูง 1,480 มม. และมีฐานล้อกว้าง 2,700 มม. ขนาดใกล้เคียงกับ Toyota Prius Hybrid โฉมปัจจุบัน โดยการออกแบบนั้นมีความใกล้เคียงกับเวอร์ชั่นวางจำหน่ายจริง เพราะได้มีการติดตัวมือจับเปิดประตูและกระจกมองข้างมาเรียบร้อยแล้ว
ตัวรถ Toyota LQ นี้ ยังมาพร้อมกับผู้ช่วยเป็นระบบ AI ชื่อ Yui ที่จะคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก พร้อมกับการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นระบบปรับอากาศ เครื่องเสียง เลือกเพลง เล่นเพลง เป็นต้น
โดยโตโยต้า LQ ใหม่ มาภายใต้แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ว่า “เรียนรู้ เติบโต รัก” “(Learn, Grow, Love)” โดยโตโยต้าร่วมกับสถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือ TRI) พัฒนา “Yui” และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของโตโยต้า LQ ซึ่งจะทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่เฉพาะบุคคล ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ จากการเรียนรู้และตอบสนองความชอบและความต้องการของแต่ละบุคคล โดยชื่อรุ่น LQ ยังสื่อถึง ความมุ่งหวังของโตโยต้าว่า วิธีการนี้จะเป็นการส่งสัญญาณ (cue) ถึงแนวทางการพัฒนายนตรกรรมในอนาคต ที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ได้
สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในตัวรถ (Onboard Artificial Intelligence Agent) ชื่อว่า “Yui” สามารถมอบประสบการณ์การขับขี่เฉพาะบุคคล ตามสภาวะด้านอารมณ์และความพร้อมด้านความปลอดภัย ยนตรกรรมนี้ออกแบบให้รองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบสามารถตอบโต้กับผู้ขับขี่ ผ่านการสื่อสารด้วยเสียงในรูปแบบของการปฎิสัมพันธ์ ที่นั่งติดตั้งฟังก์ชันให้เพิ่มความพร้อมด้านความปลอดภัยหรือลดความเครียด ให้กับผู้ขับขี่ ตลอดจน การออกแบบแสงภายในตัวรถ เครื่องปรับอากาศ การใช้กลิ่นหอม และยังมาพร้อมเทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ หรือ Human-Machine Interactions (HMI) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับขี่จะได้รับความปลอดภัยและความสะดวกสบาย นอกจากนั้น “Yui” ยังสามารถเลือกและเล่นดนตรีให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมขณะขับขี่ ทั้งยัง สามารถให้ข้อมูลตามเวลาจริงแบบ real time ตามหัวข้อที่ผู้ขับขี่สนใจได้
อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบค้นหาและจอดรถอัตโนมัติ ที่พัฒนาร่วมกับ พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งระบบนี้จะทำให้ความจำเป็นในการหาที่จอดรถหายไป ด้วยความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ ระหว่างจุดรับ-ส่งและช่องจอดรถที่กำหนดไว้ในที่จอดรถที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ ซึ่งรวมถึง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เดินทางพร้อมทารก และผู้ที่ไม่สะดวกในการจอดรถ ระบบนี้ยังสร้างระยะห่างภายในที่จอดรถให้มากที่สุด ด้วยการลดระยะห่างระหว่างรถที่อยู่ใกล้เคียงถึง 20 เซนติเมตร
ระบบค้นหาและจอดอัตโนมัติ จะทำงานผ่านระบบที่ติดตั้งในตัวรถ เพื่อระบุตำแหน่งปัจจุบันของรถ ผ่านกล้องหลายตัว มีการใช้ระบบโซนาร์และเรดาร์ แผนที่ถนนแบบสองมิติ กล้องที่ติดตั้งในที่จอดรถและศูนย์กลางในการควบคุม ระบบเซนเซอร์และกล้องที่จอดรถ จะตรวจสอบยานพาหนะอื่น และผู้สัญจรเดินเท้า ภายในเส้นทางเดินรถที่อยู่ในระยะของระบบขับขี่อัตโนมัติ และจะหยุดรถอัตโนมัติเมื่อมีการตรวจพบยานพาหนะอื่น และผู้สัญจรเดินเท้า
ระบบ Head up Display แบบโลกเสมือนจริง Augmented Reality Head’s Up Display (AR-HUD) ของ LQ ใช้เทคโนโลยีเสริมความเป็นจริง (Augmented Reality) เพื่อแสดงผลบนกระจกหน้ารถ Head’s Up Display (HUD) ช่วยทำให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย ด้วยการลดการเคลื่อนที่ของสายตาขณะขับขี่ ข้อมูลการขับขี่ เช่น การเตือนเมื่อเปลี่ยนเลน สัญญาณบนท้องถนน และการแนะนำเส้นทาง สามารถแสดงผลในรูปแบบสามมิติที่เข้าใจได้ง่าย บนจอแสดงผลของกระจกหน้ารถ ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ (เทียบเท่าขนาด 230 นิ้ว) ที่มีมิติความลึก 7 เมตร ถึง 41 เมตร ระบบนี้จะช่วยทำให้สายตาของผู้ขับขี่จับจ้องที่ท้องถนน
ที่นั่งพร้อมระบบเตือนเพื่อความปลอดภัยและระบบผ่อนคลาย (ครั้งแรกของโลก) ระบบที่นั่งสุดล้ำสมัยของ LQ มีการบรรจุถุงลมแบบพองได้จำนวนมากเข้าไปในที่นั่งที่มีระบบเครื่องปรับอากาศ ช่วยทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกตื่นตัวหรือผ่อนคลาย ตามสภาพแวดล้อมขณะขับขี่ หากระบบเรียนรู้ว่าผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า จะทำการเป่าลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลัง เพื่อทำให้เกิดลักษณะท่านั่งแบบหลังตรง พร้อมทำการปล่อยลมเย็นจากระบบหมุนเวียนภายในที่นั่ง เมื่อเกิดสภาวะที่ผู้ขับขี่ผ่อนคลายได้ เช่น ในขณะที่ระบบขับขี่อัตโนมัติทำงาน ถุงลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลังจะค่อยๆ ยุบและพอง เพื่อให้เกิดการหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม
เทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ (HMI) ใหม่ Toyota LQ ใช้พื้นที่บริเวณหลังคาและพื้นรถเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารเฉพาะบุคคล เพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างรถกับผู้ขับขี่ แสงบนหน้าจอจะแสดงสีแตกต่างกัน เมื่อแสดงผลว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือการขับขี่โดยมนุษย์ และแสงบริเวณเท้าจะระบุว่า “Yui” กำลังสื่อสารกับผู้โดยสารท่านใด LQ มีความสามารถในการสื่อสารข้อมูล เช่น สภาพพื้นผิวถนนให้คนที่อยู่ในและนอกตัวรถทราบ ผ่านการใช้อุปกรณ์ ดิจิตัล ไมโครมิเรอร์ Digital Micromirror Device (DMD) ซึ่งติดตั้งในไฟหน้าของรถ ระบบจะทำงานผ่านกระจกเล็กๆ จำนวนหนึ่งล้านชิ้นที่อยู่ภายใน เพื่อแสดงผลสภาพพื้นผิวถนนอันซับซ้อนที่รถกำลังมุ่งหน้าไป
และยังเป็นครั้งแรกที่โตโยต้าใช้เทคโนโลยี Organic LEDs (OLEDs) สำหรับหน้าปัดรถและการแสดงผลของ LQ ซึ่งเป็นการออกแบบแผงควบคุมรอบคนขับที่มีดีไซน์ล้ำหน้า ทั้งทำให้เกิดการแสดงผลที่ชัดเจน
มีการติดตั้งระบบตัวกรองอากาศแบบใหม่ที่จะย่อยสลายโอโซนในก๊าซออกซิเจน ผ่านพัดลมหม้อน้ำ ส่งผลให้โอโซนที่อยู่บริเวณพื้นดิน ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุของหมอกควันแบบโฟโตเคมี (photochemical smog) ถูกย่อยสลาย ขณะรถเคลื่อนที่ โตโยต้าประเมินว่าผลจากระบบดังกล่าว จะช่วยทำให้เกิดการกรองอากาศของโอโซนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในอากาศปริมาณ 1,000 ลิตร ระหว่างระยะเวลาการขับขี่ 1 ชั่วโมง ได้อีกด้วยนั้นเอง
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com