JD Power ชี้รถยนต์รุ่นใหม่ขาดความน่าตื่นเต้น

  • โดย : Autodeft
  • 21 ธ.ค. 58 00:00
  • 8,544 อ่าน

ผลวิจัยจาก JD Power ล่าสุดชี้ รถรุ่นใหม่ไม่น่าตื่นเต้นเท่าที่คิด คะแนนลดลงจากปี 2557 ต่อเนื่อง เผย Toyota คว้าคะแนนดีที่สุด 4 รุ่น ตามด้วย Mazda และ Nissan

 

 

ผลวิจัยจาก  JD Power   ล่าสุดชี้ รถรุ่นใหม่ไม่น่าตื่นเต้นเท่าที่คิด คะแนนลดลงจากปี 2557 ต่อเนื่อง เผย   Toyota  คว้าคะแนนดีที่สุด 4 รุ่น ตามด้วย   Mazda  และ  Nissan

ผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2558 โดย เจ.ดี.พาวเวอร์ (J.D. Power 2015 Thailand Automotive Performance, Execution and Layout (APEAL)) เปิดเผยว่า แม้ความพึงพอใจในรถยนต์คันใหม่ของผู้ซื้อส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่คะแนนโดยรวมของ APEALกลับลดลงอย่างมากจากปี 2557

นับเป็นปีที่ 13 ของการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ หรือ APEAL ซึ่งใช้คำตอบของเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยเป็นมาตรวัดถึงสิ่งที่ทำให้เจ้าของรถมีความพึงพอใจต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์เกือบ 100 คุณลักษณะ ครอบคลุมองค์ประกอบของรถยนต์ 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ภายนอกตัวรถ, ภายในตัวรถ, พื้นที่เก็บของและพื้นที่ว่าง, เครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง, ที่นั่ง, ระบบฮีทเตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC), สมรรถนะในการขับขี่, เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์, ทัศนวิสัย และความปลอดภัยในการขับขี่ และความประหยัดน้ำมัน โดยผลการศึกษาวิจัย APEAL จะถูกแสดงในรูปค่าดัชนีจากการให้คะแนน มีคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน คะแนนที่สูงกว่าแสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจที่มากกว่าที่มีต่อรถยนต์รุ่นนั้นๆ

 

ในปีนี้คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของ APEAL ในปี 2558 อยู่ที่ 883 คะแนน ลดลง จาก 905 คะแนน ในปี 2557 โดยคะแนนลดลงในทุกหมวดหมู่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

คุณศิรส สาตราภัย, ผู้จัดการสาขา เจ.ดี. พาวเวอร์ กล่าว “ผู้ผลิตสามารถสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า โดยผสานระบบปฏิบัติการและสุนทรียภาพให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับความคาดหวังของลูกค้า โดยเฉพาะในส่วนของคุณลักษณะภายในห้องโดยสาร อย่างเช่น เครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง และที่นั่ง”

“การจะคงความดึงดูดใจหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดใจยิ่งขึ้นในแต่ละปีนั้น ผู้ผลิตควรมองหาวิธีในการสร้างความแตกต่างอย่างไม่หยุดยั้งให้กับรถรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ต่างจากรุ่นเดิม ในปัจจุบันรถรุ่นใหม่ขาดจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจ”

อย่างไรก็ดี ปีนี้ สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ซื้อรถที่มีการเปลี่ยนโฉมใหม่หมดหรือรุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกสู่ตลาด อยู่ที่ 19% ในปี 2558 ลดลงจาก 20% ในปี 2557 ความพึงพอใจในกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนโฉมใหม่หมดหรือรุ่นใหม่ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 888 คะแนน ในขณะที่ความพึงพอใจในกลุ่มของเจ้าของรถที่รถรุ่นนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนโฉมใหม่หรือเพียงแค่ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ คะแนนความพึงพอใจโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 882 คะแนน

 

คะแนนโดยรวมของ APEAL ในปี 2558 ลดลงในทุกกลุ่มประเภทรถยนต์ โดยกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงลดลงมากที่สุด   (-37 คะแนน) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในทางกลับกัน กลุ่มที่มีคะแนน  APEAL ลดลงน้อยที่สุดกลับเป็นกลุ่มรถกระบะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนยอดขายมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา และเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า ในกลุ่มของรถกระบะ 4 ประตู (889 คะแนน), รถกระบะตอนขยาย (888 คะแนน) รวมทั้งกลุ่มของรถยนต์ขนาดกลางระดับพรีเมี่ยม (896 คะแนน) เป็นเพียง 3 กลุ่มรถยนต์ที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

 

ทั้งนี้จากการสำรวจดังกล่าว ทาง JD Power ยังได้สรุป ข้อมูลสำคัญบางประการที่ได้จากผลสำรวจในปีนี้

1.มีสองคุณลักษณะในห้องโดยสารที่ลูกค้าให้คะแนน APEAL ต่ำอย่างเห็นเด่นชัด: ความพึงพอใจในด้านเครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง (860 คะแนน) และที่นั่ง (868 คะแนน) มีคะแนนต่ำสุดจาก 10 หมวดหมู่ขององค์ประกอบรถยนต์ โดย  ที่นั่งมีคะแนนลดลงต่ำสุด (-30 คะแนน) เทียบกับปีที่แล้ว

2.สไตล์ของรถ, ทัศนวิสัย และการขับขี่ที่ถูกใจเจ้าของรถ แต่ปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์การใช้งานของรถกลายเป็นสิ่งกวนใจ: การออกแบบหน้ารถ, ทัศนวิสัยด้านหน้าจากตำแหน่งที่นั่งของคนขับ และความราบรื่นในขณะที่ขับขี่ปกติ ถูกจัดให้อยู่ใน 5 อันดับสูงสุดของคุณลักษณะย่อยที่ลูกค้าพึงพอใจในรถทั้ง 3 กลุ่มหลัก (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถยนต์เอนกประสงค์ และรถกระบะ) ในทางกลับกัน ความง่ายต่อการควบคุม/ ปรับที่นั่งด้านหลัง และความสามารถของระบบนำทางในการให้ข้อมูลของเส้นทางที่ต้องการ เป็น 5 อันดับคุณลักษณะย่อยที่ลูกค้าพอใจน้อยที่สุดในรถทั้ง 3 กลุ่มหลัก

3.สไตล์ของรถเป็นสิ่งสำคัญและสร้างลูกค้าให้ภักดี จากการสำรวจ กว่า 79 % ของลูกค้ามีความพึงพอใจอย่างมาก (โดยให้คะแนนความพึงพอใจ 10 คะแนนเต็มจากระดับคะแนน 1-10 คะแนน) ต่อรูปลักษณ์ความสวยงามโดยรวมของรถยนต์ บอกว่าจะแนะนำรุ่นรถที่พวกเขาใช้อยู่ อย่างแน่นอนส่วนลูกค้าที่มีความพึงพอใจในรูปลักษณ์ความสวยงามน้อยกว่า (ให้คะแนน 8 หรือ 9 คะแนน) จะมีความตั้งใจที่จะแนะนำลดต่ำลงมาอยู่ที่ 69 เปอร์เซ็นต์ และลดต่ำลงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ สำหรับลูกค้าที่รู้สึกผิดหวังหรือเฉยๆ ต่อรูปลักษณ์ความสวยงาม (ให้คะแนน 1 ถึง 7 คะแนน)

 

ทั้งนี้จากการจัดอันดับคะแนนรถยนต์ที่ได้รับคะแนนสูงที่สุดจากผลการสำรวจดังกล่าว พบว่า รถโตโยต้า ได้คะแนน APEAL ในระดับที่สูงกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มรถยนต์นั้นๆ จากทั้งหมด 6 กลุ่มรถยนต์ที่ได้รับการประกาศรางวัล โดยโตโยต้าคว้า 4 รางวัล APEAL: ยาริส (884 คะแนน) ในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และฟอร์จูนเนอร์ (896 คะแนน) ในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูง เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน, วีออส (883 คะแนน) ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น และ ไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ ดี-แค๊ป รุ่นใหม่ (909 คะแนน) ในกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู

ส่วนมาสด้า ได้รับรางวัลในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง ได้แก่ มาสด้า3 (888 คะแนน) ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่มาสด้า3 ได้รับรางวัลในกลุ่มรถยนต์นี้

และท้ายที่สุด นิสสัน ได้รับรางวัลในกลุ่มรถกระบะตอนขยาย โดยรางวัลเป็นของนิสสัน ฟรอนเทียร์ เอ็นพี 300 นาวาร่า คาลิเบอร์ เอ็กซ์-แค๊ป รุ่นใหม่ (900 คะแนน)

[IMAGE1]

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com

 

5 เรื่องน่าสนใจ