ที่จอดรถคนพิการ ..แค่อยากประจานไฮโซหรือ ประเด็นที่สังคมยังไม่เข้าใจกันดี
- โดย : Autodeft
- 19 มิ.ย. 57 00:00
- 11,829 อ่าน
ตามกระแสเรื่องที่จอดรถคนพิการที่วงสังคมกำลังพูดถึงกันอย่างมาก ที่เราไลค์และแชร์รูปบนโซเชี่ยลทุกวันนี้ ด่าสนุกปากแค่ได้มันส์ หรือที่จริง ถึงเวลาที่รัฐต้องออกโรงชี้แจงให้คนเข้าใจมากขึ้น เรื่องคนพิการขับรถ
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
เรียกว่าเป็นกระแสสังคมไปแล้ว หากเห็นรถยนต์ราคาแพงจอดในที่จอดรถคนพิการตามห้างสรรพสินค้าเมื่อไร อันที่จะต้องมีรูปหลุดลงโซลชี่ยล ไม่ว่าจะรถหรูราคากี่ล้าน แต่ประเพณีจอดที่คนพิการจับประจานสังคม ดูจะเป็นที่พูดถึงมากในทุกวันนี้
การจอดรถในที่คนพิการนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่มีบทลงโทษใดๆทางกฎหมายการจราจรก็ตามที แต่ที่จอดรถคนพิการ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งของการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีความด้องโอกาสทางสังคมมากให้สะดวกสบาย ตามตามระเบียบข้อบังคับของกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร สำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชราพ.ศ. 2548 หมวด 4 เรื่อง ที่จอดรถ ระบุไว้ว่าตามสถานที่สาธารณะต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการ ทำให้บรรดาห้างร้านต่างๆจึงจำเป็นต้องมีที่จอดรถสำหรับคนพิการ
ในแง่หนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าคนพิการที่ใช้รถยนต์ขับไปไหนมาไหนเอง มีจำนวนไม่ได้มากมายนักในประเทศไทย และเราหลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่าคนพิการบางกลุ่มได้รับอนุญาตให้ขับรถได้ ทำให้กลายเป็นการสบช่องโอกาสของ บรรดาผู้ที่มีอันจะกินที่บ้างได้รับอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเอง หรือบ้างถือวิสาสะในการใช้บริการช่องคนพิการด้วยความสะดวกที่มักอยู่ใกล้ทางเข้าทางออก
แต่อีกแง่หนึ่ง ที่น่าคิดก็คือว่า บางที่รถยนต์หรูทีเราเห็นอาจจะเป็นการอำนวยความสะดวกกับคนพิการในครอบครัว แม้ว่า คนขับจะไม่ได้พิการ แต่ผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยหรือไม่สมประกอบ อาจจะไม่ถึงขนาดต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ แต่แค่เดินเหินไม่สะดวก ตามแบบคนแก่อายุมาก บกพร่องทางร่างกายจะนับเป็นคนพิการหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้นในบางกรณี หากผู้ขับขี่ที่เป็นคนปกติธรรมดาเกิดได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย แต่ยังสามารถขับรถได้ตามปกติ เพียงต้องการใช้ช่องจอดคนพิการ ชั่วคราวในยามที่เขาทำกิจกรรมขับรถไม่สะดวกนั้น มันจะเป็นไปได้หรือไม่ และจะมีข้อกำหนดอะไร นอกจากที่เรามักพูดว่า “สามัญสำนึก”
ในแง่หนึ่ง ทางด้าน นาย ศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้เคยเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ช่วงเดือนเมษายน โดยยอมรับว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาจจะเป็นกระแสสังคมที่เพิ่งถูกกล่าวถึงมากขึ้น ด้วยความต้องการของผู้พิการที่จะเรียกร้องสิทธิคืนมา
ตามการอธิบายของ นายกสมาคมเผยว่า ช่องจอดสำหรับคนพิการนั้น มี 2 แบบ ที่สำคัญ คือ หนึ่ง โลโก้สีน้ำเงินกรอบสีขาว มีสัญลักษณ์คนนั่งวีลแชร์สีขาวบนพื้น เป็นที่จอดสำหรับผู้พิการทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ขับขี่ หรือ ผู้โดยสารเอง ตลอดจนผู้สูงอายุยังอนุโลมให้ใช้ช่องดังกล่าวได้เพื่ออำนวยความสะดวก
แต่ช่องจอดอีกแบบนั้น จะเป็นช่องจอดที่ใช้กรอบสีขาวพร้อมแถบสีเหลือง หมายถึงที่จอดรถสำหรับผู้พิการที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องใช้รถเข็นช่วยในการเดินทาง เป็นที่ซึ่งห้ามโดยเด็ดขาดไม่ให้ผู้พิการเข้าใช้
ส่วนเรื่องว่าคนพิการที่ขับรถได้มีจำนวนเท่าไร ยังไม่มีใครระบุได้ชัด แม้แต่นายกสมาคมคนพิการ ยังประมาณว่าจากผู้ที่ลงทะเบียน 1 ล้านคน น่าจะมีคนที่ขับได้ สักราวๆ 2-3 หมื่นคน
แม้น้อยคนจะทราบ แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 กรมขนส่งอนุญาตให้ผู้คนพิการบางกลุ่ม มีสิทธิจะขอใบอนญาตขับขี่รถยนต์ได้ ภายใต้ ระเบียบการกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วย รถยนต์สำหรับคนพิการ พ.ศ.2541
กำหนดให้ ผู้พิการ คนหูหนวก หรือหูตึง , คนตาพิการ หรือตาบอดหนึ่งข้าง และ คนพิการแขนขา หรือลำตัว สามารถขอรับใบอนุญาตขับขี่ได้ แต่ว่าถึงในระเบียบจะมีความชัดเจน แต่กว่าผู้พิการจะได้ใบขับขี่มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังมีการกำหนดให้ติดเครื่องหมายแสดงตัวว่าเป็นผู้พิการขับขี่ ทว่ากรมการขนส่งก็ไม่เคยประกาศให้ผู้ขับขี่ทั่วไปรับทราบ ถึงลักษณะรถยนต์ที่ขับโดยคนพิการ ว่ามีสัญลักษณ์อะไรเป็นพิเศษเพื่อแสดงตัวตน
คำถามคือมีกี่คนที่รู้ว่ารถแบบไหน หรือคันไหน คือรถที่ผู้พิการขับขี่ ยิ่งกว่านั้นกรมการขนส่งมีการจัดการ เรื่องคนพิการขับรถจริงจังหรือไม่ เพื่อก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทางสังคม และเป็นข้อสังเกตต่อผู้ขับขี่คนอื่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลที่จอดคนพิการได้รับทราบ
นี่ยังรวมถึง กรณีช่องจอดรถคนพิการ ซึ่งบางแบบสามารถอำนวยความสะดวกให้คนทั่วไปที่พาคนพิการมาจอดได้ รวมถึงผู้สูงอายุ ต้องสร้างการรับรู้ที่เป็นสากลให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึง คนพิการที่ขับรถได้ ได้ใช้สิทธิของพวกเขาจริง ๆ เสียที
กรณีจอดรถคนพิการกลายเป็นที่จอดรถไฮโซนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การถ่ายรูปประจานบนโซเชี่ยล อาจจะไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้คนกดไลค์แล้วเข้ามาด่าคนรวยมากขึ้น บางทีนี่ถึงเวลาที่รัฐต้องเข้ามาจัดการบางอย่าง โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้เรื่องที่จอดรถคนพิการ และจัดระเบียบคนพิการที่สามารถขับรถได้ ให้มีการรับรู้เป็นสากลมากขึ้นต่อคนใช้รถใช้ถนนทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดข้อกังขาและความไม่รู้ของสังคม
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
ข้อมูลบางส่วนประกอบบทความจาก Posttoday
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com