งานตรวจสภาพรถยนต์เพื่อต่อภาษีรถยนต์ประจำปี (ตรอ.) เขาตรวจอะไรบ้าง มาดูกัน

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 27 ม.ค. 63 00:00
  • 290,306 อ่าน

หลายคนคงเคยได้เห็นป้าย ตรอ. กันตามข้างทางกันอยู่บ้าง และจะเห็นกันแบบเยอะ ๆ แถวกรมการขนส่งฯ สาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ คนที่ไม่ได้อยู่วงการรถยนต์อาจจะไม่เข้าใจว่าสถานที่นี้เขาเอาไว้ใช้ทำอะไร วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันว่า ที่ ตรอ. นี้ไว้ใช้ทำอะไรบ้าง และเมื่อไหร่ที่เราต้องเข้าไปใช้บริการที่นี่กัน

ตรอ

ตรอ. คืออะไร?

ตรอ. คือสถานตรวจสภาพรถเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้ หมายถึงเป็นสถานที่เอาไว้ใช้ตรวจสภาพรถว่ามีความพร้อมในการใช้งานบนท้องถนนตามข้อกำหนดของทางกรมการขนส่งฯ หรือไม่ จัดทำขึ้นมาเพื่อลดภาระการตรวจสภาพรถจากทางกรมการขนส่งโดยตรง

 

เมื่อไหร่ถึงต้องตรวจสภาพกับ ตรอ.?

พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรถยนตร์ พ.ศ. 2522 ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งจะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถ ผู้โดยสารไปกับรถคันนั้น ผู้ขับขี่รถคันอื่น ๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดอายุการใช้งาน โดยรถที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีมีดังนี้ครับ

- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป

- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป

- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป

- รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

ส่วนการนับอายุนั้น ให้นับอายุทางทะเบียนโดยนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี (วันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี) เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนปี 2560 จะต้องมีการตรวจสภาพในปี 2567 หรือการต่อภาษีเพื่อให้ได้ป้ายหมดอายุปี 2568 นั่นเอง

ตรอ

รถแบบไหนตรวจที่ ตรอ. ไม่ได้บ้าง?

เนื่องจากรถบางประเภท มีข้อจำกัดไม่สามารถให้ทาง ตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชนทำการตรวจสอบให้ได้ มีทั้ง

- รถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้

- รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไป จากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยน ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น)

- รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น)

- รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้

- รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า ( เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี

- รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน

- รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี

แต่ก็จะมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมอีกว่า

1. รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้

2. รถของส่วนราชการ บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก ก็ได้

ส่วนคันไหนที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้นนี้ ต้องเข้ารับการตรวจที่ ตรอ. เท่านั้นครับ

 

ค่าตรวจ ตรอ. เท่าไหร่?

สำหรับค่าตรวจสภาพรถจาก ตรอ. นั้น มีข้อกำหนดเอาไว้ตายตัวจากกรมการขนส่งทางบก ให้ใช้ราคาเดียวกันทั่วประเทศดังนี้ครับ

- รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท

- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท

- รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท

ทั้งนี้ ถ้าหากมีการตรวจสภาพแล้วไม่ผ่าน สามารถนำรถกลับไปแก้ไขให้ได้สภาพตามข้อกำหนด และสามารถนำกลับมาตรวจสอบที่เดิมได้โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงครึ่งเดียวของอัตราที่กำหนดเอาไว้ แต่จะต้องนำกลับมาตรวจภายใน 15 วัน ถ้าเกินกว่านี้ต้องชำระเต็มจำนวนครับ

ตรอ

ตรวจ ตรอ. ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

สำหรับใครที่มีอายุรถถึงเกณฑ์จะต้องต่อทะเบียนหรือต่อภาษีประจำปีแล้ว และจะต้องนำรถเข้าตรวจสภาพที่ ตรอ. ให้เตรียมเอกสารสมุดประจำรถหรือสำเนาไปด้วยครับ และให้นำรถคันจริงเข้าไปตรวจสภาพได้เลยครับ

 

ตรอ. เขาตรวจอะไรบ้าง?

สำหรับการตรวจสภาพรถที่ ตรอ. นั้น จะมีรายละเอียดในการตรวจหลายอย่าง โดยในที่นี่จะเน้นเฉพาะการตรวจรถยนต์ดังนี้ครับ

1. ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลของรถ ว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถ, ลักษณะรถ, แบบรถ, สีรถ, หมายเลขตัวรถ, ชนิดเครื่องยนต์, เลขเครื่องยนต์ และชนิดเชื้อเพลิงถูกต้องตามที่ระบุไว้ในเอกสารสมุดประจำรถหรือไม่

2. การตรวจพินิจภายในและภายนอก จะมีการตรวจสภาพตัวถัง, สี, อุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย, ที่นั่ง, เข็มขัดนิรภัย, ระบบไฟส่องสว่าง, ไฟสัญญาณ, อุปกรณ์ไฟฟ้า, พวงมาลัย, ที่ปัดน้ำฝน, กงล้อและยางอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่

3. การตรวจพินิจใต้ท้อง จะตรวจสอบระบบบังคับเลี้ยว, ระบบรองรับน้ำหนัก, ระบบเบรก, เครื่องยนต์, ระบบส่งกำลัง, สภาพตัวถังโครงคัสซี, ระบบไอเสีย, ระบบเชื้อเพลิง, กงล้อและอย่างอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่

4. การทดสอบประสิทธิภาพการห้ามล้อ (เบรก) โดยตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ และทำการทดสอบบประสิทธิภาพบนลูกกลิ้ง โดย

- แรงห้ามล้อขณะจอดทุกล้อรวมกัน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของนำหนักตัวรถ

- แรงห้ามล้อหลัดทุกล้อรวมกัน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของนำหนักตัวรถ

- ผลต่างของแรงห้ามล้อหลักด้านขวาและด้านซ้ายต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของแรงห้ามล้อสูงสุดในเพลานั้น

5. การตรวจสอบวัดโคมไฟหน้า จะตรวจสอบทิศทางเบี่ยงเบนของลำแสง และตรวจวัดค่าความเข้มของแสง โดยมีเกณฑ์ดังนี้

- โคมไฟแสงพุ่งต่ำ มุมกดจากแนวราบระหว่างร้อยละ 0.5 (0.29 องศา) ถึงร้อยละ 4.0 (2.29 องศา) ความเข้มส่องสว่างดวงไฟแต่ละดวงไม่น้อยกว่า 6,400 แคนเดลลา (cd) และทิศทางไม่เบี่ยงเบนไปด้านขวา

- โคมไฟแสงพุ่งไกล ความเข้มส่องสว่างดวงไฟแต่ละดวงไม่น้อยกว่า 12,000 แคนเดลลา (cd) และทุกดวงรวมกันต้องไม่เกินกว่า 430,000 แคนเดลลา (cd) และทิศทางไม่เบี่ยงเบนไปด้านขวา และไม่สูงเกินกว่าเส้นแนวราบ

6. การตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งลักษณะเก๋งกำหนดเอาไว้ว่า

- จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน

- จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 - 31 ธ.ค. 2549 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 200 ส่วนในล้านส่วน

- รถยนต์อื่น นอกเหนือจากข้อก่อนนี้ ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค. 2550 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน

- รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550 เป็นต้นไป ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 0.5 และค่าก๊าซ HC ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน

7. รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ต้องตรวจควันดำ โดยระบบกระดาษกรองต้องไม่เกินร้อยละ 50 และระบบวัดความทึบแสงต้องไม่เกินร้อยละ 45

8. การตรวจวัดเสียง ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ

ตรอ

ใบตรวจสภาพ ตรอ. มีอายุการใช้งานเท่าไหร่?

เมื่อทำการตรวจสภาพเรียบร้อย และสภาพรถผ่านเกณฑ์ ทางตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน จะทำการออกใบรับรองการตรวจสภาพมาให้ เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์คันนี้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน เจ้าของรถสามารถนำไปนี้ไปทำการต่อภาษีประจำปีหรือต่อทะเบียนได้ที่กรมการขนส่งทางบกฯ ส่วนอายุการใช้งานนั้น มีอายุที่ 3 เดือนครับ

การต่อทะเบียนรถยนต์หรือต่อภาษีรถยนต์ประจำปี สามารถต่อล่วงหน้าได้ 3 เดือนก่อนวันสิ้นอายุ (ตามที่ระบุเอาไว้ในป้ายวงกลมหรือป้ายภาษี) แต่ถ้าต่อทะเบียนรถยนต์หรือต่อภาษีรถยนต์ประจำปี หลังจากวันสิ้นอายุเมื่อไหร่ จะมีค่าปรับทันทีครับ โดยจะเสียค่าปรับเป็นจำนวน 1% จากจำนวนค่าภาษีประจำปีต่อเดือน ส่วนค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อหาใช้รถที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปีตามระยะเวลาที่กำหนด อัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทครับ สำหรับมาตรฐานของตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน จะถูกตรวจสอบโดยกรมการขนส่งทางบกฯ อย่างเคร่งครัด ดังนั้นเข้าที่ไหน ก็มีคุณภาพใกล้เคียงกันครับ

ข้อมูลจาก

- กรมการขนส่งทางบก

- www.sahavit.com/inspection/Downloads/การปฎิบัติงานสำหรับสถานตรวจสถาพรถ1.pdf

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ