Deft Opinion : รัฐดับฝัน คนไทยได้ใช้รถไฟฟ้าหรือประเทศไทย....ไม่เหมาะจริงๆ
- โดย : Autodeft
- 3 มิ.ย. 57 00:00
- 13,126 อ่าน
ล้วงลึกเมืองไทยไม่พร้อมสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เรื่องจริงที่เราไม่มีโอกาส หรือแค่มุมมองที่ไม่เห็นทางของภาครัฐบาล
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
เมื่อกล่าวถึงอนาคตยานยนต์ที่เราหลายคนต่างหวังว่าวันหนึ่งรัฐบาลไทยจะมีวิสัยทัศน์ในการมองหาว่าที่รถยนต์ที่มาพร้อมกับการตอบสนองในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึง การใช้งานที่ง่ายดาย เมื่อบวกกับกระแสโลก หันไปทางไหน ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจ รถยนต์ไฟฟ้า
บางคันเริ่มขายแล้วบางคันกำลังเป็นต้นแบบ และอีกหลายคันอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่จะจำหน่ายจริง แต่ล่าสุดทุกความหวังที่คนไทยเคยฝันว่าบ้านเมืองเราจะมียนตรกรรมที่ล้ำหน้า ประหยัดค่าใช้จ่ายสบายกระเป๋านั้น กลับต้องถูกดับลงเมื่อ สถานบันยานยนต์ ซึ่งเรียกว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการวางนโยบายแผนอุตสาหกรรมยานยนต์กลับออกมาเปิดเผยชัดเจนว่า ประเทศไทยไม่เหมาะกับเทคโนโลยีรถไฟฟ้า และกว่าจะพร้อมก็อีก 10 ปีข้างหน้าโน่นถึงจะมีความเป็นไปได้
รถยนต์ไฟฟ้า chevrolet Volt
ประเทศไทยล้าหลัง ?? หรือ บ้านเราไม่เหมาะจริงๆ น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนต่างเฝ้าหาคำตอบ แต่ด้วยความเห็นจากผู้ใหญ่ในสถาบันยานยนต์ โดยนายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ให้คำตอบว่า การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนสูง รวมถึงยังต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการใช้งาน หากแต่เมื่อมองรอบๆตัว รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา อาจจะพร้อมกว่าที่คิดเสียอีก
อนาคตรถไฟฟ้าเคยเป็นฝันที่ค่ายรถยนต์บางเจ้านำเข้ามาเสนอเพื่อต่อยอดจากรถยนต์ที่จำหน่ายในปัจจุบัน โดยเมื่อราวๆปี 2008 Mitsubishi น่าจะเรียกว่าเป็นค่ายรถยนต์แรกๆที่ เดินหน้าในการแนะนำให้ประเทศไทยได้รูจักรถยนต์ไฟฟ้า โดยในงานมอเตอร์โชว์ปีนั้น ได้นำ Mitsubishi I miev มาจัดแสดง เพื่อโชว์ศักยภาพรถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นอนาคตของว่ารถยนต์แห่งอนาคตกัน
แม้ว่ารถไฟฟ้าในภาพของคนไทยจะดูเหินห่าง แต่ต่อมา Nissan ก็เป็นค่ายรถยนต์รายที่สอง ที่มองศักยภาพของตลาดไทยว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่บ้านเราจะสามารถต้อนรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ด้วยการนำ Nissan Leaf มาจัดแสดง รวมถึงช่วงนั้นมีการทำเทคโนโลยีฟอรั่ม เฉพาะกลุ่มด้วย โดยมีการเจาจงไปยังสถานบันการศึกษาวิศวกรรมชั้นนำ เพ่อแนะนำเทคโนโลยี และเปิดให้ผู้สื่อข่าวชื่อดังบางท่านได้มีโอกาสสัมผัสรถยนต์พลังไฟฟ้าคันนี้ด้วย
รถยนต์ Nissan Leaf
และถ้าคิดว่านั้นยังยืนยันไม่ได้ว่าประเทศไทยเหมาะสมหรือไม่ ค่ายผู้นำเข้าอิสระอย่าง Eton import เคยเดินหน้าด้วยการท้าทายตลาดนำด้วยรถยนต์ Tesla สปอร์พลังไฟฟ้าที่นำเข้ามาเอาใจเศรษฐีไทย เคาะราคา 8.5 ล้าน โดยประมาณ ก่อนที่ต่อตามด้วย Chevrolet ที่นำเอา Chevrolet Volt มาแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีรถไฟฟ้า ที่วันนี้รถทดสอบ Chevrolet Volt 2 คัน กลายเป็นเพียง รถที่จอดเอาไว้ออกมาวิ่งไม่ได้แม้แต่โชส์ความก้าวหน้าทางเทคโนดลยี เพราะรัฐบาลไทยไม่รู้จะจดทะเบียนพวกมันในรถยนต์ประเภทอะไรให้กับบริษัท
จวบจนงาน Boi Fair 2012 ที่ค่ายรถยนต์แทบทุกเจ้าที่ร่วมงานชูรถไฟฟ้าขึ้นมาเป็นทางออกของอนาคตอันใกล้ไม่ไกลเกินจริง และให้หลังไม่นาน Mitsubishi ก็ประกาศว่าอาจจะเอาไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะสร้างบนพื้นฐานรถยนต์ Mitsubishi Mirage ท้ายสุดในงานมอเตอร์โชว์ 2014 ที่ผ่านมา BMW แนะนำ รถสปอร์ตพลังไฟฟ้า BMW i8 ใหม่ และแม้จะมีราคา 12 ล้าน รวมถึงยังต้องคอยคอยอีกเกือบ 2 ปี กว่าจะเป็นเจ้าของ แต่เพียงไม่กี่วัน รถ BMW i8 ล็อทแรก ก็หมดอย่างรวดเร็วภายในงาน
สาธยายมาตั้งนาน คำถามคือว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่ามันไม่เหมาะสม ยิ่งมีการเปรยว่ารถอีโค่คาร์ที่เพิ่งต่อยอดด้วยโครงการเฟส 2 นั้น เป็นทางออกที่ถูกต้อง โดยชี้วัดว่าอินโดนีเซีย ก็เดินตามเราด้วยโครงการ Low coast Green car ที่มีแนวคิดคล้ายบ้านเรา แต่ต่างตรงที่จะมีการเน้นที่เอาไว้ใช้ในประเทศมากกว่า
ภาพโครงการ Comos ในมาเลเซียที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถมีโอกาสได้สัมผัสรถยนต์พลังไฟฟ้า
โดยให้ยืมชั่วคราวเพื่อเดินทางไปยังจุดหมาย
ถ้ามองเพื่อนบ้านในกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะอีกไม่นานเราจะเข้าประชาคมอาเซียน ก็ควรจะหันไปมองมาเลเซียด้วย ซึ่งทุกวันนี้มาเลเซียกลายเป็นอีกฐานการผลิตสำคัญของค่ายรถยนต์หลายเจ้า โดยเฉพาะเมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซีย ประกาศชัดเจนว่าพวกเขาจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญพวกเขามาเพื่อแข่งกับบ้านเราโดยตรง
นโยบายใหม่ของมาเลเซียนี้ มีท่าทีที่แตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจน ด้วยการวางแนวทางในการอนุญาตให้ค่ายรถยนต์จากภายนอกที่ไม่ใช่ค่ายรถยนต์ของมาเลเซียเอง สามารถที่จะผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานได้สูง โดยเป็นเครื่องยนตืที่มีขนาด 1.8 ลิตร หรือต่ำหว่านั้น แม้ตอนนี้เพื่อให้ค่ายรถยนต์ในประเทศพังพาบไปกับตา จึงยังจำกัดว่า ผู้ผลิตจากต่างชาติ สามารถผลิตรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร และมากกว่านั้น
ที่สำคัญในขณะที่ภาครัฐบาลไทยกำลังฝันหวานในการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กเอาจำนวน เพื่อให้ติดอันดับประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดในโลก จากปัจจุบันที่รั้งในอันดับที่ 9 นั้น แต่ในอีก 6 ปี ข้างหน้า แผนใหม่ของมาเลเซีย หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆเกิดขึ้น ตามแผนนโยบายยานยนต์แห่งชาติฉบับใหม่ของมาเลเซียนั้น ชี้ว่าในปี 2020 จะส่งออกรถราวๆ 200,000 คัน แต่พวกเขาน่าจะทำเงินได้ถึง 10 พันล้านริงกิต หรือ ราวๆ 3 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะตลาดโลกนั้นมีการเติบโตมากขึ้นทุกปี และรถยนต์พลังไฟฟ้า ตลอดจนไฮบริดมีความต้องการสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าตามการออกป่าวประกาศล่าสุดของสถาบันยานยนต์ ก็เป็นที่ชัดเจนว่าในขณะที่เรามีโอกาส เพราะมีค่ายรถยนต์ที่รู้จักมักจี่ประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะพวกเขามีฐานการผลิตที่นี่อยู่แล้ว แต่เรากลับกำลังเควี้ยงมันทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งยังหลอกตัวเองด้วยรถยนต์นั่งขนาดเล็กอีโค่คาร์เฟส 2 ซึ่งอาจจะยอมรับว่าเป็นการดึงดูดค่ายรถยนต์รายใหม่ๆ เข้ามา แต่ก็ไม่ได้มีอะไรต่างจากเดิมมากมายนัก ซึ่งหากเราเพิ่มการเข้าสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตรถยนตืที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง เราจะสามารถทำรายได้มากเท่าไรกัน ..
ในมุมมองบางคนอาจจะมองว่าเพราะประเทศไทยไม่พร้อมในเรื่องของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหรือไม่ ก็อาจจะจริงและเป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จนมีครั้งหนึ่งเคยได้ยินว่า หากประเทศไทยต้องใช้รถไฟฟ้ากันเป็นส่วนใหญ่ คงต้องมีดรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผุดขึ้นมาสักแห่ง ซึ่งบางทีก็อาจจะเป็นความจริง แต่คำถามที่น่าสนใจคือมากแค่ไหน ถึงจะเริ่มมีความจำเป็นต้องสร้าง
แต่ถึงแม้ในมุมมองหนึ่งไทยอาจจะไม่พร้อมเพราะ มันยังอาจจะต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบไฟฟ้า แต่ความจริงแล้วการไฟฟ้านครหลวงมองเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และล่าสุดมีการประกาศความร้องสำหรับระบบชาร์จเร็ว สำหรับรถไฟฟ้า ซึ่งในครึ่งชั่วโมงสามารถเติมแบตเตอร์รี่ได้ถึงร้อยละ 80 เพียงพอต่อการเพิ่มระยะทางให้ถึงบ้านได้สบาย หรือจะบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ก็มีการศึกษาในเรื่องนี้ และปั้มที่ปริมณฑลบางแห่งมีการจัดหัวชาร์จรถไฟฟ้าไว้ให้แล้วด้วย
โมเดลหนึ่งที่อยากให้ภาครัฐบาลไทยมองเกี่ยวกับรถไฟฟ้านั้น คงต้องเป็นเมืองเรียบชายฝั่งทะเลในอเมริกา ที่ซึ่งคราคร่ำไปด้วยคนที่มีเงินถึงเงินถังพร้อมลองเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง แคลิฟอร์เนีย ซึ่งที่นั่น กรรมการบริหารเมืองเปิดโอกาสสำหรับใครที่ใครอยากจะมีรถยนต์รักษาสิ่งแวดล้อม ด้วย โครงการ ที่เรียกว่า Clean Vehicle Rebate Project (CVRP) ซึ่งภาครัฐและท้องถิ่นก้าวเข้ามามีบทบาทในการพยายามรักษาคุณภาพอากาศในเขตเมือง
โดยกำหนดให้รถยนต์ 4 ประเภท ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิ่งแวดล้อมสูง สามารถได้รับเงินสนับสนุนเพื่อเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น ได้แก่ Zero-Emissions Vehicles (ZEV) , Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) , Neighborhood Electric Vehicles (NEV) รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก สำหรับใช้ในละแวกบ้าน ประมาณที่เรารู้จักในนาม รถกอล์ฟ และ Zero-Emission Motorcycles (ZEM)
ตามข้อกำหนดในโครงการนี้ เมื่อซื้อรถยนต์ประเภทใดประเภทหนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใดก็ได้ในสหรัฐ เมื่อนำมาใช้ในแคลิฟอร์เนีย ก็มีสิทธิในการรับเงินสนับสนุนในทันที โดยการให้เงินสนับสนุนนี้ เป็นการสนับสนุนทั้งภาคประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจ แต่จะมีการกำหนดการสนับสนุนเงิน ว่าจะมีอย่างไรบ้าง ส่วนในภาคผู้ผลิตจะได้ประโยชน์ โดยแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นเหมือนสนามทดสอบขนาดใหญ่ เพื่อนำกลับไปวิจัยและพัฒนา รวมถึงศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ไปด้วยพร้อมกัน
ปัจจุบันโครงการในแคลิฟอร์เนียนี้ มีรถยนต์ Fuel Cell 3 รุ่นที่ได้รับการสนับสนุน และ รถไฮบริดประเภทเสียบปลั้กชาร์จนับอีก 6 รุ่น รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า อีก 14 รุ่น แถมยังมีรถกอล์ฟขนาดเล็ก และ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เข้าข่าย ตามโครงการนี้ และ ทำให้คุณภาพชีวิตคนที่นั่นดีขึ้น ด้วยอากาศที่สะอาดมากขึ้น และสำหรับคนที่พร้อมมันหมายถึงพวกเขามีโอกาส สัมผัสเทคโนโลยีใหม่ ส่วนภาคผู้ผลิตมีโอกาสเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาพัฒนาจนเรียกว่ามีแต่ทุกคนได้ประโยชน์ทั้งนั้น
อีก 10 ปีไทยถึงจะพร้อมสำหรับรถไฟฟ้า บางทีมันอาจจะไม่ใช่อย่างงั้น เพียงแต่รัฐอาจจะยังมองไม่เห็นภาพว่า รถยนต์พลังไฟฟ้าเป็นว่าที่ก้าวต่อไปของรถยนต์แห่งอนาคต รวมถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ ทางด้านระบบขับเคลื่อน ที่ทุกวันนี้เริ่มเติมเข้ามาในรถยนต์มากขึ้น ซึ่งในขณะที่เราพอเพียงกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ เราอาจจะต้องมองอนาคตที่กำลังมา และเมื่อเรามีโอกาสและศักยภาพพร้อมทุนความรู้ที่ค่ายรถยนต์หลายเจ้าพร้อมภูมิใจนำเสนอ และของแบบนี้ต้องมีการพัฒนาและเรียนรู้ที่ยาวนาน บางทีแค่เราเปลี่ยนความคิดทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ...
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com