มุ่งหน้าเรียนรู้วิถีชาวบ้าน + มอบความสุขให้เด็ก ๆ ที่เชียงใหม่ - เชียงรายกับ Isuzu
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 25 ธ.ค. 66 12:06
- 24,655 อ่าน
การใช้ชีวิตในเมืองหลวงอันวุ่นวาย ทำให้บางทีเราก็ลืมไปว่า ประเทศไทยเรายังมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกับเราอย่างมากมายอยู่ ซึ่งบางมุมเขาก็น่าจะมีความสุขในรูปแบบสงบสุข แต่แน่นอนว่าก็มีบางมุมที่เขาขาดแคลนอยู่เหมือนกัน
รอบนี้ผมในฐานะตัวแทนของ AUTODEFT ได้รับเทียบเชิญเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Trip to Do Good for Community with New! Isuzu เดินทางไปเรียนรู้วิถีชาวบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ และร่วมทำดีกันที่จังหวัดเชียงราย ใช้เวลาในกิจกรรมนี้รวมทั้งสิ้น 2 วัน]
เริ่มต้นการเดินทาง พวกเราชาวคณะเริ่มต้นเส้นทางกิจกรรมนี้ที่สนามบินดอนเมือง ออกเดินทางกันตั้งแต่เช้ามืด แล้วบินข้ามไปกันที่สนามบินเชียงใหม่ เมื่อเดินทางถึงแล้ว ก็เดินทางไปตัวแทนจำหน่ายของ Isuzu ที่ชื่อว่า Isuzu ธารา แยกศาลเด็ก เพื่อที่จะไปรับรถสำหรับการเดินทางในทริปนี้ โดยรอบนี้ พวกเราชาวสื่อและทีมงานของทางอีซูซุ จะเดินทางไปพร้อมกับรถกระบะใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Isuzu V-Cross 4x4 3.0 Ddi M 4 Doors A/T
รถกระบะใหม่ Isuzu V-Cross 4x4 3.0 Ddi M 4 Doors A/T ถือเป็นรุ่นท็อปสุดของรถกระบะอีซูซุแล้ว เป็นรูปแบบ MY2024 ที่ปรับเปลี่ยนจากเดิมไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- ไฟหน้าดีไซน์เอกลักษณ์ใหม่ โฉบเฉี่ยวด้วย ISUZU Vision Bi-LED พร้อม Multifunctional Daylight ทำหน้าที่ทั้ง Daylight ไฟหรี่ และไฟเลี้ยว
- กระจังหน้าแบบ 3-Dimension สีเทาดำ และ Black Chrome
- Air Curtain ที่กันชนหน้า นวัตกรรม Aerodynamic ลดแรงต้านอากาศ แบบฉบับ รถสปอร์ตหรู
- ไฟท้ายแบบ Triple-Armour LED สัญลักษณ์ใหม่แห่งความโดดเด่น
- ล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์แบบ Rugged & Wild สี Matte Black เท่ แกร่ง ดุดัน
- เบาะดีไซน์ใหม่ มาพร้อมเทคโนโลยี COOLMAX ช่วยลดการสะสมความร้อน ระบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางในตำแหน่งที่นั่งคนขับ
- Charging Socket แบบ USB-C ชาร์จได้รวดเร็ว ทั้งที่นั่งด้านหน้าและด้านหลัง
- หน้าจอระบบสัมผัส Infotainment Display ขนาด 9 นิ้ว รองรับการใช้งานทั้งระบบ Wireless Android Auto และ Wireless Apple CarPlay
- หน้าจอแบบ Multitasking System เชื่อมต่อข้อมูลกับหน้าจอ Integrated MID แสดงผลได้หลายฟังก์ชัน
- ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ADAS ด้วย 3D Imaging Stereo Camera ที่มีมุมมองกว้างและแม่นยำกว่าเดิม พร้อมเรดาร์ 2 จุด และเซนเซอร์ 8 จุดรอบคัน
- ระบบช่วยเตือนขณะถอยรถยนต์ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) พร้อมระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติขณะถอย RCTB (Rear Cross Traffic Brake)
- ระบบ Rough Terrain Mode ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ทั้ง 2 และ 4 ล้อ ด้วยการควบคุมการกระจายกำลังทุกช่วงความเร็ว
- ระบบแสดงองศามุมปีนไต่ ลาดเอียง และทิศทางการเลี้ยวของล้อ ที่หน้าจอ Integrated MID และ Infotainment Display ลุยได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
เริ่มต้นจุดแรก พวกเราได้เดินทางกันแบบขบวน เดินทางมุ่งหน้าไปสู่ออนใต้ฟาร์ม ร้านอาหารแบบพื้นเมือง ที่พวกเราได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกันที่นี่ ได้อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นเมืองแท้ ๆ เช่น แกงตูนใส่ปลา, เชียงดาผัดไข่, แกงผักกาดจอ เป็นต้น หลังจากอิ่มหนำสำราญกับอาหารมื้อเที่ยงแล้ว เราก็ขยับเดินไปเรียนรู้ในการทำทำผ้ามัดย้อม ในชุมชนออนใต้ ซึ่งเราก็เดินไปประมาณแค่เพียง 100 เมตร ก็ถึงแล้วครับ
ศูนย์การเรียนรู้บ้านออนใต้แห่งนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมแล้ว เรายังจะได้เรียนรู้วิธีการปั่นด้ายกับทอผ้าด้วยกี่อีกด้วย แต่เริ่มต้น เราจะเริ่มด้วยการเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมกันก่อน ทุกคนในทริป จะได้รับเสื้อยืดสีขาวพร้อมประทับตรา ISUZU กันก่อนคนละตัว หนักการง่าย ๆ ก็คือ เราจะสร้างลายเส้นที่เป็นสีขาว ตรงไหนที่อยากให้เป็นลายเส้น เราจะใช้วิธีการมัดหนังยาง เพื่อไม่ให้ส่วนตรงนั้นของเสื้อได้สัมผัสสีที่เราจะทำการย้อม อย่างเช่น ถ้าเราอยากได้เส้นวงกลม เราก็หยิบดึงเสื้อขึ้นมา แล้วก็เอาหนังยางมัดตรงที่เราอยากให้เกิดเส้น แล้วเอาเสื้อไปชุบสี เวลาแกะหนังยางออก เสื้อก็จะเป็นลายเส้นวงกลมตามที่เราอยากได้เลย หรือถ้าอยากได้เป็นลายเส้นตรง ก็ให้เอาไม้ทาบหนีบเสื้อ แล้วเอาหนังยางรัดทั้ง 2 ข้าง เหมือนเราเอาเสื้อมาหนีบให้เหมือนไก่ย่าง อย่างไรอย่างนั้นแหล่ะ
ทีนี้มาถึงขั้นตอนชุบสี ทางทีมงานเตรียมเอาไว้ให้เรารวม 3 สี คือสีส้ม, สีเหลือง และสีม่วง โดยสีม่วงนั้น ได้มาจากการเอาแกนของไม้ฝาง, สีเหลือง ได้มาจากขมิ้น และสีส้ม ได้มาจากใบสัก ซึ่งวัตถุดิบหลักนั้น จะถูกนำไปต้ม แล้วจะมีการใส่น้ำจากดินภูเขาไฟ เพื่อให้สีสดขึ้น และก็มีการใส่กาบกล้วยหั่นลงไปต้มพร้อมกัน เพื่อให้สีติดเสื้อได้ดีขึ้น ทีนี้ก่อนที่จะเอาเสื้อลงไปย้อมสี จะต้องเอาเสื้อไปชุบกับน้ำด่าง หรือน้ำขี้เถ้าก่อน (จำไม่ได้แล้วว่าเพราะอะไร) จากนั้นอยากได้เสื้อสีอะไร ก็เอาไปต้มในกระทะสีนั้นได้เลย ประมาณ 10 นาที แล้วเอาไปแกะหนังยางหรือว่าไม้ออก แล้วเอาไปจุ่มน้ำหนึ่ง น้ำสอง จบด้วยน้ำผสมน้ำยาปรับผ้านุ่ม จากนั้นเอาไปตากให้แห้ง เท่านี้ก็จะได้เสื้อลายมัดย้อมมาแล้ว แต่ถ้าอยากได้ความสดใส หลากหลายมากขึ้น ก็อาจจะเอาไปชุบทีละครึ่งตัว แบบต่างสีกัน ก็จะได้เสื้อ 2-3 สีแล้ว เอาที่ใจอยากได้เลย
เสร็จสิ้นกิจกรรมการทำผ้ามัดย้อมแล้ว แม่อุ๊ยก็จะเริ่มทำการสาธิตวิธีการทอผ้า เริ่มตั้งแต่เอาไยของลูกฝ้าย ซึ่งปกติแล้วชาวเหนือมักจะปลูกเอาไว้ในบ้านหรือรอบ ๆ บ้านอยู่แล้ว เวลาลูกฝ้ายแก่จัด มันก็จะแตกเม็ดออกมาโดยมีไยฝ้ายฟูพองสีขาวออกมาด้วย ชาวบ้านก็จะเอาไยของมันมาปั่นให้ออกมาเป็นเส้นด้าย จากนั้นจะเอาเส้นด้ายนั้น ไปชุบสีแบบเดียวกับที่เราทำผ้ามัดย้อมนั่นแหล่ะ เมื่อได้สีด้ายออกมาตามที่ต้องการแล้ว ก็จะเอามีเรียงร้อยทีละเส้น จัดเรียงให้ได้ลายตามที่เราต้องการ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าต้องใช้ฝีมือจากความชำนาญเป็นอย่างมาก ไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางได้ลายผ้าให้ออกมาสวยงดงามอย่างที่เราเคยเห็นได้อย่างแน่นอน
เมื่อเรียงด้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ที่แม่อุ๊ยบอกก็คือ เรียงไปทั้งหมด 840 เส้น) ก็จะเอาด้ายเหล่านั้นมาเรียงลงบนกี่ทอผ้า เรียงลงไปทีละเส้นต่อเส้น ซึ่งดูแล้วต้องใช้เวลานานมาก แล้วค่อยเอามาเดินทอผ้า ซึ่งจากการได้ลองแล้ว บอกได้เลยว่ายากมาก ๆ เพราะมือขวาต้องเคยกระตุกเชือกให้กระสวยด้ายวิ่งสลับซ้าย-ขวาไปเรื่อย ๆ ในขณะที่มือซ้ายต้องดึงตัวดันด้ายให้เข้ามาชิดกันเส้นต่อเส้นให้ได้มากที่สุด ส่วนขาขวา-ซ้ายต้องคอยเหยียบเส้นเลขคู่-คี่สลับขึ้นลงอย่างเป็นจังหวะ เรียกได้ว่าคุณต้องแยกประสาทสัมผัสทั้ง 4 ให้ได้เหมือนคนตีกลองชุด ไม่อย่างนั้นบอกได้เลยว่าลายผ้าออกมาเจ๊งแน่นอน
จบจากการดูเรื่องทอผ้า เราก็ขับ Isuzu V-Cross 4x4 3.0 Ddi M 4 Doors A/T ข้ามออกมาบนถนนอีกเส้น เข้าไปที่ ม่อนบาหลี ที่เป็นร้านกาแฟริมนา บรรยากาศแบบชาวบ้าน แต่พวกเราไม่ได้มาเพื่อกินกาแฟแต่อย่างใด แต่จะมาแวะเรียนรู้การทำลูกประคบสมุนไพรแบบชาวบ้าน การทำก็ไม่ยากครับ เพียงแค่เอาสมุนไพรหลากหลายชนิด ทั้งที่มีกลิ่นหอมอย่างเช่นพวกมะกรูด, ตะไคร้, การบูร เป็นต้น มาผสมกับสมุนไพรที่ช่วยแก้เรื่องอาการปวดเมื่อย เช่น เกลือ, ไพล, ขมิ้นชัน, ใบมะขาม, ใบส้มป่อย เป็นต้น มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาไปตากแห้งด้วยโดมพลังงานแสงอาทิตย์ สาเหตุที่ไม่ใช้การตากแดด เพราะว่าตัวสมุนไพรจะแห้งมากเกินไป ดังนั้นการตากในโดมจะสามารถกักเก็บความชื้นบางส่วนเอาไว้ในตัวสมุนไพรได้ด้วย
เมื่อได้วัตถุดิบทั้งหมดมาแล้ว ก็เอามาขยำรวมกัน แล้วแบ่งเอามาใส่ในผ้าขาวบางตามสะดวก จากนั้นก็ให้รวบแล้วมัดให้กลายเป็นลูกประคบ เวลาจะใช้งาน ก็ให้เอาลูกประคบไปพรมน้ำ จากนั้นเอาไปนึ่งสักประมาณ 10 นาที หรือเอามาแช่น้ำ แล้วเอามาใส่ไมโครเวฟประมาณ 5 นาที แล้วเอามาประคบตามจุดต่าง ๆ ที่เป็นจุดที่เราปวดเมื่อ ประคบจนกว่าจะหายร้อนก็พอเป็นใช้ได้ โดยลูกประคบ 1 ลูก จะใช้ได้ประมาณ 5 ครั้ง หลังจากนั้นคุณสมบัติต่าง ๆ ในตัวสมุนไพรจะหมดไป
พวกเราแวะอยู่ที่นี่ประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากจะได้ทดลองทำลูกประคบแล้ว ยังได้รับการนวดจากบรรดาแม่ ๆ ชาวบ้านละแวกนั้นอีกด้วย ทำเอาร่างกายที่เมื่อยล้าจากการเดินทาง คลายตัวไปได้ประมาณหนึ่งเลย
จบกิจกรรมวันแรกในเรื่องการเรียนรู้วิถีชาวบ้านแบบชาวเชียงใหม่ วันที่สองในแสงตะวันใหม่ พวกเราบรรดาสื่อมวลชนมีคิวทำดีให้กับชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอเวียงป่าเป้า จ. เชียงราย โดยเราจะเดินทางเป็นขบวน วิ่งยาว ๆ ประมาณ 100 กิโลเมตร วิ่งยาว ๆ แบบนี้ ผมก็จัดตัวช่วยอย่าง Adaptive Cruise Control ใช้งานแบบยาว ๆ เลย ผมจะทำหน้าที่เพียงควบคุมพวงมาลัยเท่านั้น ปล่อยให้ระบบทำการควบคุมความเร็วตามคันหน้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งระบบนี้สามารถทำงานได้จนถึงจุดหยุดนิ่งเลย แต่การเดินทางครั้งนี้แทบจะไม่หยุดกันเลย วิ่งได้ตลอดทาง ช้าบ้าง เบาบ้าง ก็ปล่อยให้ตัวระบบทำงานควบคุมความเร็วไป สะดวกจริง ๆ
แต่ก่อนที่จะถึงตัวหมู่บ้านประมาณ 10 กิโลเมตร พวกเราต้องแยกออกจากถนนลาดยาง เข้าสู่เส้นทางดินอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ห่วงเลยครับ เพราะผมขับรถกระบะอย่าง Isuzu V-Cross 4x4 3.0 Ddi M 4 Doors A/T มาในทริปนี้ พอแตะเข้าถนนดินปั๊บ ผมก็ทำการหมุนปุ่มเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็นแบบ 4 ล้อ 4H ในทันที โดยที่ผมไม่ต้องจอดรถเลย หน้าจอก็แสดงสัญลักษณ์ขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นมาเรียบร้อย ง่ายแบบสุด ๆ
เมื่อเราเดินทางถึงหมู่บ้านห้วยหินลาดใน พวกเราก็ต้องเริ่มภารกิจในการสร้างถนนก่อน ที่มีทั้งปูน, หิน และทรายเป็นจำนวนมาก ขนขึ้นท้ายกระบะรถของเราแบบเต็มกระบะท้ายรวมทั้งหมด 5 คัน แล้วขับเข้าไปในทางแบบ Off-Road เพื่อเอาไปถึงจุดที่มีการสร้างถนนสำหรับชาวบ้าน เอาจริงไม่น่าจะเรียกว่าถนนได้ เพราะชาวบ้านจะเอามาทำแค่ทางเพื่อให้ล้อเหยียบเท่านั้น ทำแบบเต็มถนนมันจะใช้ทุนสูง เอาแค่พอให้ล้อเหยียบปูนซีเมนต์ได้ เวลาฝนตกดินลื่น ชาวบ้านจะได้ใช้ถนนได้แบบไม่ลื่น ส่วนใหญ่ชาวบ้านแถวนั้นจะใช้งานเป็นมอเตอร์ไซค์เสียเป็นส่วนใหญ่ นาน ๆ จะมีรถวิ่งผ่านสักทีนึง (แน่นอนว่าจะต้องเป็นรถกระบะ) การทำถนนแบบนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นกับทางชาวบ้านมาก ๆ และการที่ได้บรรทุกหิน, ปูน, ทราย มาวางในตำแหน่งถนนทางดินที่ห่างจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตร ยิ่งเป็นการทุ่นเวลาและทุ่นแรงลงไปได้มากเลยทีเดียว
หลังเสร็จภารกิจในการขนหินแล้ว พวกเราก็ย้อนกลับมาทางเดิม เพื่อมาที่โรงเรียนห้วยหินลาดใน แล้วมาร่วมกิจกรรมบริจาคสิ่งของและเงินทุนเพื่อน้อง ๆ ในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนี้จะเป็นเด็กระดับอนุบาลไปจนถึง ป.6 เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้านนี้และหมู่บ้านใกล้เคียง มีนักเรียนอยู่ระดับ 50-60 คนได้ พวกเราได้นำขนมมาให้เด็ก ๆ เมื่อได้เห็นพวกเขามีรอยยิ้มกันได้ พวกเราชาวหมู่คณะ ทั้งผู้สื่อข่าวกับชาวอีซูซุก็ยิ้มก็นอย่างเต็มที่ คุ้มค่า หายเหนื่อยกับการเดินทางในครั้งนี้เลย
กิจกรรมครั้งนี้อย่าง Trip to Do Good for Community with New! Isuzu เหมือนจะเป็นการเดินทางที่ดูง่าย ๆ แต่เอาเข้าจริงถ้าเราเอารถที่สมรรถนะไม่ถึงไปทำกิจกรรมในรอบนี้ ก็อาจจะจบงานไม่สวยได้เหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นการเดินทางร่วมทริปในครั้งนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านพื้นเมืองอย่างแท้จริงแล้ว ยังได้เห็นอีกว่า ยังมีพื้นที่อีกหลายส่วนในประเทศไทยที่ยังขาดแคลนความเจริญอยู่อีกมากมาย อย่างเช่นพื้นที่ ๆ เราเดินทางเข้าไป จะเรียกว่าไกลมากก็ไม่เชิง แต่สัญญาณโทรศัพท์กลับไปไม่ถึงซะงั้น ก็อาจจะทำให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ ขาดซึ่งการเข้าถึงแหล่งความรู้ที่จำเป็นผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต จะเรียกว่ายังเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่งๆได้เช่นกัน
ทดสอบและเรียบเรียงโดย EARTHPARK02
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com