มาทำความรู้จักมาตรฐานการทดสอบรถยนต์ ISO 3888 กันดีกว่า
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 28 ต.ค. 59 00:00
- 7,382 อ่าน
เป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง เกี่ยวกับการทดสอบ Moose Test ของ Teknikens Varld สื่อทางด้านรถยนต์ของสวีเดน และการทดสอบของ ISO 3888 ว่ามีความแตกต่างกันขนาดไหน หลังจากเราเห็นวิธีการทดสอบของ Moose Test ไปแล้ว วันนี้เรามารู้จักการทดสอบแบบ ISO 3888 กันอีกครั้งครับ
International Standards Organization หรือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เป็นองค์กรกลางที่จะคอยตรวจสอบมาตรฐานต่างๆให้เป็นไปในระดับสากล โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยจะมีมาตรฐานกำกับไว้ในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นเลขต่างๆเช่น ISO 9000, ISO 14001 เป็นต้น แต่วันนี้จะขอเจาะเฉพาะ ISO 3888 ที่กำลังจะเป็นประเด็นอยู่ครับ
ในส่วน ISO 3888 จะใช้ชื่อว่า Passenger cars — Test track for a severe lane-change manoeuvre Part 1: Double lane-change หรือแปลเป็นไทยง่ายๆว่า “ขั้นตอนการทดสอบการรองรับเปลี่ยนเลน : เปลี่ยนเลน 2 ครั้ง” เป็นการทดสอบสมรรถภาพของรถยนต์โดยสารว่ามีความปลอดภัยในการเปลี่ยนเลนกะทันหันขนาดไหน โดยการทดสอบ จะมีการจัดเส้นทางให้เป็นไปตามภาพนี้ครับ
สนามที่ใช้ในการทดสอบ จะมีความยาวประมาณ 125 เมตร และมีคำอธิบายตามเลขดังนี้ครับ
หมายเลข 1 = ทิศทางที่รถวิ่ง
หมายเลข 2 = Lane Offset
หมายเลข 3 = ความกว้าง
หมายเลข 4 = ช่วงที่ 1 มีความยาว 15 เมตร ความกว้าง = (1.1 X ความกว้างของรถ) + 0.25 เมตร
หมายเลข 5 = ช่วงที่ 2 มีความยาว 30 เมตร
หมายเลข 6 = ช่วงที่ 3 มีความยาว 25 เมตร ความกว้าง = (1.2 X ความกว้างของรถ) + 0.25 เมตร และชดเชยเลนเพิ่มอีก 3.5 เมตร
หมายเลข 7 = ช่วงที่ 4 มีความยาว 25 เมตร
หมายเลข 8 = ช่วงที่ 5 มีความยาว 15 เมตร ความกว้าง = (1.3 X ความกว้างของรถ) + 0.25 เมตร
หมายเลข 9 = ช่วงที่ 6 มีความยาว 15 เมตร ความกว้าง = (1.3 X ความกว้างของรถ) + 0.25 เมตร
เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น จะขอตั้งตัวอย่างตามนี้ครับ
สมมุติรถยนต์รุ่น A มีความกว้างของตัวรถ 2 เมตร ดังนั้น
ช่วงที่ 1 ถนนจะมีความกว้างเท่ากับ (1.1 X 2) + 0.25 = 2.45 เมตร
ช่วงที่ 3 ถนนจะมีความกว้างเท่ากับ (1.2 X 2) + 0.25 = 2.65 เมตร
ช่วงที่ 2 และ 4 ถนนจะมีความกว้างเท่ากับ (ช่วงที่ 3 + Lane Offset) คือ (2.65+3.5) = 6.15 เมตร
ช่วงที่ 5 และ 6 ถนนจะมีความกว้างเท่ากับ (1.3 X 2) + 0.25 = 2.85 เมตร
หลังจากนั้นจะมีการตั้งกรวยขนาดสูงอย่างน้อย 500 มม. ขนาด 285 x 285 มม. ตั้งตามจุดต่างๆ 2 ข้างทางจำนวนรวม 22 จุดตามภาพนี้ครับ
โดยการทดสอบนั้น จะใช้ผู้เชี่ยวชาญในการขับรถที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการของ ISO เท่านั้น (ตามเอกสารของ ISO จะเป็นคนขับ แต่เท่าที่ทราบข่าว ปัจจุบันเริ่มใช้งาน Robot ในการทดสอบแล้ว) การทดสอบครั้งที่ 1 เมื่อเริ่มออกสตาร์ทก่อนเข้าโค้งทดสอบ ต้องทำความเร็วให้ได้ 80 กม./ชม. (± 3) ถ้ารถสามารถผ่านได้โดยที่ไม่มีกรวยเคลื่อนที่เลย ก็จะผ่านการทดสอบ โดยทาง ISO ระบุไว้ว่า ระหว่างการทดสอบจะต้องบันทึกการใช้เกียร์และความเร็วไว้ทุกระยะของทางทดสอบด้วย รวมทั้งต้องมีการบันทึกการหมุนพวงมาลัยว่าเร็วขนาดไหน, มากขนาดไหน และหมุนจุดไหน รวมทั้งวิธีการควบคุมรถของทั้งผู้ขับขี่และจากเทคโนโลยีความปลอดภัยในรถยนต์ด้วย
ส่วนการทดสอบครั้งที่ 2 จะเป็นการทดสอบในความเร็วสูงสุดที่ตัวรถจะรับการทดสอบได้ โดยจะมีการใช้คันเร่ง 2 แบบคือ
- ใช้คันเร่งแบบนิ่งๆตลอดระยะทางการทดสอบ
- ใช้คันเร่งแบบไหนก็ได้ตามการตัดสินใจของผู้ขับขี่
ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกบันทึกและคำนวณออกมาเป็นคะแนน แล้วดูว่าผลการทดสอบจะผ่านจนได้รับมาตรฐาน ISO 3888 หรือไม่ ถ้าผ่านก็ถือว่ารถยนต์คันนั้นได้มาตรฐานของสากล สามารถนำไปอ้างอิงได้ทันทีครับ
แน่นอนว่าปัจจัยหลายอย่างที่อาจจะทำให้ผลการทดสอบในแต่ละครั้งออกมาไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ขับขี่เอง, อุปกรณ์ต่างๆในตัวรถ หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศที่อาจทำให้รถยนต์คันเดียวกันทดสอบ 2 ครั้งอาจได้ผลที่ต่างกันได้ ดังนั้นการทดสอบที่ดีที่สุดคือการที่เราได้ลองขับเองในสภาวะที่ใช้งานอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญคือการขับขี่รถตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เท่านี้เราก็จะใช้รถยนต์ของเราได้อย่างปลอดภัยแล้วล่ะครับ
ข้อมูลอ้างอิง https://www.iso.org/obp/ui/#iso:std:iso:3888:-1:ed-1:v1:en
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รวดเร็วก่อนใคร ได้ที่ Autodeft.com