“ตามรอยต้นน้ำของพ่อ” ไปกับ Ford Ranger 3.2L Wildtrak
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 12 ต.ค. 60 00:00
- 86,407 อ่าน
“หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2539
โครงการพระราชดำริ 4,596 โครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ได้ทรงงานมาตลอด 70 ปี กว่าครึ่งนั้นเป็นโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ ทั้งการสร้างน้ำ, การเก็บน้ำ ไปถึงการปรับปรุงน้ำ เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า น้ำมีความสำคัญต่อชีวิตของพสกนิกรของพระองค์มากขนาดไหน ดังนั้นการดำเนินรอยตามงานพระราชดำริของพระองค์ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของพสกนิกรชาวไทยที่ต้องรักษาแหล่งน้ำของเมืองไทยให้จงได้ แต่ก่อนเริ่มทำ เราก็ควจจะต้องรู้ซะก่อนว่า การเดินทางของน้ำนั้น เริ่มมาจากไหน และเดินทางไปทางไหน จบลงอย่างไร
เป็นโชคดีของคณะสื่อมวลชน รวมทั้งทีมงาน Autodeft ด้วย ที่ได้รับเกียรติจาก ฟอร์ด ประเทศไทย ให้เข้าร่วมทริปพิเศษ “ตามรอยต้นน้ำของพ่อ” เพื่อไปดูการเดินทางของน้ำ ตั้งแต่ต้นสายแล้วไล่ลงไป เพื่อให้เห็นการเดินทางของน้ำว่าไปอย่างไร และได้ศึกษาวิธีอนุรักษ์น้ำว่ามีอะไรบ้างที่จังหวัดกาญจนบุรี
โดยการเดินทางครั้งนี้ พวกเราได้เดินทางไปพร้อมกับ Ford Ranger Double cab 3.2L Wildtrak 4x4 6AT NAVI ที่สามารถใช้บุกป่าฝ่าดงได้อย่างเต็มที่ เพราะทางทีมงานได้แจ้งว่าการเดินทางครั้งนี้จะมีเส้นทางที่สมบุกสมบันพอสมควร ดังนั้นการเลือกใช้รถยนต์ที่มีแรงม้าระดับ 200 แรงม้า แรงบิด 470 นิวตันเมตร จากเครื่องยนต์ดีเซล Duratorq TDCi VG Turbo 3.2 ลิตร จึงเหมาะสมกับการเดินทางทริปนี้ที่สุดแล้ว
เส้นทางการเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นจากที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ ถ.วิภาวดี-รังสิต ผ่านสะพานพระราม 4 ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี โดยจุดหมายปลายทางแรกของวันแรกอยู่ที่ “โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่อำเภอหนองปรือ โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับพื้นที่ และให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้แผ่นดินทำมาหากินร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกัน ซึ่งหลังจากมีโครงการแห่งนี้แล้ว ชาวบ้านที่ได้รับแบ่งปันที่ดินเพื่อใช้ทำกิน สามารถทำการเกษตรเพื่อหาเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นกำลังสำคัญเพื่อช่วยดูแลแหล่งธรรมชาติแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้นได้อีกด้วย
ในการเดินทางมาครั้งนี้ของพวกเรา นอกจากจะได้รับรู้ถึงความสำคัญของโครงการนี้ ยังได้มีโอกาสร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำอีกด้วย ใครจะรู้ว่าฝายชะลอน้ำเล็กๆ 1 ตัว จะมีความสำคัญมาก นอกจากมันจะช่วยกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากต้นน้ำให้อยู่ได้นานขึ้นแล้ว มันยังช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ลงไปสู่แม่น้ำได้มากเกินไป และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับ 2 ข้างทางที่น้ำกักเก็บอยู่ได้อีกด้วย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพวกเรา จึงทำให้การสร้างฝายชะลอน้ำครั้งนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี
ก้าวเข้าสู้วันที่ 2 ของทริป “ตามรอยต้นน้ำของพ่อ” ไปกับ Ford Ranger 3.2L Wildtrak พวกเรามุ่งหน้าไปสู่ป่าต้นน้ำแถวเหมืองเก่าที่ อ. ทองผาภูมิ โดยระหว่างทางนี้ ชาวคณะสื่อมวลชนต้องใช้การเดินทางด้วยการนำรถยนต์ขึ้นแพขนานยนต์ ข้ามอ่างเก็บน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งระหว่างอยู่กลางน้ำ เราได้เห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามรอบๆแบบ 360 องศา และความเย็นสบายจากลมที่พัดเฉื่อยๆผ่านตัวเราไป รวมทั้งอากาศที่สะอาดหายใจได้เต็มปอด ทำให้เรายิ่งซาบซึ้งขึ้นไปอีกว่า ความสำคัญของแหล่งน้ำจนทำให้ธรรมชาติเติบโตได้ มีความสำคัญมากมายขนาดไหน
หลังจากขึ้นจากแพขนานยนต์ เส้นทางระหว่างทางเพื่อเดินทางไปเหมืองเก่า เป็นเส้นทางลูกรังที่มีความขรุขระในระดับกลางๆ มีทั้งขึ้นและลงเขาเป็นระยะ แต่ด้วยเครื่องยนต์ระดับ 200 แรงม้าของ Ford Ranger 3.2L Wildtrak ก็ไม่ยากอะไรที่จะผ่านเส้นทางแบบนี้ไปได้แถมด้วยช่วงล่างที่ถูกเซ็ตมาให้นุ่มนวลรองรับการใช้งานแบบครอบครัวได้ด้วย ทำให้การนั่งมาที่แถว 2 ก็ไม่ทำให้กระเด้งกระดอนไปมาแต่อย่างไรในเส้นทางขรุขระแบบนี้
แล้วเราก็มาถึงจุดหมายปลายทางที่เหมืองเก่าใน อ. ทองผาภูมิ ซึ่งเหมืองแห่งนี้เคยเป็นแหล่งในการขุดหาเแร่ตะกั่วและดีบุกมาก่อน จนทำให้แหล่งที่เคยเป็นป่าแห่งนี้ถูกทำลายลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม แหล่งป่าถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่ารวมทั้งแหล่งต้นน้ำอีกด้วย หลังจากสัมปทานการขุดเหมืองแร่หมดลง และมีแรงต่อต้านจากชาวบ้านไม่ให้มีการต่ออายุสัมปทานออกไปอีก ทำให้พื้นที่เหมืองเก่าแห่งนี้กลับไปเป็นสมบัติของชาติไทยอีกครั้งด้วยการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และใช้ศาสตร์พระราชาที่ว่า “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 ว่า “ทิ้งป่าไม้นั้นไว้ 4 ปี ตรงนั้น ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว... คือว่าการปลูกนั้น สำหรับอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง” จึงทำให้เหมืองเก่าแห่งนี้พลิกฟื้นกลับมาเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์จนได้ และพวกเราเองก็ได้ไปดูตาน้ำที่เป็นจุดกำเนิดของสายน้ำที่ไหลไปจนถึงเขื่อนศรีนครินทร์ และส่งต่อไปหล่อเลี้ยงชีวิตมากมายที่อยู่หลังเขื่อน ดังนัันความสำคัญของตาน้ำแห่งนี้จึงมีมากมายเหลือเกิน พวกเราชาวคณะสื่อมวลชนจึงร่วมกันปลูกหญ้าแฝกตามริมขอบตลิ่ง
เพื่อป้องกันไม่ให้ดินนั้นถูกเซาะจนพังทลายจนไปทับทางน้ำได้
หลังจากเสร็จภารกิจเรียบร้อย พวกเราก็เดินทางไปต่อยังเขาเอเวอเรสต์ แห่ง ทองผาภูมิ เส้นทางเริ่มจากดินเลนเละที่เกิดขึ้นจากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้รถ Ford Ranger 3.2L Wildtrak ทุกคันต้องเปลี่ยนไปเป็นโหมด 4L เพื่อให้ผ่านถนนแบบนี้ไปให้ได้ แรงบิดระดับ 470 นิวตันเมตร ทำให้การผ่านเส้นทางเละๆแบบนี้กลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย ถึงแม้ว่ายางที่ใช้จะเป็นแบบมาตรฐานที่ติดมากับรถก็ตาม เมื่อผ่านเส้นทางสุดโหดไปแล้ว ก็ต้องมาเจออีกด่าน ด้วยการมุดถ้ำซึ่งเคยเป็นเส้นทางการขนส่งแร่จากยอดเขาลงมาด้านล่าง ต้องบอกว่าความกว้างของถ้ำนั้นแทบจะพอดีกับตัวรถเลยทีเดียว คนนั่งข้างต้องคอยชะโงกหัวออกไปช่วยดู เพื่อให้รถสามารถผ่านถ้ำนี้ไปให้ได้ และเมื่อผ่านมาได้แล้ว ก็ได้พบกับจุดชมวิวอันแสนสวยงาม ตรงจุดที่เป็นหน้าผาลาดเอียงจากหินที่เคยถูกระเบิดเพื่อขุดหาแร่มาแล้ว ซึ่งทางฟอร์ดได้ใช้หน้าผาแห่งนี้แหล่ะในการถ่ายทำโฆษณาตัวล่าสุดของ Ford Ranger
เข้าสู่การเดินทางวันที่ 3 ของทริป “ตามรอยต้นน้ำของพ่อ” ไปกับ Ford Ranger 3.2L Wildtrak กับภารกิจสุดท้ายที่เข้าไปช่วยปลูกต้นไม่และหญ้าแฝกที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เฮ็งเคล-ไทย ที่ อ.ไทรโยค ซึ่งเป็นโรงเรียนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในถิ่นธุรกันดาร ส่วนใหญ่นักเรียนที่โรงเรียนนี้จะเป็นคนไทยแถบชายแดน แต่ก็มีเด็กชนชาติกะเหรี่ยง, มอญ, ลาว, เขมร เข้ามาเรียนด้วย โดยโรงเรียนแห่งนี้มีการสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้นักเรียนช่วยการปลูกผักที่กินได้, เลี้ยงไก่เพื่อเอาไขและเนื้อ, เลี้ยงปลา และไม้อื่นๆที่จำเป็นในการดำรงชีวิต จากการสอบถามแม่ครัวที่ทำอาหารกลางวันให้เด็กๆบอกว่า วัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันส่วนใหญ่ของโรงเรียนนี้ ล้วนมาจากฝีมือการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ของตัวเด็กๆเองทั้งนั้น จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียนได้มากพอสมควร แถมเด็กๆยังเอาความรู้เหล่านี้ไปทำต่อที่บ้านของตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวตัวเองได้อีกด้วย ดังนั้นพวกเราชาวคณะจึงช่วยกันปลูกต้นไม้จำเป็นเช่นชะอม, มะขาม เพื่อให้เด็กๆสามารถนำมาใช้งานได้ในอนาคต รวมทั้งปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งที่บ่อเลี้ยงปลาด้วย
ผ่านไป 3 วันจนจบทุกภารกิจ ทำให้เราได้รู้มากขึ้นว่า ความสำคัญของทุกชีวิตบนแผ่นดินนี้ ก็คือน้ำสะอาดนั่นเอง และยิ่งทำให้พวกเรายิ่งซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงเห็นความสำคัญเรื่องน้ำเป็นอันดับแรก จนทำให้มีโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำอย่างมากมาย ดังนั้นผมในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตบนแผ่นดินของพ่อ ผมขอสัญญาว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อรักษาแหล่งน้ำและธรรมชาติของแผ่นดินไทยให้ได้มากที่สุด และจะใช้ชีวิตแบบพอเพียงไม่เบียดเบียนใครให้ดีที่สุดครับ
Earthpark02 ผู้เรียบเรียง
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com