ไปรักษ์ช้างกับ Chevrolet Colorado Centennial Edition 2018 ที่ป่าละอู
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 23 ม.ค. 61 00:00
- 42,856 อ่าน
"ช้าง" สัตว์คู่บุญบารมีของชาวสยามมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ทำหน้าที่มากมายหลายอย่างทั้งใช้ลากจูงของ, ใช้ร่วมรบ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นดินแดนที่มีช้างเอเซียรวมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การบุกรุกถางป่าก็มีมากขึ้นตามความเจริญของมนุษย์ มันเลยทำให้ที่อยู่และอาหารของช้างลดลง ทำให้จำนวนช้างของประเทศไทยลดลงตามไปด้วย
ปัจจุบันจากการสำรวจทั้งประเทศ ช้างป่าและช้างบ้านที่มีอยู่รวมกันน่าจะมีอยู่ราวๆ 3 พันกว่าตัว ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง และจุดที่มีช้างป่ารวมกันอยู่มากที่สุด ก็น่าจะเป็นแถบอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มีเนื้อที่รวมเกือบ 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และเป็นจุดที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างอยู่บ่อยๆ จากการที่ช้างลงมาหากินในแถบบ้านเรือนของมนุษย์ กินอาหารที่เป็นไม้เพาะปลูกของชาวบ้าน บางครั้งก็ทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างของคนเพื่อหาอาหารกิน ชาวบ้านบางคนทนไม่ไหว ก็ใช้วิธีการทำร้ายช้างเช่น ยิงปืนใส่, วางรั้วไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเข้ามาทำลายพืชไร่ของตัวเองอีก จนทำให้เราได้เห็นข่าวการตายของช้างป่าอยู่หลายครั้ง
ถ้ามองไปถึงต้นตอของปัญหาความขัดแย้งนี้ มาจากการขาดแคลนอาหารของช้างป่า ที่ไม่สามารถหาอาหารได้เพียงพอในส่วนที่เป็นป่า เลยทำให้ช้างต้องเอาตัวรอดด้วยการเข้าสู่ชุมชนมนุษย์เพื่อหาอาหารแทน เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย เห็นได้ถึงความสำคัญตรงจุดนี้ จึงได้เชิญชวนเพื่อนๆสื่อมวลชนสายยานยนต์เข้าร่วมทำกิจกรรม “เชฟฯรักษ์ช้าง” เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งนี้ ด้วยการสร้างโป่งเทียม แหล่งอาหารของสัตว์ป่า และสร้างรั้วกั้นเขตของช้างและบ้านเรือนของมนุษย์ ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผมในฐานะทีมงานของ Autodeft ก็ได้รับเกียรติจากทาง Chevrolet ให้ได้เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เช่นกัน โดยการเดินทางครั้งนี้ได้เริ่มเดินทางจากกรุงเทพโดย Chevrolet Colorado Centennial Edition 2018 รถกระบะรุ่นพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของกระบะเชฟโรเลต โดยขุมพลังขับเคลื่อนของคันนี้ยังคงเป็นเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 4 สูบ ดีเซล เทอร์โบ แปรผัน Variable Geometry Turbocharger (VGT) มีพละกำลัง 180 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ โดยจุดหมายปลายทางแรกที่ต้องไปก็คือนาเกลือแถวคลองโคน จ.สมุทรสงคราม เพื่อนำเกลือทั้งแบบอัดแท่งและเกลือเม็ด รวมทั้งแร่ธาตุ ที่เป็นส่วนผสมสำคัญในการสร้างโป่งเทียม แหล่งอาหารและแร่ธาตุสำคัญของช้างป่าเอาไว้ใช้ดำรงชีวิต โดยมีการบรรทุกรวมกว่า 500 กิโลกรัม/คัน เพื่อทดสอบดูว่า กำลังของเครื่องยนต์ขนาด 180 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร จะสามารถพาเราเดินทางไปได้อย่างปกติหรือไม่ ซึ่งจากการทดสอบนั้นเห็นได้เลยว่า ถึงแม้จะพกน้ำหนักไปเพิ่มราวครึ่งตัน กำลังเครื่องก็ยังสามารถพาเราเดินทางได้อย่างปกติ ไม่ได้กินกำลังเครื่องอะไรไปมากมาย ยังคงพาเราเร่งเครื่องเดินทางในแบบความเร็วสูงได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร
หลังจากนั้นพวกเราชาวคณะ “เชฟฯรักษ์ช้าง” ก็เดินทางมาถึงที่ทำการของ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดที่มีชุมชนชาวบ้าน เคยมีปัญหาจากช้างเข้ามาทำลายบ้านพักเพื่อค้นหาอาหารอยู่หลายครั้ง และมีช้างป่าตายจากการทำร้ายของมนุษย์ก็หลายตัว พวกเราได้เข้ารับฟังการสัมนาจากทางเจ้าหน้าที่ถึงความเป็นไปของโครงการนี้กันเล็กน้อย ทำให้เราได้รู้ความสำคัญของโครงการสร้างโป่งเทียมและรั้วกั้นครั้งนี้ว่า โป่งเทียมจะเป็นแหล่งอาหารที่ทำให้ช้างไม่จำเป็นต้องออกมาจากป่าเพื่อหาอาหารภายนอก และรั้วจะเป็นตัวกั้นเขตแดนที่ชัดเจนไม่ให้ช้างเข้าไปส่วนที่อยู่ของมนุษย์ และกลับกันก็ไม่อนุญาตให้มนุษย์เข้าไปในเขตของช้างเช่นกัน
หลังจากได้รับฟังเรียบร้อยแล้ว ผมเองได้สลับรถเปลี่ยนเป็น Chevrolet Colorado High Country Strom รถกระบะชุดแต่งพิเศษ เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ขับเคลื่อน 2 ล้อ เข้าไปในพื้นที่สร้างโป่งเทียมและรั้วกั้นช้าง ซึ่งเส้นทางเข้าพื้นที่นั้น ไม่ใช่ถนนปกติ แต่เป็นทางดินธรรมชาติที่ผ่านการใช้รถวิ่งผ่านมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง มันอาจจะไม่ถึงขั้นลุยป่า แต่มันก็ไม่ได้เรียบซะทีเดียว มีเรียบ (ทางดินขรุขระนิดหน่อย) สลับหลุมบ่อลึกตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตอนแรกบอกตรงๆว่าก็แอบหวั่นๆอยู่เหมือนกันเพราะได้รับภารกิจนำรถแบบระบบขับเคลื่อน 2 ล้อเข้าไปในพื้นที่ จะเข้าไปด้ไหม แต่เมื่อลองลุยไปซัก 2-3 หลุม ก็เริ่มั่นใจได้แล้วว่า กำลังเครื่องระดับแรงบิด 440 นิวตันเมตรนี้ พาลุยไปได้แบบไม่ลำบากอะไร เพียงเลือกไลน์ลงให้ดี ถึงแม้จะเป็นขับ 2 ก็ลุยไปได้ฉลุย
เมื่อถึงพื้นที่ในการทำโป่งเทียมแล้ว ก็ลงมือกันได้เลย เริ่มจากเอาเกลือก้อน (ก้อนอัดแท่งเหมือนอิฐบล็อก) เอามาทุบๆๆให้กลายเป็นเศษเล็กๆ จากนั้นก็เทเกลือป่นกับแร่ธาตุลงไป จากนั้นก็คลุกเข้ากับดินให้เข้ากัน รดน้ำให้เปียกทั่วกัน เป็นอันเสร็จเรียบร้อยกับภารกิจสร้างโป่งเทียมสำหรับช้างป่า
จากนั้นก็ขับตะลุยไปอีกเล็กน้อย จนมาถึงจุดที่สร้างรั้วกั้นเขตช้างป่ากับชุมชน หลักๆของรั้วคือการหล่อแท่นปูนขนาดใหญ่ แล้วใช้เหล็กเส้นขนาดเล็กกว่านิ้วก้อยหน่อยร้อยเข้าไปในแท่นปูน แล้วนำเหล็กเส้นอีกชุดมาเชื่อมขวางเพื่อให้แข็งแรงพอที่จะกั้นไม่ให้ช้างฝ่าผ่านไปได้ จากนั้นก็จัดการทาสีเขียวซะเพื่ออำพรางตัวรั้วให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติรอบๆ (พี่เขาบอกว่าช้างสายตาไม่ดี) เป็นอันเสร็จภารกิจในรอบนี้ไป
ถ้ามองภาพในความเป็นจริง จุดที่เป็นชุมชนของคน มันก็เคยเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าอย่างช้างมาก่อน แล้วถูกมนุษย์อย่างเราเข้าไปยึดครองเอาไปเป็นที่อยู่อาศัยของตัวเองแทน ช้างจะทำตามสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด เมื่อในป่าไม่มีอาหาร มันจึงต้องลงมาหาอาหารตามบ้านเรือนของคนแทน ดังนั้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พวกเราต้องช่วยกันไม่ให้ช้างเข้ามาทำกินในที่อยู่ของมนุษย์อีก โดยวิธีการที่ดีที่สุดคือสร้างแหล่งอาหารของเขาให้อุดมสมบูรณ์แบบที่ เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำ และเมื่อเขามีอาหารแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ช้างป่าต้องเดินมาไกลเพื่อหาอาหารกินอีกแล้วล่ะครับ
เรียบเรียงโดย Earthpark02
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com