เจาะใจภาษี Co2 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ..ต่อรถใหม่ปีหน้า
- โดย : Autodeft
- 3 เม.ย. 58 00:00
- 20,572 อ่าน
เจาะลึกทุกอนูโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์ใหม่แบบ Co2 อะไรควรรีบซื้ออะไร รอได้รอ ...ทุกคำตอบ เราจัดหนักเค้นความจริงมาให้แล้ว ...
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง
นับวันก็ใกล้เข้ามาทุกทีเมื่อกล่าวถึงนโยบายของทางภาครัฐที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนบทบาทแนวคิดภาษีรถยนต์ในประเทศไทยแบบยกโครงสร้างใหม่หมดทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนความคิดในแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือที่ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการกล่าวขานว่า ภาษี Co2
แนวทางภาษียุคใหม่นี้เรียกว่าเป็นแนวทางใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีใหม่หมด นับตั้งแต่ที่เคยมีการปรับแนวทางจากอดีตมาจนยกเครื่องโครงสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2558 และหลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา เรากำลังก้าวย่างสู่เส้นทางที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น
ภาษี Co2 เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วในการทำให้รถยนต์ที่เราใช้อยู่นั้นเป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมมากขึ้น แนวความคิดนี้เกิดข้ามานานแล้วในแถบยุโรป ผิดกับในบ้านเราที่เน้นเอาเรื่องของความฟุ่มเฟือยมาเป็นตัวตั้งก่อนบวกลบคูณหารผ่านโครงการสนับสนุนของรัฐบาล
โครงสร้างใหม่ของภาษีจัดเก็บตามการปล่อยไอเสีย หรือ Co2 นั้น ไม่เพียงแค่ยกระดับเข้าสู่มาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใช้และผู้ผลิตตระหนักมากถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมไปตามกรอบสากล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศ รวมถึง แนวทางที่ก้าวล้ำ Carbon footprint ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ หมดทั้งกระบวนการ ก็เป็นที่มาสำคัญของการที่ไทยเราควรเข้าสู่แนวทางภาษีใหม่
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้เผยในการเสวนา “ภาษีสรรพสามิตร ตามค่าคาร์บอน (Co2) จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไร” ว่า การดำเนินการตามโครงสร้างภาษีใหม่นี้มีความเรียบง่ายและโปร่งใสมากขึ้น ทั้งยังทำให้เทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ มาถึงมือประชาชนอีกด้วย
“โดยในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ เป็นการคิดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Co2 ไม่ใช่เพียงแต่พลังงานทางเลือก แต่ยังรวมถึงเครื่องยนต์ดีเซลและรถไฮบริด ที่มีความสิ้นเปลืองและการปล่อยมลภาวะที่แตกต่างกัน”
ตามการเปิดเผยบนเวทีเสวนาดังกล่าวได้มีการเผยโครงสร้างภาษี ที่จะจัดเก็บใหม่ที่ทางครม.มีการอนุมัติเห็นชอบ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป
หัวใจหลักสำคัญของภาษใหม่นั้น คือการเปลี่ยนลักษณะวิธีการคิดภาษี จากเดิมที่คิดตามขนาดเครื่องยนต์หรือ ซีซี ยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละที่แพงมาก มาเป็นการจัดเก็บโดยคำนวณตามอัตราการปล่อยมลภาวะจากปลายท่อไอเสีย ส่วนประเภทรถยนต์ที่จัดเก็บนั้นยังถูกแบ่งเหมือนเดิมดังเช่นในอดีต
แนวทางการจัดเก็บภาษีในรูปแบบ Co2 ได้แบ่งประเภทรถออกเป็นสามกลุ่มสำคัญ ทีจะต้องดำเนินการตามนโยบายใหม่ ได้แก่กลุ่มรถยนต์นั่งและรถโดยสารไม่เกิน 10 คน ,กลุ่มรถกระบะและรถอเนกประสงค์แบบกระบะดัดแปลง และรถอีโค่คาร์
ในกลุ่มแรก ประเภทรถยนต์นั่งและรถโดยสารไม่เกิน 10 คน เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก และถือเป็นกลุ่มใหญ่ของตลาดรถยนต์ อันหมายถึงรถเก๋งและรถยนต์อเนกประสงค์ ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดมากที่สุด วิธีการจัดเก็บอัตราภาษีใหม่ รถยนต์ประเภทดังกล่าว ถูกแบบการปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์ เป็น 5 ระดับสำคัญ อันได้แก่
ค่าการปล่อยไอเสีย |
อัตราภาษีสรรพสามิตที่ต้องเสีย(%) |
||
|
E10/E20 |
E85/NGV |
Hybrid |
น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 กรัม/กิโลเมตร |
30 |
25 |
10 |
ระหว่าง 100-150 กรัม/กิโลเมตร |
30 |
25 |
20 |
ระหว่าง 151-200 กรัม/กิโลเมตร |
35 |
30 |
25 |
มากกว่า 200 กรัม/กิโลเมตร |
40 |
35 |
30 |
เครื่องยนต์เกิน 3,000 ซีซี |
50 |
50 |
50 |
ซึ่งแนวทางใหม่ดังกล่าว บางคนอาจจะงงกับสิ่งที่กำลังจะเกิดในการซื้อรถยนต์ใหม่บ้านเรา แต่เรื่องนี้ง่ายมากเมื่อดูตามตารางเปรียบเทียบลักษณะภาษีเก่ากับ ภาษีใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในปีหน้า
ตามแนวทางใหม่นี้รถยนต์นั่งที่จะได้อานิสงค์ในการปล่อยไอเสียต่ำสุดและจะกลายเป็นรถยนต์ที่มีราคาถูกลงโดยปริยายนั้นคือรถยนต์ไฮบริดที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 จากเดิมที่เทียบตามซีซีเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร (รถญี่ปุ่น) ต้องภาษีอัตราร้อยละ 30 หรือถูกกว่าเดิมราวๆ 20 % ของยอดภาษีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในกลุ่มรถยนต์ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปอย่างมาก ก็หนีไม่พ้นกลุ่มคอมแพ็คคาร์และซับคอมแพ็คคาร์หรือซิตี้คาร์ เดิมทีถูกจัดอยู่ในประเภทเครื่องยนต์ไม่เกิน 2000 ซีซี เสียภาษีในอัตรา ร้อยละ 30 หากใช้ E10 ได้และร้อยละ 25 หากใช้ E20 ได้ ยิ่งถ้าใช้ E85 ได้ จะเสียในอัตราร้อยละ 22
ในทั้งสองกลุ่มนี้ ดูเหมือนว่าผู้ผลิตจะยังมีสิทธิรับอัตราภาษีเดิมอยู่โดยการติดตั้งระบบมาตรฐานความปลอดภัย Active Safety เข้ามา โดยเฉพาะระบบเบรก ABS รวมถึงระบบควบคุมการทรงตัว VSC หรือ Vehicle Stability Control แต่ยังต้องปล่อยไอเสียตามมาตรฐานกำหนด คือไม่เกิน 150 กรัม/ กิโลเมตร
ส่วนในกรณีที่ทางผู้ผลิตไม่สามารถจะทำให้เครื่องยนต์นั้นปล่อยไอเสียตามาตรฐานกำหนด ก็อาจจะต้องเจอการปรับการเสียเพิ่มขึ้นระหว่าง 2-40 % หรือ หากกล่าวตามความเป็นจริง ก็น่าจะมีราคาเพิ่มขึ้นราวๆ 5,000 ไปจนถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว
ทางด้านรถยนต์นั่งขนาดเล็กอีโค่คาร์ เป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงค์เช่นเดียวกัน โดยแบ่งการคำนวณการเสียภาษีดังนี้
อัตราการปล่อยไอเสีย |
อัตราภาษีสรรพสามิตที่ต้องเสีย(%) |
|
|
E10/20 |
E85 |
ต่ำกว่า 100 กรัม /กิโลเมตร |
14 |
12 |
101-120 กรัม /กิโลเมตร |
17 |
17 |
ถ้ามองตามอัตราการเสียภาษีเดิมในกลุ่มนี้ที่เสียกันอยู่ที่ร้อยละ 17 ตามภาษีโครงสร้างใหม่ กลุ่มที่จะได้อานิสงค์ทันที่คือรถยนต์อีโค่คาร์ที่เข้าโครงการอีโค่คาร์เฟส 2 ซึ่งบังคับให้ผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร ส่ง ให้ลดภาษีได้ทันที 3% และในกรณีที่ใช้ E85 ได้ จะลดไปถึง 5 %
แต่โดยส่วนใหญ่อย่างที่เราทราบกันดีว่ารถยนต์อีโค่คาร์ ที่ขายในปัจจุบันยังคงเป็นรถยนต์ในเฟสที่ 1 ที่คุ้นหน้าตาดันดี ทำให้ ราคารถยนต์กลุ่มนี้น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนรถยนต์อีโค่คาร์เฟส 2 อย่าง Mazda 2 เอง มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงอีกเล็กน้อย ตามเงื่อนไขดังกล่าว
ทางด้านกลุ่มกระบะเป็นอีกกลุ่มที่มีการเปลี่ยนอย่างหนักในเรื่องของการปรับอัตราภาษี โดยเฉพาะใครที่หมายปองรถยนต์ประเภทตอนครึ้ง หรือรถที่มี Cab มาใช้งาน คงต้องคิดถี่ถ้วนกันใหม่ เพราะต่อจากนี้ มันถูกแยกประเภทขึ้นมาเสียภาษี จัดเก็บในอัตรา 5 % ส่วนรถตอนเดียวจัดเก็บในอัตราเดิม 3.18% แต่รถยนต์ในกลุ่มกระบะดัดแปลง หรือ PPV โดนจัดหนักบวกจัดเก็บเพิ่มทันที 5% จากเดิม 20 % ก็กลายเป็น 25%
แต่ที่ได้อานิสงค์มากที่สุดคือรถ Double cab หรือรถกระบะสี่ประตูไม่บวกเพิ่มจัดเก็บเท่าเดิม 12 % ในกรณีที่ปล่อยไอเสียไม่เกิน 200 กรัม/ กิโลเมตร (ดูตารางเปรียบเทียบภาษีประกอบด้านบน)
นาย ณัฐกร กล่าวว่า การแยกประเภทรถตอนครึ่ง หรือ cab ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไปใช้งานให้ถูกต้อง ไม่ใข่ซื้อรถตอนครึ่งไปโดยสาร ส่วนกรณีจัดเก็บกระบะดัดแปลงหรือ PPV เพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้คุณภาพการขับขี่มีดีเท่ารถยนต์นั่ง จึงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะเห็นว่ายังไม่สูงเท่า SUV โดยรถส่วนใหญ่ที่น่าจะทำได้ตามกฎการปล่อยไอเสียนั้น ปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่าเป็นกลุ่มเครื่องยนต์ 2.2-2.5 ลิตร เป็นกลุ่มที่มีแววจะผ่านมาตรฐานไอเสียมากที่สุด
แล้วควรรีบซื้ออะไร..
จากโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะปรับขึ้น เราลองไปสำรวจตลาดจริงๆ ในวันนี้ดู ต้องยอมรับว่าในกลุ่มที่น่าจะมีการถ่างราคาออกไปจากเดิมนั้นเป็นกลุ่ม ซับคอมแพ็คคาร์ที่แม้จะมีมาตรฐานความปลอดภัยมาให้ก็จริง แต่ก็ปรับการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 3 % ในกรณีที่ใช้ E85 ได้จาก 22 % เป็น 25% ส่วนรถที่ใช้ E20 ได้นั้น มีอัตราจัดเก็บเพิ่มขึ้น 5 % แม้ว่าจะมีระบบช่วยป้องกันอันตราย Active Safetyตามที่กำหนดแล้วก็ตามที ในขณะที่กลุ่มคอมแพ็คนั้นมีผลกระทบน้อยมาก แต่ที่ได้อานิสงค์มากที่สุด ก็เป็นรถยนต์นั่งไฮบริดที่ลดการจัดเก็บลงจากเดิม ด้วยการแบ่งเป็นกลุ่มใหม่เข้ามา
ด้านกลุ่มกระบะดูเหมือนว่ารถยนต์นั่งกระบะ Cab นั้นจะมีเป็นกลุ่มที่มีมีการปรับตัวขึ้นทันทีไม่ว่าจะผ่านมาตรฐานไอเสียตามที่กำหนดหรือไม่ ทำนองเดียวกับรถยนต์อเนกประสงค์กลุ่มกระบะดัดแปลงที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นแน่นอน จนค่ายรถยนต์บางเจ้าที่เปิดตัวรถยนต์ใหม่เช่น Ford พยายามที่จะมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่มองว่าจะซื้อรถยนต์ Ford Everest ใหม่ในงานมอเตอร์โชว์ และย้ำกับลูกค้าให้ตัดสินใจก่อนช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากน่าจะได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องยนต์ 3.2
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่ารถยนต์บางประเภทอาจจะชอกช้ำจากการจัดเก็บฐานภาษีแบบ Co2 ใหม่ ที่มีการปรับตัวขึ้น หรือเพิ่งโผล่มาจัดเก็บเป็นประเภทใหม่ ทว่าเจตนารมณ์ของภาษีใหม่นี้เกิดขึ้นภายใต้ความต้องการขงรัฐบาล ที่อยากทำให้คนไทยตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและมองหารถยนต์ที่ถูกต้องต่อการใช้งานของตัวเอง
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง (Bonn)
ติดตามผู้สื่อข่าวและนักทดสอบรถยนต์ นาย ณัฐยศ ชูบรรจง ได้ที่ Facebook ,Twiter (@nattayodc)
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com