Twin Turbo และ Bi-Turbo ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?
- โดย : พิสน ลีละหุต
- 17 ก.ย. 61 00:00
- 56,821 อ่าน
เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า รถคันนี้มีระบบอัดอากาศแบบ Twin Turbo หรือบางทีเราก็ได้ยินคำว่า Bi-Turbo แตกต่างกันไปของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งนำมายังข้อสงสัยที่ว่า แล้วไอ้ระบบอัดอากาศทั้ง 2 ระบบนี้ มันทำงานแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบกันครับ
ถ้ามองกันตามรากศัพท์ภาษาไทย Twin นั้นแปลว่าคู่ ส่วนคำว่า Bi เมื่อเอาไปนำคำนามไหน ก็จะกลายเป็นความหมายว่า 2 เหมือนกัน ถ้าเอาตามความหมายในระบบอัดอากาศนั้น ทั้ง 2 คำ ก็คือแบบเดียวกันนั่นเอง ถ้ามีคำใดคำหนึ่งไปแปะเอาไว้ในรถคันไหน ก็หมายความว่า รถคันนี้จะมีเทอร์โบเอาไว้ทำงานให้เครื่องยนต์แรงขึ้นได้จำนวน 2 ตัวนั่นเอง ทีนี้ก็อยู่ที่ทางค่ายรถว่าจะเอาคำไหนมาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับแบรนด์ของตัวเอง
ทีนี้เราก็เอามาขยายความต่อว่า แล้วระบบเทอร์โบ 2 ลูก มันทำงานกันแบบไหนได้บ้าง โดยหลักใหญ่แล้ว ระบบ Twin Turbo หรือ Bi-Turbo จะแบ่งได้ 2 แบบคือ
- Parallel Turbo
การทำงานของเทอร์โบคู่ในระบบคู่ขนาน หรือ Parallel Turbo ระบบนี้จะมีเทอร์โบ 2 ลูกที่มีขนาดเท่ากัน ทำงานไปพร้อมกัน แบ่งกันอัดอากาศเข้าไปที่สูบจำนวนเท่า ๆ กัน เช่น ถ้าเครื่องยนต์ระบบ V6 ตัวเทอร์โบจะแบ่งกันอัดอากาศเข้าไปลูกละ 3 สูบเท่า ๆ กัน หรือจะเป็นการทำงานแบบอัดอากาศพร้อมกัน ไปที่ท่อเดียวกัน ก่อนจะแยกเข้าไปแต่ละสูบก็ได้
- Sequential Turbo
เทอร์โบคู่ทำงานแบบต่อเนื่อง ระบบนี้จะมีการทำงานที่แตกต่างหลากหลาย ตามแต่ละค่ายจะออกแบบมา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะถูกแบ่งออกเป็นเทอร์โบ 2 ลูกที่หมุนได้ในแรงอัดที่ไม่เท่ากัน ตัวหนึ่งทำงานที่รอบต่ำ และอีกตัวทำงานที่รอบสูง อัดอากาศร่วมกันไปที่ทุกสูบของเครื่องยนต์ ส่วนที่แตกต่างกันนั้น ก็คือบางค่าย จะใช้การทำงานของเทอร์โบรอบต่ำ ให้หมุนก่อนตัวเดียวในช่วงแรก และเมื่อรอบสูงขึ้น ก็จะมีวาล์วเปิดเข้าไปปั่นเทอร์โบรอบสูงให้ทำงานไปพร้อมกัน แต่สำหรับบางค่าย ก็ใช้การทำงานเริ่มต้นในช่วงแรกพร้อมกัน แต่รอบการหมุนไม่เท่ากัน แต่เมื่อเครื่องยนต์ทำงานรอบสูงขึ้น วาล์วจะทำการ Bypass ไอเสียออกจากตัวเทอร์โบรอบต่ำ ให้เหลือตัวเทอร์โบรอบสูงทำงานเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งการทำงานของ Sequential Turbo ก็ยังมีรูปแบบอื่น ๆ ได้อีก แต่ก็จะแตกต่างไปจากนี้ไม่มากแล้ว
สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าจะเป็น Twin Turbo หรือ Bi-Turbo มันก็คือคำที่มีความหมายเดียวกัน ทีนี้ก็อยู่ที่ค่ายไหน จะหยิบคำไหนไปใช้นั่นเองครับ
ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com