Deft Opinion : ใบขับขี่บิ๊กไบค์..เราควรไปทางไหนดี ...
- โดย : Autodeft
- 9 เม.ย. 58 00:00
- 44,994 อ่าน
เกาะกระแสวิพากษ์ใบขับขี่บิ๊กไบค์เปิดแนวทางตรงจากอังกฤษเขาทำกันอย่างไรในเวทีสากล ...ที่ควรมาปรับใช้ในประเทศไทย
เป็นประเด็นตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่ทางตำรวจออกมาประหนึ่งว่าโยนถามทางผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ว่า ทางเจ้าหน้าที่อาจจะขอให้มีการแยกใบขับขี่ประเภทใหม่ออกมา สำหรับคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นมองที่วุฒิภาวะของผู้ขับขี่ว่าควรมีอายุสามสิบปีขึ้นไป จนกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่า แนวทางดังกล่าวอาจจะไม่ช่วยป้องปรามอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้
แม้ว่ามาถึงวันนี้กระแสนิยมในจักรยานยนต์ขนาดใหญ่มีแต่เพิ่มสูงขึ้น และยังไม่มีกฎหมายออกมาอย่างจริงจังในการบังคับกลุ่มผู้ใช้ขนาดใหญ่ ทำให้บิ๊กไบค์ในนาทีนี้ถูกมองเป็นสองล้อคันหนึ่งที่มีสิทธิไม่ได้มากมายกว่ารถจักรยานยนต์ขนาด 125 ซีซี จ่ายกับข้าว แต่การออกมาเปิดเผยว่า อาจจะทำใบขับขี่นั้น เริ่มเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพียงแต่อาจจะยังผิดทิศผิดทางเท่านั้นเอง
[IMAGE1]
ในแง่หนึ่ง บิ๊กไบค์ แม้จะเป็นเพียงมอเตอร์ไซค์หนึ่งคันในสายตาของใครหลายๆ คน แต่ในมุมมองผู้ใช้ไปจนถึงสมรรถนะการขับขี่เอง มีความสามารถเทียบเท่ารถยนต์หนึ่งคัน หรืออาจจะมากกว่ารถยนต์บางรุ่นที่เราใช้งานกันอยู่ด้วยซ้ำไป ทำให้ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาเกิดกระแสเรียกร้องมากมายจากผู้ใช้บิ๊กไบค์ว่าอาจจะถึงเวลาที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลสวัสดิภาพในการขับขี่ และต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนว่า บิ๊กไบค์ไม่เหมือนรถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาทั่วไอย่างที่หลายคนเข้าใจ
อย่างที่หลายคนอาจจะเคยทราบมาก่อนหรือใครยังไม่เคยทราบ ก็จะบอกเล่าเก้าสิบว่ากฎหมายทางด้านการจราจรของไทยโดยส่วนใหญ่นั้นได้ต้นคิดมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีวิธีการขับขี่คล้ายคลึงในบ้านเราโดยตรง
ในเรื่องของการจัดการใบขับขี่มอเตอร์ไซค์นั้น ในอังกฤษมีการแบ่งประเภทใบขับขี่ออกเป็น 4 ประเภทสำคัญได้แก่ AM , Q , A1 ,A2 และ ประเภท A เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดความชินกับสมรรถนะของรถก่อนที่จะก้าวข้ามต่อไปรถมอเตอร์ไซค์ที่มีซีซีสูงมากกว่าที่ขับขี่อยู่
จากข้อมูลที่ส่วนตัวเก็บมาจากกรมการขนส่งของที่ประเทศอังกฤษ ในใบขับขี่ประเภท AM นั้น เป็นใบขับขี่ที่ออกให้สำหรับผู้ที่ต้องการใช้มอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก ซึ่งในบ้านเราก็มีใบขับขี่ประเภทเดียวกัน ซึ่งอนุญาตให้ขับรถได้ไม่เกิน 100 ซีซี และใบขับขี่นี้ยังขยายสู่ประเภท Q ที่มีการเติมคำจำกัดความในการอนุญาตรถประเภทสามล้อเข้ามา ทั้งหมดทำได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี
ต่อมาในประเภท A1 เป็นขับขี่ที่อนุญาตสำหรับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ทุกประเภท แต่ไม่เกิน 125 ซีซี และนอกจากการจำกัดตัวซีซีเครื่องยนต์แล้ว ยังจำกัดในแง่ของกำลังต่อน้ำหนักของตัวมอเตอร์ไซค์ว่าต้องไม่มากกว่า 0.1 กิโลวัตต์ต่อหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งในบ้านเราคือใบอนุญาตขับขี่มอเตอร์ไซค์ทั่วไป โดยลักษณะการขอใบอนุญาต ก็มีกระบวนการคล้ายกับในประเทศไทย คือต้องสอบข้อเขียนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และสอบภาคปฏิบัติในการขับขี่ ทำได้เมื่อตอนอายุ 17 ปี
[IMAGE2]
[IMAGE3]
ทว่าสำหรับกรณีของใบขับขี่บิ๊กไบค์ ที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นเป็นใบขับขี่ที่เหนือกว่าในประเภท A1 ซึ่งในอังกฤษเรียกใบขับขี่ประเภทนี้ว่า ใบขับขี่แบบ A2 โดยข้อจำกัดของใบขับขี่ดังกล่าวอยู่ที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตใบขับขี่ประเภทดังกล่าวจะขับรถมอเตอร์ไซค์ที่มีกำลังสูงกว่า A1 ได้ แต่มีกำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 35 กิโลวัตต์ หรือ ราวๆ 47 แรงม้า ซึ่งกำลังประมาณดังกล่าวเทียบเท่ารถมอเตอร์ไซค์ ขนาด 400-500 ซีซี หรือ หากผู้ขับขี่ต้องการรถที่มีกำลังสูงกว่านั้น จะต้องเรียกร้องแพ็คเกจเพื่อตอนกำลังจากบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ จนกว่าจะสามารถสอบใบขับขี่ขั้นต่อไปได้
สิ่งที่น่าสนใจในการขออนุญาตใบขับขี่ A2 นั้นอยู่ที่การวางสองแนวทางในการขอใบอนุญาต หนึ่งคือการขอใบอนุญาตโดยตรง ก็จะมีขั้นตอนการเข้าอบรมและเข้าสอบกับกรมการขนส่งที่อังกฤษ แต่แม้เราจะไม่สามารถหารายละเอียดในการสอบได้ แต่เข้าใจว่า น่าจะมีแนวทางที่แตกต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก
แต่โดยมากแล้ว คนที่ขอใบอนุญาตประเภทนี้ จะใช้วิธีทางลัดโดยการอัพเกรดใบขับขี่ โดยทางขนส่งอังกฤษวางให้ใช้ Experience Base โดยต้องถือใบอนุญาตแบบ A1 2 ปี ก่อนที่จะขอเข้าสอบใบขับขี่แบบ A2 ซึ่งต้องมาสอบวัดทักษะอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับอนุญาตในใบขับขี่ดังกล่าว ซึ่งสามารถขอได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี
[IMAGE4]
และท้ายสุดใบขับขี่ประเภทไม่จำกัดประเภทมอเตอร์ไซค์หรือขับขี่ได้ทุกประเภท ( A) ทางการอังกฤษ วางแนวทางการขอไว้สองประการด้วยกันเริมจากการขออนุญาตโดยตรง สามารถทำได้เมื่อมีอายุ 24 ปี บริบูรณ์ และต้องผ่านการทดสอบทักษะการขับขี่ รวมถึงการสอบวัดผลผ่านระบบคอมพิวเตอร์
แต่สำหรับใครที่ขี่มอเตอร์ไซค์มายาวนาน เพียงถือใบขับขี่ประเภท A2 มาสองปี แล้วมีอายุ 21 ปี ก็สามารถมาขอใบอนุญาตดังกล่าวได้ เพียงสอบทักษะเพิ่มเติมเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ถ้ามองตามแนวที่ทางตำรวจเปิดเผยออกมา นั้น มีนัยยะสำคัญหนึ่งที่น่าสนใจ ตรงวุฒิภาวะในการขับขี่ของคนไทย อาจมีความแตกต่างจากคนในประเทศอังกฤษ ซึ่งหากจะนำแนวทางจากอังกฤษมาใช้บังคับกับชาวบิ๊กไบค์ในไทยก็พอจะเป็นไปได้
[IMAGE5]
หากว่า แนวทางที่น่าจะเหมาะสมมากขึ้น คือการควบคุมไม่วัยรุ่นหรือคนที่มีอายุน้อยเป็นเจ้าของรถบิ๊กไบค์ที่มีกำลังสูงมากเกินไป แม้ว่าสิทธิในการซื้อรถและความชอบจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ว่าในแง่หนึ่งการอนุญาตให้ซื้อได้ตามใจชอบก็สร้างความอันตรายต่อผู้ขับขี่ ด้วยสมรรถนะของที่อาจจะเกิดการควบคุม
โดยอาจจะสร้างของบังคับบางส่วนมาควบคุม อย่างเช่น ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ไม่อนุญาตรถมอเตอร์ไซค์ที่มีพิกัดเกิน 800 ซีซี เป็นต้น และยิ่งกว่านั้น ผู้ที่จะซื้อมอเตอร์ไซค์ที่มีพิกัด 800 ซีซีขึ้น น่าจะต้องแสดงถึงทักษะทางด้านการควบคุมรถต่อเจ้าพนักงานขนส่ง เพื่อรับรองว่าสามารถควบคุมรถได้แน่ๆ โดยอาจจะดึงศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการทดสอบดังกล่าว เนื่องจากมีพื้นที่ ที่เหมาะสม และผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการทดสอบ รวมถึงยังทำให้ค่ายรถมอเตอร์ไซค์ทั้งหลายเข้ามีบทบาทในการแนะนำทางด้านความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ ไม่ใช่ว่าจะขายกันลูกเดียวเท่านั้น
แม้ว่าเรื่องราวใบขับขี่บิ๊กไบค์อาจจะยังไม่ลงตัวหรือเป็นไปตามคาด แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วบิ๊กไบค์กับคนไทย ก็ดูจะเหมือนไปกันได้เพียงแต่เราต้องสร้างความเข้าใจในวงสังคมก่อนรวมถึง สร้างมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใช้ ด้วยการสร้างกฎที่ทำให้เห็นว่าทักษะการขับขี่และประสบการณ์เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการขับบิ๊กไบค์ ไม่ใช่แค่มีเงินก็ขี่ได้อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com