BYD และ Loxley แท็คทีมเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
- โดย : สุกิจ เลิศธนะแสงธรรม
- 18 มี.ค. 58 00:00
- 13,979 อ่าน
BYD และ Loxley แท็คทีมเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยทั้งสองรุ่น ทั้งรุ่น E6 และ K9 เจาะกลุ่มเป้าหมาย องค์กรภาครัฐ และเอกชน อนาคต
ล็อกซเล่ย์ จุดกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ผนึก BYD ประเทศจีน เผยโฉมยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมกัน 2 รุ่น คือ รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 และรถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6 มั่นใจแบรนด์ BYD มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าปีแรกทั้ง 2 รุ่นไว้ 400 คัน เจาะกลุ่มเป้าหมาย องค์กรภาครัฐ และเอกชน อนาคตเล็งตั้งฐานการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแห่งแรกในไทย
รถยนต์นั่งไฟฟ้า BYD รุ่น E6
ดร.โกศล สุรโกมล ที่ปรึกษา บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล็อกซเล่ย์ เป็นผู้นำด้านธุรกิจการค้าและเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 76 ปี ด้วยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อน บริษัทฯ จึงได้ให้ความสำคัญด้านพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้ จำกัด เปิดตัวรถโดยสาร และรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำเข้ามาประเดิมตลาดก่อน 2 รุ่น ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 และรถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6
บริษัทฯ ได้ศึกษาเรื่องการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว จนมั่นใจว่าตลาดในประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงเลือกรถโดยสารและรถยนต์นั่งไฟฟ้าของ BYD เข้ามาบุกตลาดเป็น 2 รุ่นแรก เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ สมรรถนะและความปลอดภัยสูง จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ มีค่าซ่อมบำรุงรักษาต่ำกว่าที่สำคัญแบตเตอรี่รถยนต์ หลังจากครบอายุการใช้งาน ไม่น้อยกว่า 15 ปี สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ ดร.โกศล กล่าว
รถโดยสารไฟฟ้า BYD รุ่น K9
รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 เป็นรถโดยสารไฟฟ้าชานต่ำที่มีตัวถังรถทำจากอลูมิเนียมอัลลอยด์ด้วยขนาดความยาวถึง 12 เมตร พร้อมระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขนาด 180 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 250 แรงม้า ใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Fe มีความจุขนาด 324 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้เวลาในการประจุไฟฟ้าประมาณ 5 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง ทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยราว 1.2 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร หรือประมาณ 4 บาทต่อกิโลเมตร และให้ความเร็วสูงสุดที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6 มีขนาด 5 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขนาด 90 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 121 แรงม้า ใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Fe ที่ความจุ 61.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้เวลาในการประจุไฟฟ้าประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง ทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.13 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร หรือประมาณ 0.5 บาทต่อกิโลเมตร และให้ความเร็วสูงสุดที่ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ด้านกลยุทธ์การทำตลาด ในช่วงแรกจะเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยกลุ่มลูกค้ารถโดยสารไฟฟ้าจะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ส่วนกลุ่มลูกค้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าจะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทรถเช่า แท็กซี่มิเตอร์ โรงแรม เป็นต้น และตั้งเป้ายอดขายรถโดยสารไฟฟ้าไว้ประมาณ 200 คัน รถยนต์นั่งไฟฟ้าอีกประมาณ 200 คัน ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า จากนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลในขณะนี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปี
ในส่วนของศูนย์บริการ ในระยะแรก บริษัทฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้งศูนย์บริการกลาง และศูนย์บริการย่อย รวม 5 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจะขยายศูนย์บริการเพิ่มเติมในระยะต่อมา ขณะที่ สถานีประจุไฟฟ้าจะมีการติดตั้งในเขตพื้นที่ของผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการนั้นๆ และมีแผนจะขยายสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับส่วนกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com
[GALLERY1211]
[GALLERY1212]