ว่าด้วยเรื่องรถฉุกเฉิน
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 13 มิ.ย. 59 00:00
- 35,013 อ่าน
ช่วงหลังๆเราจะได้เห็นภาพข่าวอยู่บ่อยๆว่า มีพฤติกรรมการขับรถของบางคน เมื่อเจอรถฉุกเฉินเปิดสัญญาณฉุกเฉิน แต่ยังขับไปตามปกติไม่ยอมหลบ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายเป็นวงกว้าง และมีมุมต่างๆให้ถกเถียงกันมากมาย วันนี้ Autodeft เลยขอยกกฎหมายจราจรทางบกที่เกี่ยวข้องกับรถฉุกเฉิน เอามาให้ข้อมูลอย่างถูกต้องกันครับ
หลายๆคลิปที่เห็นไปนี้ เป็นพฤติกรรมการขับรถของบางคนเมื่อพบรถฉุกเฉิน หลายคนบอกว่า ทำไมคนสมัยนี้ขับรถแย่ลง ไม่มีมารยาท โดยส่วนตัวของผมคิดว่า พฤติกรรมแบบนี้มันมีมานานแล้วครับ แต่เราไม่เคยเห็นผ่านสื่อต่างๆเพราะเทคโนโลยีสมัยก่อนไม่มีเหมือนสมัยนี้ ที่สามารถบันทึกได้ทั้งผ่านกล้องหน้ารถหรือโทรศัพท์มือถืออย่างง่ายดาย เลยดูเหมือนว่าคนสมัยนี้ขับรถแย่ลง แต่ถ้าดูอีกหลายคลิป ก็จะมีที่หลบให้รถฉุกเฉินก็มีครับ อย่างเช่นคลิปนี้ครับ
ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จะได้รู้ว่าเมื่อเราเจอรถฉุกเฉินแล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งอยากเริ่มต้นด้วยคำจำกัดความว่า รถฉุกเฉินคืออะไร จากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หมวดประเภทของรถชนิดต่างๆ ให้คำจำกัดความไว้ว่า
“รถฉุกเฉิน หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบหรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้”
ซึ่งหมายถึงถ้าเป็นรถดับเพลิง, รถพยาบาลและรถอื่นๆที่เป็นของราชการ สามารถทำเป็นรถฉุกเฉินได้เลย ส่วนรถที่เป็นของเอกชน ต้องขออนุญาตก่อนทุกคัน อย่างเช่นรถมูลนิธิต่างๆที่ใช้ไซเรนเพื่อรับผู้บาดเจ็บ จะต้องมีใบอนุญาตทุกคัน ถ้าไม่มีจะไม่มีสิทธิ์ได้ติดหรือใช้สัญญาณไซเรนครับ
ต่อมาในหมวดของ พรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 1 หมวด 2 การใช้ไฟหรือเสียงสัญญาณของรถ กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 13 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถทุกชนิดในทางเดินรถใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน เสียงสัญญาณที่เป็นเสียงนกหวีดเสียงที่แตกพร่า เสียงหลายเสียง เสียงดังเกินสมควร หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้รถฉุกเฉิน รถในราชการทหารหรือตำรวจหรือรถอื่นใช้ไฟสัญญาณวับวาบหรือใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นได้ ในการนี้อธิบดีจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ไฟสัญญาณหรือ เสียงสัญญาณรวมทั้งกำหนดเครื่องหมายที่แสดงถึง ลักษณะของรถดังกล่าวด้วยก็ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
ถ้าอ่านตามตัวอักษร มาตรานี้จะห้ามรถทั่วไปติดสัญญาณไฟหรือเสียงไซเรนฉุกเฉินทุกคัน ซึ่งถ้าจะติด ต้องขออนุญาตจากทางอธิบดีเท่านั้น โดยถ้าอ่านราชกิจานุเบกษา ในประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้ไฟสัญญาณวับวาบและเสียงสัญญาณ จะมีใจความว่า
“รถที่ขออนุญาตได้ จะเป็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในราชการทหารหรือตำรวจ รถดับเพลิง รถพยาบาล และรถยนต์ของทางราชการอื่น หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปฏิบัติภารกิจด้านการถวายความปลอดภัย, การรักษาความปลอดภัย, การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม, การจราจร, การปฏิบัติงานในทางเพื่อการบริการสาธารณะ ซึ่งหน่วยงานนั้นๆ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นหนังสือร้องขอต่อผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจจราจร ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นหนังสือร้องขอต่อผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัด”
เมื่อมีการขออนุญาต ต้องส่งรถไปเพื่อตรวจสภาพตามหน่วยงานที่ดูแล เช่นถ้าจะขออนุญาตรถดับเพลิง ต้องส่งรถให้ทางกองบังคับการตำรวจดับเพลิงหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือถ้าเป็นรถพยาบาล ต้องส่งรถไปให้แพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจหรือแพทย์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัด ตรวจสอบให้อยู่ในหลักเกณฑ์มาตรฐานของรถฉุกเฉิน จึงค่อยพิจารณาออกใบอนุญาตให้ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดของหลักเกณฑ์มาตรฐานของรถฉุกเฉินได้ที่ http://law.longdo.com/law/288/sub16429 ครับ
รู้กันคร่าวๆแล้วว่ารถฉุกเฉินคืออะไร ทีนี้มาดูกฎหมายของผู้ใช้ทางเมื่อพบรถฉุกเฉินกันครับ โดยพรบ.จราจร ลักษณะ 7 รถฉุกเฉิน มาตรา 76 กำหนดไว้ว่า
“เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณ แสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด
(2) สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายหรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถใน ทางร่วมทางแยก
(3) สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก ในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี”
สรุปง่ายๆคือ เมื่อรถเปิดไซเรนมา ให้คนอยู่บนทางเท้าหรือไหล่ทางทันที รถยนต์หรือรถพวกเกวียน ต้องชิดซ้ายที่สุดแล้วจอดรถ เพื่อให้รถฉุกเฉินไปก่อน แต่ถ้าเป็นทางแยกต้องไม่จอดขวางแยก ให้ตรงไปก่อนแล้วค่อยจอดชิดซ้ายเมื่อพ้นทางแยก ต้องจอดให้เร็วที่สุดแต่ต้องระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้วยครับ
ตามพรบ.จราจรทางบก ลักษณะที่ 19 บทกำหนดโทษ มาตรา 148 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
จริงอยู่ครับว่าโทษของการไม่หลบรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน อาจจะมีโทษปรับเล็กน้อยแค่ไม่เกิน 500 บาท แต่การที่รถฉุกเฉินไปถึงที่หมายช้าไปเพียง 1 นาที อาจจะมีการสูญเสียมากกว่านี้ เช่นไฟไหม้จนลุกลามใหญ่โต หรือผู้ป่วยไปถึงมือแพทย์ไม่ทันจนเสียชีวิต ค่าความเสียหายมันเปรียบเทียบไม่ได้กับเงินค่าปรับที่คุณเสียไปแน่นอนครับ
*ข้อมูลจาก http://www.trafficpolice.go.th/law.php
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com