ทำความเข้าใจโครงสร้างราคาน้ำมัน ใน 1 ลิตรเราต้องจ่ายอะไรบ้าง?

  • โดย : พิสน ลีละหุต
  • 14 มี.ค. 65 00:00
  • 14,086 อ่าน

ปัญหาที่คนไทยกำลังประสบปัญหาเดียวกันในตอนนี้ ก็คือการต้องพบกับปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งต้นเหตุหลักของปัญหานี้ก็คือเรื่องของน้ำมันแพงนั่นเอง หลายคนสงสัยว่า จริง ๆ แล้วในราคาค่าน้ำมันที่เราเติมกันอยู่ทุกวันนี้ มีส่วนประกอบของโครงสร้างราคาน้ำมันอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

ราคาน้ำมัน

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันนั้น โดยปกติแล้วจะประกอบไปด้วย 8 องค์ประกอบดังนี้

1. ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น หมายถึงราคาน้ำมันที่ถูกขายจากหน้าโรงกลั่นที่อยู่ในประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ทั้งหมด 7 โรง ดังนี้

  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)
  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)
  • บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) 
  • บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP)
  • บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)
  • บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)
  • โรงกลั่นน้ำมันฝาง

(ข้อมูลจาก https://www.longtunman.com/10794)

2. ภาษีสรรพสามิต จะถูกเรียกเก็บเป็นอัตราต่อลิตร ซึ่งขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการว่าจะมีการเรียกเก็บจำนวนต่อลิตรเป็นอัตราเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันมีการเรียกเก็บในอัตรา 0.64-6.5 บาท/ลิตร

3. ภาษีมหาดไทย หรือ ภาษีเทศบาล คือ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรา 4 ของ พรบ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย มีอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท เพื่อใช้ในการบำรุงท้องที่ที่จำหน่ายน้ำมันนั่นเอง

4. เงินเรียกเก็บหรืออุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะมีคณะกรรมการที่คอยกำกับดูแลว่า จะมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนหรือจะอุดหนุนเงืนให้กับน้ำมันประเภทไหน ในจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันมีการเรียกเก็บสูงสุดที่ 7.18 บาท/ลิตร ในน้ำมันเบนซิน 95 และอุดหนุนเงินสูงสุดที่น้ำมันดีเซลที่ราคา 14.01 บาท/ลิตร

5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ปัจจุบันมีการเรียกเก็บเท่ากันทุกชนิดเป็นจำนวน 0.005 บาท/ลิตร

6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง คิดเป็น 7%จากมูลค่ารวมจากข้อ 1-5

7. ค่าการตลาด พูดง่าย ๆ ก็คือค่ากำไรสำหรับผู้ค้าปลีกน้ำมันนั่นเอง ปัจจุบันอยู่ที่ 0.1105 - 7.2421 บาท/ลิตร

8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด เป็นภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มอีก 7% จากค่าการตลาด

อ้างอิงราคา ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565 มีการแจกแจงข้อมูลออกมาจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price) โดยน้ำมันแต่ละประเภท จะมีโครงสร้างราคาต่อลิตรดังนี้

ราคาน้ำมัน

น้ำมันเบนซิน 95

  • ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น = 30.0031 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต = 6.5 บาท
  • ภาษีมหาดไทย = 0.65 บาท
  • เรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน = 7.18 บาท
  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน = 0.0050 บาท
  • ราคาส่ง = 44.3381 บาท + VAT 7% = 3.1037 บาท รวมราคาส่งเป็น 47.4418 บาท
  • ค่าการตลาด = 0.1105 บาท 
  • VAT 7% จากค่าการตลาด = 0.0077 บาท

ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม 47.56 บาท/ลิตร

แก๊สโซฮอล์ 95

  • ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น = 29.0221 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต = 5.85 บาท
  • ภาษีมหาดไทย = 0.585 บาท
  • เรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน = 1.02 บาท
  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน = 0.0050 บาท
  • ราคาส่ง = 36.4821 บาท + VAT 7% = 2.5537 บาท รวมราคาส่งเป็น 39.0359 บาท
  • ค่าการตลาด = 1.0412 บาท 
  • VAT 7% จากค่าการตลาด = 0.0729 บาท

ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม 40.15 บาท/ลิตร

แก๊สโซฮอล์ 91

  • ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น = 28.6118 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต = 5.85 บาท
  • ภาษีมหาดไทย = 0.585 บาท
  • เรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน = 1.02 บาท
  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน = 0.0050 บาท
  • ราคาส่ง = 36.0718 บาท + VAT 7% = 2.5250 บาท รวมราคาส่งเป็น 38.5968 บาท
  • ค่าการตลาด = 1.1992 บาท 
  • VAT 7% จากค่าการตลาด = 0.0839 บาท

ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม 39.88 บาท/ลิตร

แก๊สโซฮอล์ E20

  • ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น = 28.2819 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต = 5.2 บาท
  • ภาษีมหาดไทย = 0.52 บาท
  • เรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน = 0.12 บาท
  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน = 0.0050 บาท
  • ราคาส่ง = 34.1269 บาท + VAT 7% = 2.3889 บาท รวมราคาส่งเป็น 36.5158 บาท
  • ค่าการตลาด = 2.359 บาท 
  • VAT 7% จากค่าการตลาด = 0.1651 บาท

ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม 39.04 บาท/ลิตร

แก๊สโซฮอล์ E85

  • ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น = 26.4347 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต = 0.975 บาท
  • ภาษีมหาดไทย = 0.0975 บาท
  • อุนหนุนจากกองทุนน้ำมัน = 4.53 บาท
  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน = 0.0050 บาท
  • ราคาส่ง = 22.9822 บาท + VAT 7% = 1.6088 บาท รวมราคาส่งเป็น 24.5909 บาท
  • ค่าการตลาด = 7.2421 บาท 
  • VAT 7% จากค่าการตลาด = 0.5069 บาท

ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม 32.34 บาท/ลิตร

ดีเซล (ปัจจุบันมีสูตรเดียวคือ B7)

  • ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น = 34.9979 บาท
  • ภาษีสรรพสามิต = 3.2 บาท
  • ภาษีมหาดไทย = 0.32 บาท
  • อุนหนุนจากกองทุนน้ำมัน = 14.01 บาท
  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน = 0.0050 บาท
  • ราคาส่ง = 24.5129 บาท + VAT 7% = 1.7159 บาท รวมราคาส่งเป็น 26.2288 บาท
  • ค่าการตลาด = 3.4684 บาท 
  • VAT 7% จากค่าการตลาด = 0.2428 บาท

ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม 29.94 บาท/ลิตร

โดย ณ ปัจจุบัน มีการอ้างอิงราคาเอธานอลที่เอามาผสมในน้ำมันเบนซินเอาไว้ที่ลิตรละ 25.61 บาท และราคาไบโอดีเซลที่เอามาผสมในน้ำมันดีเซลเอาไว้ที่ลิตรละ 52.98 บาท 

ราคาน้ำมัน

ข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการอ้างอิงออกมาจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานเท่านั้น ไม่ใช่การกำหนดราคาจำหน่ายภายในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งโครงสร้างราคานี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สามารถตรวจสอบตามลิงก์ได้เลย http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price

ข้อมูลจาก http://www.eppo.go.th/index.php/th/eppo-intranet/item/11451-faq3

ติดตามข่าวสารรถยนต์รวดเร็วก่อนใครได้ที่ AUTODEFT.com

5 เรื่องน่าสนใจ