ทำความรู้จักทะเบียน TC และ QC กันดีกว่า ว่าเอาไว้ใช้ติดรถอะไร

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 8 ก.ค. 63 00:00
  • 36,924 อ่าน

ปกติแล้ว ทะเบียนรถยนต์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาไทย หรือไม่ก็ตัวเลขก่อนที่จะเป็นตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นป้ายสีอะไรก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจจะเคยเห็นรถที่วิ่งบนถนนด้วยกัน มีทะเบียนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้ง TC และ QC และรูปแบบการวางตัวอักษรก็เหมือนของประเทศไทยเป๊ะ ทำให้มีข้อสงสัยว่า ทะเบียนแบบนี้หมายถึงอย่างไร วันนี้เรามารู้คำตอบกันครับ

TC ป้ายทะเบียน

ป้ายทะเบียน TC

ป้ายทะเบียนรถสีขาว ตัวอักษรสีดำ ที่ระบุเป็น TC 0000 (ตัวเลขตัวอย่าง) พร้อมหมวดจังหวัดด้านล่าง แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ ก็จะเป็นอักษร TC คั่นด้วยหมวดจังหวัด ต่อด้วยตัวเลขอีก 3 ตัว โดยป้ายสำหรับรถยนต์ เป็นแผ่นป้ายโลหะพื้นสีขาวสะท้อนแสง ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 34 เซนติเมตร และอัดรอยนูนเครื่องหมาย ขส ที่มุมล่างขวา ส่วนของรถจักรยานยนต์ เป็นแผ่นป้ายโลหะพื้นสีขาวสะท้อนแสง ขนาดกว้าง 17.20 เซนติเมตร ยาว 22 เซนติเมตร เป็นป้ายที่ติดเอาไว้บนรถที่ยังไม่มีการผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย หรือรถต้นแบบที่กำลังทดสอบเพื่อเตรียมผลิตมาจำหน่าย ที่ต้องนำออกมาขับเพื่อทดสอบสมรรถนะ ประสิทธิภาพ ระบบการทำงาน ก่อนผลิตจริง จึงจำเป็นต้องมีป้ายทะเบียนเฉพาะ เพื่อให้แยกรถทดสอบเหล่านี้ออกจากรถของประชาชนทั่วไปได้อย่างชัดเจน กรมการขนส่งไม่ได้ระบุเอาไว้ว่า TC ย่อมาจากอะไร แต่คาดว่าน่าจะมาจากคำว่า Test Car

ป้ายทะเบียน

ป้ายทะเบียน QC

ป้ายที่ระบุเอาไว้ว่า QC คาดว่าน่าจะมาจากคำว่า Quality Control Car ใช้หลักการเดียวกันกับป้าย TC เลย เพียงแต่ว่าจะเอามาติดกับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ผลิตออกมาเตรียมจำหน่ายแล้ว แต่ต้องการนำมาวิ่งบนถนนจริงเพื่อทดสอบคุณภาพในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจำหน่ายจริง ลักษณะแผ่นป้ายทะเบียนจะเหมือนป้าย TC ทุกประการ แค่เปลี่ยนอักษรเป็น QC เท่านั้นเอง แต่เรามักจจะไม่ค่อยเห็นป้ายแบบนี้ได้สักเท่าไหร่

ป้ายทะเบียน

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกระบุว่า รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ติดทะเบียน TC หรือ QC นั้น ต้องติดเครื่องหมายแสดงการใช้รถให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่ด้านหน้าและด้านท้ายรถด้านละหนึ่งแผ่น รถจักรยานยนต์ติดไว้ที่ด้านท้ายรถ และต้องมีสำเนาหนังสืออนุญาตไว้กับตัวรถตลอดระยะเวลาทดสอบ โดยผู้ขับรถทดสอบต้องมีใบอนุญาตขับรถตรงตามลักษณะรถเท่านั้น รวมถึงต้องมีหลักฐานการเอาประกันภัย ในกรณีเกิดความเสียหายในระหว่างใช้รถเพื่อการทดสอบ ผู้ได้รับอนุญาตต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญาทุกกรณี ดังนั้นต่อไปนี้ใครเห็นทะเบียนแบบนี้ ก็คงหายสงสัยกันแล้วนะครับ

ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ